พระราชนิพนธ์คำนำ

ความประสงค์ของข้าพเจ้าในการที่แต่ง “พระนลคำหลวง” นี้มีอยู่อย่างไร ได้แสดงไว้ในอารัมภกถาแล้ว จึ่งไม่จำจะต้องกล่าวซ้ำในที่นี้อีก

การแต่งข้าพเจ้ารู้สึกตนอยู่ว่า ตกอยู่ในที่ลำบากมากอยู่ เพราะข้าพเจ้าเองก็หาได้เรียนรู้ภาษาสันสกฤตไม่ จึ่งจำเปนต้องอาศรัยคำแปลเปนภาษาอังกฤษของ เซอร์โมเนียร์ โมเนียร์-วิลเลียมส์อีกชั้น ๑. การที่แปลเปน ๒ ต่อเช่นนี้ คำแปลภาษาไทยก็อาจที่จะคลาดเคลื่อนจากความเดิมในภาษาสันสกฤตบ้าง. จริงอยู่ข้าพเจ้าได้พยายามตรวจสอบคำบางคำที่สงสัยในคำแปลภาษาอังกฤษนั้น เทียบกับคำแปลในพจนานุกรมอีกชั้น ๑ ด้วย; แต่ถึงกระนั้นก็อาจที่จะยังมีที่คลาดเคลื่อนอยู่บ้าง จึ่งต้องขอให้ปราชญ์ให้อภัยด้วยเถิด

อนึ่งในการเขียนภาษาสันสกฤตด้วยตัวอักษรไทยเปนของยากมาก เพราะฉนั้นถ้าพลั้งพลาดไปบ้าง ก็ต้องขออภัยอีกอย่าง ๑ ด้วย

ในการเขียนภาษาสันสกฤตเปนตัวไทย สิ่งซึ่งลำบากมีอยู่อย่าง ๑ คือ วิสรรค ซึ่งในหนังสือเทวนาครีเขียนเปนจุด ๒ จุดซ้อนกันเช่นนี้   และอันที่จริงก็คือวิสัญชนี (ะ) ที่ใช้ในการเขียนหนังสือไทยเรานั้นเอง แต่ไทยเราได้ใช้วิสัญชนีเปนเครื่องหมายสำหรับสระ อะ เสียแน่นอนนานมาแล้ว และฝังอยู่ในความเข้าใจของไทยเราแล้ว ว่าเปนสระอะ, เพราะฉนั้นถ้าจะใช้วิสัญชนีในที่วิสรรคเมื่อเขียนภาษาสันสกฤต ข้าพเจ้ารู้สึกว่าคงจะไม่พ้นความฉงน เช่นถ้าจะเขียนว่า “ทุะข” เช่นนี้ ก็ดูออกจะแปลกตาเสียแล้ว; แต่ก็คงยังพอสถานประมาณ. แต่ถ้าเขียน “มหาต๎มนาะ” เช่นนี้ ผู้อ่านที่ไม่เคยได้รู้จักวิสรรคของสันสกฤตเลย คงจะฉงนจนมิรู้ที่จะอ่านว่ากระไรทีเดียวเปนแน่แท้

ในการเขียนภาษาสันสกฤตด้วยตัวอักษรโรมัน โมเนียร์-วิลเลียมส์และ นักปราชญ์ชาวยุโรปอื่น ๆ เขาใช้ตัว “h” เช่นนี้แทนวิสรรค. ที่เขาเลือกเอาตัว “h” ใช้แทนวิสรรคเช่นนี้ ก็เพราะตัว “h” เปนตัวอักษรซึ่งในบางคำก็ไม่ออกเสียงเลย; เช่นคำว่า “honour” ก็อ่านว่า “ออเนอร” (หรือเขียนให้ตรงตามตัวโรมันว่า “ห์ออเนอร์”), คำว่า “why” อ่านว่า “ไว,” คำว่า “john” อ่านว่า “ชอห์น,” เช่นนี้เปนต้น. ส่วนในภาษาไทยเรา ข้าพเจ้ามาคำนึงดูก็เห็นว่า ตัว “ห” ของเราในบางแห่งก็ไม่ได้ออกเสียงเลยเหมือนกัน, เช่นในเวลาที่ใช้เปนตัวนำพยัญชนะอื่นให้เสียงสูงขึ้น, กับในเวลาที่อยู่ข้างท้ายแห่งคำ เช่น “ดำริห,” “พ่าห,” “เล่ห,” และ “โล่ห” เปนต้น, ซึ่งเพื่อให้แน่ว่าไม่ออกสำเนียงจึ่งมักจะการันต์เสียด้วยเช่น “ดำริห์” ดังนี้เปนต้น. เมื่อคำนึงดูว่า การที่ปราชญ์ยุโรปเขาได้บัญญัติใช้ตัว “h” มีจุดหมายเปนของแทนวิสรรคก็ไม่มีมูลอันใด ยิ่งไปกว่าที่ได้กล่าวมาข้างบนนี้แล้วไซร้ ข้าพเจ้าจึ่งเห็นว่า ถ้าในการเขียนภาษาสันสกฤตด้วยอักษรไทยจะใช้ตัว “ห” การันต์บ้าง ก็ดูจะไม่เขวยิ่งไปกว่า “h” ของเขาเลย; เช่นคำว่า “ทุะข” เขียนเป็น “ทุห์ข” เช่นนี้ ดูก็พอไปได้ไม่ขัดนัก. แต่การที่แผลงเช่นนี้ จำจะต้องอธิบายไว้ให้ชัดเจน ข้าพเจ้าจึ่งได้อธิบายมายืดยาวเช่นนี้ และในการที่ใช้ “ห์” แทน วิสรรคดังนี้ ถ้าปราชญ์ผู้พิถีพิถันจะรู้สึกขัดตาอยู่บ้างก็ขออภัยเสียด้วยเถิด

อนึ่งหนังสือ “พระนลคำหลวง” นี้ ข้าพเจ้าได้แต่งแล้วเสร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ แต่การตรวจฉบับพิมพ์และแก้ไขแต้มเติมบทกลอนต่าง ๆ กินเวลานาน และจะทำไปโดยรีบร้อนไม่ได้ หนังสือจึ่งพึ่งจะได้ออกจำหน่าย ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ นี้

ในที่สุดนี้ ข้าพเจ้าขอขอบใจพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา ๑ พระยาพจนสุนทร ๑ พระปริยัติธรรมธาดา ๑ ในการที่ได้ช่วยตรวจแก้หนังสือนี้อย่างละเอียดละออ และได้ช่วยต่อแต้มกาพย์กลอนให้สละสลวยขึ้นด้วยเปนหลายแห่ง นับว่าเปนกำลังแก่ข้าพเจ้าเปนอันมาก กับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ เมื่อก่อนเวลาที่ประชวรหนัก ได้ทรงเอาพระไทยใส่ช่วยแนะนำข้าพเจ้าในการแต่งหนังสือนี้เปนอันมาก ข้าพเจ้าจึ่งเว้นเสียมิได้ที่จะรำลึกถึงพระคุณของพระองค์ท่าน ผู้ที่ข้าพเจ้ามีความเคารพนับถือเปนอาจารย์ของข้าพเจ้าพระองค์ ๑ และอดนึกไม่ได้ว่า ถ้าได้มีพระชนม์ยืนยาวต่อมาจนได้ทอดพระเนตรเห็นหนังสือนี้พิมพ์สำเร็จเปนเล่มขึ้นแล้ว จะเปนที่พอพระไทยหาน้อยไม่.

วชิราวุธ ปร

วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ