- คำนำ
- พระราชนิพนธ์คำนำ
- นมัสกฤติกถา
- อารัมภกถา
- นิทานวัจนะ
- นโลปาข๎ยานัม์
- สรรคที่ ๑
- สรรคที่ ๒
- สรรคที่ ๓
- สรรคที่ ๔
- สรรคที่ ๕
- สรรคที่ ๖
- สรรคที่ ๗
- สรรคที่ ๘
- สรรคที่ ๙
- สรรคที่ ๑๐
- สรรคที่ ๑๑
- สรรคที่ ๑๒
- สรรคที่ ๑๓
- สรรคที่ ๑๔
- สรรคที่ ๑๕
- สรรคที่ ๑๖
- สรรคที่ ๑๗
- สรรคที่ ๑๘
- สรรคที่ ๑๙
- สรรคที่ ๒๐
- สรรคที่ ๒๑
- สรรคที่ ๒๒
- สรรคที่ ๒๓
- สรรคที่ ๒๔
- สรรคที่ ๒๕
- สรรคที่ ๒๖
- อุตตรกถา
- อธิบายในลักษณประพนธ์
- อภิธาน
ย
ยักษ์, ส. [อิตถี. ยักษินี] = เปนอสูรจำพวก ๑ มีทั้งใจดีและใจร้าย มีท้าวกุเวรเปนอธิบดี
ยักษราช, ส. = ท้าวกุเวร ฤๅท้าวมณีภัทร์
ยักษาธิบดี, ส. ผ. = ท้าวกุเวร
ยัญ, ม. ผ. [ส. ยัช๎ญ] = การไหว้, การบูชา, การพลี, บวงสรวง
ยม และ ยมราช = เทวดาผู้เปนใหญ่เหนือคนตาย ฯ ตามตำหรับไสยศาสตร์ว่า เปนมนุษที่ได้เกิดเปนคนแรกในมนูยุคที่ ๗ เปนโอรสแห่งพระวิวัสวัต (พระอาทิตย์) กับนางสรัณยู เปนเชษฐาแห่งพระมนูองค์ที่ ๗ (ดูที่ มนู) ฯ ในพระเวทออกนามพระยมว่า “สํคมโน ชนานาม์” “ผู้รวบรวมคน” แลว่าเปนใหญ่เหนือ “ปิต๎ฤ” ทั้งหลาย (คือต้นโคตรแห่งคนที่ล่วงลับไปแล้ว) ซึ่งได้ตายจากโลกมนุษไปอยู่ณเทวโลก ฯ ในไสยศาสตร์ชั้นหลังว่าพระยมเปนตุลาการผู้ลงโทษแก่ผู้ตาย จึ่งมีนามว่า “ธรรม” ฤๅ “ธรรมราช” และว่าที่อยู่เรียกว่า “ยมะปุระ” ฯ เมื่อคนเราสิ้นชีพลงแล้ว เขานิยมว่ามโนแห่งคนนั้นไปสู่ยมะปุระ มีเทวดาชื่อพระจิตรคุปต์ (ม. จิต์ต คุต์โต, ซึ่งชนสามัญเรียกว่า “พระเจ็ตะคุก”) เปนผู้อ่านประวัติการแห่งผู้ตาย อันจดไว้ในสมุดชื่อ อรรคสันธานา [ส. อัค๎รสํธานา] แล้วพระยมก็วินิจฉัยชั่งความดีความชั่ว ถ้าความดีมีมากก็ส่งไปสวรรค์ ถ้าความชั่วมีมากก็ส่งไปนรกเพื่อลงโทษทรมานสืบไป ฯ
ส่วนลักษณแห่งพระยมนั้น ตามคัมภีร์มหาภารตว่า นุ่งห่มสีแดงเสือด สีกายเลื่อมประภัสร (คือวาวและใสอย่างแก้ว) ทรงมงกุฎ มีตาอันวาว หัดถ์ถือบ่วงเรียกว่า “ยมบาศ" สำหรับคล้องคนตาย ฯ อีกนัย ๑ ว่ารูปน่ากลัว สีกายเขียว นุ่งห่มสีแดงเลือด มีมหิงษ์เปนพาหน หัตถ์ ๑ ถือไม้ชื่อ “ยมทัณฑ์” อีกหัตถ์ ๑ ถือบ่วง ฯ
อนึ่งพระยมเปนโลกบาลผู้รักษาทิศทักษิณ ฯ
ยยาติ, ส. = เปนกษัตร์จันทรวงศ์โอรสแห่งท้าวนหุษ (จึ่งมีฉายาว่า “นาหุษ”) ท้าวยยาตินี้เปนวีรบุรุษผู้มีนามปรากฎ และเปนมหาราชผู้ทรงธรรมอันประเสริฐ จึ่งยกย่องเปนตัวอย่างแห่งมหากษัตร์ทั้งปวง ฯ เธอมีมเหษี ๒ องค์ องค์ที่ ๑ ชื่อเทวยานี ธิดาพระศุกรเทพฤษี และเปนมหาชนนีแห่งกษัตร์ที่เรียกว่าสกุลยาทพ อีกองค์ ๑ ชื่อสรมิษฐา ธิดาท้าวพฤษบรรพน์อสุรราชและเปนมหาชนนีแห่งกษัตร์ที่เรียกว่าสกุลโปรพ ซึ่งได้ครองกรุงประดิษฐานและหัสดินสืบมา (เรื่องท้าวยยาติได้เล่าไว้แล้วโดยพิสดารกว่านี้ในอภิธานท้ายเรื่อง “ศกุนตลา” จงดูที่ จันทรวงศ์ ในอภิธานโน้นเถิด) ฯ
อนึ่งท้าวยยาตินาหุษนี้ สมมติว่าเปนผู้รจนาบทสรรเสริญในพระฤคเวทหลายบท และมีจินตกะวีแต่งเรื่องลครเรื่องเธอนี้เรื่อง ๑ ฯ
ยุค ม. และ ส. = (๑) แอก (รถ) (๒) คู่ อีกนัย ๑ ใช้ว่า “ยุคล” (๓) มาตราเวลาในโหราศาสตร์ ยุค = ๕ ปี (๔) กำหนดเวลาแห่งมนู เรียกว่า “มนูยุค” ฤๅ “มันวันตะระ” (ดูที่ มนู)
(๕) กำหนดอายุแห่งโลก มีเปน ๔ ยุค ในท้ายยุค ๑ ๆ มีเวลาซึ่งเรียกว่า “สนธยา” (พลบ) กับ “สนธยางศะ” (ส่วนแห่งพลบ) มีกำหนดจำนวนปีได้อย่างละ ๑ ส่วนใน ๑๐ แห่งจำนวนปีในยุค ฯ ยุคทั้ง ๔ นั้น มีนามและกำหนดจำนวนปีดังต่อไปนี้
๑. กฤตยุค | ๔๐๐๐ | ปี | |
สนธยา | ๔๐๐ | ” | |
สนธยางศ์ | ๔๐๐ | ” | |
รวม | ๔๘๐๐ | ปี | |
๒. เตรตายุค | ๓๐๐๐ | ปี | |
สนธยา | ๓๐๐ | ” | |
สนธยางศ์ | ๓๐๐ | ” | |
รวม | ๓๖๐๐ | ปี | |
๓. ทวาบรยุค | ๒๐๐๐ | ปี | |
สนธยา | ๒๐๐ | ” | |
สนธยางศ์ | ๒๐๐ | ” | |
รวม | ๒๔๐๐ | ปี | |
๔. กลียุค | ๑๐๐๐ | ปี | |
สนธยา | ๑๐๐ | ” | |
สนธยางศ์ | ๑๐๐ | ” | |
รวม | ๑๒๐๐ | ปี | |
รวมทั้งสิ้น | ๑๒,๐๐๐ | ปี. |
แต่ปีที่กล่าวมาแล้วข้างบนนี้เปนปีสวรรค์ และ ๑ ปีสวรรค์นั้นเท่ากับ ๓๖๐ ปีมนุษย์ เพราะฉนั้นคำณวนกำหนดยุคเปนปีมนุษย์คงเปนดังนี้-
กฤต. | ๔๘๐๐ x ๓๖๐ | = | ๑,๗๒๘,๐๐๐ |
เตรตา. | ๓๖๐๐ x ๓๖๐ | = | ๑,๒๙๖,๐๐๐ |
ทวาบร. | ๒๔๐๐ x ๓๖๐ | = | ๘๖๔,๐๐๐ |
กลี. | ๑๒๐๐ x ๓๖๐ | = | ๔๓๒,๐๐๐ |
รวมทั้งสิ้น | ๔,๓๒๐,๐๐๐ |
ยุคทั้ง ๔ รวมกัน คือ ๑๒,๐๐๐ ปีสวรรค์ ฤๅ ๔,๓๒๐,๐๐๐ ปีมนุษย์เปน มหายุค ๒๐๐๐ มหายุคเปน ๑ กัลป คือวัน ๑ กับคืน ๑ ของพระพรหมา, เมื่อสิ้นกัลป ๑ แล้ว พระพรหมาล้างโลกด้วยเพลิง เรียกว่า “ไฟประลัยกัลป” แล้วจึ่งสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง ๑ ฯ
อนึ่ง ๓๐ กัลปเปน ๑ เดือนพระพรหมา ๑๒ เดือนเปน ๑ ปี ๑๐๐ ปี เปนหมดอายุแห่งพระพรหมา ฯ ในกาลบัดนี้อายุแห่งพระพรหมาล่วงมาแล้วได้ ๕๐ ปี ยังคงอยู่อีก ๔๙ ปีแห่งพระพรหมาจึ่งจะถึงเวลามหาประลัย ฯ
ยุธิษฐิร, ส. ,ยุธิษเฐียร, ส. ผ. = “มั่นคงในการรบ” เปนนามแห่งกษัตร์ปาณฑพองค์ที่ ๑ ซึ่งเปนโอรสแห่งนางกุนตีกับพระยม แต่ท้าวปาณฑุรับเปน โอรสแห่งพระองค์เอง (ดูที่ กุนตี และ ปาณฑุ) ฯ เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์แล้ว ท้าวธตรฐผู้เปนลุงรับไปเลี้ยงไว้อย่างพระราชบุตร ให้ศึกษาในสำนักแห่งโทณพราหมณ์ แล้วตั้งเปนยุพราช แต่เพราะพวกลูกท้าวธตรฐอิจฉาจึ่งแตกร้าวกัน จนท้าวธตรฐต้องเนรเทศพระยุธิษเฐียรไปจากกรุงหัสดิน แต่ภายหลังให้รับกลับเข้าเมือง และได้สร้างนครอินทปัตถ์ให้ครอง แต่พระยุธิษเฐียรเล่นสกากับพวกโกรพแพ้จึ่งต้องไปอยู่ป่าพร้อมด้วยพระอนุชาทั้ง ๔ และนางกฤษณา (ดังปรากฎใน นิทานวัจนะ แล้ว) ฯ เมื่อพ้นกำหนดเนรเทศครั้งที่ ๒ กษัตรปาณฑพกับโกรพได้กระทำสงครามแก่กัน เรียกว่ามหาภารตยุทธ ที่ตำบลกุรุเกษตร เมื่อพวกโกรพแพ้แล้ว พระยุธิษเฐียรได้เข้าไปยังกรุงหัสดิน พระเจ้าลุงมอบราชสมบัติให้ครองแล้วเธอออกไปอยู่ป่า ไปตายในไฟที่ไหม้ป่า ฯ ท้าวยุธิษเฐียรมหาราชครองราชสมบัติ
ไม่นาน ก็อภิเษกพระอภิมันยู โอรสพระอรชุนเปนราชาในหัสดิน แล้วท้าวยุธิษเฐียรกับพระอนุชาทั้ง ๔ และนางกฤษณาจึ่งออกจากพระนคร ไปยังเขาพระสุเมรุ แต่นางกฤษณาและพระอนุชาล้มลงสิ้นพระชนมชีพในระหว่างทางเปนลำดับ คงเหลือแต่ท้าวยุธิษเฐียรองค์เดียว ที่รอดไปได้จนถึงสวรรค์ทั้งเปน ฯ
ยุพราช, ม. ผ. ยุวราช, ม. และ ส., เยาวราช, ม. ผ. = “ขุนหนุ่ม” คือเจ้าผู้เปนรัชทายาท ฯ
ยุวะ, ม. , ยุพะ, ม. ผ. [ส. ยุวัน์] = หนุ่ม, รุ่น, แขงแรง, ไม่มีไข้เจ็บ ฯ อิตถีลึงค์ — ยุวดี และ ยุพดี, ส. ผ. [ส. ยุวตี] = หญิงสาว, หญิงรุ่น ๆ และในจินตกะวีนิพนธ์ไทยยังมีคำใช้อีกด้วยว่า “ยุพา” และ “เยาวพา” หญิงสาว แผลงจาก “ยุว” นั้นเอง ฯ
เยาว์, ส. ผ. [ส. เยาวน] = หนุ่ม, สาว เปนผู้ใหญ่ (คือพ้นจากเปนเด็ก) ฯ แต่ในภาษาไทยเราใช้โดยเข้าใจว่า “เปนเด็ก” ทีเดียว เช่นกล่าวถึงเจ้านายว่า “ยังทรงพระเยาว์” แปลว่า “ยังเด็ก” ดังนี้ คลาดเคลื่อนจากความเดิมเขาไป เพราะตามภาษาสันสกฤต “ยังเด็ก” ต้องใช้ศัพท์ว่า “ทารกะ” ฤๅ “พาลกะ” ต่อเมื่อเติบโตขึ้นแล้ว (คือแตกเนื้อหนุ่มเนื้อสาวแล้ว) จึ่งจะใช้ศัพท์ “ยุวัน” ฤๅ “เยาวนะ” ได้ ฯ ทั้งนี้นำมากล่าวไว้เพื่อรู้กันเท่านั้น เพราะจะแก้ไขความเข้าใจของคนไทยเราให้ใช้คำ “เยาว์” ให้ถูกต้องนั้น น่าจะเหลือแก้เสียละกระมัง ฯ