สกา, ท. = การเล่นซึ่งอาศรัยแพ้ชนะกันตามคะแนนลูกบาต ฯ

สกาที่ไทยเราเล่นกันนั้น มีลูกสำหรับเดินเลื่อนตาไปตามคะแนนที่ทอดลูกบาตได้ แต่สกาที่ท้าวพรหมทัตเล่นกับพระยาครุฑในเรื่องกากี ฤๅที่พระนลเล่นกับพระบุษกร ฤๅพระยุธิษเฐียรเล่นกับพวกโกรพนั้น เปนแต่ทอดลูกบาตแข่งคะแนนกันเท่านั้น ตรงกับที่เรามาเรียกกันตามภาษาจีนว่า “สี่เหง้าลัก” นั้นเอง สกาที่เล่นกันในมัธยมประเทศนั้น ใช้ทอดด้วยเมล็ดผลไม้ซึ่งมีจุดข้าง ๑ บ้าง ใช้ด้วยเบี้ยขวํ้าหงายบ้าง ฤๅใช้ด้วยลูกบาตซึ่งที่มีหมายคะแนน (คล้ายโปของจีน)

อนึ่งลูกบาตจีนและฝรั่งมีเปน ๖ คะแนนเหมือนกัน แต่ของมัธยมประเทศโบราณใช้ ๔ คะแนน (คล้ายโป) มีทุกคะแนนนามต่างกัน คือ

กฤต = ๔

เตรตา = ๓

ทวาบร = ๒

กลี = ๑

ใครทอดได้ “กฤต” เปนดียิ่ง ใครทอดได้ “กลี” เปนต้องแพ้ยับเยิน ดังนี้คะแนน “กลี” จีงเรียกว่า “คะแนนผี” คือเปนมารผลาญให้ฉิบหาย ต่อ ๆ มาก็เลยกลายเปนมีตัว “กลี” ซึ่งกล่าวกันว่าเปนผีร้ายสำหรับคอยนำความพินาศมาสู่คน และในส่วนการพนันใครแพ้มาก ๆ จึง เรียกว่า “กลีเข้าสิง" จนเมื่อกลับตัวได้จึ่งว่า “กลีออก” ดังนี้ฯ

สักขี, ม. [ส. สาก์ษี] = “ผู้เห็น” คือพยาน ฯ (หมายเหตุ—อย่าปนกับคำ “สขี” ข้างล่างนี้) ฯ

สขี, ส. = เพื่อนผู้หญิง ฯ เมื่อกล่าวถึง “สขีคณา” ของเจ้านาย มุ่งความว่านางพระพี่เลี้ยงและข้าหลวงชั้นผู้ดี ผิดกับนางข้าหลวงชั้นไพร่ ซึ่งเรียกว่า “ทาสี” (ปุํ สข = เพื่อนชาย)

สงสาร [ม. และ ส. สํสาร] = (๑) การดั้นไป, การเวียนตายเกิด (๒) การวนเวียนกลับเกิดในโลก (๓) โลก คือพื้นแผ่นดิน (๔) โลก ซึ่งตรงกันข้ามกับธรรม (๕) สิ่งซึ่งเปนอนิจจัง ฯ

คำ “สงสาร” ในจินตกะวีนิพนธ์ไทยเรายังใช้ใกล้ที่ถูกอยู่ก็มี คือคำว่า “ยอดสงสาร” เปนคำชมว่าดียอดในโลกฤๅ “ทั่วทั้งสงสาร แปลว่าทั่วโลก ดังนี้เปนต้น แต่ตามปรกติ คำว่า “สงสาร” ไทยเราย่อมเข้าใจว่าเสียใจแทนคนอื่น คือเห็นเขาได้ทุกข์พลอยเสียใจด้วย เช่น “อนิจจาสงสารหลานรัก ดูผิวพักตร์ผิดรูปซูบเศร้า” (รามเกียรติ์รัชกาลที่ ๒ ชุดนางลอย) ดังนี้เปนต้น ที่ความเข้าใจในคำมาแผลงไปได้ถึงเพียงนี้ จะเปนมาแต่สมัยใดยังไม่ปรากฎชัด ฯ

สังขยา, [ม. และ ส. สํข๎ยา] = การนับ, คำณวน ฯ (ขนมที่ชื่อนี้จะมาจากไหนไม่ปรากฎ) ฯ

สณฑ์, สัณฑ์, สาณฑ์, ม. ผ. [ส. ษัณ์ฑ] = หมู่ไม้, ดง, รก, ทึบ ฯ ฤๅใช้ในที่แปลว่าฝูง, กอง, หมู่ เมื่อกล่าวถึงสัตว์ฤๅวัตถุก็ได้ ฯ

สัตยพรต, [ส. สัต๎ยว๎รต] = (๑) คำมั่นสัญญา (๒) ถือความสัตย์มั่น, ซื่อตรง ฯ

สัตยวาจ, ส. = ถ้อยอันถ่องแท้, คำอันจริงใจ, คำมั่น ฯ

สนธิ, ส. ผ. = เชื่อม, ต่อ, กรอง

สะพัตร์, ส. ผ. [ส. สวัส๎ต๎ร] = ผ้าห่ม

สมเด็จ, เสด็จ, ข. = ผู้เปนใหญ่, ท่าน, สูง ฯ

สมเพช, ฤๅ สังเวช, ส. ผ. = แลเห็นทุกข์, สลดใจ ฯ [ส. สํวิช์ = สั่น, ขวัญหาย, สํเวชนิย = ใจสั่น, สดุ้งใจยิ่งนัก, สํวิฆ๎น = ตกใจ, วุ่นไปมา, สํวิฆ๎นมานส = ใจยุ่ง, ใจปั่นป่วน.]

สยมพร, สยัมพร, สยุมพร, ส. ผ. [ส. ส๎วยํวร] = การที่นารีเลือกคู่

สะรัส, ส. = สระ, อ่าง (ที่ขุดกับพื้นดิน ฤๅที่เปนอยู่เองในหว่างผา)

สะโรช, ส. = “เกิดแต่สระ” คือดอกบัว.

สรรค ๑. [ส. สร๎ค] = ตอนแห่งหนังสือ เช่นในเรื่องพระนลนี้เปนต้น ฯ

๒. [ส. ส๎วร๎ค] = เมืองเทวดา

สหเทพ, [ส. สหเทว] = นามแห่งเจ้าปาณฑพองค์ที่ ๕ เปนโอรสนางมัทรีกับ
พระอัศวิน (ดูที่ นกุล และที่ ปาณฑพ)

สาตรา, ส. ผ. [ส. ศัส๎ต๎ร] = เครื่องประหารอันใช้อยู่กับตัวเช่นดาบ เปนต้นฯ

สาธิต, ส. = สำเร็จในการงาน

สาธุ, ม. และ ส. = (๑) เที่ยง, ถูกไม่พลาด, สมใจ, ซื่อ, ดียิ่ง, ควรนับถือ (๒) คนดีสุจริต (๓) ผู้มีปัญญาควรไหว้ (๔) ชอบแล้ว, ดีแล้ว, เห็นด้วยแล้ว

สาธุการ, ม. และ ส. = เปล่งอุทานว่า “สาธุ” ฯ

สาป, ม. [ส. ศาป] = แช่ง

สามาญ, [ส. สามาน๎ย] = เท่า ๆ กัน, ทั่ว ๆ ไป, ไม่เปนของใครโดยเฉภาะ, ไม่ใช่ของแปลก, ไม่มีราคา, ต่ำ, เลว ฯ

สาย, ส. = เวลาบ่าย, เวลาเย็น (ไทยเราใช้ว่า “ไม่เช้า” คือใกล้เที่ยง)

สายัณห์, ม. [ส. สายาหัน์, ฤๅ สายห๎น,] = เวลาพลบ, เย็นย่ำ ฯ

สาร. ส. = (๑) แก่น (๒) ความมั่นคง (๓) หัวใจ (ความ), อันเปนที่ตั้ง, เช่นประโยคว่า “ธร๎มสารํ ชคัต์” = “โลกนี้ย่อมอาศรัยธรรมเปนที่ตั้ง” ดังนี้เปนตัวอย่าง (๔) ข้อสำคัญในความอันใดอัน ๑ (๕) ตำหรับ เช่น “ธรรมสาร” = กฎหมายเปนต้น (๖) แขง, แน่น, แรง ฯ

อนึ่งในจินตกะวีนิพนธ์ของไทยเรามักใช้คำ “สาร” อยู่บ่อย ๆ เปน ๒ นัย คือ

๑. สาร = หนังสือ เช่นอักษรสาร นี้มาจากความแปลว่า “แก่น” ฤๅ “ดี” ฤๅ “เปนใจความ” ก็ได้

๒. สาร ช้าง = คือเปนสัตว์ที่มั่นคงและแรงมาก ทั้งมีราคาด้วย ฯ

สารถี, ม. และ ส. = คนขับรถ ฯ ในโบราณสมัย นายสารถีย่อมเปนคนสำคัญ เพราะเปนผู้ที่ต้องขับรถของกษัตร์เข้าสู่สนามรบและเปนผู้รักษาพระแสงต่าง ๆ ด้วย จึ่งต้องเลือกเอาคนที่ไว้วางใจได้จริง ฯ การเปนสารถีในโบราณสมัยไม่ถือว่าเปนการเสื่อมเสียเกียรติยศเลย และกษัตรต่อกษัตรก็เปนสารถีให้กันได้ เช่น ท้าวบรมจักรกฤษณ์เปนสารถีขับรถพระอรชุนในเมื่อกระทำการมหาภารตยุทธ์เปนต้น ฯ เนื่องจากความไว้ใจกันในสนามรบนี้แล นายสารถีจึงเลยเปนที่ไว้วางใจแห่งพระราชาในที่ทั้งปวง ให้เปนผู้เข้านอกออกในได้ เช่นนายวาร์ษไณยในเรื่องพระนลนี้ เข้าไปเฝ้านางทมยันตีถึงข้างในได้ และค่าที่ไว้ใจนั้น พระราชาในสมัยโน้นจึ่งมักใช้นายสารถีเปนผู้แต่งเครื่องเสวยด้วย การทำครัวเปนจึ่งนับว่าเปนวิชาอัน ๑ ซึ่งควรแก่นายสารถี ฯ ใช่แต่เท่านี้นายสารถีซํ้าเปนมนตรีที่ปฤกษาของเจ้านายตนด้วย เช่นนายสุมันตร์เปนมนตรีแห่งท้าวทศรถจอมอยุธยา (ในเรื่องรามเกียรติ์) เปนตัวอย่าง ฯ การยกย่องนับถือนายสารถีนี้ ย่อมทำให้ใช้คำนั้นเปนศัพท์เรียกบรรดาผู้ที่ชักจูงฤๅแนะนำในกิจทั่ว ๆ ไป เช่นกล่าวถึงสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้าของเราว่า “ปุริสทัม์มสารถิ”  สารถีผู้ทรมานบุรุษ ดังนี้ เปนอาทิ ฯ

ความนิยมในตำแหน่งน่าที่แห่งนายสารถี ว่าเปนคนสำคัญดังกล่าวมาแล้วนี้ ย่อมมีต่อเนื่องมาจนถึงเมืองไทยเรา เพราะฉนั้นผู้เปนราชสารถีจึ่งเปนผู้ที่มีเกียรติยศ เปนที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้โดยแท้ เพราะต้องทรงฝากพระชนมชีพไว้แก่เขา แต่ในสมัยนี้ มีคนที่โง่เขลาเบาปัญญา อวดรู้ข้าง ๆ คู ๆ พอใจยกตนข่มท่าน มีดินสอปากกาอยู่ในมือแล้วก็เห็นตนวิเศษ ทิ่มไปเขียนไปโดยไม่ต้องไตร่ตรองให้ลึกซึ้ง จึ่งเห็นว่าคนที่เปนราชสารถีเปนคนเลวทรามต่ำต้อยไป แท้จริงนายสารถีอย่าง ๑ นายกลางช้างอย่าง ๑ มักใช้คนมีตระกูล ฤๅ เปนเชื้อพระวงศ์ เช่นเจ้ารามราฆพผู้เปนกลางช้างของสมเด็จพระนเรศวร เปนตัวอย่าง ฯ

สาร์ถ, [ส. สาร๎ถ] = (๑) มีธุระ ฤๅที่มุ่ง (๒) มีสมบัติ, มั่งมี (๓) มีความแปลได้, แสดงได้ (๔) เปนประโยชน์ ฤๅ การหาผล (๕) กองพ่อค้าซึ่งพากันไปหาผลประโยชน์ ฯ จึงได้คำว่า “สาร์ถบดี” = นายกอง, ผู้กำกับ, และ “สาร์ถวาห” ฤๅ “สาร์ถวาหน” = ผู้นำกอง, หัวหน้า ฯ

สิทธิบดี, ส. ผ. [ส. สิท์ธิปติ] = “เจ้าแห่งความสำเร็จ” = พระคเณศวร์ ฯ

สินธู, ส. = (๑) ลำนํ้า มีอาทิคือลำสินธู (ซึ่งอังกฤษเรียกว่า “Indus”) ตามภาษาอิหร่าน “Hindu” - (๒) นํ้า (๓) ทเล (๔) ภูมิประเทศในลุ่มนํ้าสินธู ซึ่งโดยมากมักเขียนว่า “สินธ์” (อังกฤษ “Sindh”) ฯ จาก “สินธุ” นี้ ไทยเราได้ศัพท์ซึ่งใช้บ่อย ๆ อยู่ ๒ ศัพท์ คือ:-

สินธพ  = ม้า ฯ ในชั้นต้นคงใช้แต่กล่าวถึงม้าซึ่งเกิดในสินธุเทศ แต่ต่อมาจึ่งใช้สำหรับม้าทั่ว ๆ ไป ฯ

สินเธาว์ = เกลือชนิดที่เกิดอยู่ในแผ่นดิน ฯ

สีวิกา, [ม. สิวิกา, ส. ศิพิกา ฤๅ ศิวิกา] = คานหาม, วอ.

สุกุมาร, ส. [ม. สุขุมาล] = อ่อน ฯ

สุชาตา, ม. และ ส. = กำเนิดดี, เปนลูกผู้มีตระกูล

สุดา, ส. ผ. = ลูกสาว (ดูที่ สุต)

สุต, ส. = (๑) ให้กำเนิดมาแล้ว (๒) ลูกชาย ฯ สุตา = ลูกหญิง, สุเตา (พหูพจน์) = ลูกชายและหญิง ฯ

(หมายเหตุ - คำว่า “สุต” นี้ อย่าฉงนปนกับคำว่า “สูต” ซึ่งได้แปลไว้อีกแห่ง ๑ ต่อไปข้างหน้านี้)

สุทามัน [ส. สุทามัน์] = “ผู้มักอวยทาน” เปนนามราชาผู้ครองแคว้น ทศาร์ณ และเปนตานางทมยันตี ฯ

สุเทพ ส. ผ. [ส. สุเทว] = นามแห่งพราหมณ์ผู้รับใช้ท้าวภีมราชไปค้นพบนางทมยันตี แล้วรับใช้นางทมยันตีไปลวงพระนลไปวิทรรภอีกที ๑ ฯ

สุนันทา, ส. = “นางผู้น่ารัก” เปนนามแห่งนางภคินีแห่งท้าวสุพาหุเจ้านครเจทีในเรื่องพระนล ฯ

สุนทร, ปุํ. สุนทรี, อิตถี, ส. = ดี, งาม, สวย, น่ายินดี น่าพอใจ

สุประภา, ส. = สวย, ผุดผ่อง, รูปงาม

สุพาหุ, ส. = “แขนแขง” ฤๅ “แขนงาม” ฯ ในเรื่องพระนลนี้เปนนามพระราชาผู้ครองนครเจที ในขณเมื่อนางทมยันตีไปอาศรัยอยู่ ฯ

สุภัทร์, ส. = เลิศ, ประเสริฐ, ดียิ่งยวด

สุร, ส. = เนื่องด้วยเทวดา

สุรางคนา, ส. = นางฟ้า

สุโรดม, ส. ผ. [ส. สุโรต์ตม] = เปนยอดแห่งเทวดา

สุริย, ม. [ส. สูร๎ย] = พระอาทิตย์

สุริยวงศ์ = เชื้อพระอาทิตย์ = กษัตร์ซึ่งดำรงนครอโยธยา อันนับสืบสกุลเนื่องลงมาจากท้าวอิกษวากุ ผู้เปนโอรสพระมนูไววัสวัต ซึ่งเปนโอรสพระอาทิตย์ (ดูที่ มนู)

สุวพักตร์, ส. ผ. [ส. สุวักต๎ร] = “หน้างาม”

สูต, ส. = ผู้ขับรถหลวง ฤๅนายม้าต้น ในโบราณสมัยเปนคนสำคัญ เพราะเปนที่ไว้วางพระราชหฤทัยแห่งพระราชา รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ และในเวลามีงานใหญ่ ฤๅงานราชสงครามมีน่าที่เปนผู้ประกาศพระนามาภิไธย และ แสดงพระเกียรติคุณแห่งพระราชา โดยมากมักเปนบุตรผู้มีตระกูล คือบิดาเปนกษัตริย์มารดาเปนพราหมณี ฤๅบิดาเปนพราหมณ์ มารดาเปนกษัตริยา ฯ ความนิยมยกย่องนายม้าต้นมิใช่มีแต่ในข้างบูรพทิศ ถึงในประเทศยุโรปก็นับถือเช่นกัน คือผู้ที่จะรับตำแหน่งเปนนายม้าต้น (อังกฤษเรียก “Equerry” ฝรั่งเศษ “Ecuyer”) ต้องเปนผู้มีตระกูลเก่า คือเปนลูกขุนนางแท้ จะเอาขุนนางดอกเห็ดดอกเลาฤๅ “มะพร้าวตื่นดก” เปนหาได้ไม่ (ผู้ที่อวดดีทำเปนคนรู้อย่างใหม่และดูถูกผู้ที่เปนนายม้าต้น ชื่อว่าคนโง่แกมหยิ่งไม่รู้จริงเผยอพูดถึงแม้จะได้เคยโผล่ไป “เมืองนอก” ก็แปลว่าไม่ได้เคยทราบขนบธรรมเนียมราชสำนัก และไม่เคยเข้าสมาคมผู้ดี เคยคบแต่ขี้ข้า จึงได้แต่ความรู้อย่างขี้ข้ามาแสดงกับคนห่ามเท่านั้น) ฯ

สูรย์, ส. = พระอาทิตย์

เสวี, ม. [ส. เสวิน์] = ผู้รับใช้ใกล้ชิด ฯ จากมูล “เสวะ” = อยู่ใกล้ชิด, รับใช้, นับถือ, กราบไหว้ ฯ จากมูลเดียวกันนี้ มีคำซึ่งมักพบใช้ในหนังสือไทย คือ:-

๑. เสวก = อยู่ใกล้, อยู่ร่วม, นับถือ, นอบน้อม, คนใช้, บริวาร, คนสนิท, คนนับถือ.

๒. เสวนา = การอยู่ใกล้ชิด, การอยู่ร่วม, การรับใช้, การรักใคร่นับถือ, การสนิทสนม.

๓. เสพย์, [ส. เสว๎ย] = พึงอยู่, พึงใกล้, พึงใช้, พึงถึง, พึงนบนอบ, พึงรับใช้. พึงใส่ใจ, พึงสงวน. พึงร่วมกามรส ฯ

[อนึ่งคำว่า “เสพย์” นี้ ข้างวัด ๆ มักแปลว่า “เสวย” ซึ่งตามความเข้าใจของนักเลงวรรณคดีไทยเราว่าเปนศัพท์ขอม แต่เมื่อพิจารณาดูรูปคำ เมื่อเขียนลงแล้วก็ไม่ผิดกันเลยกับคำ “เสว๎ย” ของสันสกฤต ทั้งคำแปลก็ตรงกันอยู่ เพราะฉนั้นขอมจะได้ศัพท์ “เสวย” มาจากสันสกฤต แต่มาอ่านคลาดเคลื่อนไปดังนี้จะเปนได้ฤๅไม่ ขอเชิญนักรู้ในวรรณคดีจงไตร่ตรองดูด้วยเถิด — ว.ป.ร.]

แสะ, ข. = ม้า

โสณี, ม. [ส. โศ๎รนี] = ตะโพก

โสมะบาน, ส. ผ. [ส. โสมปา] = “ผู้ควรดื่มนํ้าโสมได้” ฯ นํ้าโสมเปนของที่พราหมณ์นิยมนับถือว่าเปนของสูง จึ่งหวงมาก ชนที่เปนศูทร์ห้ามมิให้กิน กษัตริย์และแพศย์กินได้แต่บางคราว พราหมณ์เท่านั้นกินได้ทุกเมื่อ ฯ (เรื่อง โสม ได้อธิบายไว้แล้วในอภิธานท้าย “ศกุนตลา”)

เสาวภาคย์, ส. ผ. [ส. เสาภาค๎ย] = (๑) เจริญ, สำเร็จ, สำราญ (๒) งาม, พริ้ง, น่าชม, น่ารัก (๓) ความรัก, ความเอ็นดู (๔) ความอวยพร

สกนธ์, [ส. ส๎กัน์ธ, ม. ขัน์ธ] = (๑) กายเบื้องบน คือคอกับไหล่ (แต่ไทยเราใช้เรียกตัวทั่วไป), (๒) ลำต้นไม้ (๓) คบไม้ (๔) กอง, หมู่ (๕) กองทหาร (๖) ตอนแห่งหนังสือ (๗) ทาง — เช่นทางลม (๘) ในทางพระศาสนาไทยเราเรียกทับศัพท์มคธว่า “ขันธ์”
มี ๕ องค์ คือ ๑. รูป ๒. เวทนา ๓. สัญญา ๔. สังขาร ๕. วิญญาน ฯ

สถิต, ส. = ยืนอยู่, อยู่กับที่, พักอยู่, แรมอยู่ ฯ (ที่เขียนว่า “สถิตย์” ฉนี้ ตัว “ย” เกินไปตัว ๑) ฯ

สนุษา, [ส. ส๎นุษา, ม. สุณิสา] = ลูกสะใภ้ ฯ

สวาท, [ส. ส๎วาท, ฤๅ ส๎วาทุ] = หวาน, อร่อย, ควรลิ้ม, รสดี, ชื่นใจ, จับใจ ฯ คำนี้ใช้ได้ทั้งในส่วนกล่าวถึงรสที่กินถูกลิ้นหวาน ทั้งสำเนียงที่ไพเราะจับหู ทั้งบทกลอนที่ดีจับใจ ทั้งถึงหญิงที่งามถูกตาถูกใจ ฤๅที่รักใคร่ยิ่ง ซึ่งนับว่าตรงทุกสถานกับศัพท์ในภาษายุโรปหลายภาษา คือ ละติน “Suavis,” ซักเซ็นโบราณ “Swote,” อังโคลซักเซ็น “Sweete,” อังกฤษ “Sweet,” เยอรมัน “Süss” ฯ เมื่อมีพยานหลักฐานอยู่เช่นนี้ ข้าพเจ้า (ว.ป.ร.) จึ่งนำมาใช้แทนคำซึ่งเคยเห็นเขียนในจินตกะวีนิพนธ์ไทยหลายแห่งว่า “สวาดิ์” บ้าง “สวาสดิ” บ้าง ฯ ข้าพเจ้าได้ตรวจค้นดู ได้ความว่า “ส๎วาติ” เปนชื่อดาวฤกษ์ เปนชื่อนางฟ้าตน ๑ ซึ่งเปนชายาพระอาทิตย์, กับแปลว่าดาบ, ดูไม่เข้าเค้าที่จะควรเหยียดมาใช้ในความว่า “ความรัก, ความใคร่, ยินดี, น่ายินดี” นั้นเลย; ส่วนที่เขียนว่า “สวาสดิ์” นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าจะเปนด้วยหลงมาจาก “สวัสดิ” เท่านั้น ไม่มีมูลอันใดยิ่งไปกว่านี้ ฯ เมื่อความเปนอยู่เช่นนี้ ข้าพเจ้าจักใคร่ทนงยืนยันว่า ถ้าจะ ใช้กล่าวความเนื่องด้วยน่ารักฤๅน่ายินดี เขียน “สวาท” ดังนี้จึ่งจะถูก: ทั้งนี้ แล้วแต่บัณฑิตย์จะวินิจฉัยเถิด ฯ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ