- คำนำ
- พระราชนิพนธ์คำนำ
- นมัสกฤติกถา
- อารัมภกถา
- นิทานวัจนะ
- นโลปาข๎ยานัม์
- สรรคที่ ๑
- สรรคที่ ๒
- สรรคที่ ๓
- สรรคที่ ๔
- สรรคที่ ๕
- สรรคที่ ๖
- สรรคที่ ๗
- สรรคที่ ๘
- สรรคที่ ๙
- สรรคที่ ๑๐
- สรรคที่ ๑๑
- สรรคที่ ๑๒
- สรรคที่ ๑๓
- สรรคที่ ๑๔
- สรรคที่ ๑๕
- สรรคที่ ๑๖
- สรรคที่ ๑๗
- สรรคที่ ๑๘
- สรรคที่ ๑๙
- สรรคที่ ๒๐
- สรรคที่ ๒๑
- สรรคที่ ๒๒
- สรรคที่ ๒๓
- สรรคที่ ๒๔
- สรรคที่ ๒๕
- สรรคที่ ๒๖
- อุตตรกถา
- อธิบายในลักษณประพนธ์
- อภิธาน
อิ
อิกษวากุ, [ส. อิก์ษ๎วากุ] นามแห่งพระราชาผู้เปนโอรสแห่งพระมนูไววัสวัต (คือพระมนูลูกพระสูรยเทวราช) และท้าวอิกษวากุนี้เปนกษัตร์องค์ที่ ๑ ซึ่งได้เสวยราชย์ในกรุงอโยธยาเปนบรมมหาชนกแห่งบรรดากษัตร์สุริยวงศ์ ผู้เสวยราชย์ในกรุงนั้นสืบมา มีพระรามจันทรมหาราชเปนต้น เพราะฉนั้นบรรดากษัตร์ในราชวงศ์นี้จึ่งเรียกว่า “อิกษวากุกุลชะ” ฯ
อิกษวากุกุลชาติ, ส. = เกิดในสกุลแห่งท้าวอิกษวากุ ฯ ในหนังสือเรื่องพระนลนี้ ใช้เปนฉายาเรียกท้าวฤตุบรรณผู้เปนมหาราชครองกรุงอโยธยาในสมัยกาลแห่งพระนล (ดูที่ ฤตุบรรณ ต่อไป) ฯ
อิงคุท, ม. และ ส. = ต้นสำโรง
อินท, ม. ฤๅ อินทร, ส. = เทวราชผู้เปนใหญ่เหนือเทวดาทั้งหลายในสมัยพระไตรเพทและในพุทธกาล พระเปนเจ้าทั้งสามพึ่งเกิดมีนับถือกันขึ้นภายในพุทธกาล (เรื่องพระอินทรได้อธิบายไว้โดยละเอียดแล้วในอภิธานท้ายหนังสือ “ศกุนตลา”) ฯ อนึ่ง คำว่า “อินท” ฤๅ “อินทร” นี้ ใช้แปลได้ด้วยว่าผู้เปนใหญ่ สุดแท้แต่จะผสมเข้ากับนามอื่น ฯ เช่น “อมรินทร” = เปนใหญ่ในหมู่อมร “นรินทร” = เปนใหญ่ในหมู่คน “นาคินทร” = เปนใหญ่ในหมู่นาค ฯ ล ฯ
อินทปัตถ์ [ส. อิน์ท๎รบ๎รัส๎ถ] = นามเมืองซึ่งท้าวธตรฐสร้างให้ท้าวยุธิษเฐียรครอง ตั้งอยู่ริมลำนํ้ายมุนาใกล้นครเฑลหิ (Delhi) ซึ่งเปนนครหลวงแห่งมัธยมประเทศ ณ บัดนี้ ฯ
อินทรเสน, ส. = นามแห่งโอรสพระนลกับนางทมยันตี
อินทรเสนะชนนี, ส. = “แม่แห่งอินทรเสน” คือนางทมยันตีนั้นเอง ที่ออกนามเช่นนี้เปนประเพณีในมัธยมประเทศ เช่น พระนางยโศธราก็ออกนามในชาดกว่า
“ราหุลมาตา” ดังนี้เปนตัวอย่าง และประเพณีนี้ก็ได้ดำเนินมาจนถึงเมืองไทยเราเหมือนกัน จึ่งมักเคยได้ยินเรียกหญิงว่า “แม่อ้ายแดง” ฤๅ “แม่อีฉิม” ดังนี้เปนต้น ฯ
อินทรเสนา, = ส. นามแห่งธิดาพระนลกับนางทมยันตี
อิศะรีย์, ส. ผ. [ส. อีศ๎วรีย] = ความเปนใหญ่
อิศวร, ส. ผ. [ส. อีศ๎วร] = ผู้เปนใหญ่, ผู้เปนเจ้า, เจ้า, นาย, ขุน, นางพระยา ฯ ใช้ผสมกับนามอื่น ฯ มุ่งความว่าเปนใหญ่ในหมู่นั้น ฯ เช่น “นเรศวร” = เปนนายคน, เปนใหญ่เหนือคน ฯ ในสมัยกาลแห่งเรื่องพระนล พระศีว ซึ่งเรียกกันว่า “พระอิศวร” นั้น ยังมิได้มีผู้ยกย่องนับถือเปนใหญ่ ต่อมาเมื่อภายหลังพุทธกาล ได้บังเกิดนับถือ
พระวิษณุ พระศีวะ และพระพรหมว่าเปนพระเจ้าทั้งสามอันสูงสุดแล้ว พระศีวะ จึ่งมาได้นามว่า “พระอิศวร” ซึ่งแปลไปตรง ๆ ตามศัพท์ก็ว่า “พระผู้เปนเจ้า” เท่านั้น ฯ ในหนังสือเรื่องพระนลนี้แห่งใดมีคำ “อิศวร” อยู่ ก็ให้พึงเข้าใจว่า ใช้ตามความเดิมทั้งนั้น เช่นในประโยคว่า “เปนอิศวรมหาราช” ดังนี้ ก็แปลว่า “เปนเจ้าแผ่นดินผู้ใหญ่ยิ่ง” เท่านั้น ไม่ใช่ว่า เหมือนพระศีวะ ฤๅเปนเชื้อพระศีวะหามิได้ ฯ