กติกา ม. = คำกำหนด ใช้ในที่ว่าเปนคำกำหนดของพระราชา

กถา, ม. แล ส. = คำพูด, ถ้อยคำ

กมล, ม. แล ส. = (๑) ดอกบัวหลวง (๒) สีแดงอ่อน (๓) นางงาม ฯ ในภาษากะวีไทยเราใช้เรียกดวงใจว่า “กมล” เพราะมีสัณฐานคล้ายดอกบัวหลวงตูม ฯ

กมลครรภ, [ส. กมลคร๎ภ] แปลตรงตามศัพท์ว่า “เกิดแต่ดอกบัว” ฤๅ “จอกบัว” แต่ใช้ในกะวีนิพนธ์ว่างามเหมือนดอกบัว ฯ

กมลเนตร, ส = “ตาดอกบัว” คือตางามเหมือนดอกบัว เปนคำใช้ชมนางงาม ฯ จินตกะวีชาวมัธยมประเทศ ชอบชมทั้งพระและนางว่าตางามเหมือนดอกบัว และมีคำผสมซึ่งมุ่งความอย่างเดียวกันหลายคำ คือ “กมลนัยน,” “กมลโลจน,” “กมลาก์ษ,” “กมเลก์ษณ

กรณีย, ม. และ ส = กิจอันควรจะกระทำ เพื่อให้เกิดประโยชน์

กรรโกฏก [ส. กร๎โกฏก] = นามแห่งพญานาคตน ๑ ซึ่งเปนใหญ่ในบาดาล อีกนัย ๑ เรียกว่า “กรรโกฏกี

กลี [ส. กลิ] = (๑) นามแห่งผีร้ายตน ๑ (๒) นามแห่งคะแนนเอี่ยวในลูกบาตสกา (ดูที่ สกา ต่อไป) - (๓) นามแห่งยุค (ดูข้างล่างนี้ต่อไป) - (๔) ความทำร้ายกัน, ไม่ปรองดองกัน, เทลาะกัน, แก่งแย่งกัน (ดังนี้เมื่อมีเหตุร้ายขึ้น จึ่งมักเรียกว่าเกิดการกลี และนักเลงแต่งหนังสือไทยเรามือบอน เติมสระ  ุ เข้าไป จึ่งกลายเปน “กุลี” เช่นเมื่อเกิดเหตุร้ายต่าง ๆ เรียกว่า “เกิดกุลียุค” ดังนี้เปนต้น) ฯ ตามตำหรับภาควัตปุราณกล่าวถึงกลีว่า บิดาชื่อ “โกรธ” มารดาชื่อ “หึสา” (ความปองร้าย ฤๅที่ไทยเรามาใช้ว่า “หึง” นั้นเอง) น้องสาวชื่อ “ทุรุก์ติ” (ใส่ความ) เปนเมียกลี มีลูกด้วยกันชื่อ “ภัย” (ความกลัว) ๑ “มฤตยู” (ความตาย) ๑ ซึ่งถ้าไตร่ตรองดูก็ต้องยอมว่า ของเขาช่างคิดเปนความเปรียบเทียบตรงกับความเปนจริงอยู่ดีมาก คือความแตกร้าวและให้ร้ายแก่กัน (กลี) ย่อมเกิดขึ้น เพราะ โกรธ และความปองร้าย (หึสา) และเมื่อมีการใส่ความ (ทุรุกติ) มาผสมเข้ากับความให้ร้ายนั้นด้วยแล้วก็ย่อมนำผลคือความกลัว (ภัย) และความตาย (มฤตยู) มาถึงได้โดยแน่แท้ ฯ

กลียุค, ส = ยุคที่ ๔ และที่สุดแห่งอายุโลก (เวลานี้เราอยู่ในกลียุค) ฯ กลียุคเปนยุคที่ร้ายกว่ายุคอื่น ฯ (ดูที่ ยุค ต่อไป) เพราะฉนั้นตามไสยศาสตร์จึ่งกำหนดว่า เมื่อถึงปลายกลียุคจะมีไฟบรรลัยกัลป์มาเผาผลาญโลกสูญสิ้น ฯ กลียุคมีกำหนดจำนวนปีได้ ๑๒๐๐ ปีสวรรค์ ฤๅ ๔๓๒,๐๐๐ ปีแห่งมนุษ ปีแห่งกลียุคนี้ ข้างไสยศาสตร์นับเริ่มมาแต่เมื่อปี ๒๕๕๙ ก่อนพุทธศาสนายุกาล และเริ่มณวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ในปีนั้น ฯ

กานต์, ส. = (๑) เปนที่พึงปราถนา, ที่รัก, ที่พึงใจ, น่าชม, สวยงาม, (๒) ชู้, ผัว, (๓) เมียรัก, นางงาม ฯ (ไทยเราใช้แผลงว่า “กานดา”) ฯ

กาพย์, [ส. กาว๎ย] = คำที่กะวีได้กล่าวมา ฤๅได้รจนาขึ้นแต่ฝีปากเดียว (ตรงกันข้ามกับ อิติหาส ซึ่งมีกะวีช่วยกันแต่งฤๅแต่งต่อกัน เปนหลายฝีปากด้วยกัน) ฯ

กามเทพ [ส. กามเทว] = เจ้าแห่งความรัก ซึ่งถือว่าเปนแบบอย่างแห่งชายที่งามและที่หญิงน่ารักใคร่ ฯ (ในอภิธานท้ายหนังสือ ศกุนตลา มีข้อความเรื่องกามเทพไว้ละเอียดแล้ว) ฯ

กาษายวัส, ส. = ผ้าสีนํ้าตาลแดง ฯ ผ้าชนิดนี้พวกภิกษุ (พุทธบริษัท) ใช้ตามอย่างพราหมณ์ที่เปนสันนยาสี ซึ่งละสมบัติและเคหสถาน ออกไปบำเพ็ญตะบะขออาหารกินจากคฤหบดี ฯ อนึ่งผ้ากาษายวัสนั้น ในมัธยมประเทศเปนผ้าที่หญิงหม้ายใช้นุ่งห่ม เพื่อแสดงความเศร้าโศกถึงผัว ฯ ส่วนธรรมเนียมหญิงหม้ายนุ่งดำในประเทศยุโรป เทียบกับธรรมเนียมนี้ก็ปานกันเพราะนักบวชยุโรปนุ่งห่มสีดำ ดูก็ชอบกลอยู่ ฯ

กิงศุก, [ส. กึศุก] = นามต้นไม้ชนิด ๑ มีดอก (ไทยเรียกว่า ทองกวาว นามภาษาละตินมีว่า “Butea Frondosa”)

กุณฑิน, ส. = นามนครหลวงแห่งแคว้นวิทรรภ เปนที่สถิตแห่งท้าวภิมราชในเรื่องพระนล (เดี๋ยวนี้เรียกว่า “โกนทวีร”)

กุดั่น, ท = ทองประดับพลอย

กุนตี, [ส. กุน์ตี] = นามแห่งพระมารดาท้าวยุธิษเฐียร, พระภีมเสน, และพระอรชุน ฯ ชื่อตัวชื่อ ปฤถา เปนบุตรีพระศูรกษัตร์สกุลยาทพจันทรวงศ์ และนางเปนน้องพระวสุเทพผู้เปนพระบิดาท้าวบรมจักร์กฤษณ์ (วาสุเทพ) พระบิดาแห่งนางได้ยกนางให้เปนบุตรีบุญธรรมของท้าวกุนติเจ้าเมืองโภชะ จึ่งได้นามว่า “กุนตี” ตามบิดาเลี้ยง ฯ ครั้งหนึ่ง นางได้บูชาพระมหาฤษีทุรวาสให้เปนที่พอใจอย่างยิ่ง พระฤษีนั้นจึ่งสอนมนตร์ให้อันหนึ่ง ซึ่งถ้าเล่าขึ้นแล้ว จะมีอำนาจเชิญเทวดาองค์ใดลงมาเปนผัวก็ได้ทั้งสิ้น นางมีความปราถนาจะใคร่ลองฤทธิ์มนตร์นั้น จึ่งลองว่ามนตร์เชิญพระอาทิตย์ ๆ ก็ลงมาเปนผัวนางจนนางทรงครรภ์ขึ้นมา เกรงอาญาท้าวกุนติ จึ่งหนีไปคลอดบุตรทิ้งไว้ในที่ริมฝั่งนํ้า (บุตรนี้ชื่อพระกรรณ นายสารถีชื่ออธิรถเก็บไปเลี้ยงไว้เปนบุตรบุญธรรม ภายหลังมีบุญได้เปนขุนครองแคว้นองคะราษฎร์ เมื่อเกิดมหาภารตยุทธ์ได้ไปรบข้างกษัตร์โกรพ ตายในสนามรบตำบลกุรุเกษตร์) ฝ่ายพระอาทิตย์ เมื่อนางกุนตีคลอดลูกแล้ว มีความสงสาร จึ่งบรรดาลให้นางกลับเปนพรหมจารีดังเก่า ฯ ต่อมานางกุนตี จึ่งได้เปนมเหษีท้าวปาณฑุจันทรวงศ์ ฯ อยู่มาไม่ช้าท้าวปาณฑุเสด็จไปล่าเนื้อในป่า พะเอินไปยิงถูกฤษีตน ๑ กับภรรยาซึ่งจำแลงเปนเนื้ออยู่ ฤษีนั้นก่อนที่จะตายได้สาปท้าวปาณฑุไว้ว่าจะต้องตายเพราะสมพาศกับชายา ฯ เมื่อถูกสาปเช่นนี้ ท้าวปาณฑุจึ่งต้องงดการเสพเมถุนกับนางกุนตี แต่เพื่อจะมิให้บกพร่องขาดเชื้อพระวงศ์ ท้าวปาณฑุจึ่งอนุญาตให้นางกุนตีใช้มนตร์ขอลูกจากเทวดา นางจึ่งได้มีพระยุธิษเฐียรด้วยพระยมองค์ ๑ มีพระภีมเสนด้วยพระพายุองค์ ๑ มีพระอรชุนด้วยพระอินทรองค์ ๑ ฯ ครั้นเมื่อท้าวปาณฑุสิ้นพระชนม์ลงแล้ว นางกุนตีเข้าไปอยู่ในนครหัสดิน จนเมื่อโอรสถูกเนรเทศ จึ่งไปกับโอรส (ดังปรากฎอยูใน นิทานวัจนะ นั้นแล้ว) ฯ เมื่อโอรสกลับเข้ามาจากป่าแล้วไปครองเมืองอินทปัตถ์ นางกุนตีคงอยู่ในหัสดิน จนเมื่อเสร็จการมหาภารตยุทธ์แล้ว ท้าวธตรฐเวนราชสมบัติให้แก่ท้าวยุธิษเฐียรแล้วออกไปอยู่ป่า นางกุนตีก็ได้ออกไปอยู่กับท้าวธตรฐจนเมื่อเกิดไฟไหม้ป่า นางกุนตีก็ตายในไฟพร้อมด้วยท้าวธตรฐ ฯ (จงดูที่ ปาณฑุ และ ปาณฑพ อีกด้วย)

กุเวร, ส. (สันสกฤตโบราณมักเขียนว่า “กุเพร”) = นามแห่งจอมยักษ์และผีทั้งหลาย (ในสมัยแห่งไตรเพท) ฯ อิกนัย ๑ เรียกว่า “ไวศรวัณ” [ส. ไวศ๎รวณ, ม. เวส์สวโณ] ฯ ในไสยศาสตร์ชั้นหลัง จึ่งมานิยมกันว่าเปนเจ้าแห่งทรัพย์และความมั่งคั่ง และว่าเปนโลกบาลผู้รักษาทิศอุดร (เรื่องราวแห่งท้าวกุเวรมีละเอียดอยู่แล้วในอภิธานท้ายเรื่อง “ศกุนตลา”) ฯ ในเรื่องราวพระนลนี้ ปรากฎว่า พวกพ่อค้าเมื่อจะออกเดินทางไปค้าขายได้บนบานขอให้ท้าวกุเวรกับท้าวมณีภัท ร์ผู้อนุชา (ดูที่ มณีภัทร์) ให้ช่วยคุ้มครองรักษา เพราะท้าวกุเวรเปนเจ้าของทรัพย์ทั้งปวงทั่วไปในแผ่นดิน ฯ

กฤษณ [ส. ก๎ฤษ๎ณ, ม. กัณ๎ห], เปนนามแห่งบุคคลหลายคน แต่ผู้ที่ออกนามในนิทานวัจนะน่าเรื่องพระนลนี้ คือ พระกฤษณ กษัตร์สกุลยาทพจันทรวงศ์ เปนโอรสพระวสุเทพ (จึ่งออกนามว่า “วาสุเทพ”) ฯ พวกพราหมณ์นับถือกันว่าเปนผู้วิเศษ จึ่งยกย่องกันขึ้นเปนพระนารายณ์อวตาร ฯ เธอได้เปนใหญ่ในสกุลยาทพ สร้างนครทวารกา ฤๅทวาราวดี (ดูที่ ทวารกา) เปนมหากษัตร์ อันขึ้นชื่อฦๅชา เปนมหาวีรบุรุษ และมีจักร์เปนอาวุธ (จึ่งได้นามว่า “ท้าวบรมจักรกฤษณ์)” ฯ เธอเปนญาติสนิทกับพวกกษัตร์ปาณฑพ เพราะเปนหลานนางกุนตีและเธอเปนมิตร์ชอบพอกันกับพวกกษัตร์ปาณฑพเปนอันมาก ได้อนุเคราะห์แก่กษัตร์เหล่านั้นโดยอาการต่าง ๆ เปนเนืองนิตย์ ฯ (เรื่องราวของพระกฤษณมีอยู่โดยละเอียดในอภิธานท้ายหนังสือ “ศกุนตลา” แล้ว) ฯ

กฤษณไทวปายน [ส. กฤษณไท๎วปายน] = “กฤษณผู้เกิดที่เกาะ” เปนนามพระมหาฤษีที่รจนาคัมภีร์มหาภารต อีกนัย ๑ เรียกนามว่าพระวยาส (ดูที่ วยาส) ฯ พระกฤษณไทวปายนนี้ เปนโอรสแห่งพระมหาฤษีปราศรกับนางสัตยวดี ฯ นางสัตยวดีนี้ พระบิดาชื่อท้าวอุปริจร ครองนครเจที พระมารดาเปนนางอับสรชื่ออัทริกา ซึ่งถูกสาปให้เปนปลาอยู่ในแม่นํ้ายมุนา วัน ๑ นางสัตยวดีเมื่อยังพึ่งแรกรุ่น ได้ลงไปยังลำนํ้ายมุนา พระมหาฤษีปราศรผ่านไปพบนาง ก็เกิดความกำหนัดยินดีในตัวนาง จึ่งเสพเมถุนด้วยนาง แล้วและให้พรไว้ว่า เมื่อนางคลอดบุตร์แล้ว ให้กลับคืนเปนพรหมจารีไปดังเก่า ฯ ครั้นถ้วนทศมาสนางก็ไปคลอดบุตรไว้บนเกาะอัน ๑ ซึ่งอยู่กลางลํานํ้ายมุนา กุมารนั้นมีสีกายดำ จึ่งได้นามว่า “กฤษณ” และเพราะเกิดที่เกาะ (ทวีป) จึ่งมีฉายาปรากฎว่า “ไทวปายน” ฯ พระกฤษณไทวปายนนั้น มิได้มีความยินดีในฆราวาสวิไสย จึ่งบวชเปนฤษี ออกไปบำเพ็ญตะบะอยู่ในป่า จนได้เปนพรหมฤษี และเปน วยาส อันเปนที่นับถือแห่งชนทั่วไป ฯ ฝ่ายนางสัตยวดีนั้น ได้ไปเปนมเหษีแห่งท้าวศานตนุ [ส. ศาน์ตนุ] กษัตร์จันทรวงศ์ผู้ทรงราชย์ในนครหัสดิน มีโอรส ๒ องค์ ผู้พี่ชื่อจิตรางคท ได้ทรงราชย์ต่อพระราชบิดา แต่พะเอินไปเกิดวิวาทกับท้าวจิตรางคทคันธรรพราช ๆ ฆ่าท้าวจิตรางคทจันทรวงศ์ตาย พระวิจิตรวีรยะผู้น้องจึ่งขึ้นทรงราชย์แทน แต่ยังมิทันจะมีโอรส ท้าววิจิตรวีรยะก็สิ้นพระชนม์ลง ฯ นางสัตยวดีมีความวิตก ว่าจันทรวงศ์จะสูญเสีย จึ่งให้ไปเชิญพระกฤษณไทวปายนเข้ามา “ให้เพาะพืชแทนพระอนุชา” ฝ่ายพระกฤษณไทวปายน ก็จำต้องปฏิบัติตามใจพระมารดา (เพราะพระเวทกำหนดไว้เช่นนั้น) พระกฤษณไทวปายนก็เข้าหานางมเหษีทั้ง ๒ แห่งท้าววิจิตรวีรยะ จึ่งมีโอรสด้วยนางอัมพิกาองค์ ๑ ชื่อธตรฐ (ดูที่ ธตรฐ) มีโอรสด้วยนางอัมพาลิกาอีกองค์ ๑ ชื่อปาณฑุ (ดูที่ ปาณฑุ)ฯ

กฤษณา [ส. ก๎ฤษ๎ณา, ม. กัณ๎หา] = นามแห่งนางธิดาท้าวทรุบท (ดูที่ ทรุบท) ผู้ครองนครปัญจาล จึ่งได้ฉายาตามนามบิดาว่า “โท๎รปที” [ส.เท๎ราปที] ฯ นางนี้มีรูปโฉมงดงามมีกษัตร์ปราถนามาก ท้าวทรุบทจึ่งให้จัดงานสยมพร ให้นางเลือกคู่ กษัตร์ปาณฑพทั้ง ๕ ได้แปลงเปนพราหมณ์ไปในงานนั้น พระอรชุนยิงธนูชำนะ จึ่งได้นางกฤษณา (ดังมีเรื่องอยู่ใน นิทานวัจนะ ข้างน่านี้แล้ว) ฯ ครั้นเมื่อกษัตร์ทั้ง ๕ พานางกฤษณาไปถึงที่พักพระมารดา และเข้าไปทูลว่าได้ลาภสำคัญมาอันหนึ่งแล้ว นางกุนตีสำคัญว่าไปหาทรัพย์สิ่งของอะไรอย่าง ๑ มาได้จึ่งตอบว่า “เจ้าจงใช้ร่วมกันเถิด” คำสั่งอันนี้เกิดเปนปัณหาขัดข้องสำคัญขึ้นอัน ๑ เพราะพระเวทกำหนดไว้ว่ามารดาบัญชาอย่างไรบุตรต้องปฏิบัติตาม เพราะฉนั้น กษัตร์ทั้ง ๕ จึ่งไปนิมนต์พระกฤษณไทวปายนมาให้วินิจฉัย พระวยาสวินิจฉัยว่า “พระเปนเจ้าทั้งหลายได้ทรงกำหนดไว้แล้วซึ่งความเปนไปแห่งนางกฤษณาเพราะฉนั้น ให้นางเปนมเหษีแห่งเจ้าทั้ง ๕ องค์รวมกันเถิด” ดังนี้ นางกฤษณาจึ่งมีผัว
๕ คน และเจ้าทั้ง ๕ นั้น กระทำสัญญาแก่กันว่าให้นางไปอยู่กับผัวคนละ ๒ วัน และในขณะเมื่อนางอยู่ในเรือนผู้ใด ห้ามมิให้อีก ๔ คนเข้าไปในเรือนนั้นเปนอันขาด ฯ แต่นางกฤษณานั้นรักพระอรชุนมากกว่าคนอื่น ดังปรากฎอยู่เมื่อครั้งพระอรชุนไปได้นางสุภัทรา (ภคินีแห่งท้าวบรมจักรกฤษณ) มาเปนมเหษี นางได้แสดงกิริยาอาการปรากฎว่าหึงส์ ฯ ครั้นเมื่อท้าวธตรฐให้รับพระหลานทั้ง ๕ กลับเข้าไป และให้ไปครองเมืองอินทปัตถ์ นางก็ไปด้วย และเมื่อท้าวยุธิษเฐียรแพ้สกา นางตกไปเปนทาสีแห่งกษัตร์โกรพ พวกกษัตร์เหล่านี้ก็แกล้งกระทำหยาบช้าแก่ นางโดยอเนกประการ จนในที่สุดเมื่อท้าวธตรฐออกมากริ้วพระโอรสทั้งหลาย และเล่นสกากันใหม่แล้ว ท้าวยุธิษเฐียรแพ้อีกแล้วต้องออกไปอยู่ป่า นางกฤษณาก็ออกไปกับกษัตร์ทั้ง ๕ นั้นด้วย (ดู นิทานวัจนะ) ฯ ในระหว่างเวลาที่ไปอยู่ในป่า ๑๒ ปีนั้น วัน ๑ ท้าวชัยรถ (ส. ชยัท์รถ) ผู้ครองสินธุประเทศ ได้มายังที่พักแห่งกษัตร์ปาณฑพ ซึ่งขณนั้นกำลังไปล่าเนื้อ นางกฤษณาก็ต้อนรับตามสมควร ท้าวชัยรถมีความรักนางกฤษณา ชวนให้นางไปด้วย ครั้นนางไม่ยอมไป ท้าวชัยรถก็ฉุดตัวนางขึ้นรถไป ฝ่ายกษัตร์ปาณฑพกลับมาไม่พบนาง ก็พากันตามไป ท้าวชัยรถเห็นว่าจะหนีไม่รอด จึ่งทิ้งนางเสียแล้วหนีไปแต่ลำพัง พระภีมเสนจะตามไป ท้าวยุธิษเฐียรก็ห้ามไว้ โดยกล่าวว่าท้าวชัยรถเปนญาติ จะเอาชีวิตร์หาควรไม่ แต่นางกฤษณาร้องขอให้ผัวแก้แค้นให้จงได้ พระภีมเสนกับพระอรชุนจึ่งตามท้าวชัยรถไปจนทัน พระภีมเสนก็ลากท้าวชัยรถลงมาจากรถทรง และเตะตีจนสลบแล้วตัดผมท้าวชัยรถจนหมด คงเหลือไว้แต่ ๕ ปอย และเมื่อฟื้นขึ้นก็บังคับให้ท้าวชัยรถแสดงตนเปนทาสแห่งนางกฤษณา นางเห็นท้าวชัยรถถูกลงโทษมากเช่นนั้นก็มีความสงสาร จึ่งปล่อยตัวไป ฯ ครั้นเมื่ออยู่ในป่าครบกำหนด ๑๒ ปีแล้ว ถึงปีที่ ๑๓ เปนกำหนดตามสัญญาว่ากษัตร์ปาณฑพทั้ง ๕ จะต้องไปซ่อนตัวอยู่มิให้ใครรู้จัก จึ่งพากันไปอยู่เปนข้าพระราชาผู้ครองวิราฏชนบทและส่วนนางกฤษณา ก็ไปถวายตัวเปนสาวใช้แห่งพระมเหษีท้าววิราฏ แต่ขอว่าอย่าให้ต้องล้างตีนผู้ใด และอย่าให้ต้องกินของเหลือเดนผู้ใด (ข้อที่ขอสัญญาเช่นนี้อย่างเดียวกับที่นางทมยันตีขอต่อพระราชมารดาเมืองเจที ดังมีอยู่ในสรรคที่ ๑๓ แห่งเรื่องพระนลนี้) ฝ่ายพระมเหษีท้าววิราฏเห็นว่านางกฤษณามีรูปงามเกรงจะเกิดเหตุ จึ่งคิดจะไม่รับไว้ แต่นางกฤษณาทูลว่ามีคนธรรพอยู่ ๕ ตน เปนผู้คอยระวังรักษานางมิให้ชายเกี้ยวพาลได้ พระมเหษีจึ่งได้ยอมรับนางไว้ ฯ ต่อนั้นมานางกฤษณาก็อยู่โดยสงบเสงี่ยม แต่พะเอินความงามแห่งนางนั้น ต้องตาพระกีจก ผู้เปนภราดรแห่งนางพระยาและเปนเสนาบดี (แม่ทัพ) แห่งท้าววิราฏ พระกีจกพูดจาแพละโลมนางกฤษณาร่ำไป จนนางมีความรำคาญเหลือทน แม้ทูลฟ้องนางพระยา ๆ ก็ไม่ห้ามปรามพระภราดรให้ นางไปฟ้องท้าวยุธิษเฐียร เธอก็กลับกล่าวห้ามปรามมิให้ทำวุ่นไป. นางกฤษณามีความโกรธ จะใคร่แก้แค้นให้จงได้, จึงไปพูดกับพระภีมเสน ซึ่งนางทราบอยู่ดีว่าเปนคนที่ฉุนเฉียว, พระภีมเสนก็รับว่าจะแก้แค้นแทน. จึ่งตกลงกันให้นางนัดพระกีจกให้ไปพบกันในที่รโหฐานแห่ง ๑; แต่พระภีมเสนไปยังที่นัดนั้นแทนนาง, และพระภีมเสนทุบพระกีจกเสียป่นปี้ จนเนื้อและกระดูก ปนกันเปนก้อนกลมไม่เปนรูปคนทีเดียว. เมื่อข่าวทราบถึงท้าววิราฏว่าพระกีจกตาย แต่ไม่ปรากฎว่าผู้ใดเปนผู้ฆ่า, จึงลงเนื้อเห็นว่าคงจะเปนคนธรรพผู้รักษาตัวนางกฤษณานั้นแลเปนผู้ฆ่า; จึ่งตรัสบัญชาให้เอานางเผาเสียบนจิตะกาที่เผาศพพระกีจก. พระภีมเสนทราบข่าวจึ่งจำแลงเปนคนธรรพ ถอนเอาต้นไม้ถือเปนตะบองไปต้น ๑ แล้วไปช่วยนาง; คนทั้งปวงสำคัญว่าเปนคนธรรพอันมีฤทธิ์ ก็พากันวิ่งหนีไปด้วยความกลัว, พระภีมเสนจึ่งพานางกฤษณากลับโดยทางอ้อมเข้าไปส่งในนครตามเดิม ฯ ครั้นเมื่อพ้นกำหนดที่ต้องเนรเทศแล้ว กษัตร์ปาณฑพกับนางกฤษณาพากันกลับไปนครอินทปัตถ์ กษัตร์ทั้ง ๕ ก็ชวน ๆ จะทำเนาอยู่ แต่ว่านางกฤษณาคอยยุยงตัดพ้อเพื่อให้โกรธพวกโกรพอยู่เสมอ จนในที่สุดกษัตร์ปาณฑพกับโกรพจึ่งได้กระทำการรบกันใหญ่ ซึ่งปรากฎนามว่ามหาภารตยุทธ์ ฯ นางกฤษณาได้มีบุตรด้วยผัวทั้ง ๕ นั้นองค์ละองค์ และนางได้ไปอยู่ในค่ายแห่งกษัตย์ปาณฑพ พร้อมด้วยโอรสทั้ง ๕ นั้นตลอดเวลาสงคราม ครั้นณวันที่ ๑๘ แลวันสุดท้ายแห่งงานสงครามนั้น เจ้าปาณฑพทั้ง ๕ ได้ชัยชำนะแก่ข้าศึกแล้วไปอยู่ในค่ายหลวงแห่งข้าศึก; ในเวลาดึกจึ่งเสนาบดีแห่งทัพโกรพ ผู้มีนามว่าอัศวัตถามัน (เปนบุตรโทณพราหมณ์อาจารย์แห่งกษัตร์ปาณฑพ) ได้ลอบเข้าไปในค่ายหลวง พร้อมด้วยนายทหารอีก ๒ นาย ได้ไล่ฆ่าฟันพระกุมารทั้ง ๕ ผู้เปนลูกนางกฤษณา และฆ่าทหารที่เหลืออยู่ในค่ายนั้นล้มตายเปนอันมาก นางกฤษณาก็ร้องขอให้พระสามีแก้แค้นแทน. ท้าวยุธิษเฐียรพยายามที่จะว่ากล่าวให้นางงดโกรธ (เพราะอัศวัตถามันเปนพราหมณ์) แต่นางหายอมไม่; พระอรชุนจึ่งออกไล่ตาม อัศวัตถามันไป แต่เมื่อจับได้แล้ว พระอรชุนก็หาได้ฆ่าเสียไม่ (เพราะคิดถึง คุณครู), เปนแต่ริบเอาแก้วสำคัญอันเปนเครื่องราง ซึ่งอัศวัตถามันติดไว้ที่มาลานั้น ไปให้แก่นางกฤษณาเพื่อเปนของทำขวัญ; นางกฤษณาก็ถวายแก้วนั้นแด่ท้าวยุธิษเฐียรในตำแหน่งกุลเชษฐา และท้าวยุธิษเฐียรรับไว้ทรงสืบไป ฯ ในที่สุดเมื่อกษัตร์ปาณฑพทั้ง ๕ ออกจากนครหัสดิน เพื่อจะไปยังสวรรค์นั้นนางก็ได้ไปด้วย และนางเปนคนแรกที่ได้ล้มลงสิ้นชนมชีพในกลางป่าหิมพาน ฯ (จงดูเปรียบเทียบเรื่องแห่งนางกฤษณานี้กับเรื่อง มหาภารต และเรื่องแห่งกษัตร์ ปาณฑพทั้ง ๕ ดังได้มีอยู่ในที่อภิธานนี้ และอภิธานท้ายเรื่อง “ศกุนตลา” นั้นด้วยเถิด) ฯ

เกศ ส. = ผม ฯ เกศา และ เกศี แผลงจากคำ “เกศ” เพื่อใช้เปนประโยชน์ทางสัมผัส ฯ

เกศินี, ส = “มีผมอันงาม” เปนนามแห่งนางข้าหลวงของนางทมยันตี ฯ

โกญจา, ม. [ส. เก๎ราญ์จ] = นกกะเรียน.

โกนไตย [ส. เกาน์เตย์ย] = “ลูกนางกุนตี” เปนคำเรียกกษัตร์ปาณฑพ ฯ

โกรพ, [ส. เการว] = “ลูกหลานแห่งกุรุ” (๑) เปนนามใช้เรียกบรรดากษัตร์จันทรวงศ์ ซึ่งสืบสกุลโดยตรงลงมาจากท้าวกุรุ กษัตร์จันทรวงศ์ผู้ครองนครหัสดิน (๒) เปนนามเรียกพวกโอรสท้าวธตรฐจันทรวงศ์ เพื่อให้รู้จักผิดกันกับกษัตร์ปาณฑพคือลูกท้าวปาณฑุ ซึ่งได้กระทำมหาภารตยุทธ์แก่กัน. แท้จริงนั้นกษัตร์ปาณฑพก็เปนลูกหลานแห่งท้าวกุรุเหมือนกัน เพราะฉนั้นในเรื่องพระนลนี้ พระพฤหทัศว์จึ่งเรียกท้าวยุธิษเฐียรว่า “โกรพ” ฯ พวกกษัตร์โกรพนั้น มีกำเนิดเปนอัศจรรย์ ดังปรากฎอยู่ในแห่งอื่น (ดูที่ธตรฐ) ฯ

โกวิท, ม. และ ส. = ชำนิชำนาญ ฤๅรอบรู้ในการอันใดอัน ๑ เช่น “อัศวโกวิท” = ชำนิชำนาญในการม้า ดังนี้เปนตัวอย่าง

โกศล ฤๅ โกสล, ส. = (๑) นามแห่งแคว้นอัน ๑ ซึ่งมีนครอโยธยาเปนพระนครหลวง ที่สถิตแห่งพระราชามหากษัตรสุริยวงศ์ (ในปัตยุบันนี้ชาวอินเดียเรียกว่า “เอาท์” จากคำ “อยุธ”) ฯ

(๒) โกศล [ส. กุศล], เปนคุณศัพท์แปลว่า (ก) ถูกต้อง, สมควร, เหมาะงาม (ข) สบาย, ไม่มีโรค เรียบร้อยดี, มั่งคั่ง (ค) รอบรู้, ชำนิชำนาญ, แคล่วคล่อง, ฉลาด, เช่น “อัศวโกศล” = รอบรู้ในการม้า ดังนี้เปนตัวอย่าง

กำยำ, ท. = ลํ่าสัน

กำแหง, ท. = แขง, กล้า, เข้ม.

ไกร, ท. = กล้า, เก่ง,

แกว่น, ท. = เก่ง, ไม่กลัวใคร.

กษัตร์, ส. = นักรบ, เจ้า

กษัตริย์, ส. = สกุลนักรบ

กษัย, ส. = เสีย, หาย, ลดไป, ถอยไป, น้อยไป, ทำลาย แตก, ดับ

เกษตรบดี (ส. เก๎ษต๎รปติ) = เจ้าของที่ดิน, เจ้าของนา ฯ ใช้เปนนามสำหรับเรียกพระเจ้าแผ่นดินด้วย ฯ

เกษม (ส. เก๎ษม) = ควรอยู่ได้, อยู่ได้โดยสบาย ฤๅโดยปราศจากภัย ฯ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ