- คำนำของผู้จัดพิมพ์
- ๑. สภากาชาด
- ๒ นิราศ
- ๓. โคบุตร
- ๔. ไวต์ชาวสยาม
- ๕. ผสมผสาน
- ๖. พม่าประเทศราช
- ๗. ผสมผสาน (๒)
- ๘. สำคัญอะไรที่ชื่อ
- ๙. ทุนสำรองพิกัด
- ๑๐. ผสมผสาน (๓)
- ๑๑. ประชาธิปัตย์แลความลับ
- ๑๒. เมื่อเจียงไคเช็คถูกจับ
- ๑๓. ขอโทษ
- ๑๔. เซี่ยงไฮ้
- ๑๕. อ๊อกซฟอด
- ๑๖. ดินเนอร์ใหญ่
- ๑๗. สามก๊ก
- ๑๘. หมู่ประเทศ “ออสโล”
- ๑๙. เซี่ยงไฮ้
- ๒๐. โรตารี่ในประเทศเยอรมัน
- ๒๑. ผสมผสาน (๔)
- ๒๒. รัฐคติ
- ๒๓. ล่าผัว
- ๒๔. โลกนี้ครึ่งหนึ่ง
- ๒๕. สก๊อตแลนด์กับอิงแลนด์
- ๒๖. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
- ๒๗. ขัติยมานะ
- ๒๘. เมื่อวันประกาศมหาสงคราม
- ๒๙. ปเกียรณกะ
- ๓๐. ในอินเดีย
- ๓๑. ในเมืองอังกฤษ
- ๓๒. คำราม
- ๓๓. ศัพท์รอยัลลิซต์
- ๓๔. อารยะชน อานารยะชน
- ๓๕. หนังสือพิมพ์
- ๓๖. กล่องดวงใจ
- ๓๗. ธนาธิปัตย์ยังไม่ตาย
- ๓๘. ฉากละคร
- ๓๙. ราชพิธีอังกฤษ
- ๔๐. ผสมผสาน (๕)
- ๔๑. นึกเมื่อฟังเทศน์
- ๔๒. บรรดาศักดิ์อังกฤษ
- ๔๓. กาพย์เห่เรือ
- ๔๔. โอวาทสำหรับชายหนุ่ม
- ๔๕. ราชาธิราชประเทศเม็กซิโก
- ๔๖. มุกดาดำ
- ๔๗. ประปา
- ๔๘. อุตสาหกรรมในกระท่อม
- ๔๙. ปนคำพูด
- ๕๐. วังแก้ว
- ๕๑. แซะประธาน
- ๕๒. ครึ่งสตางค์
- ๕๓. ฝักซ้ายฝ่ายขวา
- ๕๔. ประชาธิปัตย์สองแห่ง
- ๕๕. ยิวแลอาหรับ
- ๕๖. เฮ็บราย
- ๕๗. ประเทศอิราค
- ๕๘. พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ
- ๕๙. รัฐแฟรงก์
- ๖๐. ศัพท์
- ๖๑. …ิสม์
- ๖๒. ท่านเสือ
- ๖๓. ส่องกระจก
- ๖๔. พระสังตปาปา
- ๖๕. นานาภาษิต
- ๖๖. สำนวนหนังสือ
- ๖๗. อาศา
- ๖๘. คณะสงฆ์
ฉากละคร
ละครไทยเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐) มักจะเล่นบนเวที แต่งฉากอย่างละครฝรั่ง แลมีเปลี่ยนฉากเป็นชุด ๆ ตามบท ทั้งนี้ผู้เขียนเข้าใจว่าขึ้นต้นที่โรงละครดึกดำบรรพ์ในบ้านเจ้าพระยาเทเวศร์ แลต่อมาก็ใช้ฉากบนเวทีอย่างฝรั่งมากขึ้น ๆ จนในเวลานี้ดูเหมือนถ้าเป็นละครที่นับถือตน ก็ไม่มีใครจะยอมใช้โรงไม่มีฉากอย่างใหม่
โรงละครแต่ก่อน เป็นโรงซึ่งคนดูได้ ๓ ด้าน มีด้านที่กั้นเป็นในโรงด้านเดียว บนพื้นโรงละครปล่อยไว้เกลี้ยง ๆ มักจะมีเตียงตั้งไว้สำหรับนายโรงแลนางที่เป็นตัวนาย แลเตียงนี้ก็ยกเข้าออก หรือถ้าต้องการเตียงอีก ก็ยกออกมาเติม แล้วยกกลับเข้าโรงเมื่อสิ้นเวลาใช้ ถ้านางเอกออกชมสวน ก็ยกต้นไม้กระถางออกมาตั้งสองสามต้น ถ้าถึงบทเก็บดอกไม้ ก็เก็บจากต้นไม้ในกระถางนั้นเอง เมื่อถึงบทเป็นที่กำบัง ก็มีฉากเล็กออกมาตั้งหน้าเตียง ถ้าถึงเวลารบก็ยกเตียงแลเครื่องกีดอื่น ๆ เข้าโรงเสียหมด เหลือโรงว่าง ๆ ไว้เป็นสนามรบ พูดสั้น ๆ โรงละครแต่ก่อนเป็นโรงเกลี้ยงเฉย ๆ เครื่องตกแต่งมีน้อยที่สุด พอให้รู้ว่าถึงตอนไหน แลยกเข้ายกออกกันต่อหน้าคนดู ไม่ต้องมีปิดบังอะไรเลย โรงละครบางโรง คนดูล้อมรอบ ๔ ด้าน เมื่อตัวละครจะออกหรือเข้าโรง ก็เดินผ่านคนดูเข้าไป
โรงละครเกลี้ยงเช่นนี้ มิใช่แต่ละครไทยเท่านั้น ละครเก่าสมัยกริ๊กก็ดี สมัยเช๊กสเปียร์ก็ดี ก็ใช้เวทีเกลี้ยง ๆ เช่นนี้ เรามิพึงเข้าใจว่า ละครโบราณใช้เวทีเกลี้ยง เพราะไม่มีวิชาจะแต่งฉากอย่างที่ทำกันในปัจจุบัน อันที่จริงวิชาช่างไทยโบราณมิได้ด้อยกว่าวิชาช่างไทยในสมัยนี้ แลส่วนเมืองฝรั่งนั้น วิชาช่างในสมัยกริ๊ก ถ้าจะดูตามถาวรวัตถุที่ยังมีเหลืออยู่ ก็ย่อมจะเห็นว่า เป็นวิชาช่างชั้นสูงเหมือนกัน
แต่เหตุไฉนละครไทยเก่าแลละครฝรั่งโบราณ จึงใช้โรงหรือเวทีที่ตกแต่งน้อยที่สุด ปัญหานี้ย่อมมีทางอธิบาย แต่ที่ใครจะเห็นดีหรือไม่ดีทางไหน ก็แล้วแต่ความเห็นความฝึกหัด และความคุ้นตาของบุคคล
ผู้เขียนเก็บเอาความข้อนี้มาคำนึง เพราะได้ดูภาพยนต์เล่นบทละครของเช๊กสเปียร์ ซึ่งเมื่อดูในภาพก็งามดี แต่เมื่อมีดีในทางภาพ ก็มีเสียในทางอื่น ดังจะต้องชี้แจงภายหลัง
ส่วนละครไทยนั้น คนดูในเวลานี้ อาจแบ่งได้เป็น ๒ จำพวก คือพวกที่ชอบโรงอย่างเก่าพวกหนึ่ง พวกที่ชอบเวทีแต่งฉากอย่างใหม่พวกหนึ่ง พวกที่ชอบเวทีแต่งฉากอย่างใหม่ เห็นจะมีไม่น้อยที่ไม่เคยดูโรงเกลี้ยง ๆ อย่างเก่า แลอาจจะนึกว่า ละครแต่ก่อนใช้โรงเกลี้ยง ๆ เพราะไม่มีวิชาทำฉากอย่างเดี๋ยวนี้ แต่อันที่จริงเห็นได้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น ถ้าการเล่นละครแต่ก่อนเลื่อมใสการทำฉาก วิชาช่างในสมัยโน้น ๆ ก็มีพอที่จะทำฉากได้
ข้อที่ว่าเหตุใดจึงใช้โรงละครเกลี้ยง ๆ นั้น มีชี้แจงว่า เพราะไม่ต้องการให้ศิลปะแห่งการทำฉาก มากีดศิลปะแห่งละครเอง ต้องการจะดูละครไม่ใช่ดูฉาก ถ้าฉากเกลี้ยง ตัวละครแลเครื่องแต่งตัว การรำแลการทำบทก็เด่นยิ่งขึ้น ถ้าตัวละครเลวเล่นบนเวทีเกลี้ยง ก็จะเห็นความเลวง่ายที่สุด แต่ถ้าฉากหรูหรา ก็อาจจะช่วยความทรามของตัวละครได้ ถ้าท่านไปดูในวิหารพระพุทธชินราชที่เมืองพิษณุโลก ท่านจะเห็นกำแพงด้านหลังเป็นสีดำเขียนลายเบา ๆ เป็นฉากหลัง ซึ่งส่งองค์พระพุทธรูปให้เด่นที่สุด แต่ถ้าท่านไปดูในวัดพระแก้ว ท่านจะไม่เห็นเลยว่า พระแก้วมรกฏเป็นพระพุทธรูปงามนัก แต่ท่านไม่เห็น แลที่เป็นดังนี้ก็เพราะความตบแต่งมีรอบองค์พระ จนห่อหุ้มความงามของพระพุทธรูปเสียหมด
ดังนี้ ความเห็นของพวกที่ชอบโรงละครอย่างเก่าจึงว่า ถ้าจะดูละครไทยดี ต้องดูในโรงหรือเวทีเกลี้ยง ๆ ไม่ต้องมีฉากเป็นเครื่องช่วยตัวละครเลย
ย้อนไปกล่าวถึงบทละครของเช๊กสเปียร์ในภาพยนต์เรื่องหลังที่สุดที่ผู้เขียนได้ดู ก็คือเรื่อง “ โรเมียวแอนด์ยูเลียต” ซึ่งฉายที่เฉลิมกรุงเมื่อเร็ว ๆ นี้
บทละครของเช๊คสเปียร์เรื่องนี้ เป็นบทซึ่งนับถือกันทั่วโลก แต่เมื่อจะเอาไปใช้เป็นเรื่องภาพยนต์ ก็ต้องหั่นเป็นชิ้นเป็นท่อนเสียก่อน แล้วจึงเอาชิ้นบางชิ้นไปติดต่อกันใหม่ ชิ้นที่ถูกลงตะกร้านั้นมากกว่าครึ่ง ส่วนชิ้นที่ยังเหลือก็มิใช่จะเป็นประธานของเรื่อง มักมีสิ่งอื่น ๆ ซึ่งเช๊กสเปียร์ ไม่เห็นเติมเข้ามามากมาย จนชิ้นของเช๊กสเปียร์กลับเป็นเครื่องประกอบสิ่งอื่น ๆ ที่เรียกว่าสิ่งอื่น ๆ นี้ คือรูปภาพคน ภาพท้องที่แลตึกราม ภาพหนังสือสำคัญ ตลอดจนถึงแผนที่เป็นต้น เมื่อต้องทำเช่นนี้แล้ว เครื่องประกอบซึ่งกลายเป็นประธานเหล่านั้นก็ท่วมเช๊กสเปียร์หมด เป็นต้นว่าแห่พวกแซ่แคปูเล็ตแลแห่พวกแซ่มอนตะกิว การเต้นรำอย่างใหญ่แลงดงามที่สุด การต่อสู้กันด้วยดาบอย่างรุนแรง การวิ่งไล่ไตบอลต์ตามถนนในเมืองเวอโรนา แลโรงนครโสภิณีซึ่งมีร่ำไป เหล่านี้เป็นเครื่องประกอบ ซึ่งท่วมถ้อยคำของเช๊กส์เปียร์เสียมาก ครั้นเมื่อดูเสร็จแล้ว จึงรู้สึกว่าบทของเช๊กสเปียร์หลุดไปกว่าครึ่ง
บทละครของเช๊คสเปียร์ (แลเรื่องนี้โดยเฉพาะ) เป็นมาลัยร้อยกรองด้วยถ้อยคำอันเป็นเพลงติดต่อกันตลอดทั้งพวงยาว ถ้าตัดให้กระท่อนกระแท่น จนถึงครุลหุแลสัมผัสคำก็บกพร่องไปไซร้ ถ้าจะแลดูตามแง่ความไพเราะของดนตรีแห่งถ้อยคำ ก็ย่อมจะเสียไปหมด แต่เราก็จะต้องรำลึกว่า ผู้ทำภาพยนต์มีหน้าที่จะทำรูปภาพ ไม่มีหน้าที่ในเรื่องวรรณคดี ซึ่งสูงพ้นหัวคนดูโดยมาก เขาจำต้องคิดเอาความสำเร็จของรูปภาพเป็นใหญ่ สิ่งใดจะกีดความสำเร็จของรูปภาพ หรือจะทำให้ยากเกินไปก็ดี เขาก็จำต้องบ่ายเบี่ยงให้สำเร็จความมุ่งหมายของเขา
แต่การเล่นละครนั้นคนละอย่าง เวทีละครในสมัยเช๊คสเปียร์ไม่มีฉากประณีตอันเป็นภาพงามในตัวของมันเอง ดังในสมัยนี้ ในตอนใดที่เช๊กสเปียร์ต้องการให้ผู้ดูละครนึกเห็นฉาก แกก็แต่งกลอนของแกอย่างวิจิตรบรรจงให้นึกเห็นไปเอง นี้เป็นศิลปสำคัญในการแต่งหนังสือ ถ้าจะพูดอีกทางหนึ่งก็คือฉากซึ่งเดี๋ยวนี้เขียนด้วยสีนั้น เช๊กสเปียร์เขียนด้วยถ้อยคำเป็นกาพย์กลอนไว้เสร็จแล้ว และการเพิ่มฉากประดิษฐ์ประดอย ซึ่งเช๊กสเปียร์คิดว่าไม่ต้องการนั้น หาเป็นยุติธรรมแก่ศิลปของแกไม่
การเล่นละครไทย มีคนดูไม่น้อยที่เคยดูละครอย่างเก่า ไม่นิยมการใช้เวทีมีฉากซึ่งต้องประดิษฐ์มาก พวกนั้นไม่ต้องการไปมัวดูฉาก เมื่อการจะดูตัวละคร แต่ก็ยอมรับรองว่า ถ้าตัวละครยังไม่ดี ก็ต้องช่วยด้วยฉากไปก่อน
อนึ่ง คนดูหลายสิบเปอร์เซ็นต์ยังดูละครไม่เป็น ถ้าเห็นฉากน้อย ก็จะนึกว่าละครเลวดอกกระมัง