วันที่ ๒ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๗

สวนดุสิต

วันที่ ๒ พ.ย. รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

พระยาสุขุม

ขอต่อว่าว่าแกมาเกณฑ์ให้ช่วยแก้ร่างคำจาฤกเป็นการผิดคราวผิดสมัยไม่มีผู้ใดอ่านเข้าใจ ฤๅอ่านเข้าใจแต่ไม่เป็นที่พึงใจทำนองหนังสือ เพราะมันเป็นเสียงคนแก่พูดไป

อันลักษณที่กรมดำรงเรียงมานั้น เขาเรียกว่าผการาย อ่านจนตายก็จำไม่ได้ จึงได้แก้รัดเข้าเป็นร้อยแก้ว ซึ่งคนทุกวันนี้เห็นจะตั้งแต่กรมวชิรญาณ เข้าใจว่าเขียนลงไปว่ากระไรๆ เป็นภาษาข้างอิน เรียกธรรมวัติ ข้างคฤหัสถ์เรียกว่าร้อย ที่จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ อติเรก ถวายพระพรลา ถวายพระพรก่อนเทศนา เหล่านี้เป็นร้อยแก้วทั้งนั้น ประการที่สำคัญๆ เช่นประกาศราชาภิเศกประกาศพิธีตรุสเป็นร้อยแก้วทั้งนั้น ร้อยแก้วนั้นคือมีสำผัศไม่กำหนดใกล้ชิด ใช้ถ้อยคำที่สละสลวยพลิกแพลง เรียกอะไรไม่ซ้ำเหมือนกันทุกที ยักเรียกอย่างนี้บ้างอย่างนั้นบ้าง ถ้าแต่งกล้ำกินความให้ได้กว้างยิ่งดี ผู้รู้แต่ก่อนท่านแต่งกันเช่นนี้ชมว่าดี เห็นแล้วว่าคนทุกวันนี้คงมีความรู้ไม่ถึง ฤๅไม่พึงใจกลายเป็นเร่อร่าใช้ภาษามคธมาแปลเป็นภาษาไทย พูดไทยให้ถูกภาษามคธ อย่างพูดไทยให้ถูกภาษาอังกฤษช่วยไม่ได้ กลายเป็นภาษาไพเราะของเมืองไทยในเวลานี้ ทั้งคำที่เคยถือว่าไม่ดี เช่นสามัคีรศ ซึ่งพระจอมเกล้าตัดสินไว้ว่าสำหรับเข้าห้องคู่กันกับสนมโอชารศสำหรับกล้องฝิ่น ก็มีมาแก้ เพราะฉนั้นจึงรู้สึกว่าพ้นจากน่าที่ เพราะทำนองหนังสือเรียงเป็นภาษามคธแปลเสียแล้ว ควรจะแก้ให้เป็นมคธแปลให้หมดจะรับเรียงไว้ใหม่ ถ้าเป็นร้อยแก้วบ้างไม่เป็นบ้างเช่นนี้ อายผีสรางเทวดา ถ้าหากว่ามนุษย์จะไม่รู้ คงจะมีผู้ที่มีความรู้ยิ้มเย้ยเยาะบ้างเป็นแน่ เพราะฉะนั้นขอให้กระจายกลอนเสียให้หมดให้จงได้ แลเติมด้วยแลอะไรๆ ลงไปให้บริบูรณ์ในภาษาจะดีเหมือนกัน ขอว่าสำนวนทำนองไหนให้เป็นทำนองนั้น ถ้าปนกันเลอะแล้วเห็นจะไม่เป็นการ

ขอต่อว่า ซึ่งให้กรมนเรศรมาถามออฟพิเชียรลิ ว่าจะยอมให้แก้ฤๅไม่เช่นนี้ ไม่ใช่น่าที่ที่ควรจะตอบกลายเป็นทรงร่างไปเท่านั้นเอง คราวนี้ถ้าถ้อยคำงุ่มง่ามอย่างไร เขาก็จะว่าเจ้าของท่านเรียงของท่านเอง เห็นไม่เป็นแก่นสาร แต่นี้อย่าได้ปฤกษาหารือกันต่อไป เลิกเท่านี้ที.

สยามินทร์

  1. ๑. สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ