อักโขหิณี, ม. [ส. อัก์เษาหิณี] = กองทัพซึ่งมีช้าง ๒๑,๘๗๐ ม้า ๖๕,๖๑๐ รถ ๒๑,๘๗๐ พลเดิน ๑๐๙,๓๕๐ ฯ กองอักโขหิณี ๑ แบ่งเปน ๑๐ อนีกินี ฯ

อักษหฤทัย [ส. อัก์ษห๎ฤทย] = หัวใจสกา คือความรู้ในการเล่นอย่างดียิ่งยวด (ดูที่ สกา ต่อไป)

อัคนี, ส. = พระเพลิง ในเรื่องพระนลว่าเปนเทวดาองค์ ๑ ซึ่งได้ไปในงานสยมพรแห่งนางทมยันตี ในสมัยกาลแห่งเรื่องพระนลนี้ พระเพลิงเปนเทวดาสำคัญอย่างยิ่งองค์ ๑ และในพระเวทว่ามีเปน ๓ ภาค คือภาค ๑ เปนไฟอยู่ในมนุษโลก ภาค ๑ เปนแสงสว่าง (หรือดวงอาทิตย์ในฟากฟ้า) ภาค ๑ เปนแสงฟ้าแลบอยู่ในอากาศ ฯ เปนโลกบาลทิศอาคเณย์ ฯ

อะคร้าว, ท. = มาก, เลื่องฦๅ, อิ่มใจ

อังคุษฐ, ส. นิ้วหัวแม่มือ

อจลเศรษฐ, ส. = เขาหลวง ฯ เปนคำผสมจาก “อจล" = ไม่หวั่นไหว ใช้เรียกเขาทั่ว ๆ ไปกับ “เศรษฐ” = ดียิ่ง, เลิศ.

อเจียร [ส. อจิร] = เร็ว ฯ แปลตรงตามศัพท์ก็ว่า “ไม่นาน” คือ “” (ไม่) + “จิร” (นาน) แต่เมื่ออ่านประโยคแล้วต้องเข้าใจว่า “อจิร” มุ่งความว่าเร็วโดยแท้

อดิศัย [ส. อติศย] = สูง, สำคัญ

อัตรี [ส. อต๎ริ] = นามพระมหาฤษีตน ๑ ซึ่งปรากฎนามว่าเปนผู้แต่งพระเวทตอน ๑ และนับว่าเปนตน ๑ ในหมู่พระฤษี ๗ ตน เปนที่นับถือแห่งพวกพราหมณ์ยิ่งนัก จึ่งมักยกเปนตัวอย่างแห่งฤษีอื่น ฯ

อนงค์, ส. ผ. แปลตามศัพท์เดิมโดยตรงว่า “ไม่มีตัว” แต่ไทยเรานำมาใช้ในที่แปลว่า “นาง” ฯ การที่ผิดเพี้ยนไปได้ไกลถึงเช่นนี้ น่าจะเดาว่า ในชั้นต้น ผู้ที่นำศัพท์ “อนงค์” มาใช้ในภาษาไทยนั้น เปนผู้ที่เข้าใจคำแปลเดิมดีอยู่ คือรู้ว่าเปนศัพท์ใช้เรียกพระกามเทพ เมื่อถูกพระอิศวรเผาเสียแล้ว (ดูที่ กามเทพ ต่อไป) และเปนศัพท์ที่ใช้แทนคำว่า “กาม" ได้ในกะวีนิพนธ์ด้วย เช่น “อนังคเลขา” = หนังสือเกี้ยวกัน, “อนังครังค” = พอใจในกาม, ดังนี้เปนต้น. ครั้นต่อมาในชั้นหลังความรู้เรียวลง แยกศัพท์ไม่ใคร่เปนแล้ว เปนแต่เข้าใจความแห่งศัพท์เท่านั้น เช่น “อนงคเลขา” ก็เข้าใจว่า เปนหนังสืออันเนื่องด้วยทางกาม ก็แปลว่าหนังสือมีถึงผู้หญิง คำ “อนงค์” จึ่งกลายเปนแปลว่าผู้หญิงไปได้ ฯ ก็ถึงรู้แล้วว่าความคลาดเคลื่อนไปเสียมากถึงเช่นนี้ก็ตาม แต่คำ “อนงค์” ได้ใช้ที่มุ่งความว่า “นาง” เข้าใจกันซึมทราบมาเสียนานแล้ว ข้าพเจ้าจึ่งได้นำเอามาใช้ในหนังสือนี้โดยมุ่งความว่า “นาง" ตามความเข้าใจอันนั้นแล ฯ

อันเตปุระ, ส. = ในวัง แปลตรงศัพท์ว่า “เมืองชั้นใน”

อนาถ, ส. = ไม่มีที่พึ่ง

อนาถา, ส. = ไม่มีที่พึ่ง (อิตถี) ฯ ภาษาไทยมักเข้าใจกันว่าแปลว่า ยากจน แต่นี้เปนข้อที่เข้าใจเพี้ยนไปเท่านั้น ในหนังสือนี้ใช้ตรงตามความเดิมทุกแห่ง คือใช้ในที่กล่าวถึงนางที่ไร้ที่พึ่ง ฯ

อนาทร, ส. = การไม่เอื้อเฟื้อด้วยความดูหมิ่น ฯ ไทยเรามักแปลกันว่า “ร้อนใจ” ซึ่งเพี้ยนจากความเดิมไป ฯ

อนุพรต, [ส. อนุว๎รต] = ซื่อตรงจงรักต่อผู้ใดผู้ ๑ ฯ เช่นในหนังสือนี้ว่า “อนุพรตสุภรรดา” = ซื่อตรงจงรักต่อผัว ดังนี้เปนต้น ฯ

อภิปราย, ส. ผ. ตามศัพท์เดิมแปลว่า “ความเห็น” แล้วต่อมาจึ่งใช้เปนกิริยาศัพท์ว่า “แสดงความเห็น” แล้วเพี้ยนมาอีกชั้น ๑ จนในที่สุดนี้ ไทยเราใช้ในที่ว่า “บอกเล่า” เท่านั้นก็มี ฯ

อมรเศรษฐ, ส. = เลิศในหมู่เทวดา

อมรรตยะ [ส. อมร๎ต๎ย] = ไม่ตาย ฯ ผสมจาก “” (ไม่) กับ “มร๎ต๎ย” (ตาย) ฯ ในภาษาไทยเขียนว่า “อมรรตัย” ก็มี เช่นในบทสรรเสริญพระพรหมที่นำโองการแช่งนํ้ามีอยู่ว่า “อมรรตัยโลเกษ” ฯ และบางทีก็เขียนตามภาษามคธว่า “อมตะ” เช่นในประโยคว่า “พระอมตะมหานฤพาน” ดังนี้เปนต้น ฯ มูลเดิมในภาษาสันสกฤตมาจากคำ “อม๎ฤต” = นํ้าทิพย์ ซึ่งเทวดาได้กินแล้วไม่ตาย ฯ

อมิตร, ส. = ข้าศึก ฯ ผสมจากคำ “อ” (ไม่ใช่) กับ “มิตร” (เพื่อน) ฯ มักใช้ในที่กล่าวถึงผู้ที่เปนข้าศึกกันส่วนตัวต่อตัว ฯ

อโยธยา, ส. นามนครหลวงแห่งแคว้นโกศลราษฎร์ อันเปนที่สถิตแห่งพระราชากษัตร์สุริยวงศ์ ฯ

อโยธยาบดี [ส. อโยธ๎ยาปติ] = เปนใหญ่ในกรุงอโยธยาคือพระราชาผู้ครองกรุงนั้น ฯ

อรชุน [ส. อร๎ชุน] ในหนังสือนี้มีใช้อยู่เปน ๒ อย่าง คือ (๑) ในนิทานวัจนะ เปนนามแห่งกษัตร์ปาณฑพองค์ที่ ๓ (ดูที่ปาณฑพต่อไป) - (๒) ในสวรรคที่ ๑๒ เปนนามต้นไม้ชนิด ๑ มีดอกสีขาว เปนต้นไม้ซึ่งผู้รอบรู้ในวิชาพฤกษศาสตร์จัดไว้ในจำพวกที่เรียกตามภาษาละตินว่า “Terminalia” ไทยเราเรียกว่าไม้รกฟ้าขาว ฯ

อรัญญิก, ม. [ส. อรัณ๎ยก] = ป่าสูง

อรัณยราช, ส. = เจ้าป่า ฯ ใช้เปนนามเรียกเสือสมิงในเรื่องพระนล แต่ในหนังสืออื่น ๆ ใช้เรียกราชสีห์ก็มี ฯ

อวันตี, ส. = นามแคว้นอัน ๑ ในมัธยมประเทศ (เดี๋ยวนี้เรียก “อุเชน”) ฯ

อโศก, ส. = ไม่มีความเศร้า ฯ ในหนังสือพระนลนี้ใช้เปนนามต้นไม้ ซึ่งไทยเรามาเรียกผิดไปว่า “ต้นโศก” ฯ

อัศดร [ส. อัศ๎วตร] = ตามศัพท์ว่า “ม้าที่ดีกว่า” แต่ที่ไทยเราใช้นั้นมุ่งความว่าม้าอย่างดียิ่ง ก็นับว่าพอใช้ได้ ฯ

อัศว, ส. = ม้า ฯ ใช้ผสมกับคำอื่น ฯ เปนคุณศัพท์บ้าง นามศัพท์บ้าง เนื่องในการม้าต่าง ๆ ดังมีตัวอย่างคือ อัศวโกวิท, อัศวโกศล = ชำนาญในการขี่ขับม้า ฯ อัศวเมธ = พิธีบูชายัญด้วยม้า (ปล่อยม้าอุปการ) ฯ อัศวรักษ์ = คนเลี้ยงม้า ฯ อัศวศาลา = โรงม้า ฯ อัศวหฤทัย = หัวใจวิชาม้า ฯ คำเหล่านี้ได้ใช้อยู่ในหนังสือเรื่องพระนลนี้ ฯ

อัศวานิก, ส. = ทหารม้า

อัศวิน, ส. = (๑) คนขี่ม้า, นายม้าต้น (๒) เทวดาแฝดซึ่งขี่รถมาในฟากฟ้าก่อนเวลารุ่ง เปนผู้นำโภคทรัพย์มาให้มนุษและช่วยคุ้มกันภยันตราย และความไข้ต่าง ๆ เปนหมอสวรรค์กับในมหาภารตว่าเปนบิดาพระนกูลและสหเทพ (ดูที่ ปาณฑพ) ฯ

อสงขัย [ส. อสังข๎ย] = นับไม่ถ้วน ฯ ผสมจาก “” (ไม่) “สังข๎ย” (นับ) ฯ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ