คำนำ

เรื่องพระนลเป็นนิทานแทรกอยู่ในมหาภารตะ ซึ่งรจนาโดยมุนีกฤษณไทวปายน มีชื่อเรื่องว่า นโลปาขยานัม ซึ่งเซอร์โมเนียร์ โมเนียร์ วิลเลียมส์ ได้แปลความจากต้นฉบับโศลกภาษาสันสกฤตเป็นภาษาอังกฤษ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้ฉบับภาษาอังกฤษนี้ พระราชนิพนธ์เป็นวรรณกรรมคำหลวง ประกอบด้วยคำประพันธ์หลายชนิด ได้แก่ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นแบบอย่างในการประพันธ์กวีนิพนธ์สำหรับกุลบุตร ดังปรากฏในโคลงพระราชนิพนธ์อารัมภกถา ดังนี้

๏ ประสงค์แห่งข้าแต่ง เรื่องนล นี่ฤๅ
เพื่อแนะกุลบุตร์ยล เยี่ยงไว้
ดูแยบแบบประพนธ์ โคลงกาพย์ กลอนนา
เผื่อจะคิดแต่งได้ อีกบ้างอย่างดนู ฯ

เนื้อหาของพระนลคำหลวงเริ่มต้นด้วย “นมัสกฤติกถา” หรือบทไหว้ครู “อารัมภ-กถา” แสดงพระราชประสงค์ในการนิพนธ์ “นิทานวัจนะ” ว่าด้วยบ่อเกิดของเรื่องพระนล แล้วจึงดำเนินเรื่องพระนล ซึ่งมีเนื้อหา ๒๖ สรรค แยกเป็น ๒ ภาษา โดยด้านซ้ายของหนังสือเป็นโศลกภาษาสันสกฤต ส่วนด้านขวาของหนังสือเป็นบทพระราชนิพนธ์ร้อยกรองภาษาไทย จากนั้นเป็น “อุตตรกถา” กล่าวถึงทศพิธราชธรรม เบญจธรรมของสตรี ระบุวันเวลาที่ทรงพระราชนิพนธ์ บทบูชาพระรัตนตรัยและสรรเสริญพระพุทธคุณ ตอนท้ายเป็นภาคผนวกอธิบายถึงลักษณะคำประพันธ์และอภิธานศัพท์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เรื่องพระนลคำหลวงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๖ แล้วเสร็จเมื่อวันเสาร์ที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ทรงตรวจแก้ไขและพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ พระนลคำหลวงเป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นหนังสือแต่งดีประเภทกวีนิพนธ์

กรมศิลปากรหวังว่าหนังสือเรื่องพระนลคำหลวง จะอำนวยประโยชน์แก่นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์และผู้สนใจวรรณคดีไทยโดยทั่วกัน

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ