- คำนำของผู้จัดพิมพ์
- ๑. สภากาชาด
- ๒ นิราศ
- ๓. โคบุตร
- ๔. ไวต์ชาวสยาม
- ๕. ผสมผสาน
- ๖. พม่าประเทศราช
- ๗. ผสมผสาน (๒)
- ๘. สำคัญอะไรที่ชื่อ
- ๙. ทุนสำรองพิกัด
- ๑๐. ผสมผสาน (๓)
- ๑๑. ประชาธิปัตย์แลความลับ
- ๑๒. เมื่อเจียงไคเช็คถูกจับ
- ๑๓. ขอโทษ
- ๑๔. เซี่ยงไฮ้
- ๑๕. อ๊อกซฟอด
- ๑๖. ดินเนอร์ใหญ่
- ๑๗. สามก๊ก
- ๑๘. หมู่ประเทศ “ออสโล”
- ๑๙. เซี่ยงไฮ้
- ๒๐. โรตารี่ในประเทศเยอรมัน
- ๒๑. ผสมผสาน (๔)
- ๒๒. รัฐคติ
- ๒๓. ล่าผัว
- ๒๔. โลกนี้ครึ่งหนึ่ง
- ๒๕. สก๊อตแลนด์กับอิงแลนด์
- ๒๖. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
- ๒๗. ขัติยมานะ
- ๒๘. เมื่อวันประกาศมหาสงคราม
- ๒๙. ปเกียรณกะ
- ๓๐. ในอินเดีย
- ๓๑. ในเมืองอังกฤษ
- ๓๒. คำราม
- ๓๓. ศัพท์รอยัลลิซต์
- ๓๔. อารยะชน อานารยะชน
- ๓๕. หนังสือพิมพ์
- ๓๖. กล่องดวงใจ
- ๓๗. ธนาธิปัตย์ยังไม่ตาย
- ๓๘. ฉากละคร
- ๓๙. ราชพิธีอังกฤษ
- ๔๐. ผสมผสาน (๕)
- ๔๑. นึกเมื่อฟังเทศน์
- ๔๒. บรรดาศักดิ์อังกฤษ
- ๔๓. กาพย์เห่เรือ
- ๔๔. โอวาทสำหรับชายหนุ่ม
- ๔๕. ราชาธิราชประเทศเม็กซิโก
- ๔๖. มุกดาดำ
- ๔๗. ประปา
- ๔๘. อุตสาหกรรมในกระท่อม
- ๔๙. ปนคำพูด
- ๕๐. วังแก้ว
- ๕๑. แซะประธาน
- ๕๒. ครึ่งสตางค์
- ๕๓. ฝักซ้ายฝ่ายขวา
- ๕๔. ประชาธิปัตย์สองแห่ง
- ๕๕. ยิวแลอาหรับ
- ๕๖. เฮ็บราย
- ๕๗. ประเทศอิราค
- ๕๘. พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ
- ๕๙. รัฐแฟรงก์
- ๖๐. ศัพท์
- ๖๑. …ิสม์
- ๖๒. ท่านเสือ
- ๖๓. ส่องกระจก
- ๖๔. พระสังตปาปา
- ๖๕. นานาภาษิต
- ๖๖. สำนวนหนังสือ
- ๖๗. อาศา
- ๖๘. คณะสงฆ์
สภากาชาด
วันที่ ๑๐ เดือนนี้ (๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๐) สมเด็จสภานายิกาพระราชทานเลี้ยงแก่กรรมการสภากาชาดที่ตึกจักรพงษ์ ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นการทรงเลี้ยงส่งกรรมการที่ออก และรับรองกรรมการที่เข้าใหม่ วันนั้นเป็นวันพระราชประสูติของพระองค์ แต่กรรมการหลายท่านไม่ทราบข้อนี้ ในเวลาที่รับพระราชทานเลี้ยง แม้ผู้ที่ชวนกรรมการให้พร้อมกันถวายพระพรก็ลืมวัน ได้กล่าวชักชวนเพียงว่าให้พร้อมกัน “ถวายพระพรให้ทรงพระกำลังและพระชนมายุยืนยาว เป็นที่พึ่งของสภากาชาดไปชั่วกาลนาน” มิได้กล่าวว่า เป็นวันพระราชประสูติเลย
สมเด็จสภานายิกาได้ประทับเสวยพร้อมกับกรรมการ เมื่อเสร็จเสวยแล้ว ได้ทอดพระเนตรการแสดงตำนานสภากาชาดย่อ ๆ ซึ่งนางพยาบาลและพนักงานในสภากาชาด ฝึกซ้อมกันเล่นถวายตัว บางตอนเป็น “ภาพมีชีวิต” (Tableau vivant) บางตอนเป็นทำนองละครพูด ตอนหนึ่งฉายรูปถ่ายของผู้ริเริ่มการอันนี้ในสยาม ตั้งแต่พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวปิยมหาราช แลพระรูปเจ้านายแลสตรีมีเกียรติ ซึ่งร่วมใจกันฉลองพระเดชพระคุณ จัดตั้งรูปงานของสภานี้ขึ้นเป็นเดิมมา
รูปถ่ายเหล่านั้น นอกจากสมเด็จสภานายิกาแล้ว ผู้ที่ดูอยู่ในคืนนั้น น้อยคนจะรู้จักหมด ผู้เขียนรู้จักเกือบจะหมดแต่ก็ไม่หมดเหมือนกัน ในเวลาที่นั่งดูได้นึกว่า สมเด็จสภานายิกาคงจะมีพระราชหฤทัยเศร้า เพราะรูปที่ฉายนั้น เตือนถึงบุคคลผู้เป็นที่รักแลที่คุ้นเคยมากทางหนึ่ง ทรงปีติที่ได้ทรงรับเตือนถึงงานกุศลอันนี้ ซึ่งพระองค์ได้มีส่วนทรงทำให้จำเริญติดต่อเป็นลำดับมากอีกทางหนึ่ง แต่เมื่อถ่วงความทรงรู้สึกทั้ง ๒ ทางแล้ว ผู้เดาพระราชหฤทัยสมเด็จพระอัยยิกาเจ้า คงจะเดาว่า พระองค์ทรงรู้เท่าลักษณะแห่งสังขาร คือ ชาติ แล มรณะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น การที่ได้ทรงรับเตือนให้ระลึกถึงความจำเริญแห่งการกุศลที่ได้มีเป็นลำดับมา คงจะทำให้ความปีติมีน้ำหนักถ่วงความเศร้าในคืนนั้น
การแสดงตำนานกาชาด ได้เริ่มแต่ครั้งสงครามไครเมีย เมื่อประมาณ ๘๐ ปีมาแล้ว อันเป็นคราวซึ่งฟฺลอเร็นซ์ไนติงเกล ได้เริ่มคิดพยาบาลทหารในสนามรบ เป็นเริ่มแรกของการกาชาด ซึ่งได้เกิดแลจำเริญต่อมา
ชาวเราในรุ่นนี้เห็นจะมีน้อยตัวที่รู้จักชายอังกฤษคนหนึ่งชื่อนายมอรันต์ (ภายหลังเป็น เซอร์ รอเบิร์ต มอรันต์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการของประเทศอังกฤษ) นายมอรันต์ เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระบรมโอรสาธิราชในรัชกาลที่ ๕ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์นั้นสวรรคตแล้ว นายมอรันต์ออกจากราชการสยาม กลับไปบ้านเมืองของเขา ได้รับราชการในประเทศโน้น จนได้รับตำแหน่งปลัดกระทรวง ซึ่งเป็นตำแหน่งชั้นสูงสุดในข้าราชการพลเรือนของเขา นายมอรันต์เป็นผู้ขึ้นชื่อว่า ได้จัดวิธีศึกษาแบบใหม่ ที่รัฐบาลอังกฤษบัญญัติขึ้น ข้อที่ผู้เขียนไม่เคยทราบและเพิ่งจะทราบก็คือว่า ในคราวที่นายมอรันต์มากรุงเทพ ฯ เมื่อยังเป็นหนุ่มออกจากมหาวิทยาลัยมาใหม่ ๆ นั้น ฟฺลอเร็นซ์ ไนติงเกล เป็นผู้แนะให้มา
การแสดงตำนานคืนนั้น ได้แสดงความก้าวหน้าของการกาชาดในยุโรปต่อสมัยฟฺลอเร็นซ์ ไนติงเกล มาอีก จนเวลาตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งสยาม ร.ศ. ๑๑๒ ในเวลานั้น การแพทย์ทหารยังมิได้จัดเป็นล่ำเป็นสัน สภาอุณาโลมแดง ได้เข้าช่วยแลทำให้เกิดการกระตือรือร้นกันทั่วไป เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ และสตรีมีเกียรติในพระราชวงศ์ และในสกุลข้าราชการ ได้พร้อมเพรียงช่วยกันวิ่งเต้น ในคฤหของสกุลใหญ่ ๆ เมื่อภรรยาเอาธุระจริงจังกับงานที่จัดขึ้นใหม่ ก็พาให้สามีต้องใส่ใจไปด้วย นี้เป็นธรรมดาของมนุษย์
ผู้เป็นหัวใจงานในส่วนที่อยู่นอกพระบรมมหาราชวังเวลานั้น เป็นญาติสนิทของผู้เขียน ผู้เขียนจึงได้เห็นงานจากภายในหลายอย่าง และทราบว่าเลขานุการิณีของสภาอุณาโลมแดง มีเลขานุการส่วนตัวประจำอยู่ในบ้าน เลขานุการส่วนตัวของเลขานุการณ์นั้นคือ สามี ซึ่งมีตำแหน่งราชการเป็นเสนาบดีเจ้ากระทรวงแห่งหนึ่ง เลขาธิการสภากาชาดเวลานี้ (กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๐) มีเกียรติสู้เลขานุการส่วนตัวของเลขานุการิณีสภาอุณาโลมแดงในสมัยโน้นเห็นจะไม่ได้
ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ การกาชาดของเราต้องจัดรูปใหม่ เพื่อจะได้ติดต่อกับกาชาดสากล จำต้องใช้ชื่อใหม่ว่าสภากาชาด และใช้เครื่องหมายเป็นกากบาทแดงล้วน เพื่อจะได้เหมือนเครื่องหมายของสภากาชาดแห่งประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นสมาชิกอยู่ในกาชาดสากลด้วยกัน ทุนของสภาอุณาโลมแดงที่มีเหลืออยู่เป็นจำนวนเงินไม่น้อย ได้โอนเข้ามารวมไว้ในสภากาชาด ซึ่งได้ทุนใหม่เพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก ล้วนแต่เป็นเงินซึ่งผู้มีทรัพย์บริจาคเป็นการกุศลทั้งนั้น อนึ่ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้สร้างขึ้นเป็นราชอนุสรณ์แห่งสมเด็จพระปิยมหาราช ในเมื่อเปลี่ยนรัชกาลใหม่ การสร้างโรงพยาบาลอันเป็นสง่าของพระนครอยู่แห่งหนึ่งนี้ ใครให้เงินบ้างย่อมจะปรากฏอยู่ในตำนานของสภากาชาดนั้นแล้ว
ในคืนที่พระราชทานเลี้ยงนั้น เจ้าพนักงานของสภากาชาดได้พูดกระจายเสียงทางวิทยุชี้แจงงานของสภา ถ้าใครฟังเวลานั้น หรืออ่านภายหลังก็ดี ควรจะเห็นว่า แรงส่วนสำคัญของสภากาชาด เป็นแรงที่ได้เปล่า สมเด็จสภานายิกาทรงอำนวยพระราชทรัพย์ และพระราชอุสาหะเป็นการกุศล และกรรมการทั้งคณะ รวมทั้งอุปนายก เลขาธิการ แลเหรัญญิก ก็ทำงานปราศจากสินจ้างหรือเครื่องตอบแทนอย่างอื่น นอกจากจะได้ความปลื้มใจที่ว่าได้ร่วมในการกุศลเท่านั้น
เราอนุโมทนาการงานของสภากาชาด ขอให้จำเริญยั่งยืนต่อไป เป็นกำลังส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งเกิดจากใจกุศลของคนเป็นส่วนใหญ่