หนังสือพิมพ์

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คนในสำนักงานของเราเข้าไปในร้านขายหนังสือพิมพ์ร้านหนึ่ง เวลาเกือบ ๔ ทุ่ม ร้านนั้นเป็นร้านชำขนาดกลาง ๆ หนังสือพิมพ์เป็นสินค้าอย่างหนึ่งในร้านแต่ไม่ใช่สินค้าสำคัญ คงจะไม่นำมาซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ของร้าน คนของเรานับจำนวนชนิดหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีขายในร้านนั้น ซึ่งแม้ไม่ใช่ร้านใหญ่ ก็ยังมีหนังสือขายถึง ๑๖ ชนิด โดยมากเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน แลออกในกรุงเทพ

เราไม่เคยสนใจที่จะทราบว่า หนังสือพิมพ์ที่ออกทุกวัน ทุกเจ็ดวัน ทุกสิบห้าวัน ทุกเดือน แลทุกสามเดือน จะมีหมดด้วยกันกี่ราย แต่เมื่อได้เห็นจำนวนในร้านเล็กถึง ๑๖ อย่างดังนั้นก็เกิดพิศวง รุ่งขึ้นลองสืบแลนับดู ได้ความว่าหนังสือพิมพ์รายวันเวลานี้ (๒๔ พ.ค. ๒๔๗๘) ไม่นับภาษาต่างประเทศคืออังกฤษแลจีน นับแต่ภาษาไทยแท้ ๆ มีถึง ๑๕ ราย แลมีหนังสือออกเจ็ดวันสองครั้งฉบับหนึ่ง หนังสือออกเจ็ดวันครั้งห้าฉบับ นอกจากราชกิจจา นอกนั้นยังมีหนังสือที่ออกสิบห้าวันครั้ง แลเดือนละครั้งอีกเล่า

คนของเราถามเจ้าของร้านถึงการขายหนังสือพิมพ์เวลานี้ (พ.ค. พ.ศ. ๒๔๗๘) ก็ได้รับตอบเป็นความน่ารู้หลายอย่าง แต่เราไม่นำมากล่าวในที่นี้ เพราะบางข้อก็เกี่ยวกับกิจการภายในของเพื่อนหนังสือพิมพ์ ซึ่งเมื่อเจ้าของไม่กล่าว ก็ใช่วิสัยที่เราจะนำมากล่าว แต่จำนวนแห่งชนิดหนังสือที่วางขายนั้น ทำให้นึกว่า คนในเมืองเรานี้ ถ้าอยากอ่านหนังสือพิมพ์ก็มีหนังสือฟุ่มเฟือยทีเดียว

อันที่จริงไทยเราส่วนมากใน ๑๒ ล้าน (พ.ศ. ๒๔๗๘) ไม่อ่านหนังสือ โดยมากเป็นเพราะอ่านไม่ออก แม้คนที่ผ่านโรงเรียนตามกฎหมายบังคับศึกษาแล้ว จนรู้หนังสือเพียงหลักสูตรปฐมศึกษา ก็ยังรู้ไม่ค่อยพอจะเอาประโยชน์จากการอ่านหนังสือพิมพ์ได้

แต่ถึงกระนั้น เราก็ควรเชื่อได้แน่ว่า เดี๋ยวนี้ (พ.ค. พ.ศ. ๒๔๗๘) มีคนอ่านแลได้รับความรู้ความเพลินจากหนังสือมากกว่าเมื่อ ๒๕ ปีมาแล้วหลายเท่า แต่พวกเรียนใหม่ส่วนมากเป็นพวกที่ฝรั่งเรียกว่า New literate คือคนรู้หนังสือรุ่นใหม่ พวกนั้นชอบอ่านหนังสือ ซึ่งเข้าเกลียวกันได้กับความรู้ที่เรียนมา หรือความวิสาสะในพวกรุ่นเดียวกัน ไม่ยินดีในหนังสือชนิดที่นักอ่านรุ่นเก่าชอบ ซึ่งถ้าเกรงใจก็ว่าสูงเกินไป ถ้าไม่เกรงใจก็ว่าโบราณงุ่มง่าม ไม่มีรศไม่มีชาติ ที่ว่าสูงเกินไปหรือโบราณงุ่มงามนั้นกล่าวเปรียบไม่สู้ถนัด แต่ที่ว่าไม่มีรศนั้นอาจเปรียบได้ว่า ทุเรียนเป็นของมีรศดีของคนบางคน แต่บางคนก็ไม่ชอบเข้าใกล้ คนบางคน (เช่นฝรั่ง) ไม่เคยกินทุเรียนเลย แต่ครั้นกินเข้าก็ชอบ บางคนเดิมไม่ชอบแต่เมื่อหัดกินเข้ากลับชอบก็มี ทั้งนี้มิใช่เป็นด้วยทุเรียน เพราะทุเรียนก็ทุเรียนอยู่เสมอ ที่ชอบหรือไม่ชอบก็เป็นด้วยคนทั้งนั้น ที่เอาทุเรียนมาเปรียบกับหนังสือนี้ ควรกล่าวต่อไปอีกข้อหนึ่งว่า ทุเรียนอย่างดีราคาแพงก็มี อย่างเลวราคาถูกก็มี ถ้าจะหาให้ได้มาก ๆ เห็นจะหาอย่างดีได้น้อยกว่าอย่างเลว

อนึ่ง เราใคร่กล่าวว่า เนื้อสัตว์บางอย่างเสืออร่อยเมื่อกัดกินสด ๆ คนอร่อยเมื่อทำให้สุกแล้ว กาอร่อยเมื่อเน่า ถ้าจะเปรียบต่อไปว่า หนังสือได้แก่เนื้อสัตว์ ผู้อ่านได้แก่เสือ คน หรือกาไซร้ จะเปรียบว่าใครเป็นใคร ก็ต้องต่างรุ่นต่างเปรียบรุ่นอื่น ไม่มีที่สิ้นสุดลงได้ นอกจากว่ารุ่นใหม่ในอนาคต คงจะเห็นรุ่นใหม่ในปัจจุบันรุ่มร่ามอย่างเดียวกับที่รุ่นใหม่ปัจจุบันเห็นรุ่นใหม่ในอดีตนั้นเอง

แต่หนังสือพิมพ์มีหน้าที่ต่อคนอ่านด้วย มีหน้าที่ต่อตนเองด้วย หน้าที่ทั้งสองนี้ต้องปฏิบัติต่อเนื่องกัน เพราะคาบเกี่ยวกัน

หน้าที่หนังสือพิมพ์มีต่อคนอ่าน ก็คือหน้าที่ที่จะทำหนังสือของตนให้ดีที่สุดที่จะทำได้ แต่ถ้าทำหน้าที่นี้จนหนังสือดีเกินไป ก็เสียหน้าที่ซึ่งมีต่อตนเอง คือหน้าที่ที่จะขายหนังสือเอาทุนคืน หรือได้กำไรตามควร

หนังสือพิมพ์เป็นของไม่มีลมหายใจ ไม่อยู่ในสัตวโลกก็จริง แต่กล่าวโดยอุปมาว่ามีชีวิต เพราะฉนั้นมีอัชฌาสัยได้ หนังสือพิมพ์อาจเป็นสาธุชนก็ได้ อาจเกกมเหรกก็ได้ หนังสือพิมพ์ข่าวที่ตั้งตนจะให้เป็นที่นับถือของผู้อ่าน เมื่อบอกข่าวสำคัญก็มักแสดงความคิดความเห็นในเรื่องข่าวนั้นด้วย ความคิดแลความเห็นกับวิธีแสดงนั้น บอกอัชฌาสัยของหนังสือ แลบอกให้คนอ่านทราบความรู้ตื้นลึกหนาบางของหนังสือด้วย

หนังสือพิมพ์มีชีวิตอยู่ในที่เปิดเผย จะทำดีก็ตามจะทำเลวก็ตาม ต้องเปิดให้ประชุมชนเห็นความดีความเลวอยู่ทุกวัน ถ้าจะพูดที่จริง หนังสือพิมพ์มีความเป็นไปได้ ก็เพราะเปิดเผยตน เมื่อหยุดเปิดเผยตน ก็หยุดเป็นหนังสือพิมพ์

ธรรมดาที่จะแสดงตนให้คนอื่นเห็น ย่อมจะทำตัวให้สอาดหมดจด ไม่ใช่ให้คนดูตน เมื่อกำลังมอกล่อกมอกแล่ก ถ้าจะทำการที่คนไม่นับถือ ก็คงจะซ่อนทำไม่ให้ใครรู้ใครเห็น ทั้งนี้เพราะอยากจะให้คนอื่นเห็นว่าดี ไม่อยากให้ใครเห็นว่าชั่ว หนังสือพิมพ์ก็เหมือนกับบุคคล แต่ยิ่งกว่า เพราะบุคคลไม่จำเป็นต้องประกาศตนอยู่เสมอ การประกาศตนของบุคคลที่มีความดีนั้น หากจะได้ประโยชน์ก็ไม่เป็นเงินเป็นทองขึ้นทันที เพราะการประกาศตนไม่ใช่ทางหากินของบุคคลนั้นๆ (เว้นแต่บุคคล “โม้” ซึ่งอยู่นอกตำรา) ส่วนหนังสือพิมพ์เมื่อประกาศตนให้คนเห็นความดี ก็เกิดเป็นเงินเป็นทองทันทีเพราะเมื่อคนซื้อแผ่นหนึ่ง ก็คือซื้อความประกาศตนของหนังสือพิมพ์นั้นเอง

การทำหนังสือพิมพ์ควรจะนับได้ว่า เป็นงานของนักปราชญ์ เพราะเป็นกิจธุระซึ่งต้องทำด้วยปัญญา หรือที่พูดกันเป็นภาษาแสลงว่า “ใช้หัว” ใช้ความรู้รอบข้าง แลความรู้พิเศษอันสะสมให้มีพอกพูนยิ่ง ๆ ขึ้น ถ้าขาด “หัว” แลขาดความส่ำสมวิชา หนังสือก็โง่ ๆ บ้าๆ ไม่เป็นรสเป็นเรื่องอะไรเข้าได้

แต่งานของนักปราชญ์นั้นต้องเติมงานของพ่อค้าเข้าด้วย เพราะแผนกพาณิชย์เป็นส่วนสำคัญของหนังสือพิมพ์ และงานสองแผนกนี้ต้องอาศัยซึ่งกันแลกัน แผนกไหนจะดีรุ่งโรจน์ ถ้าอีกแผนกหนึ่งซุดโซมแล้ว หนังสือก็ทรงตัวอยู่ไม่ได้ งานแผนกหลังนี้ ได้แก่ข้อที่เราเรียกว่า หน้าที่ซึ่งหนังสือพิมพ์มีต่อตนเอง

หน้าที่ที่ ๒ นี้ ที่เป็นส่วนสำคัญก็คือว่า ต้องขายหนังสือได้ หนังสือที่จะขายได้มาก ต้องเป็นหนังสือสำหรับคนอ่านจำนวนมาก แลถ้าคนอ่านจำนวนมากเป็น “รุ่นใหม่” (New Literate) ดังที่กล่าวมาในเบื้องต้นไซร้ หนังสือก็ต้องเข้าเกลียวกับความรู้ หรือความอบรมของคนรุ่นนั้น ถ้าทำหนังสือเช่นที่ว่านี้ไม่สำเร็จ ก็อาจเป็นด้วยผู้ทำขาดความรู้ หรืออาจเป็นด้วยมีธรรมในใจชนิดที่กีดกั้นไม่ให้ทำ เป็นต้นว่า หนังสือซึ่ง “เย็นตละแมนเขียนสำหรับให้เย็นตละแมนอ่าน” นั้น ผู้เขียนอาจไม่ยอมเขียนสำหรับคนอ่านที่ต่ำระดับความรู้ลงไปก็เป็นได้

ทั้งหมดที่เรากล่าวนี้เป็นการกล่าวทั่วไปในโลก แลกล่าวโดยที่ได้ดูตำนานในประเทศอื่นมาแล้ว พูดเฉพาะเมืองไทย เรานึกว่า ถึงผู้อ่าน “รุ่นใหม่” จะเกิดมากแล้วก็จริง แต่เรานึกว่า “รุ่นเก่า” ก็ยังมีมาก หาก “เศรษฐกิจตกต่ำ” หรือความตกต่ำชนิดอื่นทำให้จำนวนลดไปเสียบ้าง ที่เรียกว่ารุ่นเก่านี้ เรียกเพื่อจะเทียบกับ “รุ่นใหม่” (New Literate) ไม่จำเป็นจะเก่าโดยอายุ อาจเป็นคนหนุ่มสาว ซึ่ง “เก่า” เพราะเรียนแลรู้หนังสือชนิดที่คนวัยก่อนนิยมก็ได้

เราจะนำเรื่องหนังสือพิมพ์ข่าวในประเทศอังกฤษมากล่าวในที่นี้เป็นเครื่องเทียบบ้าง ในประเทศนั้น การออกหนังสือพิมพ์เป็นกิจการใหญ่นัก

ลอนดอนมีหนังสือพิมพ์รายวันออกตอนเช้า ๙ อย่าง ออกตอนบ่าย ๓ อย่าง รวมเป็น ๑๒ อย่าง น้อยกว่ากรุงเทพเวลานี้ (พ.ค. พ.ศ. ๒๔๗๘) ซึ่งมี ๑๕ อย่าง แต่ลอนดอนมีคนเกือบเท่าสยามทั้งหมด หนังสือพิมพ์ ๙ อย่างที่ออกในลอนดอนตอนเช้านั้น เมื่อรวมจำนวนฉบับที่พิมพ์ในวันหนึ่ง ก็ได้จำนวนวันละ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ ฉบับ นอกจากนี้ยังมีหนังสือพิมพ์ที่ออกตอนบ่ายอีกวันละ ๑,๗๕๐,๐๐๐ ฉบับ แลหนังสือที่ออกตามหัวเมืองอีกเล่า เราไม่ทราบว่าหนังสือพิมพ์ในหัวเมืองจำหน่ายวันละกี่ฉบับ แต่ทราบว่าเพียงหนังสือพิมพ์รายวันที่ออกในลอนดอนเท่านั้น ถ้าจะคิดเฉลี่ยตามจำนวนพลเมืองทั้งประเทศ ก็มีหนังสือสี่คนต่อฉบับทุก ๆ วัน

หนังสือพิมพ์ในอเมริกามีตำนานผิดกับหนังสือพิมพ์ในประเทศอังกฤษ อเมริกามีหนังสือพิมพ์มาแต่เมื่อตั้งกำเนิดเป็นชาติ (หรือก่อนนั้น) หนังสือพิมพ์อเมริกามีอิศระตามบัญญัติกฎหมาย ว่าจะออกความเห็นอะไรก็ได้ ไม่เคยมีเซ็นเซอร์ตามทางการเลย แม้ในคราวมหาสงคราม หนังสือพิมพ์ก็ไม่ถูกเซ็นเซอร์ พูดสั้น ๆ หนังสือพิมพ์อเมริกาเกิดพร้อมกับชาติ การที่ไม่ถูกขีดนี่คั่นโน่นจึงดูเป็นของธรรมดา

ส่วนอังกฤษนั้นเป็นชาติเก่า หนังสือพิมพ์เป็นของเกิดใหม่ เมื่อเทียบกับความเก่าของชาติ แลเพิ่งมาเป็นอิศระในแผ่นดินกวีนวิกตอเรียนี้เอง แต่นั้นมาหนังสือพิมพ์จะกล่าวตำหนิราชการบ้านเมืองก็ได้ แต่ถ้าตำหนิบุคคล ก็มีกฎหมายหมิ่นประมาทคอยกีดกันอยู่จนบัดนี้

หนังสือพิมพ์อังกฤษแต่ก่อนนี้ได้เขียนสำหรับผู้มีความรู้อ่าน กล่าวตามคำของเจ้าของหนังสือไตมส์คนหนึ่งว่า “เย็นตละแมนเขียนสำหรับให้เย็นตละแมนอ่าน” แต่ต่อมาเมื่อคนอ่าน “รุ่นใหม่” เกิดขึ้น เพราะขยายการศึกษาของประชาชนออกไป จนมีคนอ่านหนังสือออกมากขึ้น คนอ่านรุ่นใหม่นี้ ไม่ต้องการหนังสือพิมพ์เย็นตละแมนเขียนให้เย็นตละแมนอ่าน หนังสือพวกนั้นจึงเลิกไปหลายราย เกิดหนังสืออย่างใหม่ขึ้นแทน จนในเวลานี้เขามักแบ่งหนังสือพิมพ์รายวันในประเทศอังกฤษออกเป็นสองพวก เรียกกันว่าพวกซีเรียส (จริงจัง) พวกหนึ่ง พวกปอปูลา (สำหรับคนมาก) พวกหนึ่ง

หนังสือพวกจริงจังนั้นคือไตมส์ (จำหน่ายประมาณวันละ ๒๐๐,๐๐๐) เดลีเตเลกราฟ (จำหน่ายประมาณวันละ ๓๐๐,๐๐๐) เศษ มอนิงโปสต์ (จำหน่ายประมาณวันละ ๑๕๐,๐๐๐) เป็นหนังสือลอนดอนสามราย ซึ่งรวมกันจำหน่ายประมาณวันละ ๗๐๐,๐๐๐ ฉบับ กับแมนเชสเตอร์การ์เดียน (หนังสือพิมพ์หัวเมือง) อีกรายหนึ่งซึ่งเราไม่ทราบจำนวนที่จำหน่าย

หนังสือพิมพ์พวกที่ทำสำหรับคนมาก มีเดลีเมล์ เดลีเอกซเปรส แลเดลีเฮอราลด์ ซึ่งแต่ละรายจำหน่ายราววันละ ๒,๐๐๐,๐๐๐ ฉบับ กับนิวครอนิเกอล ซึ่งจำหน่ายวันหนึ่งราว ๑,๕๐๐,๐๐๐ ฉบับ นอกนั้นมีหนังสือเลว ๆ ซึ่งมากไปด้วยรูป เช่น เดลีมีรฺราร์ซึ่งขายมากเหมือนกัน แต่ไม่เพียรจะเป็นหนังสือมีเกียรติเลย ที่ออกชื่อมานี้เป็นหนังสือออกตอนเช้า นอกนั้นยังมีหนังสือออกตอนบ่าย ซึ่งรวมกันจำหน่ายได้ราววันละ ๑,๗๕๐,๐๐๐ ดังกล่าวมาแล้ว

ผู้อ่านพึงสังเกตว่า หนังสือพิมพ์กรุงลอนดอนที่ออกราววันละ ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ ฉบับนั้น เป็นหนังสือ “เย็นตละแมนเขียนให้เย็นตละแมนอ่าน” วันละ ๗๐๐,๐๐๐ ฉบับ นอกนั้นเป็นหนังสือสำหรับ “รุ่นใหม่” (ศัพท์ว่า New Literate นั้นเราเอาอย่างมาจากหนังสือพิมพ์อเมริกัน) แต่เราไม่พึงเข้าใจว่า หนังสือวันละ ๑๑,๐๐๐,๐๐๐ ฉบับเศษ เป็นหลักจูงความคิดคนในทางที่เป็นแก่นสาร ยิ่งกว่าหนังสือวันละ ๗๐๐,๐๐๐ ฉบับที่กล่าวมาแล้ว เพราะพวกที่มีสติปัญญาแลฐานะที่เป็นพวกสำคัญในบ้านเมือง มักจะอ่านหนังสือที่เย็นตละแมนเขียนให้เย็นตละแมนอ่าน และจำนวนวันละ ๗๐๐,๐๐๐ ก็พอสำหรับคนพวกนั้น

ส่วนวิธีหนังสือชนิดไหนทำอย่างไรจึงล่อใจผู้อ่านได้นั้น ถ้าจะนำมากล่าวก็จะกินหน้ากระดาษมากไป แลเราไม่เข้าใจว่า ผู้อ่านของเราจะใส่ใจอยากทราบความเลอียดขึ้นไปในส่วนนั้น

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ