ประปา

มีนักเขียนใน “ประมวญวัน” สองคนแล้ว ที่ผู้เขียนได้อ่าน เขียนว่าด้วยน้ำประปา เป็นคำบ่นว่าเจ้าของบ้านที่ต่อท่อเข้าบ้านนั้น รัฐบาลเก็บค่าน้ำที่ใช้เปลืองไปทุก ๆ เดือนแล้ว เงินที่เก็บไปนั้นยังเหลือพอเป็นค่าน้ำที่จำหน่ายตามถนนให้แก่ผู้ไม่ต้องเสียเงิน มิหนำซ้ำรัฐบาลยังเอากำไรปีละหลายแสนบาทอีกเล่า

ผู้ต่อท่อเข้าบ้านต้องเสียเงิน

(๑) สำหรับน้ำที่ตนใช้

(๒) สำหรับที่จ่ายตามถนน

(๓) สำหรับเป็นกำไรแก่รัฐบาล

ผู้มีทรัพย์พอจะต่อท่อน้ำเข้าบ้านได้นั้น การที่ขอให้ช่วยเสียค่าน้ำที่แจกจ่ายให้แก่ผู้ไม่มีทรัพย์ ก็ไม่ปรากฏว่าใครแสดงความรังเกียจ เพราะไม่ว่าใคร ๆ คงอยากให้คนอื่น ๆ ใช้น้ำสอาด เพื่อให้เมืองหลวงของประเทศเป็นที่มีโรคน้อย เป็นชื่ออันดีของบ้านเมือง แลเป็นเครื่องช่วยยังความเจริญให้เกิดยิ่ง ๆ ขึ้น นอกจากนี้ พูดเฉพาะตัวบุคคล ถ้าโรคเกิดขึ้นแก่ผู้ใช้น้ำไม่สอาด โรคนั้นก็อาจระบาดไปถึงผู้ใช้น้ำสอาดด้วย เราผู้ใช้น้ำสอาดเคยถูกฉีดยากันอหิวาตกโรคคนละกี่ครั้ง ทั้ง ๆ ที่เรารู้อยู่ว่า เรามิใช่ผู้ที่จะก่อให้เกิดโรคระบาดขึ้นได้เลย ถ้าเกิดโรคขึ้นเมื่อไร คนที่เป็นหรือไม่เป็น ก็เกิดความร้อนใจด้วยกันทั้งนั้น เหตุฉนี้ การที่ขอให้เจ้าของบ้านผู้มีท่อน้ำเข้าบ้าน ช่วยออกค่าท่อน้ำตามถนนนั้น จึงไม่มีใครบ่น ถือว่าเป็นการกุศลด้วยกันทุกคน ข้อที่บ่นนั้นคือว่า รัฐบาลแจกฎีกาแผ่กุศลเป็นบิลเดือนละครั้ง ให้ต้องทำบุญมากเกินจำเป็นในการแจกน้ำให้แก่คนจน เลยเป็นกำไรปีละ ๔๑๗,๑๖๘ บาท ตามงบประมาณปีนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙)

ตัวเลขที่กล่าวข้างบนนี้ กล่าวตามนักเขียนคนหนึ่ง ที่เขียนในประมวญวัน วันที่ ๘ ตุลาคม (พ.ศ. ๒๔๗๙) ปรากฎว่ารัฐบาลมีรายได้จากประปาประมาณ ๙ แสน ๕ หมื่นบาท รายจ่ายปีละ ๕ แสนเศษเท่านั้น งบประมาณเช่นรายได้รายจ่ายของงบประมาณ ซึ่งเป็นของอยู่ในมือนั้น เจ้าพนักงานทำไม่ผิดเป็นแน่

การประปากรุงเทพได้เริ่มทำหลายสิบปีมาแล้ว ได้ลงทุน ๓ ล้านบาท ถ้าได้กำไรปีหนึ่งนับเป็นแสน ๆ เรื่อยมา จนป่านนี้ก็เก็บทุนได้หมดนานมาแล้ว

ผู้เขียนไม่ค่อยมีศรัทธาในวิธีอภิปรายของปาลิเม็นต์ ซึ่งถ้าจะว่าตามตัวหนังสือที่มีไว้เป็นข้อบังคับ ก็พูดซ้ำความไม่ได้ การพูดไม่ซ้ำความทำให้เสียเวลาน้อยก็จริงอยู่ แต่ถ้าจะให้เข้าใจกันซึมซาบ ก็ดูเหมือนซ้ำบ้างดี เปรียบเหมือนตีตะปู ถึงจะตีจนมิดแล้ว ถ้าตีซ้ำเผื่อไว้อีกสองสามที ตะปูก็แน่นหนักเข้า อนึ่งที่เขียนนี้ ไม่ใช่พูดอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร แลผู้อ่านของเราก็มิใช่ว่ามีสติปัญญาเสมอ ส.ส. ทุกท่าน เพราะฉนั้นเขียนความบ้างก็เห็นจะไม่เป็นไร

มีนิทานไม่สู้จะบุราณนักว่า ยายกะตา ๒ คน เป็นหัวหน้าครอบครัวใหญ่ แกทำขนมให้ลูกหลานกิน แต่ลูกหลานของแกมากเหลือล้น ถ้าจะแจกขนมให้กินทุกคน ทุนทำขนมก็จะร่อยหรอหมดไปในไม่ช้า แกจึงบอกลูกหลานรุ่นใหญ่ว่า ไหน ๆ ก็มีกำลังทรัพย์บ้างแล้ว ถ้าอยากกินขนมก็จงซื้อกิน เพื่อจะได้ช่วยกันรักษาต้นทุนไว้ แลจงช่วยซื้อแจกน้องเล็ก ๆ ที่ไม่มีสตางค์ ให้ได้กินเป็นเลือดเป็นเนื้อ เป็นการทำคุณแก่น้องแลแก่ครอบครัว อีกทั้งได้บุญด้วย

ถูกหลานรุ่นใหญ่ เมื่อได้ยินยายกะตาผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวชี้แจงดังนั้นก็ยินดีทำตาม ซื้อขนมกินเองแลแจกน้องตามกำลังที่จะทำได้ ดังนี้ลูกหลานรุ่นเล็กของยายกะตา ก็พลอยได้กินขนมที่ยายกะตาทำ ทุนของยายกะตาที่ใช้ในการทำขนม ซึ่งลูกหลานทั้งรุ่นใหญ่แลรุ่นเล็กกินก็ได้คืนทั้งหมดจากลูกหลานรุ่นใหญ่ แลทั้งแกได้กำไรตามงบประมาณถึง ๔๑๗,๑๖๘ บาทอีกชั้นหนึ่งด้วย

พังเพยว่า ยายกะตาก็มิได้ตั้งใจจะหากำไรจากขนมที่ลูกหลานของแกกินเป็นเลือดเป็นเนื้อ เพียงแต่ว่าลูกหลานรุ่นใหญ่ช่วยซื้อให้รุ่นเล็กกินด้วยเท่านั้นก็ดีอยู่แล้ว เหตุที่ปรากฏเหมือนว่า ยายกะตาคิดหากำไรจากการบำรุงชีวิตลูกหลานของแกเองนั้น เป็นเพราะตั้งราคาขนมไว้สูงในตอนที่ยังขายได้น้อย แต่บัดนี้เมื่อขนมขายได้มากแล้ว แกยังเผลอไป จึงยังมิได้ตั้งราคาเสียใหม่ เป็นเรื่องที่ยังไม่มีอะไรมาเตือนขึ้น ก็เลย ๆ ไปเท่านั้นเอง

นิทานทำเนียบเรื่องนี้ เป็นการแลดูปัญหาเรื่องราคาน้ำประปาจากแง่ยุติธรรมในใจ แต่ถ้าจะแลดูจากแง่ตำราการคลังไซร้ การเอากำไรจากการประปามากเช่นนี้ ไม่มีหลักที่ยึดเลย ผิดตำราหมด

ผู้เขียนคิดว่า ผู้เป็นรัฐบาลแลใคร ๆ ก็คงจะรับรองความที่กล่าวนี้ทั้งนั้น แลคงจะคิดแก้ไขในเวลาอันควร “เวลาอันควร” แปลว่ายิ่งเร็วก็ยิ่งดี เช่นเวลางบประมาณคราวหน้าเป็นต้น

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ