รัฐแฟรงก์

วันอาทิตย์นี้ คือวันที่ ๑๔ กรกฎาคม (พ.ศ. ๒๔๘๓) เป็นวันชาติของฝรั่งเศส หรือเคยเป็น เพราะวันที่ ๑๔ กรกฎาคม เป็นวันครบรอบ ๑๕๑ ปี จากวันซึ่งชนชาวกรุงปารีสได้พร้อมกันเข้าแหกป้อมบาสตีล คือคุกใหญ่ ปล่อยนักโทษออกมาหมด การกระทำของชาวกรุงปารีสครั้งนั้นเป็นการขบถต่อพระราชาผู้ทรงอำนาจสิทธิขาด แลต่อมาก็เปลี่ยนเป็นสมัยประชาธิปัตย์ในประเทศนั้น วันที่ ๑๔ กรกฎาคม จึงนับเป็นวันให้กำเนิดแก่คำขลังของฝรั่งเศส ซึ่งเราได้ยินในเวลานี้ว่าจะเลิกใช้ เพราะจะมีคำขลังเปลี่ยนใหม่

เรายังไม่ทราบว่า วันที่ ๑๔ กรกฎาคมนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๓) จะใช้เป็นวันชาติของฝรั่งเศสต่อไป หรือจะมีวันชาติมาเปลี่ยนใหม่ หรือจะกลับไปกลับมาเหมือนดังที่ระบอบริปับลิกกับระบอบตรงกันข้าม ได้หมุนเวียนเปลี่ยนผลัดกันไปตามจักรราษีแห่งระบอบการเมืองของประเทศนั้น

ที่กล่าวนี้เป็นการแสดงว่า อนิจฺจํ ไม่เที่ยงตามคติในศาสนาของเราซึ่งถูกเสมอ

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม เมื่อ ๑๕๑ ปีมาแล้ว (ทรงเรื่องนี้ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓) เป็นวันซึ่งชาวกรุงปารีสก่อการกำเริบต่อราชาธิปัตย์ของพระเจ้าหลุยที่ ๑๖ พระราชาแห่งประเทศฝรั่งเศส พระราชาพระองค์นั้น ได้มีผู้พากเพียรกันหลายทอด เพื่อจะให้ทรงดัดแปลงพระองค์ไปเป็นพระราชาผู้โน้มไปตามจรรยาของราชวงศ์เมอโรวิงเกียนหรือวงศ์แรกแห่งพระราชาในประเทศนั้น ซึ่งมีพระเจ้าชาเลมาญเป็นเด่นอยู่ เหมือนพระนเรศวรในสมัยกรุงศรีอยุธยาฉนั้น

ท้องที่ซึ่งเรียกว่าประเทศฝรั่งเศสนี้ เมื่อสมัยโบราณก่อนมีคริสตศาสนา ได้มีชนชาติหนึ่งเรียกว่า “กอล” ตั้งอยู่ พวกนั้นเดิมเป็นชาวทวีปเอเซีย ซึ่งบ่าเข้าไปในยุโรปในศตวรรษที่ ๕ แห่งคริสตศาสนา ชนชาติแฟรงก์ซึ่งเดิมอยู่ในท้องที่ซึ่งเป็นประเทศเยอรมันเดี๋ยวนี้ ได้บ่ากันเข้าไปแย่งเอาท้องที่ซึ่งเป็นประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบันนี้ได้ แลตั้งชื่อประเทศในสมัยโน้นว่า Frankenric หรือรัฐแฟรงก์ (แฟรงก์ เห็นจะคำเดียวกับที่เรานำมาใช้ว่าฝรั่ง) ราชวงศ์โบราณที่ออกชื่อมาแล้ว แลซึ่งมีพระเจ้าชาเลมาญเป็นผู้มีศักดานุภาพเยี่ยมนั้น ได้ปกครองชนในท้องที่ ซึ่งเป็นประเทศเยอรมันเดี๋ยวนี้ ถ้าชนในท้องที่ซึ่งเป็นประเทศฝรั่งเศสเดี๋ยวนี้ ให้ร่วมอยู่เป็นรัฐเดียวกันได้

ข้อที่นักพงศาวดารสมัยปัจจุบันบางคนกล่าวว่า ได้มีผู้พยายามจะให้พระเจ้าหลุยที่ ๑๖ เป็นพระราชาแบบราชวงศ์เมอโรวิงเกียนนั้น เขาหมายความเพียงว่า จะให้ทรงมีความสามารถอย่างพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์แรกของประเทศ ซึ่งทรงศักดานุภาพปกครองประชาชนได้ดี แต่เปลี่ยนแปลงไปตามสมัย ถ้าพระเจ้าหลุยที่ ๑๖ ดัดแปลงพระองค์ไปได้สำเร็จในตอนนั้น ก็จะต้องทรงปฏิบัติพระองค์เป็น “นักประชาธิปัตย์ทรงมงกุฎ” นัยหนึ่งพระราชาผู้มีพระทัยโน้มน้าวเห็นชอบไปในทางประชาธิปัตย์ แต่หากทรงรักษาตำแหน่งพระราชาไว้เพื่อจะได้เป็นผู้ชี้แลผู้นำประชาชนของพระองค์ไปตามคติประชาธิปัตย์ แต่ทรงอำนวยให้พวกใจเร็วแลเลือดร้อน ทำหุนหันพลันแล่นจนเกิดเหตุจลาจลเลือดนองไปทั้งประเทศ เหมือนดังฝรั่งเศสในสมัยเมื่อประมาณ ๑๕๐ ปีมาแล้วนั้น แต่พระเจ้าหลุยที่ ๑๖ เป็นผู้มีพระทัยลังเลไม่กล้าจะตัดสินอะไรเด็ดขาดลงไป พวกที่เป็นมนตรีคือที่ปรึกษาของพระองค์ ก็ไม่ชักจูงพระราชาให้ตกกระไดพลอยโจนทันท่วงที ไม่หย่อนหรือเหนี่ยวอำนาจพระราชาไว้ให้ถูกต้องตามจังหวะ เพื่อประโยชน์แห่งราชบัลลังก์ แลประชาชนทั่วไปในประเทศไม่ผ่อนปรนแต่พอดี ในคราวที่ควรผ่อนปรน หรือยืนแข็งไว้ในคราวที่ควรยืนแข็ง พูดสั้น ๆ พระราชาฝรั่งเศสพระองค์นั้น เป็นผู้เรียวปลายของพระราชวงศ์ หรือเป็นผลไม้ใกล้หล่น จึงรักษาราชบัลลังก์ไว้ไม่ได้

พูดถึงพระเจ้าชาเลมาญซึ่งออกพระนามเมื่อตะกี้ ทำให้นึกถึงคำของ ดร. ไลย์ เจ้าหน้าที่ของเยอรมันคนหนึ่ง ซึ่งพูดกระจายเสียงวิทยุอยู่บ่อย ๆ แลได้กล่าวสรรเสริญแฮร์ฮิตเล่อร์เมื่อสองสามวันนี้ว่า แฮร์ฮิตเล่อร์มีอาการว่า จะมีวาศนากว่าพระเจ้าชาเลมาญ เพราะคงจะรวมประเทศเยอรมันกับฝรั่งเศสให้รวมกันถาวรไปชั่วกัลปาวสาน คงจะไม่แยกชนชาติแฟรงก์ออกไปเป็นฝรั่งเศส แลแยกชนที่พูดภาษาเยอรมันในลุ่มแม่น้ำไรน์ แลชนสลาฟที่อยู่ต่อไปในตวันออก ออกไปเป็นประเทศเยอรมันภายหลัง นี้เป็นคำสรรเสริญบารมี ซึ่งเทียบถอยหลังไปไกลเกือบ ๑๕๐๐ ปีในพงศาวดาร จะเทียบให้คล้ายคลึงกันแท้ ก็ย่อมจะไม่ได้ แต่คำสรรเสริญของ ดร. ไลย์นั้น เมื่อได้ฟังในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม (พ.ศ. ๒๔๘๓) นี้ อันเป็นวันซึ่งชวนให้นึกถอยหลังไปถึงพระเจ้าหลุยที่ ๑๖ แลนึกไปถึงคำที่กล่าวในพงศาวดารเล่มหนึ่ง เทียบพระเจ้าหลุยที่ ๑๖ ถอยหลังไปหาพระราชวงศ์ของพระเจ้าชาเลมาญ ก็จูงให้เขียนถอยหลังไปดังที่เขียนมานี้

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ