- คำนำ
- พระราชนิพนธ์คำนำ
- นมัสกฤติกถา
- อารัมภกถา
- นิทานวัจนะ
- นโลปาข๎ยานัม์
- สรรคที่ ๑
- สรรคที่ ๒
- สรรคที่ ๓
- สรรคที่ ๔
- สรรคที่ ๕
- สรรคที่ ๖
- สรรคที่ ๗
- สรรคที่ ๘
- สรรคที่ ๙
- สรรคที่ ๑๐
- สรรคที่ ๑๑
- สรรคที่ ๑๒
- สรรคที่ ๑๓
- สรรคที่ ๑๔
- สรรคที่ ๑๕
- สรรคที่ ๑๖
- สรรคที่ ๑๗
- สรรคที่ ๑๘
- สรรคที่ ๑๙
- สรรคที่ ๒๐
- สรรคที่ ๒๑
- สรรคที่ ๒๒
- สรรคที่ ๒๓
- สรรคที่ ๒๔
- สรรคที่ ๒๕
- สรรคที่ ๒๖
- อุตตรกถา
- อธิบายในลักษณประพนธ์
- อภิธาน
ห
หงส์, [ม. และ ส. หํส] = ห่านขาว ฯ แต่หงส์ว่ามีหลายชนิด มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน คือ “สุวรรณหงส์” (หงส์ทอง) อย่าง ๑ ซึ่งเข้าใจกันว่าน่าจะเปนนกซึ่งมีแต่ในหนังสือ, อีกอย่าง ๑ เรียกว่า “หงส์นํ้า” ตรงกับที่อังกฤษเรียกว่า “Swan,” อีกอย่าง ๑ เรียกว่า “หงส์ชาด” คือหงส์แดง มีลักษณขนสีแดง ตีนสีแดงเรื่อ (ฤๅสีที่เรียกตามภาษาช่างไทยเราว่า “สีหงสบาท”); “หงส์ชาด” นี้ เข้าใจว่าจะตรงกับนกชนิดที่อังกฤษเขาเรียกว่า “Flamingo” ฯ ในไสยศาสตร์ว่าหงส์เปนพาหนะพระพรหมา ฯ
หัย [ส. หย] = ม้า ฯ จากมูลนี้ จึ่งได้คำผสมมาใช้ในภาษาไทยเราอีกเปนหลายคำ และที่มีใช้อยู่ในหนังสือนี้ คือ “หัยกร,” “หัยการ,” “หัยกิจ” = ธุระเนื่องด้วยม้า.
หัยรักษ์ = นายม้า. หัยราช = ม้าต้น, ม้าหลวง ฯ ล ฯ
หริทัศว์ [ส. หริทัศ๎ว] = “ม้าเหลือง” (หริต = เหลือง)
หรรษ์, หรรษา [ส. หร๎ษ, หร๎ษา] = (๑) ขนลุก (๒) ปลื้ม, ดีใจ, สนุก ฯ
หัสดี, ส. ผ. [ส. หัส๎ติน] = “มีมือ” คือช้างซึ่งมีงวงอันใช้ได้ต่างมือ ฯ
หัสดินบุระ, ส. ผ. [ส. หัส๎ตินาปุร, ฤๅ หัส๎ตินปุร ก็ใช้] = เปนนามแห่งนครหลวงของกษัตร์จันทรวงศ์ ตั้งอยู่ริมฝั่งลํานํ้าซึ่งเปนกิ่งเก่าของลำพระคงคา ระยะทางจากนครเฑลหิ (Delhi) ประมาณ ๕๗ ไมลส์ (๒๔๘๐ เส้น) ไปทางทิศอิศาน ฯ
หัสตยานิก, ส. ผ. [ส. หัส๎ต๎ยานิก] = ทหารช้าง
หึง, ท. = ช้า, นาน, เช่น “มาหึง” = มานานแล้ว, “บ่มิหึง” = ไม่ช้า ฯ
หึงส์ ส. ผ. [ส. หึส] = ทำร้าย, มุ่งร้าย แกล้งทำแก่กัน เปนข้าศึกแก่กัน ฯ กับมีคำว่า “หึสา” = ความเจ็บ, อันตราย, ประทุษร้าย ฯ หึงสาย่อมเปนได้ทั้ง ๓ สถาน คือ ๑. กายหึสา = ทำร้ายร่างกาย, ๒. วาจาหึสา = พูดจาด่าทอต่าง ๆ, ๓. มโนหึสา =
อาฆาฏมาทร้าย ฯ
อนึ่งคำว่า “หึง” ที่ใช้ในภาษาไทยในที่กล่าวในส่วนสามีภิริยานั้น เข้าใจว่าจะมาจาก “หึสา” นี้เอง เพราะฉนั้นน่าจะเขียนมีตัว “ส” การันต์ ว่า “หึงส์” ดังนี้กระมัง ฯ
หิรัญ, ม. ผ. [ส. หิริณ๎ย] = ทอง ฯ ในชั้นต้นเปนศัพท์ใช้เรียกทองซึ่งยังมิได้ทำเปนรูปพรรณ แต่ต่อมาใช้เปนศัพท์เรียกทองตรา ฯ ในภาษาไทยเรามาเข้าใจกันไปว่า “หิรัญ” แปลว่า เงิน ฯ ที่เข้าใจผิดไปเช่นนี้ เห็นจะเปนด้วยแปลศัพท์ “หิรัณ๎ยสุวร๎ณ” ว่า “เงินทอง” ซึ่งในที่นี้เปนอันใช้ได้ เพราะแปลว่าทรัพย์สินเงินทอง; ต่อนั้นมาจะมาตรองกันต่อไปว่า “สุวรรณ” แปลว่าทองอยู่แล้ว “หิรัณย์” ก็เปนเงินนั้นเอง; ที่แปลผิดกันมาเช่นนี้ จะเปนมาแต่เมื่อไรยังหาได้สอบให้ได้ความชัดเจนไม่ ฯ คำว่า “หิรัญ” ถ้าจะแปลว่า “เงิน” ได้ก็แต่ในส่วนกว้างคือสิ่งซึ่งใช้เปนของแลกเปลี่ยนชื้อขายได้ทั่ว ๆ ไป ตลอดจนธนบัตร์เรียกว่า “เงิน” ได้ทั้งสิ้น, แต่ส่วนโลหะเงินนั้น ที่ถูกต้องใช้ว่า “รัชตะ” ฯ ส่วนคำว่า “หิรัณย์” นั้น พบที่แห่งใดก็คงได้ความแปลว่าทองทุกแห่ง เช่นใช้ว่าเปลวไฟสีเปนหิรัณย์ดังนี้ คงไม่ใช่แปลว่าสีขาวเปนเงินเปนแน่ และคำว่า “หิรัณยการ” แปลว่า “ช่างทอง” “รชตํ หิรัณ๎ยัม์” = ทองสีขาว คือเงิน ดังนี้เปนตัวอย่าง ฯ
หุตาสิน, ส. = “ผู้กินเครื่องพลี” คือพระอัคนี ฯ หุต = ถวายพลีในไฟ คือเอาเครื่องสังเวยเผาฤๅหย่อนลงในไฟ โดยนิยมกันว่าไฟจะช่วยพาขึ้นไปถึงเทวดาทั้งปวงที่อยู่บนสวรรค์ (การปักธูปที่ของเครื่องสังเวยก็เนื่องมาจากนี่เอง) ฯ การพลีไฟนับว่าเปนยัญกรรมอันประเสริฐยิ่งกว่ายัญกรรมอื่น เพราะเหมือนบูชาเทวดาอื่นพร้อมกันทีเดียว เหตุฉนี้จึงมีภาษิตปรากฎอยู่ว่า “อัค์คิ หุต์ตํ มุขา ยัญ์ญา” = “การบูชาไฟเปนหัวหน้าแห่งยัญทั้งหลาย” ดังนี้เปนต้น ฯ
หฤทัย [ส. ห๎ฤทย] = ตรงกับคำไทยเราว่า “ใจ” ทุกสถาน คือ
(๑) ดวงใจ อันเปนที่รู้สึกอะไร ๆ เช่น รักและชัง ฤๅ กล้าและกลัว เปนต้น
(๒) ความคิด เช่น “จปลห๎ฤทย” = “ลังเล” ดังนี้เปนต้น
(๓) ภายในแห่งร่างกาย
(๔) แก่น ซึ่งเราเรียกว่า “หัวใจ” ฤๅ “ใจกลาง”
(๔) ความรู้อันแท้จริงในกิจใดกิจ ๑ เช่น “อักษ๎หฤทย” = หัวใจสกา, “อัศ๎วห๎ฤทย” = หัวใจการม้า ดังนี้เปนต้น ฯ