ยิวแลอาหรับ

ตอนแรกที่ร้าวฉานกันขึ้นในภูมิประเทศที่เรียกปาเลสไตน์คราวนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) เพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนได้ถาม ๒ ครั้ง รวมความว่า (๑) ชนชาติยิวมีประมาณเท่าไร อยู่ที่ไหนบ้าง (๒) ชนชาตินั้นมีเรื่องราวมาอย่างไรจึงเป็นชาติไม่มีประเทศ

ปัญหาข้อ (๒) จะพลิกพงศาวดารมาเล่าก็ไม่สู้ยากนัก อันที่จริงเรื่องราวก็น่าอ่าน ผู้เขียนจึงคิดจะเล่าสักวันหนึ่ง แต่เพราะเหตุที่จะต้องพลิกหนังสือหลายเล่ม แลจำต้องมีแผนที่จึงจะเขียนให้เข้าใจได้ง่าย อีกทั้งมีเรื่องใหม่ ๆ ที่จะต้องเขียนอยู่เสมอ ๆ ให้ทันกับข่าวทั่ว ๆ ไปที่มีมาไม่รู้หยุด เรื่องเก่าที่ไม่รู้จักเก่าจนเกินสนุก จึงถูกกันไปไว้เขียนวันอื่น

ส่วนปัญหาข้อ (๑) ที่ว่าชนชาติยิวมีประมาณเท่าไร อยู่ที่ไหนบ้างนั้น เป็นปัญหาซึ่งผู้เขียนยอมจำนน ถ้าค้นสมุดที่เป็นตำรายืนพื้น ก็คงจะได้ความบ้าง แต่ที่ถามว่าอยู่ที่ไหนเท่าไรนั้น ไม่มีตัวเลขใหม่ ๆ ที่จะนำมาตอบ จึงต้องขอผัดว่า จะลองหาดูก่อน

ครั้นเมื่อเมล์ก่อนนี้ได้รับหนังสือซึ่งให้ตัวเลขเพียงปลายเดือนมิถุนายนปีนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) ใหม่กว่านั้นไม่มี แต่เพียงที่มีนี้ก็เลอียดจนเบื่อ มิใช่แต่เพียงจะบอกว่า ยิวมีในสหปาลีรัฐอเมริกา ๔,๕๐๐,๐๐๐ คน ในโปแลนด์ ๓,๑๕๐,๐๐๐ คน ในโซเวียตรัซเซียภาคยุโรป ๒,๗๑๐,๐๐๐ คน ในรูมาเนีย ๑,๐๕๐,๐๐๐ คน (๔ ประเทศนั้นมียิวมากที่สุด นอกนั้นไม่มีประเทศไหนมีเกิน ๔ แสนคน) ถึงแม้ประเทศอีคัวดอร์ (อเมริกา) มี ๑๐๐ คนก็บอก แองโคลา (เมืองในโปรตุเกศในแอฟริกา) มี ๑๕๐ คนก็บอก ไม่ระบุชื่อ แต่ประเทศที่ไม่มียิว หรือมีน้อยเต็มที เช่นสยามซึ่งรวมอยู่ในประเทศอื่น ๆ ในเอเซีย ซึ่งมียิว ๘๐๐ คน

นอกจาก ๔ ประเทศที่ระบุชื่อมาแล้ว ว่ามียิวมากกว่าประเทศอื่น ๆ นั้น ประเทศที่มียิวมากถึง ๒ แสนคนขึ้นไป มีในยุโรป ๔ ประเทศคือ ฮังการี ๔๔๐,๐๐๐ คน เยอรมัน ๔๐๐,๐๐๐ คน เชโกสโลวัค ๓๘๐,๐๐๐ คน อังกฤษ ๓๔๐,๐๐๐ คน ฝรั่งเศส ๒๓๐,๐๐๐ คน มีในอเมริกาประเทศเดียว คือ อาเย็นไตน์ ๒๗๕,๐๐๐ คน ในเอเซีย ๒ ประเทศ คือปาเลสไตน์ ๓๙๕,๐๐๐ คน รัซเซีย ๒๔๐,๐๐๐ คน ประเทศนอกจากที่ระบุนี้ มียิวต่ำกว่า ๒ แสนคนลงไปถึง ๑๐๐ คน จนถึงไม่มีเลยบ้างกระมัง

ตัวเลขที่นำมาแสดงข้างบนนี้ เป็นตัวเลขเมื่อปลายเดือนกุมนายน (พ.ศ. ๒๔๗๙) ปีนี้ ต่อนั้นมาพวกยิวได้อพยพย้ายประเทศกันไม่น้อย แลยังจะอพยพอีกต่อไป ข้อที่คิดกันในการประชุมต่อจากมหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๑) ว่าจะให้ปาเลสไตนเป็นประเทศสำหรับให้ผิวอาศัยอยู่ แลมอบให้อังกฤษเป็นพี่เลี้ยงนั้น ถึงแม้ว่ามาตอนนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) จะเกิดขัดขวางกันขึ้น เพราะพวกอาหรับไม่ยอมที่ให้ผิวเข้าไปเป็นพวกมีวาศนาในประเทศนั้น ก็ปรากฏว่าอังกฤษจะรักษาหน้าที่พี่เลี้ยงเต็มที่ ถ้าปราบการก้าวร้าวไม่ได้ด้วยดี ก็จะปราบด้วยร้าย แลได้ส่งทหารฝรั่งเพิ่มเติมไปแล้วเป็นอันมาก มาตอนนี้อังกฤษจจะต้องปราบให้เรียบราบ ถ้าปล่อยไปนานจะยากเข้าทุกที เพราะช่องที่ฝรั่งประเทศอื่นจะเข้าแทรกแซงมีมาก

ในที่นี้เห็นจะควรกล่าวซ้ำอีกทีว่า เรื่องลำบากในปาเลสไตนได้เกิดขึ้นอย่างไร หนังสือนี้ (ประมวญวัน) ได้เคยกล่าวไว้แล้ว แต่หนังสือพิมพ์รายวันมีชีวิตชั่ววันเดียว เป็นของที่อ่านแล้วทิ้ง ผู้อ่าน ๆ แล้วไม่นานก็ลืมหมด

พวกยิวเป็นชาวทวีปเอเซีย ได้เที่ยวจราจรร่อนเร่อยู่เป็นจำนวนพันปีจึงไปถึงปาเลสไตน์ ทั้งประเทศที่พระเจ้าแผ่นดินปกครองหลายชั่วกษัตริย์ พระเจ้าโซโลมอนเป็นเจ้าแผ่นดินบุญหนักศักดิ์ใหญ่ แต่ต่อมาก็เกิดร้าวฉานจนประเทศใหญ่แตกออกไปเป็นประเทศย่อย ต้นเหตุอย่างหนึ่งก็คือว่า พระเจ้าโซโลมอนตั้งเก็บภาษีแรงเกินไป จนทำให้ชนในประเทศแตกสามัคคีกันขึ้น (การเก็บภาษีผิดหลักแลแรงเกินไป เป็นเหตุให้ประเทศเสื่อมเสมอ)

ต่อนั้นมาประเทศย่อยในปาเลสไตน์ก็รบกันร่ำไป จนในที่สุดเจ้ากรุงโรม (ฝรั่ง) เข้าไกล่เกลี่ยแล้วปราบเลยได้ทำลายกรุงเยรูซาเรมเสียเมื่อปี ค.ศ. ๗๐ แลพวกยิวก็กระจายกันไปอีก เหลืออยู่ในปาเลสไตน์น้อย

พวกยิวถือตนว่า ควรจะเป็นเจ้าของประเทศปาเลสไตน์ เพราะตีได้จากชนพื้นประเทศเดิมหลายพันปีแล้ว แลได้อยู่มาเก่ากว่าใคร ๆ ซึ่งอยู่ที่นั้นในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) ส่วนพวกอาหรับกล่าวว่า พวกยิวจะอ้างว่าเคยอยู่เมื่อกี่พันปีต่อกี่พันปีมาแล้วก็ตาม แต่พวกอาหรับก็ได้อยู่มากว่าพันปี แลหาได้แย่งเอาพื้นที่จากผิวไม่ สิทธิของพวกยิว หากว่าจะได้เคยมีในสมัยโบราณก็ขาดตอนไปนานแล้ว

ในการที่ประเทศมหาอำนาจได้ประชุมกันปรึกษาว่าจะยกปาเลสไตน์ให้เป็นบ้านสำหรับชนชาติยิว แต่มิให้เป็นการกีดกันสำนักที่อาศัยของชนอาหรับนั้น ในตอนต้น ๆ ก็ดูเหมือนชนสองพวกจะกลมเกลียวกันดี เพราะพวกยิวเป็นคนมีทั้งทรัพย์แลปัญญาสามารถได้ช่วยจัดให้ประเทศปาเลสไตน์รุ่งเรืองเห็นทันตา ชนอาหรับในท้องที่อื่น ๆ ได้ทราบคำเลื่องลือกันไป ว่าปาเลสไตน์เกิดเป็นบ้านเมืองจำเริญ มีทางหากินได้ดี ก็แตกตื่นกันอพยบเข้าไปอีก ล้วนแต่เข้าทำงานเป็นลูกจ้างพวกยิวซึ่งรับซื้อที่ดินไร่นาไว้จากพวกอาหรับที่อยู่มาเก่า ครั้นชนทั้งสองพวกต่างก็เพิ่มเติมกันเข้าไปมากเข้า ๆ พวกอาหรับรู้สึกว่า บ้านเมืองเกิดหมูนพูนเขา แลคนทั้งหลายอยู่เย็นเป็นสุข เพราะมีที่หากินบริบูรณ์ก็จริง แต่ความมั่งคั่งนั้นส่วนมากไปตกอยู่แก่พวกยิว ซึ่งนำเอาทุนไปลง แลกรรมสิทธิ์ที่ดินก็ตกไปมากขึ้น ๆ เหตุนี้ทำให้อาหรับเกิดความรังเกียจ เกรงยิวจะเข้าไปเป็นเจ้าเข้าเจ้าของทั่วไปทั้งประเทศ ตลอดจนวาศนาในการปกครองด้วย

เหตุการที่เป็นไปคราวนี้ ถ้าเราผู้อยู่ห่างไกลจะพลิกดูแผนที่แลอ่านดูความเป็นไปในท้องที่ของเอเซียภาคนั้น ให้กว้างเป็นประเทศเดียวออกไป ก็น่าพิศวงที่ว่า ที่ดินยังมีอีกมากมาย แต่เผอิญคนไปแย่งกันอยู่ในที่เดียว จึงเกิดวิวาทกันขึ้น ถ้าเทวดาหรือใครสามารถแต่มนุษย์ออกไปให้เหมาะแก่ขนาดแห่งที่ดิน ซึ่งดีเสมอกัน ก็จะไม่มีเหตุเช่นนี้

ประเทศโบราณหลายพันปีมาแล้ว ซึ่งในหนังสือกรีกแลโรมันโบราณเรียกว่า เบบิโลเนียนั้น เป็นประเทศมั่งคั่ง แผ่เกียรติไปในทิศานุทิศ เคยเป็นอู่ข้าวสำคัญแห่งหนึ่งของโลก ในประเทศนั้นมีกรุงใหญ่น้อย ไร่นาสารพัด แลมีคลองพาน้ำไปเลี้ยงพืชพันธุ์ธัญญาหารทั่วไปในประเทศ ยังเห็นรอยอยู่จนเวลานี้ ประเทศนั้นต่อมาอีกช้านานถึงสมัยที่ศาสนามหมัดรุ่งเรือง ก็ยังเป็นประเทศที่มีวาศนามาก แต่ได้ทรุดโทรมลงในสมัยที่พวกมองโก้ หรือที่เรียกว่าพวกฮั่น ยกทัพม้าเที่ยวตีเลอียดไปในร้อยปีที่สิบสามแห่งคริสตศักราช แล้วตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศตุรกี ในมหาสงครามเรียกเมโซโปเตเมีย

ประเทศที่กล่าวนี้ ได้กลับตั้งเป็นประเทศเอกราชขึ้นภายหลังมหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๑) เรียกชื่อในเวลานี้ว่าประเทศอิราค มีพระเจ้าแผ่นดินครองประเทศโดยรัฐธรรมนูญ ประเทศนี้มีอาณาเขตกว้างใหญ่ แต่มีพลเมืองน้อย ในสมัยเบบิโลเนียมีพลเมืองแปดล้าน เดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) มีเพียงสองล้านครึ่ง การที่จะทำนุบำรุงประเทศให้สมบูรณ์อย่างแต่ก่อนก็ย่อมจะทำไม่ได้ เพราะพลเมืองไม่พอ ชาวประเทศอิรากเป็นแขกอาหรับ ถ้าจะมีคนจากประเทศอื่นเข้าไปเป็นพลเมืองตั้งภูมิลำเนาหากิน ก็จะต้องเป็นชนชาติเดียวกัน จึงจะกลมเกลียวกันได้ดี ทีนี้มาถึงข้อที่ว่าเทวดาไม่บันดาลให้เรียบร้อย คือว่าในปาเลสไตน์มีอาหรับอยู่ในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) แปดแสนเศษ พวกนั้นตั้งหน้ากีดกันพวกยิว ไม่ให้เข้าไปในประเทศเดิมของยิว เพราะเกรงจะไปแย่งที่ของพวกอาหรับซึ่งอยู่ที่นั่นแล้ว ส่วนในประเทศอิราก ต้องการพลเมืองอีกสี่ล้านคน จึงจะจัดให้ประเทศสมบูรณ์อย่างแต่ก่อนได้

ประเทศทั้งสองนี้อยู่คนละฟากทเลทราย ปาเลสไตน์มีอาหรับเพียงแปดแสนคน แต่วิตกเกรงจะเกิดความยัดเยียด อิรากต้องการอาหรับอีกสี่ล้านคน จึงจะจัดบ้านเมืองให้มั่งคั่งคล้ายในสมัยโบราณได้ สองประเทศอยู่ห่างกัน ๕๐๐ ไมล์เท่านั้นเอง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ