วันที่ ๑๐ มกราคม ร.ศ. ๑๒๕

กรุงเก่า

วันที่ ๑๐ มกราคม รัตนโกสินทร๓๙ศก ๑๒๕

ถึง พระยาสุขุมนัยวินิต

มีเรื่องหนึ่งซึ่งได้นึกแล้วแต่เมื่อเวลาอยู่บางกอก แต่เห็นงานของเจ้ายังมากจึ่งนิ่งเสีย ครั้นเมื่อมาตามทางดุ๊กพูดขึ้นว่าห้องนอนสองห้องติดกันที่หลังสามชั้นข้างตวันตกเฉียงใต้ ทางเดิรจะต้องลุยห้องนอนกัน จะขอกั้นฝาเตี้ยเสมอเพดานเตียงให้เป็นทางเดิรผ่านห้องกันทั้งสองห้อง ก็รู้สึกใจว่าห้องข้างตวันตกสว่างอยู่ แต่แคบไป ห้องข้างตวันออกไม่มีน่าต่างด้านใดเลย เว้นแต่ด้านเหนือสองช่อง ถ้ากั้นฝาสกัดเสียจะมืดด้วยแคบด้วย

ทางที่จะแก้ให้เป็นอย่างดีที่สุดที่จะทำได้นั้น ได้คิดพลาดไปเสียแต่ต้นมือ คือเฉลียงด้านเหนือที่เป็นเฉลียงโถง ไปหยุดไว้เพียงสี่ห้อง ถ้าได้ทำเป็นห้าห้องเสียแต่แรก ชั้นล่างใช้พื้นแต่สี่ห้อง ห้องที่ห้าให้เป็นหลังคากระใดที่มีอยู่เดิม ชั้นบนจึ่งใช้เป็นห้าห้องเต็ม เจาะประตูให้เดิรออกจากในตัวตึกตรงห้องที่ห้า ซึ่งข้างล่างเป็นกระใดนั้น ประตูข้างบนของตัวตึก ห้องข้างตวันตกอุดเป็นน่าต่างเสียช่องหนึ่ง ห้องข้างตวันออกอุดเป็นน่าต่างช่องหนึ่ง คงเป็นประตูช่องหนี่ง น่าต่างช่องหนึ่งคั่นกันไป เวลาจะเดิรขึ้นจากกระใดทบด้านหลัง เลี้ยวออกเฉลียงโถง เมื่อจะเข้าห้องตวันตกฤๅห้องตวันออกก็เข้าตรงประตูห้องนั้น ไม่ต้องเดิรลุยกันไม่มืด ห้องก็ไม่แคบเข้าไป

ครั้นเมื่อดุ๊กลงไปดูการทำประตูห้องเล็กวันนี้ กลับขึ้นมาพูดถึงฝาฝ้าที่คิดจะทำ ก็ยังคิดเห็นอยู่ว่าคงจะทำให้เสียห้องไป เช่นกล่าวมาแล้ว แลทราบว่างานร่วมเข้ามาก จึ่งคิดอ่านลองบอกให้เจ้ารู้ดูสักที บางทีจะทำทัน ข้อสำคัญที่จะต้องทำใหม่นั้นก็เสาต้นเดียว เป็นเสาหล่อสิเมนอย่างเช่นที่ทำ แต่เป็นเสามุมจะต้องแข็งแรง จะต้องปูตรางลวดดาดสิเมนก็แต่ชั้นบนชั้นเดียว เพราะชั้นล่างคงเป็นบันใดอยู่ตามเดิม เลื่อนพนักสกัดออกไปช่องหนึ่ง เติมพนักขึ้นอีกช่องหนึ่ง น่าที่จะทำได้ทัน จึ่งได้วานให้ดุ๊กเขียนลากเส้นมาเพื่อจะให้เข้าใจชัดดีกว่าหนังสือ ถ้าหากว่าเข้าใจแล้วควรจะปฤกษาช่าง ถ้าจะลงมือได้ ก็จะได้ลงมือทีเดียวไม่เสียเวลา ถ้ายังสงไสยอยู่ประการใด จึ่งให้ขึ้นมาหาพูดกันประเดี๋ยวเดียวก็เข้าใจ

สยามินทร์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ