วันที่ ๒๙ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๗

สวนดุสิต

วันที่ ๒๙ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

ถึง พระยาสุขุม

เรื่องคำจาฤกที่ได้วานให้ช่วยร่างไว้แต่แรก ร่างลงไปไม่ได้เป็นการแต่งอิตปิโสตัวเอง ครั้นเมื่อได้เห็นร่างซึ่งทำขึ้นไว้ มีใจความบริบูรณ์แล้ว แต่ถ้อยคำยังกระจัดกระจาย จึงได้รวบรวมข้อความเหล่านั้น ควรจะเรียกว่า ประพันธ์เข้าใหม่ไม่ให้ผิดความเดิม คำจาฤกเช่นนี้เป็นอย่างยาว จึงได้ลองเติมพระนามย่อลงให้สมกับเหตุการแลตามรูปหนังสือที่ยาวเช่นนี้ ถ้าที่ไม่พอตัดออกเสียก็ได้

ข้อซึ่งหมายบอกวรรคเป็นที่ ๑, ๒, ๓, ตามลำดับ เพราะเหตุที่ไทยๆ เราแบ่งวรรคไม่ใคร่เป็น ข้อซึ่งบอกตัวใหญ่ตัวเล็กตัวกลาง ตัวใหญ่นั้นเป็นที่หมายแห่งคำสำคัญ ตัวกลางบอกท้องเรื่อง ตัวเล็กเป็นพลความ ที่ท่าจะข้ามอ่านแต่ตัวใหญ่แลตัวกลางก็ได้ เวลาที่ทำน้อยอยู่หน่อย แลความจริงนั้น ถ้าจะใช้คำให้เลิศลอยไพเราะก็กระดากใจ ถ้าจะเรียงให้สั้นกว่านี้ลงอีกก็เรียงได้เพราะ แต่กลัวนักเรียนแผ่นดินพระจุลจอมเกล้าจะอ่านไม่เข้าใจ เพราะตัวเป็นพระจุลจอมเกล้า แลความรู้เป็นนักเรียนแผ่นดินพระจอมเกล้า ผิดการผิดสมัย ทั้งจะต้องเรียงใหม่ด้วย จึงเห็นว่าเพียงเท่านี้ก็จะพอใช้ได้ เว้นไว้แต่ถ้าจะแก้ไขพลิกแพลงอักษรแลศัพท์ให้เพราะขึ้น ยังมีผู้อื่นที่สามารถจะทำได้จึงส่งมาให้ดูลองดูที

สยามินทร์

ป.ล.

ข้อที่ลงท้ายทฤฆายุศมศิริสวัสดินั้น เป็นแบบโบราณที่ลงทั่วไป ไม่เฉภาะเจ้าแผ่นดิน ในสุวรรณบัตรเจ้านายขุนนางก็ใช้ ฟังดูเพราะดี แต่เลือนๆอยู่หน่อย ไม่ชี้ตัวว่าใคร ถ้าทีคายุโกโหตุมหาราชา ชี้ตัวตรงใช้เฉภาะเจ้าแผ่นดินองค์เดียวแต่อินจัด ข้อที่ให้ลงท้ายเช่นนี้ เพราะจะให้ปรากฏว่าสร้างในเวลาเจ้าของรูปอยู่ ตรงกับที่จะให้ลงท้ายว่า ลองลิฟดิกิง จะใช้ก็ได้ไม่ใช้ก็ได้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ