ท่านเสือ

รัฐบุรุษสำคัญของฝรั่งเศสคนหนึ่งในสมัยมหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๑) คือ Clemenceao เป็นชื่อซึ่งในที่นี้เขียนเป็นหนังสือไทยตามที่ออกเสียงได้ง่ายหน่อยว่าเคฺลมังโซ เกิดใน ค.ศ. ๑๘๔๑ ตาย ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ เมื่ออายุได้ ๘๘ ปี

ท่านผู้นั้นได้เรียนสำเร็จวิชาแพทย์ก่อน แต่ใส่ใจการเมืองมาตั้งแต่รัชกาลนะโปเลียนที่ ๓ จึงต้องหลบไปอยู่อเมริกา หากินเป็นครูแลเป็นนักหนังสือพิมพ์อยู่ที่นั่น แต่เมื่อเกือบ ๗๐ ปีมาแล้ว (ทรงเรื่องนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑) ได้กลับมาประเทศฝรั่งเศส แลมีส่วนในการโค่นตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินลงได้ แล้วได้เป็นนายกเทศบาลแห่งท้องที่ในปารีส วาศนาในราชการได้ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่เรื่อย เวลาอับวาศนาก็ตกไปจากตำแหน่ง เวลาดีก็ได้เป็นถึงเสนาบดีมหาดไทยแลเป็นอัครเสนาบดีในตอนก่อนมหาสงคราม ๕-๖ ปี เป็นผู้ถือว่าเยอรมันเป็นประเทศศัตรู แลร่ำร้องอยู่เสมอจะให้ฝรั่งเศสเตรียมทัพไว้ให้แข็งแรงพอที่จะสู้เยอรมันได้ ในระหว่างที่เป็นอัครเสนาบดีอยู่ในตอนนั้น ได้ดำเนินการให้ฝรั่งเศสมีไมตรีดีต่ออังกฤษ

ก่อนเกิดมหาสงคราม เคฺลมังโซเกิดขัดใจกับชมรมโซเชียลิสม์ จนเลยต้องออกจากราชการ เมื่อออกแล้วก็เขียนหนังสือพิมพ์ตามคลองความเห็นของตนในข้อที่ว่าเยอรมันเป็นศัตรูใหญ่ แลเรียกร้องให้ฝรั่งเศสเตรียมกำลังทัพ เมื่อรัฐบาลไม่ทำตามก็ติเตียนอย่างก้าวร้าว จนหนังสือพิมพ์ของเคฺลมังโซซึ่งเรียกชื่อว่า “บุรุษผู้ธำรงเสรีภาพ” (L'homme Libre) ถูกเซนเซอร์ในปีที่เกิดมหาสงคราม เลยเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “บุรุษธำรงตรวน” (L'homme Enchaine) แม้เมื่อเกิดมหาสงครามแล้ว เคฺลมังโซก็เขียนบทนำติเตียนรัฐบาลอย่างรุนแรง แลแสดงความดุเดือดตะพัดไป จึงได้ชื่อว่า เสือ แต่นั้นมา

ฝรั่งเศสได้เพลี่ยงพล้ำไปมากแล้วในมหาสงคราม ท่านเสือจึงได้เป็นอัครเสนาบดี แลจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้นใหม่ เรียกกันว่า “คณะชนะสงคราม” เมื่อชนะแล้วท่านเสือก็มีส่วนในการปั้นรูปยุโรปใหม่ แลในการทำสัญญาแวร์ไซลส์

ผู้เขียนนำท่านเสือมากล่าวในที่นี้ เพราะได้อ่านหนังสือ ซึ่งชายคนหนึ่งผู้ทำงานหนังสือพิมพ์อยู่กับท่านเสือในตอนที่ออกหนังสือ “บุรุษผู้ธำรงเสรีภาพ แล “บุรุษธำรงตรวน” เขาเล่าว่า ท่านเสือเป็นผู้บัญชาการหนังสือพิมพ์อย่างแปลกประหลาดที่สุด เป็นผู้ไม่เอื้อแก่รายเลอียด ถ้าใครนำรายเลอียดไปเสนอก็โยนทิ้งเสียบ้าง เอ็ดเอาบ้าง ไม่แสดงกิริยาเย็นเลย ถ้ามีเหตุที่ต้องเสียใจหรือสลดใจ ก็ไม่ปล่อยให้ความเสียใจหรือสลดใจนั้นเป็นหมอกคลุมความคิดได้ คนที่เป็นเพื่อนรักกันมาตั้ง ๔๐ ปี ถ้าเกิดหมองใจกันขึ้น ก็สลัดเสียแลไม่คำนึงถึงต่อไปอีก เมื่อเลขานุการซึ่งทำงานมาด้วยตั้ง ๒๐ ปี ต้องการจะลาออกแลเข้าไปลา ก็ตอบว่า “กู๊ดบัย” คำเดียวอย่างไม่มีเยื่อใยเลย

เขาว่า ท่านเสือเป็นผู้บัญชาการหนังสือพิมพ์อย่างที่ไม่เคยได้ยินที่ไหน หนังสือพิมพ์จะเป็นอย่างไร รายได้มากหรือน้อย อยู่ได้อย่างไร มีทรัพย์สินสักเท่าไรก็ไม่รู้ ใครเป็นบรรณาธิการประจำแผนกบ้าง ก็ไม่รู้ชื่อ แต่ไม่รู้จักตัวทั้งนั้น

ผู้เล่าเขาเล่าว่า ตัวเขาเองทำงานอยู่ในห้องต่อกับท่านเสือ ไม่เคยรู้จักกันเลย แต่เขาทำงานอยู่กับตัวรอง ซึ่งเป็นผู้จัดทำหนังสือพิมพ์ที่ออกไปทุก ๆ วัน วันหนึ่งนายรองบอกแก่เขาว่า “พรุ่งนี้ฉันจะออก ท่านต้องรับหน้าที่เป็นผู้ทำหนังสือพิมพ์ต่อไป”

เขาบอกแก่นายรองว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านก็ต้องนำฉันเข้าไปให้ท่านผู้เฒ่ารู้จักเสียก่อน”

นายรองตอบว่า “ทำอย่างนั้นไม่ได้ ท่านผู้เฒ่าเกลียดการแนะนำนัก วันรุ่งขึ้นเมื่อท่านแง้มประตูเรียกชื่อฉัน ท่านก็จงเข้าไปแทนเถิด”

วันรุ่งขึ้นเมื่อท่านเสือเรียกนายรอง เขาก็เข้าไปแทน ท่านเสือพูดเหมือนกับคนคุ้นเคยกันมาตลอดชีวิต

“นี่ท่านเริ่มไว้หนวดหรือ”

“มิได้ขอรับ ผมเป็นคนอื่น”

“ถูกแล้ว ท่านเป็นคนอื่น”

ท่านเสือมิได้พูดถึงเรื่องเปลี่ยนตัวสักคำเดียว หยิบกระดาษที่เขียนไว้สำหรับลงพิมพ์ ส่งให้นายรองคนใหม่ แลยอมให้ถามปัญหาที่ยังไม่เข้าใจบ้าง เสร็จแล้วเขาก็รับหนังสือไป

ท่านเสือไม่จดบันทึก หรือเก็บสมุดบันทึกเลย หนังสือพิมพ์จะมีเรื่องอะไรบ้าง ท่านเสือก็ไม่ใส่ใจ สำคัญอยู่เพียงว่า หน้าบทนำที่ท่านเขียนเองนั้นต้องพิมพ์เรียบร้อยเสมอ ถ้าหน้าของท่านถูกใจท่านแล้ว หน้าอื่น ๆ จะเป็นอย่างไรก็ช่าง บรรณาธิการผู้รวมเรื่องรู้จักใจท่านเสือ จึงไม่ค่อยจะยอมเสียเวลาหาเรื่องที่จะกลมเกลียวกับหน้าของท่านเสือได้ การกำหนดว่าจะเอาเรื่องอะไรลงต่อท่านเสือนั้น ปล่อยไว้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าคนพิมพ์ จึงเกิดมีต่อว่ากันร่ำไป

ครั้งหนึ่งเมื่อเรื่องสำคัญของคนสำคัญ ซึ่งควรจะพิมพ์ในวันนั้นไม่ได้พิมพ์ ครั้นเจ้าของไปต่อว่าท่านเสือ ท่านเสือก็ดุแหว เรียกตัวรองไปสั่งให้ไล่เจ้าหน้าที่ผู้บกพร่อง ครั้นไล่ออกไปคนหนึ่ง ไม่ช้าก็สั่งให้ไล่คนอื่นอีก แต่การที่จะหาคนเข้าทำงานใหม่ ๆ นั้นไม่ใช่ของง่าย เพราะไม่ค่อยมีใครอยากทำงานกับท่านเสือ ในที่สุดตัวรองจึงคิดอุบายให้เจ้าหน้าที่ทุกคนเซ็นนามปากกาไว้ทุกแห่งที่ตนรับผิดชอบ ถ้าเกิดเรื่องจนถึงท่านเสือสั่งให้ไล่ ก็เปลี่ยนนามปากกาเสียใหม่

ท่านเสือยอมรับแขกเสมอ ใครจะไปหาก็ไปได้ เพราะถือเป็นคติว่า ในสำนักหนังสือพิมพ์ ใครจะไปพูดจาแสดงความเห็นว่ากระไรอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น

ท่านเสืออยู่ในสำนักงานหนังสือพิมพ์จน ๘ นาฬิกา พอ ๘ นาฬิกาท่านก็ผิวปากเรียกสุนัข แล้วลุกจากโต๊ะกลับบ้าน เวลา ๒ นาฬิกา (เช้า) เมื่อหนังสือพิมพ์ขึ้นแท่นเสร็จแล้ว ตัวรองก็ส่งรายงานย่อให้คนสนิทนำไปเสนอต่อท่านเสือว่า ในวันนั้นมีข่าวอะไรบ้าง รายงานย่อนั้นเขาย่องเข้าไปสอดไว้ใต้หมอนท่านเสือ ท่านเสือตื่น ๕ นาฬิกา อ่านรายงานแล้วก็เขียนบทนำทันที ครั้นถึงเวลา คนสนิทก็ไปรับบทนำไปส่งให้เรียงพิมพ์ ตอนบ่ายส่งปรู๊ฟไปให้ท่านดู ท่านไม่ค่อยแก้อะไรนอกจากถ้อยคำแห่งสองแห่ง ความดุของท่านในเวลาเช้ามีอย่างไร ในเวลาบ่ายก็ยังมีอยู่อย่างนั้น

นี่เป็นวิธีบัญชาการหนังสือพิมพ์อย่างแปลกประหลาดของท่านเสือ ซึ่งภายหลังเป็นรัฐบุรุษมหาศาลคนหนึ่งในพวก ๔ คน ซึ่งปั้นรูปยุโรป (แลโลก) ใหม่ ในสมัยต่อมหาสงคราม

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ