ผสมผสาน (๓)

ในการที่หลอดบอลด์วินออกจากตำแหน่งอัครเสนาบดีครั้งนี้ (กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐) มีผู้กล่าวชอบกล แต่ผู้กล่าวจะเป็นใคร ผู้เขียนก็จำไม่ได้ เพราะเป็นแต่ได้อ่านผ่าน ๆ ไป

ผู้นั้นกล่าวว่า ต่อไปภายหน้าพงศาวดารจะขึ้นชื่อลอยด์ยอร์ช เป็นอัครเสนาบดีอังกฤษผู้ชนะมหาสงคราม ขึ้นชื่อบอลด์วิน เป็นอัครเสนาบดีอังกฤษผู้ป้องกันมิให้สงครามเกิด

ต่อนี้ไปสงครามอาจจะเกิด แลเกิดเป็นมหาสงครามก็ได้ แต่หลอดบอลด์วินก็ออกจากตำแหน่งไปแล้ว การออกจากตำแหน่งของหลอดบอลด์วิน เป็นการออกไปขึ้นสวรรค์ ไม่เหมือนอัครเสนาบดีบางคน ซึ่งออกไปแล้วไปที่อื่น

พูดถึงอัครเสนาบดี ซึ่งจะได้ชื่อว่าเป็นอัครเสนาบดีชนะสงคราม ท่านผู้นั้นเคยเล่าถึงตอนที่ท่านแรกเข้ารับตำแหน่งเสนาบดี เป็นคนหนุ่มที่สุดในคณะรัฐบาลชุดนั้น ในตอนที่มิสเตอร์ลอยด์ยอร์ชแรกเป็นเสนาบดีนั้น ไม่ค่อยรู้ความเป็นไปในราชการนอกกระทรวงของตน เป็นต้นว่า ราชการต่างประเทศ จะมีเสนาบดีรู้อยู่ก็แต่อัครเสนาบดีคน ๑ เสนาบดีการต่างประเทศคน ๑ กับเสนาบดีผู้ใหญ่สัก ๒-๓ คนเท่านั้น นอกนั้นไม่ค่อยรู้อะไรเลย

วันหนึ่ง หลอดนอฟคลีฟ (เจ้าของหนังสือพิมพ์) ได้รับเชิญไปกินอาหารเย็นที่บ้านเสนาบดีผู้ใหญ่คนหนึ่ง เพื่อจะได้แนะนำให้รู้จักกับเสนาบดีใหม่ ๆ ที่เชิญไปในคืนนั้นหลายคน หลอดนอฟคลีฟพูดออกมาตรง ๆ ทื่อ ๆ ไม่เกรงใจใครเลยว่า บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ใหญ่ ๆ ในลอนดอน รู้ความเป็นไปในราชการประเทศอื่น ๆ มากกว่าเสนาบดีทุกหน้า ไม่มีเสนาบดีคนไหนสักคนเดียวที่มีความรู้เท่าบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ใหญ่ ๆ หลอดนอฟคลีฟกล่าวว่า ทั้งนี้เป็นเพราะเสนาบดีแต่ละคนกว่าจะรู้อะไร ก็ล้วนแต่เป็นความรู้ซึ่งเขากรองด้วยกระชอนตาละเอียดแล้วส่งให้ทั้งนั้น

คำที่หลอดนอฟคลีฟกล่าวนี้ มิสเตอร์ลอยด์ยอร์ชรับรองว่าจริง แลเล่าต่อไปว่า ในเรื่องราชการต่างประเทศนั้น เสนาบดีที่รู้เรื่องแท้ ๆ ก็มีแต่เสนาบดีที่อยู่ในกรรมการป้องกันราชอาณาจักร นอกจากนี้ประมาณ ๓ ใน ๔ แห่งเสนาบดีทั้งหมด ไม่มีโอกาสจะเสนอความเห็นในเรื่องไฟที่กรุ่นอยู่ในยุโรป แลในที่สุดเกิดเป็นมหาสงครามขึ้น ในตอนนั้นเสนาบดีโดยมากไม่รู้ว่า รัฐบาลได้ไปสัญญาทางทหารไว้กับใครว่ากระไรบ้าง ถ้าใครจะกล่าวถึงฝรั่งเศส รัฐเซีย แลเยอรมันในเวลานั้น ก็เอามือป้องปากเสียก่อนจึงกล่าว ถ้าเสนาบดีชั้นหนุ่มถามอะไรตรง ๆ ออกมา ก็ได้รับตอบโดยอัธยาศัยอันดี แต่รู้สึกว่าไม่สู้จะถูกใจท่านผู้ใหญ่นัก ดูเหมือนว่าเป็นถานานุกรมชั้นสมุห์แลใบฎีกา มิใช่ว่าเจ้าอาวาสแลราชาคณะรอง ๆ ลงมา

เมื่อเสนาบดีคนใดได้รับตำแหน่งใหม่ ๆ ก็มีแผงหนังสือทำด้วยหนังลั่นกุญแจแน่นหนาส่งตามไปให้ทุกแห่ง ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน แผงหนังสือนี้ ทำให้เสนาบดีใหม่รู้สึกความสำคัญของตนเป็นอันมาก เพราะในแผงนั้นสมมติว่ามีหนังสือสำคัญที่สุด แลรายงานลับที่สุด ซึ่งได้รับจากประเทศต่าง ๆ แต่อันที่จริง หนังสือเหล่านั้นเป็นรายงานมาจากสถานทูตในประเทศใหญ่น้อย ล้วนแต่เป็นรายงานซึ่งเสมียนผู้คัดสำเนาในกระทรวงต่างประเทศ หรือผู้เรียงพิมพ์ของกระทรวงต่างประเทศก็ดี เลขานุการซึ่งรายงานเหล่านั้นผ่านมือไปก็ดี จะเป็นคนปากโป้งเอาเที่ยวเล่ากระจายไปก็จะไม่ทำให้เสื่อมไมตรีกับประเทศอื่น หรือเป็นเครื่องเสียหายแก่ประเทศของตนเลย

ส่วนรายงานที่มีข้อความสำคัญเป็นของลับจริง ๆ นั้น ราชทูตที่อยู่ประเทศอื่นเขียนเป็นจดหมายลับเฉพาะตัว ถึงเสนาบดีการต่างประเทศ แลเสนาบดีการต่างประเทศนำไปเสนออัครเสนาบดีเอง แล้วอัครเสนาบดีก็ส่งให้เสนาบดีผู้ใหญ่ รู้เพียง ๒-๓ คนเท่านั้น สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านี้ก็คือ เมื่อเจ้าหน้าที่เสนาธิการทัพบกแลทัพเรือของอังกฤษปรึกษากับเสนาธิการของฝรั่งเศสแลรัสเซียว่า ถ้าเกิดสงครามกับเยอรมันขึ้น ทัพเรือแลทัพบกของประเทศไหนจะต้องทำอะไรบ้าง ก็หารู้ถึงเสนาบดีชั้นสมุห์ใบฎีกาไม่

อังกฤษได้ทำความเข้าใจไว้กับฝรั่งเศสว่า ถ้าเกิดสงครามขึ้นกับเยอรมัน อังกฤษจะต้องช่วยฝรั่งเศส แต่มีข้อไขไว้บางอย่าง ถ้าการไม่เป็นไปตามข้อไขไซร้ อังกฤษจะช่วยหรือไม่ก็แล้วแต่จะเห็นควรในเวลาที่เกิดเหตุ ข้อที่ไปตกลงไว้กับฝรั่งเศสเช่นนี้ ทราบกันแต่เสนาบดี เจ้าหน้าที่ แลเสนาบดีรุ่นผู้ใหญ่ เสนาบดีอื่น ๆ ถูกปิดอยู่ถึง ๖ ปี เมื่อเสนาบดีการต่างประเทศแจ้งให้ทราบเป็นครั้งแรกก็ตกใจกันหมด

ที่กล่าวนี้เป็นความลับในคณะเสนาบดีอังกฤษตอนเกิดมหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๑)

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ