- คำนำของผู้จัดพิมพ์
- ๑. สภากาชาด
- ๒ นิราศ
- ๓. โคบุตร
- ๔. ไวต์ชาวสยาม
- ๕. ผสมผสาน
- ๖. พม่าประเทศราช
- ๗. ผสมผสาน (๒)
- ๘. สำคัญอะไรที่ชื่อ
- ๙. ทุนสำรองพิกัด
- ๑๐. ผสมผสาน (๓)
- ๑๑. ประชาธิปัตย์แลความลับ
- ๑๒. เมื่อเจียงไคเช็คถูกจับ
- ๑๓. ขอโทษ
- ๑๔. เซี่ยงไฮ้
- ๑๕. อ๊อกซฟอด
- ๑๖. ดินเนอร์ใหญ่
- ๑๗. สามก๊ก
- ๑๘. หมู่ประเทศ “ออสโล”
- ๑๙. เซี่ยงไฮ้
- ๒๐. โรตารี่ในประเทศเยอรมัน
- ๒๑. ผสมผสาน (๔)
- ๒๒. รัฐคติ
- ๒๓. ล่าผัว
- ๒๔. โลกนี้ครึ่งหนึ่ง
- ๒๕. สก๊อตแลนด์กับอิงแลนด์
- ๒๖. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
- ๒๗. ขัติยมานะ
- ๒๘. เมื่อวันประกาศมหาสงคราม
- ๒๙. ปเกียรณกะ
- ๓๐. ในอินเดีย
- ๓๑. ในเมืองอังกฤษ
- ๓๒. คำราม
- ๓๓. ศัพท์รอยัลลิซต์
- ๓๔. อารยะชน อานารยะชน
- ๓๕. หนังสือพิมพ์
- ๓๖. กล่องดวงใจ
- ๓๗. ธนาธิปัตย์ยังไม่ตาย
- ๓๘. ฉากละคร
- ๓๙. ราชพิธีอังกฤษ
- ๔๐. ผสมผสาน (๕)
- ๔๑. นึกเมื่อฟังเทศน์
- ๔๒. บรรดาศักดิ์อังกฤษ
- ๔๓. กาพย์เห่เรือ
- ๔๔. โอวาทสำหรับชายหนุ่ม
- ๔๕. ราชาธิราชประเทศเม็กซิโก
- ๔๖. มุกดาดำ
- ๔๗. ประปา
- ๔๘. อุตสาหกรรมในกระท่อม
- ๔๙. ปนคำพูด
- ๕๐. วังแก้ว
- ๕๑. แซะประธาน
- ๕๒. ครึ่งสตางค์
- ๕๓. ฝักซ้ายฝ่ายขวา
- ๕๔. ประชาธิปัตย์สองแห่ง
- ๕๕. ยิวแลอาหรับ
- ๕๖. เฮ็บราย
- ๕๗. ประเทศอิราค
- ๕๘. พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ
- ๕๙. รัฐแฟรงก์
- ๖๐. ศัพท์
- ๖๑. …ิสม์
- ๖๒. ท่านเสือ
- ๖๓. ส่องกระจก
- ๖๔. พระสังตปาปา
- ๖๕. นานาภาษิต
- ๖๖. สำนวนหนังสือ
- ๖๗. อาศา
- ๖๘. คณะสงฆ์
ไวต์ชาวสยาม
ข้าพเจ้าไม่เคยทราบมาก่อนว่า มีชายอังกฤษคนหนึ่งชื่อไวต์ เป็นข้าราชการสยามในแผ่นดินพระนารายณ์มหาราช หรือถ้าได้เคยเห็นชื่อชายคนนั้นในหนังสือก็จำไม่ได้
เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมปีกลาย (พ.ศ. ๒๔๗๙) ข้าพเจ้าได้สมุดภาษาอังกฤษมาเล่มหนึ่ง ซึ่งนายมอริซ คอลลิศ เขียนใหม่แลพิมพ์ขึ้นในลอนดอน ในตอนปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๘ สมุดเล่มนั้นเรียกว่า “Siamese White” แปลว่าไวต์ชาวสยาม เป็นเรื่องราวของชายอังกฤษชื่อไวต์ ซึ่งรับราชการเป็นเจ้าท่าอยู่ที่เมืองมะริศ คือเมืองท่าของสยามค้าขายกับต่างประเทศ คือจีนด้านหนึ่ง อินเดียด้านหนึ่ง มะริศเป็นอ่าวสำคัญของสยามในสมัยนั้น สยามในสมัยนั้นเป็นแหล่งกลางของการค้าขายอินเดียกับจีน สินค้าจากอินเดียผ่านสยามไปเมืองจีนมีปริมาณเป็นอันมาก และสินค้าจากเมืองจีนไปอินเดียก็เช่นกัน
ในสมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี เมื่อกรุงเทพฯ ยังไม่มี เมืองมะริศเป็นอ่าวท่าสำคัญที่สุด แต่ทางติดต่อระหว่างพระนครกับเมืองมะริศต้องใช้ทางบก ซึ่งหมายความว่า รู้ถึงกันไม่ใคร่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นหัวหน้าราชการอยู่ที่เมืองมะริศจึงเป็นผู้มีวาสนา จะทำอะไรในพระนามพระเจ้าแผ่นดินสยามก็ทำได้โดยมาก
กรุงศรีอยุธยาในสมัยโน้น ถ้ากล่าวความตามที่ฝรั่งเขียนไว้ ก็เป็นเมืองใหญ่โตมีสง่าผ่าเผยยิ่งนัก มั่งคั่งด้วยสมบัติบรมจักร สยามในสมัยโน้น ก็เป็นประเทศเพาะปลูกเหมือนสยามในสมัยนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐) แต่ถ้าจะอาศัยแต่เพียงการเพาะปลูก กรุงศรีอยุธยาก็คงจะไม่มีทองคำเนื้อแปดมาบุยอดพระเจดีย์องค์ใหญ่ ๆ และบุพระพุทธรูปสูง ๗ วา ๒ ศอก เต็มทั้งองค์ พระพุทธรูปองค์นั้น บุด้วยทองคำเนื้อแปดหนักถึง ๒๖,๐๐๐ บาท อนึ่ง คงจะไม่มีเนื้อเงินที่จะทำโต๊ะรองอ้อยและหญ้าให้ช้างเผือกกิน ไม่มีจะทำเงินพดด้วงใช้เป็นเบี้ยตราตำลึง บาท สลึง แลเฟื้องใช้ทั่วประเทศ
ถ้าเพียงแต่ชาวสยามในสมัยนั้นค้าขายกันเองในบ้านเมือง เอาข้าวแลกมะพร้าว เอามะพร้าวแลกพริกไทย พริกไทยแลกเกลือ ก็เกิดเป็นแร่ทองแร่เงินแลทรัพย์อื่น ๆ ซึ่งประมวลเข้าเป็นสมบัติบรมจักรไม่ได้
เหตุที่ประเทศมั่งคั่งในสมัยโน้น ก็เพราะเป็นแหล่งกลางแห่งหนึ่งของการค้าขายระหว่างประเทศ ทำนองอ่าวท่าซึ่งเป็นการดำเนินค้าขายในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๔๘๐) เช่นสิงคโปร์แลฮ่องกง ซึ่งหาได้มีทรัพย์ในพื้นที่ของตนเองเป็นล่ำเป็นสัน
ความเป็นแหล่งกลางของการค้าขายระหว่างประเทศ อันเป็นเหตุให้เกิดสมบัติบรมจักรนี้ มีผลในทางที่ทำให้สยามในสมัยโน้นต้องทำศึกอยู่ร่ำไป พระเจ้าแผ่นดินมอญหรือพม่ายกมาตีกรุงศรีอยุธยา เพื่อจะแย่งเอาช้างเผือกก็มี เพื่ออื่น ๆ ก็มี ไม่มีเหตุอะไรที่จะยกขึ้นอ้างได้ก็มี แต่ความประสงค์แท้จริง ไม่ใช่เพื่อจะเอาช้างเผือก หรือเพื่อเหตุนั้น ๆ ความมั่งมีของกรุงศรีอยุธยานั้นแหละ เป็นเหตุให้ต้องทำศึกอยู่บ่อย ๆ
ที่เขียนข้างบนนี้ ประสงค์จะให้เห็นความสำคัญของเมืองมะริศ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นอ่าวท่าการค้าขายระหว่างประเทศ หรือเป็นประตูพาณิชย์ประตูหนึ่งของสยาม เป็นประตูซึ่งเมื่อตั้งให้ใครเป็นนายประตูแล้ว ก็ตามไปตรวจตราควบคุมไม่ได้ ต้องมอบอำนาจให้ไปจนจะว่าสิทธิขาดก็ว่าได้
อนึ่ง ในแผ่นดินพระนารายณ์มหาราช ได้มีเรือกำปั่นใบของหลวง เป็นเรือขนสินค้าไปต่างประเทศมีจำนวนไม่น้อยลำ เรือเหล่านั้นพาสินค้าสยามไปแล้วก็พาสินค้าต่างประเทศมา สินค้าประเทศโน้น นอกจากที่จะจำหน่ายในประเทศนี้ ยังขนส่งต่อไปประเทศอื่นด้วย เพราะฉะนี้ เจ้าท่าที่เมืองมะริศนอกจากเป็นผู้จัดท่าแลเก็บภาษีแล้ว ยังเป็นนายห้างของพระเจ้าแผ่นดินด้วย
สมุดภาษาอังกฤษที่เรียกชื่อว่า “ไวต์ชาวสยาม” เป็นสมุดซึ่งข้าพเจ้าได้มาแต่ตอนต้นปีกลาย (พ.ศ. ๒๔๗๙) ได้อ่านแล้วเห็นควรจะนำมาเขียนเป็นภาษาไทย เป็นเครื่องอุดหนุนการศึกษาพงศาวดารตอนพระนารายณ์มหาราชได้ส่วนหนึ่ง พระราชพงศาวดารสยาม ย่อมจะมีบางตอนซึ่งสำคัญกว่าหรือสำคัญเสมอตอนพระนารายณ์มหาราช แต่หากเราไม่มีหนังสือเหลือไว้ที่จะเก็บความให้ได้ละเอียดนัก แผ่นดินพระนารายณ์มหาราช มีฝรั่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ในราชการ (คือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์) จึงได้มีความติดต่อกับฝรั่ง ตลอดถึงพระเจ้าแผ่นดินในยุโรป และมีฝรั่งมาอยู่ หรือมาเยี่ยมสยามในสมัยนั้นมาก จนบางคนได้เขียนหนังสือไว้ให้เราอ่านละเอียดว่าจดหมายเหตุที่ไทยเราได้เขียนไว้เอง แต่หนังสือซึ่งฝรั่งเขียนไว้ในสมัยโน้น ถ้าฝรั่งผู้เขียนเป็นผู้ที่ได้มาสยามชั่วคราวแล้วกลับไปเขียนทั้ง ๆ เล่มสมุด หนังสือที่เขาเขียนไว้ก็คงจะเหมือนกับหนังสือซึ่งฝรั่งที่มาเที่ยว ยังไม่ทันรู้อะไรแน่นอน กลับไปเขียนเรื่องเมืองไทยในสมัยนี้ จะเชื่อเอาว่าทุกคำที่เขากล่าวเป็นคำถูกต้องจริงจังนั้นไม่ได้
แต่หนังสือที่เรียก “ไวต์ชาวสยาม” นี้ ผู้เขียนได้เขียนเสร็จ และพิมพ์ออกมาประมาณ ๒๕๐ ปี จากเวลาที่เขาเล่า เขาอ้างหลักฐานที่ไวต์และฝรั่งผู้ช่วยของไวต์เขียนไว้ในสมัยโน้น ก็เป็นข้อความซึ่งน่าจะฟังมากอยู่
ข้าพเจ้าไม่มีเวลาที่จะเก็บข้อความจากหนังสือ “ไวต์ชาวสยาม” มาเล่าโดยพิศดาร แต่บัดนี้เพื่อนนักเขียนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้รู้ภาษาอังกฤษดี และเขียนภาษาไทยดี ได้เก็บเอาใจความในสมุดที่ออกชื่อนี้ มาเขียนเล่าเป็นภาษาไทยตามเค้าความเดิม แลชี้แจงอ้างหลักฐานเพิ่มเติมตามที่เขาได้ศึกษามาด้วย