นานาภาษิต

“สมัยสงครามไม่มีเลือด” นี้เป็นคำ มร. วินสตัน เชอรชิล กล่าวเมื่อวานซืนนี้ (ทรงเรื่องนี้ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑)

มร. วินสตัน เชอรชิล พูดถึงความเป็นไปในโลก ซึ่งเป็นเวลาที่ขันแข่งกันในการเตรียมรบ

เราสำเนียกความมุ่งหมายทั้ง ๒ ฝ่าย ก็ดูเหมือนฝ่ายหนึ่งเตรียมทหาร แลสะสมอาวุธไว้ให้เหลือล้น แม้จะทรุดโซมลงไปในทางเศรษฐกิจก็ยอมเพื่อจะเรียกร้องเอาดินแดนหรือผลประโยชน์อย่างอื่นๆ ซึ่งถ้าได้ไปก็จะคุ้มค่าเตรียมกำลัง ซึ่งได้ลงทุนไปแล้วเป็นอันมาก อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายมีดินแดนหรือผลประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งกลัวจะถูกแย่ง จึงตระเตรียมกำลังพลแลสะสมอาวุธ เพื่อจะต่อต้านรักษาดินแดนแลผลประโยชน์ของตน การเตรียมของฝ่ายนั้นต้องพยายามให้ขึ้นหน้าฝ่ายโน้นไว้ ฝ่ายมีทรัพย์น้อยขึ้นหน้าไปเพราะขึ้นต้นก่อน แต่อีกฝ่ายหนึ่งถ้ามีเวลาก็อาจไล่ทัน เพราะกำลังทรัพย์มีมากกว่ากันมาก

การเตรียมกำลังทัพเช่นนี้ ยิ่งเตรียมหนักเข้า ก็ยิ่งใกล้สงครามเข้าไป ฝ่ายหนึ่งเมื่อเตรียมจนสุดกำลังเงิน แลกำลังเศรษฐกิจแล้ว ถ้าไม่ได้ใช้อาวุธนั้น ๆ ไม่ช้ามันก็จะเป็นของปรัมปรา สู้ของใหม่ไม่ได้ ทุนที่ลงไปก็จะเปลืองเปล่า ไม่มีอันใดมาตอบแทน แลจะหาใหม่ก็ยาก อีกฝ่ายหนึ่งการตระเตรียมเช่นว่านี้ ต้องทวีขึ้นไปตามส่วน ซึ่งฝ่ายโน้นเตรียม แต่ใคร ๆ ก็กล่าวทั่วกันหมดว่า การที่ทำทั้งหมดนี้ ก็เพื่อรักษาความสงบเท่านั้นเอง

ภาษิตที่มีความว่า เตรียมรบเพื่อรักษาความสงบนั้น เป็นภาษิตเก่าในภาษาลติน (Si vis pacem para bellum) มีคำกล่าวว่า หลอดเบคอนสฟีลด์ ได้ใช้ภาษิตนี้รักษาความสงบไว้ได้

แต่ธรรมดาภาษิต ย่อมมีเวลาฟูแลเวลาฟุบ ภาษิตบางคำยกขึ้นอ้างกันมากในบางคราว แต่บางคราวก็แทบจะลืมกันไปหมด

“ความสงบนำมาซึ่งเงิน เงินนำมาซึ่งสงคราม” นี้เป็นภาษิตฝรั่งเศส คำว่าเงินในภาษาฝรั่งเศสบทนี้ ถ้ายืดความออกไปเป็นเมืองขึ้นแลผลประโยชน์ทั้งหลายที่ได้จากเมืองขึ้นก็ควรเห็นว่า ภาษิตนี้เหมาะแก่ความเป็นไปของโลกปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๔๘๑)

“สิ่งใดศูนย์ไปในสงคราม ความชนะไม่ทำให้กลับคืนมาได้” นี้เป็นภาษิตเยอรมัน

ข้อที่ว่าถ้าทำสงครามกันขึ้นแล้ว ถ้าไม่มีใครได้อะไรสมกับที่เสียไป หรือว่าคู่สงครามยอมแพ้ทั้ง ๒ ฝ่ายนั้น เป็นข้อที่รับรองกันทั่วไปในปัจจุบัน แต่ภาษิตเยอรมันข้างบนนี้ในหมู่นี้ (กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑) ชักจะฟุบ ไม่ค่อยมีใครอ้างถึง

“จะทำศึกกับโลกก็ตามที แต่จงรักษาความสงบกับอังกฤษ” นี้เป็นภาษาอิตาเลียน

เวลานี้ (กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑) อังกฤษกับอิตาลีก็มีสัญญาไมตรีกันใหม่ ๆ แลเมื่อเร็ว ๆ นี้ มร. เชมเบอเลน (นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนหนึ่ง) ก็ได้ไปหา ซร. มุซโซลินี ที่กรุงโรม ถึงจะปรากฏว่าไม่ได้อะไรหนักหนา ก็ยังนับว่าไม่เกิดอะไรขึ้นใหม่เฉพาะอังกฤษกับอิตาลีโดยตรง

แต่อิตาลีกำลังขัดใจกับฝรั่งเศส เพราะอยากได้เมืองขึ้น ฝรั่งเศสกับอังกฤษเกี่ยวพันกันแน่นหนา แม้มิได้ทำหนังสือสัญญาสหายศึกกันไว้ คำพูดของอัครเสนาบดีทั้ง ๒ ประเทศซึ่งย้ำอยู่ร่ำไปว่าจะกอดคอกันตาย (หรือเป็น) นั้น เป็นคำผูกพันเหนียวแน่นยิ่งไปกว่าหนังสือสัญญา

“บุคคลผู้มีที่ดิน ย่อมมีเรื่องวิวาท”

“ผู้ใดไม่ยอมสงบ พระเจ้าย่อมประทานสงครามแก่ผู้นั้น”

“สงครามอันยุติธรรม ย่อมประเสริฐกว่า ความสงบอันไม่ยุติธรรม”

สามบทข้างบนนี้เป็นภาษาอังกฤษ บทที่ว่าผู้ที่มีที่ดินมาก ย่อมมีเรื่องที่ต้องวิวาทนั้น ก็ทำนองเดียวกับภาษิตฝรั่งเศสที่กล่าวไว้ข้างบน อังกฤษกับฝรั่งเศสเป็นผู้มีดินแดนมาก ถ้าพูดตามภาษิตบทนี้ ก็มีเหตุที่จะต้องวิวาทมาก

ส่วนบทที่ว่า สงครามอันยุติธรรมย่อมประเสริฐกว่าความสงบอันไม่ยุติธรรมนั้น ถ้าผู้ไม่มีดินแดนกล่าวว่า การทำศึกเพื่อจะแบ่งดินแดนให้งดงามตามส่วน ย่อมเป็นสงครามยุติธรรม ก็เห็นจะได้ดอกกระมัง

ภาษิตบทที่ว่า พระเจ้าประทานสงครามแก่ผู้ไม่ยอมสงบนั้น หาอ้างยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรมของสงครามไม่

สิ่งเดียวที่เราต้องกลัวก็คือความกลัว” นี้เป็นคำกล่าวของเปรสิเดนต์โรซเว็ลต์ เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ความหมายของเปรสิเด็นต์โรซเว็ลต์ คือว่าถ้ามัวกลัว เอาตัวไม่รอด

ในเวลานี้ (กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑) เปรสิเด็นต์โรซเว็ลต์ไม่กลัวความกลัว จึงแสดงคำคัดง้างระบอบจอมบงการอย่างแข็งขัน ในคำชี้แจงที่กล่าวแก่สภาอเมริกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ เปรสิเดนต์โรซเว็ลต์กล่าวว่า

“สงครามซึ่งจะเป็นไฟไหม้ทั่วโลกนั้นได้ระงับไปได้ แต่ตั้งแต่นั้นมา ก็ยิ่งเห็นกระจ่างขึ้นทุกทีว่า ความสงบนั้นไว้ใจว่า จะมีต่อไปยังไม่ได้ รอบตัวเราในเวลานี้ (กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑) มีสงครามซึ่งไม่ได้ประกาศ เป็นสงครามทั้งยุทธการแลเศรษฐการ รอบตัวเรามีการสะสมอาวุธอย่างร้ายกาจ ทั้งทางยุทธการแลเศรษฐการ รอบตัวเรามีการขู่ว่าจะบุกรุกกันหนักขึ้นอีก ทั้งยุทธการแลเศรษฐการ”

“โลกเดี๋ยวนี้เล็กลงไป แลอาวุธที่จะใช้ในการบุกรุกนั้น ใช้ได้รวดเร็วจนถึงแก่ว่า ถ้ามีชาติองอาจอยู่ชาติเดียวที่จะไม่ยอมตกลงกัน โดยความปรึกษาหารือไซร้ ชาติไหนมีใจรักความสงบสักเพียงใด ก็ไม่สามารถอยู่ปราศภัยได้”

“เราได้เรียนรู้แล้วว่า ถ้าประเทศใดลงมือสะสมอาวุธ ต่อเมื่อศัตรูได้เริ่มบุกรุกเสียแล้ว ประเทศนั้นก็ไม่มีโอกาสจะรอดได้”

“ถ้าประเทศที่มีระบอบการปกครองชนิดอื่นร่วมใจกันเข้าบุกรุกประเทศประชาธิปัตย์ ประเทศประชาธิปัตย์ก็ต้องตั้งใจร่วมกันต่อต้าน ประชาธิปัตย์เช่นที่ว่านี้ อาจตั้งมั่นอยู่ได้ใน ส.ป.ร. แลจำต้องอยู่ให้จนได้”

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ