วันที่ ๙ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๙

สวนดุสิต

วันที่ ๙ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙

เจ้าพระยายมราช

จดหมายนำหนังสือเรื่องเมืองญี่ปุ่นเป็นเวลาจอแจรีบจะส่งยังไม่ได้พรรณา ให้พิจารณาตลอดดังที่นึกไว้ว่าจะพูด หนังสือฉบับนี้หัวน่าในราชการแต่งกันคนละท่อน เคานต์โอกุมาเป็นผู้รวมข้อความที่เรียบเรียงลงนั้น ไม่ได้เขียนลงตามพงษาวดารตามเรื่อง แต่งตามรูปปอลิซีของรัฐบาลในประจุบันนี้ ด้วยหวังผลจะให้เกิดอิมเปรชชันดีสำเร็จประโยชน์ ได้ผลในราชการภายน่าราวกับว่าแต่งหนังสือดิปลอมแมติคคอเรสปอนเดน สิ่งที่เสียที่ร้ายฤๅที่เบื่อเมากลับเอาพูดเป็นดีได้หมด ทำทั้งสง่าทำทั้งภูมให้ฝรั่งเกรงใจ แลอ่อนหวานให้ชมว่าดีด้วย จึงชมว่าเขาฉลาดจริงๆ ไม่ใช่ฉลาดคนเดียวมันฉลาดเป็นกองสองกองเช่นนี้ บ้านเมืองเขาจะไม่เดินขึ้นสู่ทางมีอำนาจมีประโยชน์เต็มอย่างไรได้

ถ้าหากว่าไม่ได้อ่านเรื่องราวเมืองญี่ปุ่นตลอดจนพงษาวดารตั้งแต่แรกเริ่ม ๔๐ ปีมาแล้ว จะแลไม่เห็นว่าความอัศจรรย์ที่หนังสือเล่มนี้ได้หลบหลีกละความเสียหายปลดเปลื้องได้หมด ราวกับว่าเมืองญี่ปุ่นจำเริญเหมือนเมืองฝรั่งมาแต่ดึกดำบรรพ์ เป็นแต่จับจัดถูกทางเข้าก็ดีขึ้นได้เร็ว แต่เมื่อได้สังเกตความมาตลอดยังนึกได้ ว่าสิ่งใดๆ ที่ญี่ปุ่นข้ามเสียไม่กล่าวในหนังสือนี้มีเป็นอันมาก จึงเห็นว่าเขาฉลาดแต่ง การบ้านเมืองที่เขาเจริญขึ้นได้สำเร็จดังความประสงค์ เราอาจจะแลเห็นว่าเพราะผู้ที่เรียงหนังสือทั้งหลายเหล่านี้ได้มีมือในกิจการทั้งปวงเหล่านั้นทุกคน ดูน่าชื่นใจ เมื่อนึกถึงของเราบ้างมันชวนแต่จะถอนใจใหญ่อย่างเดียว ความรู้สึกในใจเป็นเช่นนี้จึงได้สั่งมาให้ช่วยกันถอนใจใหญ่บ้าง.

สยามินทร์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ