คำนำ

จำเดิมแต่ท่านเจ้าพระยายมราชถึงอสัญญกรรม ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นศพหลวง บำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานเป็นงานหลวงโดยลำดับจนตลอด กระทั่งกาลที่สุดซึ่งจะได้พระราชทานเพลิงครั้งนี้ เป็นเหตุให้บุตรธิดาและบรรดาผู้อยู่ในครอบครัวท่านตลอดจนมิตรสหาย มีความปีติยินดีในพระมหากรุณาเป็นอย่างยิ่ง ในระวางเวลาที่ตั้งศพอยู่ก็ได้พากันหาโอกาสบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ท่านแซกการพระราชกุศลตามกำลังและฐานานุรูป จนมิได้เว้นว่างแต่ละคืน บัดนี้ถึงวาระที่สุดแห่งงานศพ บรรดาบุตรธิดาและครอบครัวท่านปรารถนาจะได้โดยเสด็จฯ งานพระราชกุศลนอกจากด้วยการทำบุญถวายพระนั้นอีกด้วย จึงพร้อมใจกันพิมพ์สมุดนี้ขึ้นเป็นที่ระลึกถึงท่านเรื่องหนึ่ง

ในสมุดนี้เนื้อเรื่องเป็นสำเนาพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งพระราชทานแด่ท่านเจ้าพระยายมราชระวางรัตนโกสินทรศก ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) ถึงรัตนโกสินทรศก ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) ซึ่งเป็นปีที่สวรรคต เห็นว่าพระราชหัตถเลขาเหล่านี้นอกจากที่จะสำแดงพระราชหฤทัยสนิธเสน่หาแด่ท่านเจ้าพระยายมราชเป็นอย่างน่าจับใจแล้ว ยังมีประโยชน์ในทางศึกษาประวัติแห่งราชการแผ่นดินส่วนหนึ่งด้วย ทั้งจะได้เป็นการฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นโดยที่เป็นการเผยแผ่พระราชาธิบายอันสุขุมในกิจราชการต่างๆ ให้เป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศในพระองค์ แม้ท่านเจ้าพระยายมราชได้สามารถทราบดังนี้แล้ว เชื่อแน่ว่าท่านคงจะยินดีเห็นชอบด้วยเป็นอย่างยิ่ง

โดยปกติหนังสือแจกในโอกาสเช่นนี้มักมีประวัติท่านผู้ล่วงลับไปแล้วนั้นด้วย ได้ปรึกษากันเห็นว่าสำหรับประวัติท่านเจ้าพระยายมราชนั้น หากจะช่วยกันค้นคว้ารวบรวมขึ้นโดยอาศัยหลักฐานที่มีอยู่ทั้งในบ้านและในหนังสือราชการก็อาจทำเป็นเรื่องติดต่อกันได้จริง แต่ก็จะเป็นเพียงการเขียนโดยฝีมือคนรุ่นหลัง ย่อมจะขาดความคุ้นเจนแก่ตัวท่านในสมัยแต่ก่อน ๆ จึงพร้อมใจกันกราบทูลขอพระกรุณาแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพราะพระองค์ท่านเป็นผู้เคยทรงใฝ่พระทัยสังเกตเห็นค่าแห่งท่านเจ้าพระยายมราชมาแต่ยังอุปสมบท ได้ทรงปลูกฝังชุบเลี้ยงไว้ในราชการตั้งแต่เป็นครูสามัญ กระทั่งถึงเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล และผู้แทนปลัดทูลฉลองภายใต้บังคับบัญชาของพระองค์ท่านมา นอกจากนั้นยังได้ทรงมีส่วนใหญ่ในการที่จะชักนำให้ท่านได้เข้าเฝ้าแหนคุ้นเคยในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยพอที่จะทรงเลือกขึ้นสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งเสนาบดีอันเป็นขีดสูงสุดแห่งอันดับราชการในสมัยนั้นอีก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์นั้นก็ทรงพระเมตตารับแต่งประวัติตั้งแต่ต้นมาจนตลอดรัชกาลที่ ๕ ด้วยอาการอันจักเห็นได้ชัดว่าทรงโดยเต็มพระทัย แม้ว่าการนี้จำต้องรีบเร่งเพราะงานกระชั้นเข้ามาแล้วก็ดี แต่ท่านก็มิได้ละลดพระอุตสาหะ ต้องทรงสละพระสำราญ และฝืนพระอิริยาบถเพื่อทรงอุปการะท่านผู้ล่วงลับไป ดังปรากฏจากลายพระหัตถที่ประทานมา เนื่องในการสอบสวนข้อความสำหรับประวัตินี้ตอนหนึ่งว่า “รู้สึกลำบากมากด้วยท่านเป็นอัจฉริยบุรุษ มีเรื่องซึ่งจะต้องเขียนลงในประวัติมากกว่าผู้อื่น ฯลฯ …………… ฉันแก่ชราความคิดก็ล้าไม่รวดเร็วเหมือนแต่ก่อน และร่างกายก็ทนงานหนักไม่ไหว เช่นเขียนเรื่องประวัตินี้ก็เขียนแต่ในตอนเช้า ตอนเย็นปัญญาทึบเขียนก็ไม่ดี แม้ในตอนเช้าเขียนไปพักหนึ่งเจ็บหลังทนไม่ไหวก็ต้องลงนอนเสียครู่หนึ่ง พอหายเจ็บหลังจึงกลับนั่งเขียนใหม่ เพราะความรักเจ้าคุณยมราชอย่างเดียวที่จูงใจให้ฉันยอมทนความลำบาก”

ส่วนประวัติต่อมานั้น ตอนรัชกาลที่ ๖ และที่ ๗ ก็ได้อาศัยความเมตตากรุณาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ซึ่งในสมัยรัชชกาลที่ ๖ ทรงดำรงตำแหน่งเลขานุการเสนาบดีสภา ได้ทรงทราบเรื่องของท่านเจ้าพระยายมราชอยู่เป็นอันมาก และในสมัยรัชกาลที่ ๗ ต่อมา ก็ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ทั้งนี้มีพระยาศรีธรรมาธิราช และพระยาวิชิตสรไกร ซึ่งเคยร่วมงานกับท่านเจ้าพระยายมราช ในกระทรวงนครบาลและกระทรวงมหาดไทยตลอดมาในสมัยนั้น ช่วยเหลือค้นคว้าหลักฐานเท่าที่จะทำได้ จะหาใครที่เหมาะกว่าไม่ได้เป็นแน่ ตอนสุดท้ายสำหรับระยะเวลาที่ท่านกลับเข้าสนองพระเดชพระคุณอีกในรัชกาลปัจจุบัน ก็เผอิญเป็นเคราะห์ดีที่ได้รับพระอนุเคราะห์จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตยทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะพระองค์ท่านได้ร่วมราชการในคณะเดียวกันกับท่านผู้ล่วงลับไป จะหาผู้ใดรู้ลักษณะงานที่ท่านต้องทำในยุคนี้ดีไปกว่าท่านก็เห็นจะยากยิ่ง ทั้งนี้บุตรธิดาทุกคน ย่อมรู้สึกทราบซึ้งในพระกรุณาธิคุณของท่านผู้เคยร่วมราชการกับท่านเจ้าพระยายมราชเป็นที่สุด จนยากที่จะกล่าวพรรณนาให้สมความรู้สึกนั้นได้

อนึ่ง ท่านผู้หลักผู้ใหญ่บางพระองค์บางท่านได้ทรงพระเมตตาและกรุณารจนาคำไว้อาลัยในท่านเจ้าพระยายมราชมาสำหรับพิมพ์ในหนังสือนี้อีกด้วย ขอถือโอกาสนี้บันทึกความรู้สึกพระเดชพระคุณของท่านไว้ในที่นี้ และได้จัดพิมพ์คำไว้อาลัยเหล่านั้นลงในสมุดนี้แล้ว.

บ้านศาลาแดง

วันที่ ๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ