วันที่ ๒ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖

เรืออัลเบียน

วันที่ ๒ สิงหาคม ร. ๔๐ศก ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม

หนังสือฉะบับนี้เขียนมาเพื่อจะขอษมาลาโทษที่ได้หมิ่นประมาทแก ว่าแกคงจะยังไม่ได้กลับไปถึงบางกอกเร็ว ด้วยออกไปตรวจราชการ จะเขียนไปก็ป่วยการเวลาข้างนี้ ซึ่งอยู่ข้างคับแคบขัดสน ด้วยตั้งแต่ไปคริสเชียเนียแล้ว ไม่ได้ค้างแห่งใดถึงสองคืนสักแห่งเดียว ถ้าว่าจะพูดถึงมาแต่บาเดนบาเดน ไม่ได้ค้างแห่งใดเกินสามคืนแต่สักแห่งเดียว เดินทางเรื่อยไปทุกเมื่อเชื่อวันในนอรเวทั้งเดือน เดินทางไม่ผิดกันกับบางกอก ใช้รถม้า ความเหน็ดเหนื่อยมากกว่าเดินทางอย่างฝรั่งมาก การที่แกไปราชการบอกว่าจะต้องไปห้าวีก ความรู้สึกว่ามันช่างนานเสียจริงๆ จนทอดธุระไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้กลับ เพราะเรานับวันของเรา ๕ วีกนั้น อึดในใจไม่อยากนัก แต่ครั้นมาได้รับโทรเลขว่ากลับแล้ว รู้สึกว่าประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง ออกอิจฉาว่าทำไม วันของเรามันไม่เร็วเหมือนวันของแกบ้าง ความรู้สึกมันเป็นเช่นนี้ จึงชักให้เหลวไหล มิใช่จะไม่ยินดีที่ได้รับหนังสือ ที่จริงเป็นของต้องการอย่างยิ่ง ขอบใจที่ไม่ได้ตอบก็ไม่โกรธ คราวนี้จะดำเนินเรื่องตอบเลหลังใหญ่

ฉบับที่ ๕ คำแปลโค๊ตโทรเลขของแกผิดอยู่นิดหนึ่ง แต่เป็นที่เข้าใจกันแล้ว ไม่ต้องว่ากะไรต่อไป เรื่องพระที่นั่งรั่ว ได้จดหมายไปด้วยเรื่องเปลี่ยนกระเบื้องนั้นแล้ว ขออำนวยพรในการที่ใช้รถมอเตอร์คาร์ได้แล้ว เรื่องสพานรถไฟได้ทราบแล้ว ในราชการของแกดำเนินดีขึ้น ขออนุโมทนา

ฉบับที่ ๖ ว่าด้วยเรื่องรูปที่จะตั้งกลางถนนนั้น ได้ตกลงกันตามแบบหลังเป็นดีแล้ว กลับไปถึงปารีสคราวนี้จะได้รู้เป็นแน่นอนตกลง ว่าช่างเขาจะทำอย่างไร จะบอกไปให้ทราบ

เรื่องใช้หนี้นายชิดสถิตย์ คิดการผ่อนผันนั้น เป็นการดีแล้ว

ฉบับที่ ๗ ว่าด้วยเรื่องมีหนังสือ ได้กล่าวไว้ข้างต้นหนังสือนี้แล้ว มีความยินดีที่ได้ทราบการพระที่นั่งจักรกรีและพระที่นั่งอัมพร แลเรื่องคิดทำอิฐนั้น จะประมาทแกไม่ได้ว่าแกจะทำไม่สำเร็จ จึ่งยอมอนุโมทนา

ฉบับที่ ๘ ว่าด้วยเรื่องรูปที่จะตั้งหน้าประตู ซึ่งเป็นการตกลงเสร็จแล้ว แลยินดีที่ได้ทราบข่าวการงานที่สวนดุสิต ทั้งขอบใจที่ได้ดื่มให้พรในการเลี้ยงนั้น

ฉบับที่ ๙ ว่าด้วยเรื่องรูปนั้นอีก แลส่งหนังสือพิมพ์ตัดสยามฟรีเปรส ไม่เป็นเหตุที่จะต้องตอบในเวลานี้

ฉบับที่ ๑๐ ว่าด้วยเรื่องรับรูป แลเรื่องการพระที่นั่งกับเรื่องจิระเจ็บ รูปได้ส่งไปให้อีก หวังว่าจะได้รับก่อนหนังสือนี้ จิระนั้นเป็นที่น่ารำคานเต็มที กลับไปจะได้คิดอ่านต่อไป

ฉบับที่ ๑๑ ลงชื่อกับพระยาวรพงษ์ ตอบคำสั่งให้รับตุ๊กกะตาแลรูปภาพ เป็นเคราะห์ดีที่ของส่งช้าจนได้รับหนังสือก่อน หาไม่คำแปลโค๊ตผิดจะทำให้เข้าใจเลอะได้บ้าง

คราวนี้หมดเรื่องตอบแล้ว หนังสือแกก็เห็นจะไม่มีมาอีก เพราะจะเป็นเวลาไม่อยู่ จึงขอพูดส่วนตัวต่อไป ในเรื่องพระที่นั่งอัมพร ตั้งแต่มาคราวนี้ ยังไม่พบแห่งใดที่ว่าแปลนเรือนขนาดนั้นจะดีไปกว่า ยังพอใจอยู่นั้นเอง ถ้าจะขาดก็ขาดลักเชรี ไม่ใช่เนสเซสซารี เว้นไว้แต่พื้นที่ ซึ่งได้ตั้งเรือนลงไปผิดนั้น รู้แล้วแต่แรก มาเดี๋ยวนี้ยิ่งคิดเห็นมากขึ้น ทางที่จะคิดแก้ก็ได้คิดไว้แล้ว แต่ยังเสียดายเงินจึ่งได้รออยู่ น่าที่จะต้องทำ คือพระที่นั่งเดี๋ยวนี้ ไม่มีที่สงัดซึ่งจะเที่ยวเล่นแต่ลำพังได้ ลงกระไดลงมาก็เป็นข้างหน้า ออกจากกำแพงไปก็ฝรั่งมาถึง เราควรจะมีสวนข้างในซึ่งเที่ยวได้ตามลำพัง ยิ่งมาเห็นพวกเจ้าแผ่นดินฝรั่งถือลูกประแจสวนหลายคนเข้า ยิ่งคิดถึงสวนที่นึกไว้ว่าจะทำมากขึ้น ต้องขยายกำแพงออกไปจนถึงถนนตพานทอง เอาสวนหลังวังเข้าไว้ในวัง การที่จะย้ายสวนสี่ฤดูเป็นการจำเป็นยิ่งขึ้น จึงขอรีบบอกมาให้รู้ว่า แบบตำหนักพระราชินีนั้น ควรจะแล้วสำเร็จ ถ้ากะไรจะได้สั่งทางโทรเลขให้ขยายกำแพงตามที่กะไว้ ถึงสวนสี่ฤดูจะค้างอยู่อีกปีหนึ่งเศษก็ไม่เป็นไร ด้วยงานในสวนยังมีมากที่จะทำได้ ถ้าแกจะสงเคราะห์สักอย่างหนึ่ง ให้ช่างในกรมโยธา ฤๅถ้าไม่มีตัว น่าจะต้องให้สุขาภิบาลช่วยคิด ทำแปลนสวนหลังพระที่นั่งให้แล้วสำเร็จไว้ ไปถึงได้ดูแก้ไข จะย่นเวลาได้ถนัดทีเดียว

ที่ซึ่งจะทำนั้นดังนี้ ก่อกำแพงวังด้านหลังขึ้นใหม่ ยืนไปตามถนนใบพรแลถนนซางฮี้ จนถึงถนนตพานทอง ขยายถนนตพานทองให้ใหญ่ขึ้นเท่าถนนซางฮี้และถนนใบพร เอาถนนดวงดาวเข้าไว้ในวัง รถรางที่เดินอยู่เดี๋ยวนี้ ให้เดินไปจนกระทั่งถนนตพานทองแล้วจึงค่อยเปลี่ยนก็ได้ ในสวนก็ลงมือทำไป กำแพงก็ก่อไป รถรางเมื่อจะย้ายได้เมื่อไรจึ่งย้ายไป สวนสี่ฤดูเมื่อจะย้ายได้เมื่อไรจึงย้าย กำแพงเดิมด้านหลังที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้คงไว้ไม่ต้องรื้อ กำแพงใหม่ให้เป็นแต่แถวนอก เมื่อแล้วสำเร็จพร้อมหมด อยากจะรื้อกำแพงเสียสักครึ่งหนึ่งก็รื้อได้ ที่ในบริเวณกำแพงชั้นนอกนี้คิดจะกันไว้เป็นสวนหลังพระที่นั่ง เสมอแนวถนนบ๋วยฟากข้างห้องเครื่อง เรือนสวนบัวอยู่ในสวนหลังพระที่นั่ง แปลนซึ่งจะเขียนสวนตามที่ขอให้เขียนนั้น เขียนเพียงแนวใต้ถนนบ๋วย คงจะต้องชักถนนบ๋วยนั้นยาวออกไปจนจดกำแพงข้างนอก เพราะฉนั้นจะได้ที่สวนหลังพระที่นั่งเท่ากันกับด้านหน้า จะเป็นห้าเส้นสี่เหลี่ยม ฤๅห้าเส้นเศษ อยากจะวางเรือนสวนลงไว้หลังหนึ่ง ให้เดินทางตพานหลังพระที่นั่งตรงไปถึงเรือนสวนนั้นได้ ถ้ากะไรจะมีตพานอีกตพานหนึ่งข้ามเหล่าๆ ตรงสวนสี่ฤดู เข้าไปในนั้นให้ซึ้ง ปลูกต้นไม้เป็นป่าบังข้างทิศตวันตก เป็นสวนอย่างป่าๆ ให้รู้สึกเงียบสงัดในที่นั้น การเรื่องทำสวนนี้ บางทีช่างเขาจะหรู แต่ไม่เป็นไร แก้ไขง่าย ให้วางเค้าลงไว้เสียให้ได้ก่อนว่าถนนจะไปอย่างไร ควรจะมีสระในนั้น ที่จะเอาดินขึ้นถมท้องล่องให้ใช้น้ำอยู่ในล๊อกเดียวกันกับล๊อกเดิม ต้องการให้แลเห็นซึ้งจากหลังพระที่นั่ง ตัวเรือนในสวนนั้นต้องให้บังมิด ลับจากถนน ลับจากพระที่นั่ง ไม่ต้องโตใหญ่ ขนาดสักเท่าพระที่นั่งราชฤดีจะพอดี แต่ต้องเป็นที่มีห้องสำหรับเป็นที่ลับบ้าง เช่นเว็จเป็นต้น ให้บังฝนได้ จะว่ามากไปกว่านี้ก็ทีจะฟั่นเฝือ จึงบอกเค้าไว้เท่านั้นที ส่วนฟากถนนบ๋วยข้างเหนือคิดจะเอาไว้เป็นที่ปลูกเรือนสำหรับลูกผู้หญิง ซึ่งจะต้องอยู่ในวังไปภายหน้า ด้วยการที่จะกลับไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังออกจะเป็นการลึกซึ้งไม่ใคร่มี ถ้าจะต้องเข้าไปก็เป็นการถูกเกณฑ์ บางคนก็จะชอบใจ บางคนก็จะเดือดร้อน ที่ซึ่งอยู่เดี๋ยวนี้เป็นแต่ที่อาไสย ถ้าเป็นการจำเป็นต้องไป จะเป็นที่รหกรเหินมาก แต่การนั้นเอาไว้คิดภายหลังได้ ทิ้งเปล่าไว้เสียครึ่งซีก ถ้าจะคิดก็เป็นการจำเป็นอย่างเดียวแต่เรื่องน้ำ ถ้าเรือนจะขึ้นไปอยู่ในดอนเช่นนั้นจะเกิดขัดน้ำขึ้น น่าจะต้องมีห้วยคลองอไรต่อไปจากสระ ซึ่งจะทำสวนทางนี้ ให้มีน้ำใช้ได้ตลอดอีกสายหนึ่ง ขอให้แลดูในข้อนั้นด้วย

ถ้าหากว่าเผลอไม่นับเวลาได้ ให้แลเห็นเร็วเหมือนพระยาสุขุมไปราชการก็จะดี นี่มันนึกไปไม่ได้ ช่างเห็นช้าเสียจริงๆ ขอจบความไว้เพียงเท่านี้ที.

จุฬาลงกรณ์ ป.ร.

  1. ๑. พระยาประดิษฐ์อมรพิมาน (ม.ร.ว. ชิต อิศรศักดิ์)

  2. ๒. กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ