หลาน, ท., ในภาษาไทยเราใช้สำหรับเรียกญาติหลายชนิด คือลูกของลูก, ลูกของพี่, ลูกของน้อง, แต่ภาษามคธและสันสกฤตมีศัพท์ต่างกัน ทั้ง ๓ อย่าง คือ

๑. นัต์ตา, ม. (ม. ผ. นัดดา), ฤๅ นัป์ต๎ฤ, ส. = ลูกของลูก

๒. ภาตีย, ม., ฤๅ ภ๎ราต๎รีย, ส. = ลูกของพี่ฤๅน้องชาย (ภาตา, ม. และ ภ๎ราต๎ฤ, ส. = พี่ฤๅน้องชาย)

๓. ภาคิเนย์ย, ม., ฤๅ ภาคิเนย, ส. (ส. ผ. ภาคิไนย) = ลูกของพี่ฤๅน้องสาว (ภคินี, ม. และ ส. = พี่ฤๅน้องหญิง)

ในภาษาไทยเรา แม้จินตกะวีก็ใช้ศัพท์ปน ๆ กันอยู่เปนอันมาก คือโดยมากคำว่าหลานมักใช้ว่า “นัดดา” หมด เช่นในหนังสือรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ทศกรรฐพูดกับนางเบญกายก็ใช้คำว่า “นัดดา” คือ — “ผิดจริงเจียวนัดดาเจ้าน่าโกรธ อย่าถือโทษลุงเลยนะหลานขวัญ” ดังนี้เปนตัวอย่าง และสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสก็มักทรงใช้คำ “นัดดา” ในที่ซึ่งควรจะใช้ว่า “ภาตีย” ฤๅ “ภาคิไนย” อยู่เนือง ๆ ฯ เมื่อมีใช้คลาดเคลื่อนยุ่งกันอยู่เช่นนี้ จึ่งอธิบายไว้เสียทีหนึ่ง พอให้นักเลงหนังสือรู้กันไว้เท่านั้น ไม่ใช่สำหรับติเตียนฤๅแก้ไขจินตกะวีเก่าหามิได้ ฯ

ลิงค์, ส. = (๑) เครื่องหมาย, ที่สังเกต, ตำหนิ (๒) เพศ

โลกบาล, ส. ผ. [ส. โลกปาล] = ผู้รักษาโลก คือเทวดาผู้รักษาทิศทั้ง ๘ แห่งโลก (มีคำอธิบายเรื่องนี้โดยพิสดารอยู่ในอภิธานท้ายหนังสือ “ศกุนตลา” แล้ว) ฯ ในเรื่องพระนลนี้ที่พูดถึง “โลกบาล” ฤๅ “โลกปาลา” มุ่งแต่เพียงเทวดาทั้ง ๔ ที่มีนามอยู่ในเรื่องนี้ คือพระอินทร์ (ทิศบุรพา) พระอัคนี (ทิศอาคเณย์) พระยม (ทิศทักษิณ) และพระวรุณ (ทิศปรัศจิม) ฯ นอกจากท่าน ๔ องค์นี้ยังมีอีก ๒ องค์ ซึ่งเปนโลกบาลเหมือนกันแต่กล่าวถึงในเรื่องพระนลนี้ในตำแหน่งอื่น คือพระกุเวร (ทิศอุดร) กับพระพายุ (ทิศพายัพ) ฯ ที่ไม่มีกล่าวถึงเลยในนี้คืออีศาน (ทิศอีศาน) และพระนิร์ฤต (ทิศเนรดี)ฯ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ