- คำนำของผู้จัดพิมพ์
- ๑. สภากาชาด
- ๒ นิราศ
- ๓. โคบุตร
- ๔. ไวต์ชาวสยาม
- ๕. ผสมผสาน
- ๖. พม่าประเทศราช
- ๗. ผสมผสาน (๒)
- ๘. สำคัญอะไรที่ชื่อ
- ๙. ทุนสำรองพิกัด
- ๑๐. ผสมผสาน (๓)
- ๑๑. ประชาธิปัตย์แลความลับ
- ๑๒. เมื่อเจียงไคเช็คถูกจับ
- ๑๓. ขอโทษ
- ๑๔. เซี่ยงไฮ้
- ๑๕. อ๊อกซฟอด
- ๑๖. ดินเนอร์ใหญ่
- ๑๗. สามก๊ก
- ๑๘. หมู่ประเทศ “ออสโล”
- ๑๙. เซี่ยงไฮ้
- ๒๐. โรตารี่ในประเทศเยอรมัน
- ๒๑. ผสมผสาน (๔)
- ๒๒. รัฐคติ
- ๒๓. ล่าผัว
- ๒๔. โลกนี้ครึ่งหนึ่ง
- ๒๕. สก๊อตแลนด์กับอิงแลนด์
- ๒๖. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
- ๒๗. ขัติยมานะ
- ๒๘. เมื่อวันประกาศมหาสงคราม
- ๒๙. ปเกียรณกะ
- ๓๐. ในอินเดีย
- ๓๑. ในเมืองอังกฤษ
- ๓๒. คำราม
- ๓๓. ศัพท์รอยัลลิซต์
- ๓๔. อารยะชน อานารยะชน
- ๓๕. หนังสือพิมพ์
- ๓๖. กล่องดวงใจ
- ๓๗. ธนาธิปัตย์ยังไม่ตาย
- ๓๘. ฉากละคร
- ๓๙. ราชพิธีอังกฤษ
- ๔๐. ผสมผสาน (๕)
- ๔๑. นึกเมื่อฟังเทศน์
- ๔๒. บรรดาศักดิ์อังกฤษ
- ๔๓. กาพย์เห่เรือ
- ๔๔. โอวาทสำหรับชายหนุ่ม
- ๔๕. ราชาธิราชประเทศเม็กซิโก
- ๔๖. มุกดาดำ
- ๔๗. ประปา
- ๔๘. อุตสาหกรรมในกระท่อม
- ๔๙. ปนคำพูด
- ๕๐. วังแก้ว
- ๕๑. แซะประธาน
- ๕๒. ครึ่งสตางค์
- ๕๓. ฝักซ้ายฝ่ายขวา
- ๕๔. ประชาธิปัตย์สองแห่ง
- ๕๕. ยิวแลอาหรับ
- ๕๖. เฮ็บราย
- ๕๗. ประเทศอิราค
- ๕๘. พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ
- ๕๙. รัฐแฟรงก์
- ๖๐. ศัพท์
- ๖๑. …ิสม์
- ๖๒. ท่านเสือ
- ๖๓. ส่องกระจก
- ๖๔. พระสังตปาปา
- ๖๕. นานาภาษิต
- ๖๖. สำนวนหนังสือ
- ๖๗. อาศา
- ๖๘. คณะสงฆ์
เฮ็บราย
ในสมัยโบราณถอยหลังกว่า ๕๕๐๐ ปีไป มีกรุงใหญ่กรุงหนึ่งในทวีปเอเซียเรียกว่า “เออร์” มีมหากษัตริย์ครอบครองอาณาจักรกว้างใหญ่ ซากแห่งกรุงเออร์นี้ สมาคมนักปราชญ์ได้ขุดพบเรื่อยมา จนเมื่อ ๒ ปีที่แล้วมานี้ (ปีที่ทรงเรื่องนี้คือ พ.ศ. ๒๔๗๙) ยังได้หลักฐานใหม่สำคัญในวิชาตำนาน
ประมาณ ๔๐๐๐ ปีมาแล้ว มีชนเลี้ยงแกะหมู่หนึ่ง ไม่ใช่หมู่ชนสำคัญ เดิมตั้งหากินอยู่ในอาณาจักรกรุงเออร์ แต่ไม่ได้รับความสบายในที่นั้น ด้วยเหตุที่ถูกข่มขี่ หรือด้วยเหตุอาหารเลี้ยงสัตว์ไม่พอก็เป็นได้ ชนพวกนี้ได้ต้อนฝูงแกะย้ายไปเลี้ยงในอาณาจักรของเจ้ากรุงเบบิโลเนีย แต่ตั้งอยู่ไม่ได้ เจ้ากรุงเบบิโลเนียให้ทหารขับไล่ไปเสีย พวกนั้นกต้อนฝูงแกะต่อไปอีก เพื่อจะหาที่ใหม่ซึ่งตั้งหากินอยู่ได้เป็นสุข ชนพวกนั้นเดี๋ยวนี้มักเรียกกันว่า ยิว แต่ก่อนไทยเคยเรียก เฮ็บราย (ภาษาอังกฤษคือ Jews หรือ Hebrews)
พวกเฮ็บรายหรือยิวได้ร่อนเร่อยู่ช้านาน เดินทางไกลมาก จนในที่สุดไปถึงประเทศอียิปต์ ก็ได้อาศัยร่มไม้ชายคาของประเทศนั้นตั้งทำมาหากินอยู่ประมาณ ๕๐๐ ปี ต่อนั้นมามีชนหมู่ใหญ่อีกพวกหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ชาวอียิปต์ เรียกว่าพวกฮิกสอส (Hyksos) ไปจากเอเซียเหมือนกัน พวกนั้นตีปล้นเอาอิยิปต์ได้ แลเข้าปกครองประเทศอยู่ช้านาน การที่มีชนชาติอื่นเข้าไปปกครองอิยิปต์เช่นนี้ พวกเฮ็บรายไม่เดือดร้อนอะไร เพราะพวกเฮ็บรายไม่ทำตนให้เป็นที่กีดขวางแก่พวกที่เป็นใหญ่ในประเทศขึ้นใหม่ พวกนั้นจึงปล่อยให้พวกเฮ็บรายอาศัยอยู่เป็นสุขต่อไปในอียิปต์อีกตอนหนึ่ง
ต่อมาชนชาวอียิปต์ต่อสู้พวกฮิกสอส กลับเอาประเทศคืนเป็นของตนได้ มาตอนนี้พวกเฮ็บรายเดือดร้อน เพราะถูกหาว่าเป็นพวกสอพลอ จึงถูกลดฐานะลงไปเป็นทาส ถูกใช้ให้ทำงานหนักในการสร้างปีระมิดศ์ แลทำทางหลวงเป็นต้น พวกเฮ็บรายได้ความเดือดร้อน อยากจะอพยบกันออกจากประเทศอียิปต์ ไปหาที่อยู่ใหม่ แต่ทหารอียิปต์รักษาด่านทางปลายเขตแดนอย่างแข็งแรง พวกเฮ็บรายจะผ่านออกนอกประเทศไปไม่ได้
การเป็นเช่นว่านี้หลายปี จึงมีชายหนุ่มเฮ็บรายคนหนึ่ง ชื่อ โมเซ (Moses) เป็นผู้มีสำนักในทเลทรายมานานจนรู้ความสุขแห่งการอยู่กินอย่างง่าย ๆ ดังที่บรรพบุรุษเคยอยู่กินมาก่อน บรรพบุรุษเคยไม่ยอมเข้าอยู่ในกรุง แลไม่ยอมให้ความสะดวกแลความสำราญในกรุงเป็นเครื่องตัดทอนความสุขกายสบายใจได้
โมเซ ตั้งหน้าจะพาพวกเฮ็บรายด้วยกันหลบหลีกไปให้พ้นอาณาจักรแลความปกคลุมของกรุงอิยิปต์ จึงนำพวกหาทางลดเลี้ยว ไม่เดินตามด่านทาง จนพากันออกทเลทรายไปได้ เจ้ากรุงอิยิปต์ทราบว่าพวกเฮ็บรายพากันหนี ก็ส่งกองทหารออกตาม แต่โมเซพาพวกหลบหลีกไปถึงเชิงเขาสินาย ทหารของเจ้ากรุงอิยิปต์ตามไปไม่ถึง ในระหว่างที่อยู่โดดเดี่ยวในทเลทราย ก่อนนำพวกหลบหลีกออกจากประเทศอิยิปต์นั้น โมเซได้รู้สึกความเป็นใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า เรียกกันว่า พระยะโฮวา ซึ่งนับถือแพร่หลายในเอเซียภาคตวันตก โมเซได้สั่งสอนพวกเดียวกันจนนับถือพระยะโฮวาเป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว
วันหนึ่งโมเซหายไปจากค่ายซึ่งเป็นที่พักของพวกเดียวกัน บ่ายวันนั้นดูจากดินไม่เห็นยอดเขา เพราะมีพายุใหญ่มืดมิด มิให้ใครเห็นได้ ครั้นโมเซกลับมาถึงค่าย ก็ปรากฏว่าพระยะโฮวาได้ทรงสอนแล้ว ให้มนุษย์รู้วิธีมีความเป็นไปด้วยดี โดยบัญญัติ 10 ประการ ซึ่งเขียนลงบนแผ่นหิน ๒ แผ่น การนับถือพระยะโฮวาแต่ก่อนก็เป็นลม ๆ เพิ่งจะมีที่ยึดเหนี่ยวติดต่อกับพระองค์แน่นอนในครั้งนั้น
ต่อนั้นมาโมเซได้บอกแก่พวกพ้องให้พากันเดินทางต่อไปในทเลทรายอีก ได้สั่งสอนว่าจะควรกินอะไรดื่มอะไร ควรระวังอะไร เพื่อจะมิให้เกิดถัยในพื้นที่อันอากาศร้อน พวกนั้นเชื่อฟังก็พากันออกเดินทางไปอีกหลายปี จนถึงที่แห่งหนึ่งเรียกว่า ปาเลสไตน์ เป็นที่น่าอยู่ มีคนพวกอื่นอยู่เสียแล้ว แต่พวกเฮ็บรายก็ดื้อเข้าอยู่แทนที่ได้ แลได้สร้างกรุงใหญ่ชื่อเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นกรุงมีสง่า แลเป็นราชสำนักของพระเจ้าแผ่นดินชาติเฮ็บรายอยู่ช้านาน ต่อนั้นมา พวกเฮ็บรายหรือยิวได้กระจายออกไปจากปาเลสไตน์อย่างไรได้กล่าวในหนังสือนี้ (ประมวญวัน) เมื่อวันก่อนแล้ว