มัฆวาน, ส. ผ. [ส. มฆวัต์ ฤๅ มฆวัน] = ผู้มีทรัพย์และแจกทรัพย์, ใจใหญ่, มักให้ ฯ เปนนามเรียกพระอินทร ฯ

มณีภัทร์ [ส. มณีภัท๎ร] = นามแห่งพญายักษ์ตน ๑ ผู้เปนอนุชาแห่งท้าวกุเวร และเปนผู้คุ้มเกรงรักษาผู้เดินทางและผู้ไปมาค้าขาย ฯ

มนัส ส. = (๑) ความฉลาดรอบรู้, ความเฉลียว (เข้าใจอะไรได้เร็ว ๆ), ความเข้าใจ, ความเล็งเห็น, ความรู้สึก, ความรู้ผิดชอบ (๒) ใจ คือสิ่งซึ่งมีอยู่รู้สึกอยู่ภายใน ตรงกันข้ามกับ กาย (๓) ดวงใจ ซึ่งออกจากร่างไปในขณะเมื่อทำลายขันธ์ที่อังกฤษเรียก “Soul” (๔) ความคิด, ความเห็น, ความรู้สึกรักและชังเปนต้น ตรงกับที่อังกฤษเรียกว่า “Mind” [ม. มโน]

มนู, [ส. มนุ] = (๑) ผู้มีความคิด, ผู้มีปัญญา, ผู้ฉลาด. (๒) คน (๓) คน ๆ แรกที่พระพรหมได้สร้างขึ้นในโลก และเปนประชาบดี คือปฐมชนกแห่งคนในโลกนี้ และกล่าวว่าเปนคนแรกที่ได้เริ่มการบูชาเทวดา ฯ

ตามที่กล่าวมาข้างบนนี้ตามตำหรับเดิม ซึ่งเปนชั้นเดียวกับพระเวท แต่ต่อ ๆ ลงมามีในตำหรับ “มานวธรรมศาสตร์” (“กฎหมายพระมนู”) เปนต้น กล่าวว่าพระมนูคือท่านผู้ที่เปนประชาบดีสร้างมนุษ และเปนมหาราชอันได้บังเกิดมาแล้ว และจะได้บังเกิดมาอีกโดยลำดับยุค รวม ๑๔ องค์ มนูยุค ๑ ฤๅ มันวันตร ๑ มีกำหนด ๓๑๑,๐๔๐,๐๐๐ ปี ฯ

พระมนูที่ได้มาบังเกิดแล้วในโลกนี้มีมา ๗ องค์ คือ

๑. พระมนูส๎วายัมภูว เปนโอรสพระสวยัมภู (พรหม) เปนประชาบดีผู้สร้างฤษี ๑๐ ตน มีพระมารีจิ (แสงสว่าง) เปนต้น เปนผู้แต่งตำหรับมานวธรรมศาสตร์

๒. พระมนูส๎วาโรจิษะ

๓. พระมนูเอาต์ตมิ

๔. พระมนูตามะสะ

๕. พระมนูไรวตะ

๖. พระมนูจากษุษะ

๗. พระมนูไววัส๎วัต โอรสพระอาทิตย์ เปนผู้ที่ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ จึ่งได้ฉายาว่า “สัตยพรต” [ส. สัต๎ยว๎รต] เปนมหาชนกแห่งคนเราซึ่งยังคงอยู่ในโลกทุกวันนี้ ฯ ตามเรื่องราวมีมา ซึ่งพราหมณ์ชั้นหลังได้เก็บมารวมไว้ในคัมภีร์ปุราณะหลายแห่ง ว่าเมื่อสิ้นมนูยุคที่ ๖ เริ่มยุคที่ ๗ นั้น โลกนี้เต็มไปด้วยบาป พระเปนเจ้าจึ่งบรรดาลให้บังเกิดมหาอุทกนองมาท่วมโลก คนและสัตว์ในพื้นแผ่นดินก็ตายสิ้น แต่ส่วนพระมนูนั้นพระพิษณุเปนเจ้าเห็นว่าเปนผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ จึ่งได้อวตารเปนปลา (ปางมัตสยาวตาร) ลงมาบอกพระมนูให้ต่อแพใหญ่ จัดหาสัตว์ลงในแพนั้นอย่างละคู่ และพระมนูกับมเหษีและโอรสพากันลงในแพนั้นแล้ว พระมัตสยาวตารก็จูงแพลอยไป จนเมื่อนํ้าลดแล้วพระมนูจึ่งได้เปนเจ้าแผ่นดินและเปนมหาชนกแห่งคนสืบมา (จงเทียบเรื่องนี้กับเรื่องโนอาห์ในคัมภีร์ใบเบลของคริสตัง และโนเฮในคัมภีร์โกหร่านของแขก ดูคล้ายกันอยู่) ฯ พระมนูลูกพระอาทิตย์นี้แล ตำหรับว่าเปนผู้สร้างกรุงอโยธยา และเปนปฐมชนกแห่งกษัตร์สุริยวงศ์ กับนางอิลาผู้บุตรีได้เปนชายาแห่งพระพุธผู้เปนโอรสพระจันทร เพราะฉนั้นกษัตร์สุริยวงศ์และจันทรวงศ์จึงนับว่ามีต้นสกุลร่วมกัน ฯ เรื่องพระมนูประดิษฐานแผ่นดินใหม่และได้เปนเจ้าแผ่นดินครองอโยธยานี้ พราหมณ์ผู้แต่งโองการแช่งน้ำในพิธีถือนํ้าเขารู้ จึ่งได้กล่าวไว้ย่อ ๆ ในโองการนั้น ซึ่งคนเรารุ่นหลังนี้ไม่ได้สังเกต ฯ

ส่วนพระมนูซึ่งจะมีมาณเบื้องหน้าอีก ๗ องค์นั้น มีนามปรากฎดังต่อไปนี้

๘. พระมนูสาวรณี

๙. พระมนูทักษะสาวรณี

๑๐. พระมนูพรหมสาวรณี

๑๑. พระมนูธระมสาวรณี

๑๒. พระมนูรุทรสาวรณี

๑๓. พระมนูเราจะยะ ฤๅเทวสาวรณี

๑๔. พระมนูเภาตยะ ฤๅอินทรสาวรณี

อนึ่งข้อควรสังเกตมีอยู่คือ ในตำหรับศาสนาค็อถ (Goth) โบราณกล่าวว่า มหาชนกคนแรกแห่งคนเรานี้ มีนามว่า “มันนะ(Manna) ฤๅตามภาษาเยอรมันโบราณว่า “มันนุส” (Mannus) และคำว่าคน ในภาษาเยอรมันเดี๋ยวนี้ ก็เรียกว่า “มันน์” (Mann) ซึ่งตกไปถึงอังกฤษเปน “แมน” (Man) ดังนี้ เมื่อเทียบกับคำ “มนุช” และ “มนุษ” แล้วดูก็น่าสันนิษฐานว่าจะมาจากมูลอันเดียวกัน ฯ

มนุช, มนุชา, ส. = “เกิดแต่มนู” คือคน

มนุษ, ส. = คน (ทั้งชายและหญิง)

มนุษย์, ส. = (๑) แห่งคน, เนื่องด้วยคน (๒) คน (คือไมใช่เดียรฉาน) (๓) ใจสูง

มนุญ, ม. = เปนของชอบใจ

มโนหร, ส. = จับใจ, ยวนใจ, น่าดู, สวย, งาม.

มหรรษี [ส. มหร๎ษิ มหา + ฤษิ] ฤษีสำคัญ

มหาตมะ, ส. ผ. [ส. มหาต๎มัน์] “ใจใหญ่” ฤๅ “ใจสูง” คือผู้ที่ใจดี, ใจซื่อตรง, ความคิดสูง, ฤๅฉลาดรอบรู้มาก ฤๅมีอำนาจ, มีอิทธิฤทธิ ฯ ล ฯ

มหาพาหุ, ส. = แขนยาว

มหาพิร, ส. ผ. [ส. มหาวีร] = ผู้กล้าหาญยิ่ง, “ทหารเอก,” (ตรงกับคำอังกฤษว่า “Great Hero”)

มหาภารต, ส. = นามแห่งงานสงครามใหญ่ระหว่างกษัตร์จันทรวงศ์ ๒ สกุล คือสกุลโกรพ ลูกท้าวธตรฐกับสกุลปาณฑพลูกท้าวปาณฑุ ฯ เรื่องราวแห่งมหาภารตยุทธ์ ตั้งแต่สาเหตุเดิมจนถึงที่สุดแห่งการสงครามนั้น มีอยู่โดยพิสดารในคัมภีร์อันมีนามว่า “มหาภารตาข๎ยาน” อันเปนคัมภีร์อิติหาส เปนที่นับถือแห่งผู้ที่นับถือไสยศาสตร์ คู่กับคัมภีร์ “พระรามายณ” ฯ (ในอภิธานท้ายเรื่อง “ศกุนตลา” มีข้อความเรื่องมหาภารตอยู่แล้ว จงดูที่นั้นด้วยเถิด) ฯ

มหิธร, [ส. มหีธร] = (๑) “ทรงไว้ซึ่งแผ่นดิน” จึ่งนำมาใช้เปนศัพท์เรียกพระเจ้าแผ่นดิน เทียบก็คล้ายศัพท์ว่า “พระจรรโลงโลก” ซึ่งจินตกะวีไทยเรามักใช้อยู่ (๒) ภูเขาใหญ่

มหิบดี, ส. ผ. [ส. มหีปติ] = เจ้าแผ่นดิน

มหิบาล, ส. ผ. [ส. มหีปาล] = ผู้ครองแผ่นดิน

มหิษี, ส. มเหษี, ส. ผ. = นางพระยา ฯ คำนี้แปลได้ด้วยว่า “นางกระบือ” ที่ใช้เรียกนางพระยาว่า “นางกระบือ” เช่นนี้น่าจะเปนเพราะคนโบราณนิยมว่า กระบือเปนสัตว์ที่เก่งกล้า จึ่งเปรียบกษัตร์ด้วยกระบือ เปนการแสดงความนิยม ไม่ใช่การดูหมิ่น ฯ มเหสี, ม. = (๑) นางพระยา (๒) พระพุทธเจ้า

มเหนทร, ส. [มหา = อิน์ท๎ร] = พระอินทร ฯ

มาตร, ส. ผ. [ส. มาต๎ฤ] = แม่ ฯ

มาตลี, ส. = สารถีพระอินทร ฯ อีกนัย ๑ เรียกว่า “เทวสูต” ฤๅ “เทวสูโต” ฯ

มาร, ม. และ ส. = (๑) การฆ่าการผจน (๒) ความตาย, ห่า (๓) เครื่องกีดและขัดขวาง (๔) ความรัก (๕) ผู้ล่อลวงคนให้ลุ่มหลงไปในทางชั่ว

มาลย์, [ส. มาล๎ย] = ดอกไม้ ฤๅ พวงดอกไม้ (มาลัย) ฯ จงเทียบศัพท์นี้กับศัพท์ “มาลา” ซึ่งแปลว่า “พวง” จะเปนพวงดอกไม้ฤๅพวงรัตนก็ได้ เช่น “รัตนมาลา” = สร้อยคอแก้วและอะไรที่ร้อยกรองเปนพวงแล้วก็เรียกมาลาได้ เช่น “พจนมาลา” = อภิธาน (ที่รวมคำเปนลำดับไว้) ฯ อีกนัย ๑ คำว่า “มาลา” แปลว่าดอกไม้ก็ได้เหมือนกัน เช่น “มาลาการ” = ชาวสวนดอกไม้ “มาลาการิณี” = หญิงช่างดอกไม้ ดังนี้เปนต้น ฯ อนึ่งคำว่า “มาลา” ซึ่งได้นำมาใช้ในภาษาไทยเราเปนที่เข้าใจกันว่า “หมวก” นั้น ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าจะเปนไปในชั้นหลัง ๆ เพราะในชั้นต้นไทยเราไว้ผมสูง โพกผ้า แล้วมีพวงดอกไม้ทองฤๅเงินสรวมอีกชั้นหนึ่ง ต่อมาเมื่อตัดผมแล้ว ทำผ้าโพกให้เปนรูปกระโจมอยู่อย่างเดิม ซึ่งเราเรียกกันณบัดนี้ว่า “ลอมพอก” คงเอาพวงดอกไม้ (มาลา) นั้นไปสรวมอยู่ ครั้นเมื่อมีหมวกเข้ามาก็เอาเกี้ยวฤๅมาลานั้นไปสรวมหมวกอีก จึ่งเปนอันทำให้เปนที่ยึดถือแน่นแฟ้นในใจว่า มาลานั้นเปนเครื่องแต่งหัว ทั้งประกอบด้วยประเพณีอันมีมาว่า ขุนนางจึ่งใส่มาลาได้ จึ่งทำให้นิยมมาลามากขึ้น ส่วนมาลาที่เปนอย่างชั้นสูงมีลวดลายงดงามนั้น เปนของที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานเปนเครื่องยศแก่ขุนนางผู้ใหญ่ และโดยเหตุที่มาลานั้นมักพระราชทานสรวมติดไปกับหมวก คำว่ามาลาจึ่งกลายเปนแปลว่าหมวกไปทีเดียว ส่วนตัวพวงดอกไม้ ซึ่งเดิมเรียกว่ามาลานั้น ก็กลายเปนเรียกว่าเกี้ยวไป ข้าพเจ้าสันนิษฐานดังนี้ — ว.ป.ร.

มาลยาภรณ, ส. = “มีดอกไม้เปนเครื่องประดับ”

มาษ, ส. = (๑) ถั่ว (๒) นํ้าหนักทอง = ราว ๑๗ เกรน ฯ คำนี้แผลงจากนามแห่งนํ้าหนักทองมาใช้ว่าทองทั่วไป และในหนังสือไทยเรามักมาเขียนเพี้ยนเปน “มาศ” ไป ฯ

มาส, ม. และ ส. = เดือน (คือทั้งดวงเดือนและกำหนดเวลา) ฯ

มาฬก, ม. [ส. มาฑิ] = เรือนหลวง

มุทิตา, [ส. มุทิต] = (๑) ยินดี, ปลื้ม, พึงใจ (๒) ความยินดี, ความดีใจ, ความสำราญ ฯ จากมูล “มุท์” ความปลื้ม ฤๅ ยินดี ฯ

มูล, ม. และ ส. = (๑) รากไม้ (๒) รากเง่า ฤๅเหตุเดิมแห่งสิ่งใด ๆ ฯ มูลผลาหาร = กินรากไม้และผลไม้

มฤค ส. [ม. มิค] = สัตว์ป่าทั่ว ๆ ไป ฤๅ เนื้อ, กวาง, กระจง, เลียงผา โดยเฉภาะ ฯ “ว๎ยาลม๎ฤค” ส. “วาฬมิค,” ม. = สัตว์ร้าย ฯ

มฤคชีวัน, ส. ผ. [ส. ม๎ฤคาชีว] = “เลี้ยงชีพด้วยสัตว์ป่า” คือพราน

มฤคพยาธ, ส. ผ. [ส. ม๎ฤคว๎ยาธ] = นายพราน

มฤคราช, ส. = “ขุนแห่งสัตว์ป่า” คือราชสีห์ ฤๅ เสือสมิง

มฤคเศรษฐ, ส. = “ยอดแห่งสัตว์ป่า” คือเสือสมิง

มฤเคนทร, ส. = “ผู้เปนใหญ่เหนือสัตว์ป่า” คือราชสีห์ ฤๅ เสือสมิง

มฤตยู, ส. [ม. มัจ์จุ] (๑) ความตาย (๒) เจ้าแห่งความตาย คือพระยม ซึ่งเราเรียกกันว่า “พระยามัจจุราช” ฯ

เมทนี, ม. เมทินี, ส. = “ซึ่งมีความมั่งคั่ง” คือแผ่นดิน ฯ เทียบกับ “เมท๎ย” = อ้วน มาจากมูลเดียวกัน คือคำว่า “เมทะ” (ม. เมโท) = มันข้น ฤๅ ไข ฯ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ