ธชี [ส. ธ๎วชี] = “ผู้มีเครื่องหมาย” คือผู้ที่เจิมหน้ามุ่งว่าพราหมณ์

ธตรฐ, [ม. ธตรัฏ์โฐ, ส. ธ๎ฤตราษ๎ฏ๎ร] = “ผู้มีแว่นแคว้นอันมั่นคง” เปนนามแห่งคนและสัตว์สำคัญหลายรายแต่ที่รู้จักกันอยู่มากที่สุด คือ —

(๑) พญานาค อันมีนามว่าไอราวัตอีกด้วย (หมายเหตุ—ไม่ใช่ช้างพระอินทร์)

(๒) เทพคนธรรพ เปนโลกบาลรักษาบุริมทิศ (ตามมหาสมัยสูตร์)

(๓) มหาราช ผู้ครองนครหัสดิน ขุนองค์นี้มีกล่าวถึงอยู่ในนิทานวัจนะเปนตัวสำคัญอยู่ เพราะฉนั้นสมควรที่จะเล่าประวัติของเธอไว้โดยย่อณที่นี้ ดังต่อไปนี้

ท้าวธตรฐนี้ สมมตว่าเปนโอรสท้าววิจิตรวีรย แต่แท้จริงเปนโอรสแห่งพระวยาสกฤษณไทวปายนกับนางอัมพิกา ผู้เปนมเหษีขวาแห่งท้าววิจิตรวีรย (ดูที่กฤษณไทวปายน) ท้าวธตรฐนั้น เนตร์บอดมาแต่กำเนิด เพราะฉนั้นท้าวปาณฑุผู้เปนน้องจึ่งได้ขึ้นทรงราชย์ก่อน ต่อเมื่อท้าวปาณฑุประชวร ละราชสมบัติออกไปอยู่ป่า ท้าวธตรฐจึ่งรักษาราชสมบัติอยู่จนท้าวปาณฑุสิ้นพระชนม์ จึ่งได้ยอมรับราชสมบัติเอง

ท้าวธตรฐมีมเหษีนามว่าคานธารี (นางชาวคันธารราษฎร์) นางนี้มีความจงรักภักดีมาก ถึงแก่ยอมเอาผ้าผูกตาเสียเพื่อให้ตามืดเหมือนผัว นางนี้ได้พรจากพระวยาสให้มีลูกร้อยคน ตั้งแต่เมื่อได้พรแล้วนางทรงครรภ์อยู่ถึง ๒ ปี จึ่งได้ประสูตร์เปนก้อนมังสะ ซึ่งพระวยาสแบ่งเปน ๑๐๑ ก้อน บรรจุไว้ในผอบ ๆ ละก้อน ครั้นถึงเวลาอันควร จึ่งเกิดกุมารขึ้นองค์ ๑ จากผอบและในเมื่อกำเนิดนั้นมีลางร้ายต่าง ๆ ปรากฎเปนอันมาก บรรดาชีพราหมณ์และญาติได้ทูลให้ท้าวธตรฐนำกุมารไปทิ้งเสีย แต่ท้าวธตรฐหายอมไม่ คงเลี้ยงกุมารไว้ และให้นามว่าทุรโยธน์ ต่อมาอีกเดือน ๑ จึ่งมีราชบุตรกำเนิดจากผอบนั้น ๆ อีก ๙๙ องค์กับราชบุตรีองค์ ๑ ซึ่งมีนามว่าทุศลา กุมารทั้ง ๑๐๐ นี้แลที่มีนามปรากฎว่า “โกรพ”

ท้าวธตรฐเปนผู้ที่อยู่ในธรรมดีมาก เมื่อท้าวปาณฑุสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ก็ได้รับกษัตร์ปาณฑุทั้ง ๕ มาเลี้ยงไว้เหมือนลูกและได้ให้เรียนศิลปศาสตร์ในสำนักโทณะพราหมณ์พร้อมกันกับลูกเธอ แต่ลูกกับหลานนั้นหาปรองดองกันไม่ เพราะพวกปาณฑพล้วนแต่เก่งและดี พวกโกรพล้วนแต่มุทลุดุดัน จึ่งมีเหตุฤศยาแก่งแย่งกันไม่ได้หยุด (ดังได้แสดงไว้โดยสังเขปในนิทานวัจนะแล้ว)

ในที่สุดเมื่อกษัตร์ปาณฑพได้ถูกเนรเทศไปครบ ๑๓ ปีแล้วกลับเข้ามาเมือง ก็ไม่เปนที่ปรองดองกันได้ ท้าวธตรฐพยายามที่จะไกล่เกลี่ยให้ดีกัน ก็หาสำเร็จไม่ ในที่สุดก็ทำการยุทธ์ ซึ่งเรียกว่ามหาภารตยุทธ์

ในงานสงครามครั้งนั้น ท้าวธตรฐเสียราชโอรสหมดแล้วก็มีความชอกชํ้าเปนอันมาก จึ่งเวนราชสมบัติให้แด่ท้าวยุธิษเฐียรแล้วพระองค์เองเสด็จออกไปอยู่ในป่า พร้อมด้วยนางคานธารีผู้เปนมเหษี กับนางกุนตีผู้เปนมารดากษัตร์ปาณฑพ และบริวารอีกเปนอันมาก จนอยู่มาวัน ๑ เกิดมีไฟไหม้ป่า ท้าวธตรฐและบริวารก็สิ้นชีพในไฟด้วยกันทั้งหมด ฯ

อนึ่งมีข้อซึ่งควรกล่าวไว้อย่าง ๑ เพราะมีผู้ที่มักฉงนและเอาไปปนกันอยู่บ้าง คือท้าวผู้ครองนครหัสดินที่กล่าวมาแล้วนี้ ไม่ใช่นามเดียวกันกับท้าวผู้เปนพระบิดาพระรามจันทรมหาราช ท้าวองค์นั้นทรงนามว่า “ทศรถ” (“สิบรถ”) ไม่ใช่ “ธตรฐ” (“เมืองมั่น”) และไมใช่ “ทศรฐ” (“สิบเมือง”) นาม “สิบรถ” เปนนามอันแสดงคุณวิเศษแห่งกษัตร์อย่าง ๑ เหมือนกัน (ดูที่รถต่อไป) ฯ

ธนุรเวท [ส. ธนุร๎เวท] = (๑) ความรอบรู้ในการยิงธนู, อีกนัย ๑ เรียกว่า “ธนุร๎วิทยา” (๒) ตำรายุทธศาสตร์ ซึ่งนับเปนอุปเวทผนวกอยู่กับพระยัชุรเวท (ดูที่ เวท)

ธรรม [ส. ธร๎ม, ม. ธัม์โม] = (๑) สิ่งซึ่งได้ตั้งขึ้นแล้วโดยมั่นคง, วินัยบัญญัติกำหนดกฎหมาย ฯ ล ฯ มีนามศัพท์โดยเฉภาะว่า “นิติธรรม

(๒) แบบแผน, ทางที่เคยประพฤติมาแต่กาลก่อน, เยี่ยงเก่า, ความนิยมเดิม, สิ่งซึ่งเคยถือกันมา ฯ ล ฯ มีนามศัพท์โดยเฉภาะว่า “ธรรมนิยม” ฤๅ “ธรรมเนียม

(๓) สิ่งซึ่งถูกต้อง ฤๅ เที่ยงตรง มีนามศัพท์โดยเฉภาะว่า “ยุกติธรรม” ฤๅ “ยุติธรรม

(๔) ความดี, ความประพฤติงาม, ศาสนา, บุญกิริยา ฯ ล ฯ มีนามศัพท์โดยเฉภาะว่า “ธรรมจรรยา

(๕) พระบรมพุทโธวาท ซึ่งเราทั้งหลายเรียกกันว่า “พระธรรมเจ้า” ฤๅ “พระธรรมรัตน

(๖) สิ่งซึ่งเปนลักษณแห่งบุคคลผู้ใดผู้ ๑ ฤๅคณใดคณ ๑ เช่น “ทศพิธราชธรรม” เปนลักษณแห่งพระราชา ดังนี้เปนตัวอย่าง

(๗) เปนนามแห่งพระยม

ธรรมบุตร์ [ส. ธร๎มปุต๎ร] = (๑) บุตร์ซึ่งบิดามารดาได้ให้กำเนิดเพราะรู้สึกว่าเปนน่าที่อันควรกระทำ คือมีบุตรเพื่อดำรงวงศกุล ฤๅเพื่อทำศราทธพรตให้เมื่อล่วงลับไปแล้วเปนต้น (๒) “ลูกพระธรรม” (คือพระยม) ฯ นามว่า “ธรรมบุตร” นี้ ย่อมได้แก่ท้าวยุธิษเฐียรทั้ง ๒ สถาน เพราะสถาน ๑ พระมารดาได้ให้กำเนิดเพื่อเปนทายาทแห่งพระบิดา อีกสถาน ๑ พระยมเปนพ่อ (ดูที่ กุนตี) ฯ

ธรรมราช, ส. ผ. = พระยม ฤๅ ท้าวยุธิษเฐียร (ในหนังสือนี้มุ่งยุธิษเฐียรตลอด) ฯ

ธรรมสุต, [ส. ธร๎มสุต] = “ลูกชายแห่งพระธรรม” = ท้าวยุธิษเฐียร (ดูที่ ธรรมบุตร)

ธาตุ, ส. = (๑) ชั้นแห่งวัตถุอย่างใดอย่าง ๑ เช่นชั้นศิลา เปนต้น ตรงกับคำภาษาละตินว่า “Stratum” (๒) ส่วนแห่งวัตถุฤๅกายสัตว์เปนต้น (๓) ของซึ่งมีอยู่เสมอ และซึ่งเปนมูลแห่งวัตถุทั้งปวง เช่น ดิน, นํ้า, ลม, ไฟ และอากาศ เปนต้น

ธาตรี, ส. = “หญิงผู้บำรุงเลี้ยง” คือนางนม ฤๅมารดาที่ให้นํ้านมแก่บุตรกินเอง ฯ อนึ่งพื้นแผ่นดินก็เรียกว่าธาตรี เพราะบำรุงเลี้ยงฝูงคนให้ได้ยังชีพอยู่ได้ เหมือนนางนมเลี้ยงทารกฉนั้น ฯ

ธาร, ส. = (๑) ถือไว้, จุนไว้, แบกไว้, ทรงไว้ (๒) ทางนํ้าไหล

ธารา, ส. = (๑) ทางนํ้า, กระแสนํ้า, (๒) ห่าฝน (๓) คมดาบฤๅคมมีด (๔) สันเขา

ธุระ, ส. = (๑) แอก ฤๅ คานรถ (๒) สิ่งเห็นถนัดฤๅเปนใหญ่ (๓) กิจการ (๔) ความหนัก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ