สรรคที่ ๖

๏ ว๎ฤเต ตุ ไนษเธ ไภม๎ยา ๏ ครั้นเยาวมาลย์ไภมี เลือกนิษัธบดีแล้วไซ้ร จึ่งเทพไท้โลกบาล ผู้ตระการรุ่งรัศมี เสด็จจากธานีวิทรรภ์ พลันพบกลีเริงรอน และทวาบรเปนเพื่อนมา สี่เทวาก็หยุดปราไศรย จึ่งองค์ไท้เทวินทร์ ผู้ภินท์อสูรแรงร้าย ตรัสทักทายกลี ด้วยวจีอันสุนทร ๏ ท๎วาปเรณ สหาเยณ กเล พ๎รูหิ ก๎ว ยาส๎ยสิ ๏ ดูก่อนกลีเกียรติกระจาย พร้อมด้วยสหายทวาบร ท่านจะรีบร้อนไปหนไหน ขอจงแถลงแจ้งใจบ้างเถิด ครานี้ ๏ ตโตพ๎รวีต์ กลิห์ ศัก๎รํ ๏ ฝ่ายกลีฟังพจมาน จึ่งตอบบรรหารศักรราชา ๏ ทมยัน์ต๎ยา ส๎วยํวรํ ๏ ว่าข้านี้รีบเร่งจร สู่สยมพรทมยันตี นางนี้ข้าปราถนา เปนสวามีคู่ครองสราญ เยาวมาลย์นี้งามถนัด ดวงมนัสข้าจอดเสนหา ๏ ป๎รหัส๎เยน์โท๎ร ๏ อินทรราชาสำรวลพลาง ทางตอบถ้อยท้าวกลี ๏ นิว๎ฤต์ตห์ ส ส๎วยํวรห์ ๏ ว่าการพิธีสยมพรไซ้ร สัมฤทธิ์ใปแล้วนะท่าน เยาวมาลย์เลือกนลนเรนทร์ เปนบดีคู่เสนหา ต่อหน้าเราเทวราช และขัตติยชาติทั่วไป ๏ เอวัม์ อุก์ตัส๎ ตุ ศัก๎เรณ ๏ สดับถ้อยไท้ศักรินทร์ ผู้เปนปิ่นเทวบดี จึ่งกลีผู้นํ้าใจพาล ดาลความโกรธจนมืดหน้า ยกมือวันทาเทพทั้งหลาย อันขจรขจายฤทธิอำนาจ แล้วกล่าวประกาศคำแช่งด่า ด้วยวาจาอันทุรวาจ ๏ เทวานาม์ มานุษัม์ มัธ๎เย ยัต์ สา ปติม์ อวิน์ทต ๏ นางบังอาจเหิมกล้า ต่อหน้าเทพฤทธิรุทร์ เลือกเอามนุษถ่อยราศี เปนบดีฉนั้นไซ้ร ๏ ตัต๎ร ตัส๎ยา ภเวน์ น๎ยาย์ยัม์ ๏ โทษนางใหญ่หลวงหนัก หมิ่นศักดิ์เทพเทวัญ ๏ วิปุลํ ทัณ์ฑธารณัม์ ๏ ควรลงทัณฑ์แก่นาง ให้เปนตัวอย่างถึงขนาด นั่นแลฯ

๏ เอวัม์ อุก์เต ตุ กลินา ๒๘ ยามกลีโกรธา เผยพจนา พอสิ้นพจนาท ๏ ป๎รต๎ยูจุส๎ เต ทิเวากสห์ ๏ จึ่งเทพทั้งสี่ ผู้มีสุรชาติ ก็ตรัสประภาษ ตอบคำกลี ๏ อัส๎มาภิห์ สมนุช๎ญาเต ทมยัน์ต๎ยา นโล ว๎ฤตหํ ๏ ต่อหน้าเราไซ้ร ด้วยความเต็มใจ ยินยอมยินดี โฉมนางทรามชม ทมยันตี เลือกนลบดี เปนศรีภรรดา ๏ พระนลทรงธรรม ประเสริฐเลิศลํ้า กอปสรรพคุณา ใครเลยจะไม่ มีใจเสนหา ในองค์ราชา นฤบดี ๏ องค์ใดรอบรู้ เปนธรรมมัญญู อยู่คงเวที ทรงสุจริต ในกิจกรณีย์ ประกอบการดี เปนนิจนิรันดร์ ๏ องค์ใดวิเศษ รอบรู้พระเวท ทั้งสี่ขยัน อีกทั้งได้อ่าน ตำนานสำคัญ ชื่อภาควัตอัน เปนที่ปัญจมา ๏ องค์ใดย่อมหมั่น ตั้งกิจการยัญ ในราชเคหา บำบวงด้วยดี พลีเทวา มนัสศรัทธา ในเทพทรงธรรม์ ๏ องค์ใดย่อมเว้น จากเบียดเสียดเล่น เข่นฆ่าสัตว์สรรพ์ อีกสัจวาที มีอยู่ทุกวัน อีกถ้อยคำมั่น ยืนยันยวดยง ๏ อีกถือความสัตย์ มั่นคงสารพัต ทั้งทานจำนง ตะบะบำเพ็ญ เห็นศุจีทรง ข่มจิตเองลง ธำรงผ่องใส ๏ บุรุษพยัคฆ์ ทรงคุณประจักษ์ ดังนี้แน่ใจ เธอนั้นประเสริฐ เลิศลํ้าแดนไตร ปานเทพไท ผู้โลกบาล ๏ พระนลกษัตร์ ทรงรูปสมบัติ ศรีสวัสดิ์ศุภการ ผู้บังอาจแช่ง ให้แลงแหลกลาน จะไม่เปนการ แน่แล้วกลี ๏ ผู้ใดใจโหด ทั้งเขลาทั้งโฉด โกรธคนยอดดี ขอความแช่งด่า วาจาอัปรี ทุกข์โทษจุ่งมี แด่ผู้แช่งเอง ๏ อันว่าพระนล ทรงคุณบุญล้น คนย่อมยำเกรง แม้ใครแช่งชัก ตกหนักตนเอง เพราะนึกข่มเหง ชั่วแท้กลี ๏ ผู้แช่งจะตก ไปสู่นรก หมกกลางอัคคี ทนทุกข์เวทนา ทิวาราตรี ในขุมอันที่ ฦกลํ้าจำนอน ๏ สิ้นสุรวาที แด่ผีกลี และทวาบร จึ่งสี่เทเวศร์ วิเศษสุนทร เหิรเห็จเตร็จจร ยังทิพาลัย ฯ

๏ ตโต คเตษุ เทเวษุ ๑๖ ครั้นเห็นเทเวศร์มเหศร์ไกร ลิลาศยาตรไป จนพ้นระหว่างทางจร ๏ จึ่งท้าวกลีจิตร้อน กล่าวแก่ทวาบร ผู้มิตรสนิทร่วมใจ ๏ ว่าเราขัดแค้นฤทัย เหลืออดต่อไป เหลือหักให้เหือดแห้งหาย ๏ ดูราทวาบรเกียรติขจาย เรานี้มุ่งหมาย เข้าสิงในตัวพระนล ๏ จะเฝ้าแต่บันดาลดล จนเสียมณฑล ทั้งปวงสมบัติพัสถาน ๏ เฝ้ากวนจนทิ้งนงคราญ ไภมีเยาวมาลย์ ผู้ยอดสนิทเสนหา ๏ ตัวเจ้าจงเข้าสิงสกา เพื่อพลิกแพลงพา ให้เสียยับยิบฉิบหาย ๏ ดั่งนี้พาทีอธิบาย ทวาบรสหาย จงช่วยเราคิดสิทธิ์สรรพ์ ฯ

๏ เรื่องพระนลสรรคที่ ๖ ดังนี้ ฯ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ