ส่องกระจก

ถ้าเราอยากจะเห็นหน้าของเราเอง เราต้องส่องกระจก ร่างกายส่วนอื่นเราเห็นได้บ้าง แต่ไม่เห็นพร้อมกันทั้งกาย ถ้าจะเห็นพร้อมกันหมดก็ต้องส่องกระจกเหมือนกัน

กระจกที่เราส่องนั้น เราต้องเลือกกระจกเที่ยง เราจึงจะเห็นรูปหน้าแลกายของเราดังที่เป็นจริง ถ้ากระจกไม่เที่ยง หน้าเราดี ๆ เห็นเป็นบู้บี้ไปก็ได้

การส่องกระจกเช่นนี้ ส่องได้แต่คนหรือของเล็ก ถ้าเป็นประเทศบ้านเมือง ก็ไม่มีกระจกใหญ่พอที่จะส่องได้ แลอันที่จริงที่พูดถึงส่องกระจกนี้ ก็พูดเป็นคำเปรียบเทียบเท่านั้นเอง ความหมายก็คือว่า เราจะเห็นหรือรู้สึกตัวเราเองว่าดีอยู่แล้วหรือว่าไม่ดีก็ตาม แต่ผู้อื่นอาจเห็นเราคนละอย่างกับที่เราเห็น เหตุฉนี้ถ้าคนอื่นเขาพูดถึงเราเป็นกลาง ๆ ปราศจากอคติ เราฟังเขาพูดไว้บ้าง ก็เปรียบเหมือนส่องกระจก ถ้ากระจกไม่เที่ยง เราก็รู้ได้ว่าไม่เที่ยง แต่ถ้าเป็นกระจกเที่ยง เราก็อาจได้คติจากความบางข้อที่กระจกส่องให้เห็น

นักเขียนอเมริกันคนหนึ่งชื่อ วิลเลียม เฮ็นรี เชมเบอร์ลิน เป็นคนเคยไปอยู่รัซเซียประมาณ ๑๒ ปี แล้วมาอยู่ญี่ปุ่นอีกหลายปี ได้เป็นผู้สังเกตของหนังสือพิมพ์อเมริกันชื่อ “คริศเตียนไซเอ็นซ์โมนิตอร์” แลบัดนี้ได้แต่งหนังสือว่าด้วยญี่ปุ่นเล่มหนึ่ง ซึ่งพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐ หนังสือเล่มนั้นว่าด้วยเรื่องญี่ปุ่นก็จริงอยู่ แต่ญี่ปุ่นมีเกี่ยวกับสยาม เขาได้มาสยามประมาณปีหนึ่ง ก่อนที่สมุดของเขาพิมพ์ออกมา จึงมีกล่าวถึงสยามในสมุดนั้นด้วย

ในที่นี้นำเอาใจความที่เขากล่าวถึงสยามมาเล่าเพื่อส่องกระจก กระจกจะเป็นกระจกเที่ยงหรือไม่เที่ยง ผู้อ่านของเราย่อมจะตัดสินได้เอง ที่นำมาเล่าในที่นี้ ก็เป็นแต่เพียงนำคันฉ่องบานหนึ่งมาตั้งให้ดูเท่านั้น

เขากล่าวว่า สยามเป็นประเทศมีอิสระบริบูรณ์อยู่ประเทศเดียวในภาคตวันออกเฉียงใต้แห่งทวีปเอเซีย จึงเป็นท้องที่ซึ่งชาวประเทศอื่น ๆ ย่อมจะแข่งแลเกียดกันกันเสมอมา

อังกฤษได้ขุดคูตั้งมั่นอยู่ในสยามในทางเศรษฐกิจมานานแล้ว สยามติดต่อกับอาณาเขตอังกฤษ ๓ ด้าน คือติดต่อกับมาลายาทางด้านใต้ แลติดต่อกับพม่าทางด้านทวันตกแลตวันตกเฉียงเหนือ ที่ปรึกษาราชการคลังของรัฐบาลสยามเป็นคนอังกฤษ บริษัทอังกฤษค้าขาย มีส่วนสำคัญในสินค้า เช่น ยางรับเบอร์ ดีบุก แลไม้สัก เป็นต้น

ใน ๕-๖ ปีนี้ เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองโดยแทบจะไม่มีเลือดตกเลย แลต่อมาพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนได้ทรงลาออกจากราชสมบัติแล้ว ก็ได้ตั้งการปกครองเป็นแบบบงการของคณะราษฎร์ อันเป็นรูปการเมืองอย่างใหม่ ในคณะนั้นนายทหารบกแลทหารเรือชั้นหนุ่มมีส่วนสำคัญ แลญี่ปุ่นก็เริ่มจะแย่งตำแหน่งของอังกฤษในสยาม คำโจทย์ซึ่งน่าตื่นที่สุดก็คือว่า ญี่ปุ่นจะให้ทุนแลความชำนาญเพื่อจะขุดคลองกระ แต่ว่าโจทย์นี้ไม่เห็นมีอะไรเป็นพยานหลักฐาน

แต่ถ้าเกิดมีคลองเช่นที่โจทย์นั้นขึ้นไซร้ การรักษาสิงคโปร์ก็จะลำบากนัก สมดังคำที่นายทหารอังกฤษคนหนึ่งชื่อ กับต้นคันนิงแฮมรีด ได้กล่าวในปาลิเม็นต์อังกฤษว่า “ถ้ามีประตูหลังซึ่งทัพเรือใหญ่จะเดินลัดสิงคโปร์ได้เช่นที่ว่า ก็จะมีผลลึกซึ้งในทางยุทธศาสตร์”

ในทางเศรษฐกิจ คลองกระจะเป็นเครื่องเสื่อมประโยชน์ของสิงคโปร์เป็นอันมาก เพราะทางเดินทเลที่จะไปเมืองจีนจะสั้นเข้าถึง ๖๐๐ ไมล์ แลกรุงเทพกับไซ่ง่อนจะได้ประโยชน์ ซึ่งสิงคโปร์จะเสีย ตามความจริง ความคิดเรื่องคลองกระนี้จะได้พูดจากันเป็นความลับสักเพียงไหน เขาว่าไม่มีทางจะทราบได้ ทราบแต่ว่าการก่อสร้างแลขุดคลองเช่นว่านี้ ยังไม่ได้ลงมือเลย เขาว่าเมื่อเขามากรุงเทพ เขาได้สืบถาม ก็ได้ฟังคำปฏิเสธรอบข้าง ผู้ปฏิเสธรวมทั้งรัฐมนตรีการต่างประเทศของสยาม แลราชทูตญี่ปุ่นในกรุงเทพด้วย

เขากล่าวต่อไปถึงเรื่องอื่นว่า สินค้าที่ญี่ปุ่นส่งมาสยามได้ขึ้นไปอย่างรวดเร็ว ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ สินค้าญี่ปุ่นเข้าสยามเพียง ๘ ล้านเหรียญญี่ปุ่น ครั้นปี ๑๙๓๖ ขึ้นไปถึง ๔๓ ล้านเหรียญญี่ปุ่น นักเรียนทหารเรือไทยได้ไปเรียนในประเทศญี่ปุ่น แลรัฐบาลสยามได้สั่งเรือรบขนาดเล็กจากญี่ปุ่น แต่แบ่งสั่งจากอิตาลีบ้าง เมื่อญี่ปุ่นขัดใจกันขึ้นกับสันนิบาตชาติในเรื่องเม่งจูก๊ก ประเทศทั้งหลายในสันนิบาตชาติลงคะแนนตำหนิญี่ปุ่นหมด เว้นแต่สยามประเทศเดียว

เขาว่าญี่ปุ่นผู้ชำนาญการฝ้ายคนหนึ่งชื่อศาสตราจารย์มิฮารา ได้มารับราชการอยู่ในกระทรวงธรรมการ เป็นผู้พยายามเลือกหาท้องที่ในสยาม ซึ่งจะปลูกฝ้ายให้เป็นพักเป็นผลได้ ถ้าสยามปลูกฝ้ายสำเร็จ ญี่ปุ่นก็จะได้ฝ้ายเป็นสินค้าดิบจากสยามอีกแห่งหนึ่ง แต่ส่วนสยามนั้น เวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) การค้าขายระหว่างประเทศเสียเปรียบญี่ปุ่นอยู่เหลือล้น ถ้าสยามมีฝ้ายขายให้ญี่ปุ่นมาก ๆ การเสียเปรียบนี้ก็จะหย่อนลง

เขาว่าตามที่กล่าวข้างบนนี้ เป็นทางที่ญี่ปุ่นก้าวเขยิบเข้ามาในสยาม แต่เขาว่า ทางที่สยามป้องกันญี่ปุ่นไว้มิให้เข้ามาครอบงำได้เต็มที่ ก็ปรากฏหลายทางเหมือนกัน เป็นต้นว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ สองประเทศได้ทำหนังสือสัญญาค้าขายกันใหม่ ดำเนินหลักซึ่งทำให้ประโยชน์ของญี่ปุ่นเสื่อมลงไปกว่าแต่ก่อน แลสยามได้เข้าเดินร่วมทางกับอังกฤษ ในเรื่องจำกัดโควตายางรับเบอร์กับดีบุก

อนึ่ง เจ้าของทุนญี่ปุ่นได้ขออนุญาตจะสร้างโรงทำน้ำตาลในสยาม แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต ญี่ปุ่นปรารถนาจะจัดเรือบินให้เดินสยามกับญี่ปุ่น แต่รัฐบาลสยามก็ทำนิ่ง ๆ ไว้ก่อน

สิ่งน่าสังเกตมีเป็นข้อสำคัญข้อหนึ่งว่า ทุนของญี่ปุ่นไม่มีมาลงไว้ในสยาม

สยามในวันนี้ปรากฏแก่ชาวต่างประเทศว่าแข็งขันในการนิยมชาติแลประเทศของตน ความรู้สึกชนิดนี้รัฐบาลระบอบใหม่ส่งเสริมให้เกิดมากขึ้น เขาว่าเมื่อเขามากรุงเทพ เขาได้ถามล่ามผู้พาเขาเที่ยวดูที่ต่าง ๆ ว่า เหตุไรสยามจึงจ่ายเงินเป็นอันมากในการจัดหาเครื่องบิน เรือรบ แลเครื่องมือสงคราม ล่ามตอบว่า “ท่านจงดูอบิซซิเนียเถิด เราต้องเตรียมตัวไว้ไม่ให้ใครมาจู่โจมเราได้”

เขากล่าวในที่สุดว่า เมื่อน้ำใจชาวสยามมีอยู่เช่นนี้ ก็ยอมไม่ชอบฟังใครกล่าวว่า อังกฤษหรือชนต่างประเทศอื่นเป็นผู้นำสยาม ในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๔๘๑) ที่ปรึกษาที่เป็นชาวต่างประเทศ ก็เหลือน้อยตัวอยู่แล้ว แต่ต่อไปข้างหน้าคงจะมีน้อยลงไปอีก แลการค้าขายนั้นก็คงจะพยายามทำเองมากขึ้น เขาว่าการนิยมตนเองของชาวสยาม คงจะไม่ทำให้คิดเปลี่ยนจากการพึ่งพาอาศัยฝรั่งไปเป็นพึ่งพาอาศัยญี่ปุ่น เพราะสยามต้องการจะอาศัยตัวเอง สยามอาจเต็มใจรับช่วยทางเต็คนิคจากญี่ปุ่นก็เป็นได้ แต่คงจะไม่ทอดตัวลงไปเป็นผู้หลับตาเดินตามญี่ปุ่น

ข้างบนนี้เป็นคันฉ่องบานหนึ่ง ซึ่งกระจกจะเที่ยงหรือไม่ ผู้อ่านของเราก็อาจพิเคราะห์ได้เอง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ