พระสังตปาปา

เจ้าประคุณพระสังตปาปา พระปิอุสที่ ๑๑ ซึ่งถึงพิราลัยเมื่อเช้าวันศุกร์ (ทรงเรื่องนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑) ชนมายุเกือบ ๘๒ ปี เป็นพระศาสนราชาธิบดีผู้จะปรากฏนามยืนยาวไปในพงศาวดาร เป็นที่นับถือของชน แม้ที่มิได้อยู่ในนิกายคาโธลิกส์ หรือแม้ชนที่มิได้อยู่ในศาสนาคริสเตียน ก็ยกย่องท่านว่า เป็นบุคคลผู้น่านับถืออยู่ผู้หนึ่ง ผู้สนใจรู้ความเป็นไปในโลกปัจจุบัน รู้ความยากในหน้าที่ของพระศาสนราชาธิบดี รู้ความบากบั่นของท่านที่ถึงพิราลัยไป ย่อมเกิดความเคารพต่อท่านผู้เฒ่า ผู้ยอมเข้ารับตำแหน่งในเวลายาก แลบากบั่นในหน้าที่ปราศจากท้อถอยจนใกล้จะดำรงชีวิตไปไม่ได้ถึง ๒-๓ ครั้งแล้ว แลในที่สุดก็ถึงพิราลัยไป จึงได้รับสรรเสริญของชนเป็นอันมาก

พระศาสนราชาธิบดีแห่งนิกายคาโธลิกส์ เป็นประมุขของศาสนิกชนประมาณ ๓๓๐ ล้านคน มีฐานะเสมอพระเจ้าแผ่นดิน ครองกรุงวติกันอันเป็นประเทศเอกราช พระศาสนราชาธิบดีเคยเป็นตำแหน่งเจ้าผู้ครองภาคกลางแห่งประเทศซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่าอิตาลี ในสมัยที่ประเทศนั้นยังหาได้รวมกัน เข้าเป็นรัฐใหญ่รัฐเดียวกันไม่ ใน ค.ศ. ๑๘๗๐ อิตาลีได้รวมเป็นรัฐเดียวกัน มีพระเจ้าฮุมแบร์ตที่ ๑ เป็นพระราชาธิบดีองค์แรกของรัฐรวม (คือพระราชบิดาของพระเจ้าแผ่นดินเดี๋ยวนี้ พ.ศ. ๒๔๘๑) การที่รวมอิตาลีหลายภาคเข้าเป็นรัฐใหญ่นั้น เกิดเป็นปัญหากับรัฐของพระศาสนราชาธิบดี ซึ่งอยู่ในอิตาลีเหมือนกัน แลอาณาเขตของพระศาสนราชาธิบดีก็ถูกรวมเข้าไปด้วย ในปี ๑๘๗๑ อิตาลีได้บัญญัติว่า พระศาสนราชาธิบดีมีอำนาจอยู่แต่ภายในตึก ๒-๓ หลังเท่านั้น แลให้ได้รับเงินค่าทำขวัญเป็นรายปี แต่พระศาสนราชาธิบดีในเวลานั้นไม่ยอมรับรู้ แลไม่ยอมรับเงินทำขวัญ แลบัญญัติให้ตนเองเป็นผู้ถูกกักขังอยู่ภายในบริเวณวติกัน แลสั่งไม่ให้ศาสนิกชนรับรู้เห็นในการที่จัดประเทศอิตาลีขึ้นใหม่ โดยเลมิดต่ออำนาจศาสนา ไม่ให้ศาสนิกชนรับตั้งในตำแหน่งของรัฐ หรือลงคะแนนมติในการเลือกตั้งต่าง ๆ

รูปการเช่นนี้เรียกในพงศาวดารว่า “ปัญหาโรมัน” ซึ่งแก้ไม่ตกมาถึง ๔ ชั่วอายุพระศาสนราชาธิบดี รัฐบาลอิตาลีจะทำอะไรรุนแรงก็ไม่ได้ เพราะคนนับถือศาสนามีมาก แม้พระเจ้าแผ่นดินอิตาลีเอง ก็ทรงถือศาสนานิกายนั้น

ครั้นเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๒ (นับมาถึงเดี๋ยวนี้ พ.ศ. ๒๔๘๑ ประมาณ ๑๗ ปี) พระศาสนราชาธิบดี ทรงนามพระเบเนดิกต์ที่ ๑๕ ถึงพิราลัยลง ต้องมีการเลือกกันใหม่ ผู้ลงคะแนนเลือกต้องมีบรรดาศักดิ์เป็นศาสนราชชั้นคาดินัลทั้งนั้น พระศาสนราชทั้งหลายประชุมกันลงคะแนนลับ มีคาดินัลผู้รับเลือกได้คะแนนใกล้กัน ๒ ท่าน จึงต้องเลือกกันใหม่ ครั้งนี้คะแนนตกแก่คาดินัลอีกองค์หนึ่ง แต่ท่านผู้นี้ไม่ยอมรับ จึงต้องลงคะแนนกันใหม่เป็นครั้งที่ ๓ คะแนนครั้ง ๓ นี้ส่วนมากได้แก่คาดินัลรัตตี ท่านผู้นี้ยอมรับตำแหน่ง แลเลือกนามปิอุส

การลงคะแนนเลือกตั้งพระศาสนราชาธิบดีนี้ ผู้รับเลือกตั้งต้องได้คะแนน ๒ ใน ๓ แห่งคะแนนทั้งหมด มิฉนั้นก็ต้องเลือกกันใหม่

พระปิอุสที่ ๑๑ ได้รับสถาปนาเป็นพระศาสนราชาธิบดี เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๖ แต่ “ปัญหาโรมัน” ก็ยังมีอยู่เรื่อยมาจน ค.ศ. ๑๙๒๖ พระศาสนราชาธิบดีกับรัฐบาลอิตาลีจึงได้ส่งผู้แทนเจรจากัน เพื่อจะตัดปัญหาให้สิ้นไป ในที่สุดเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๑๙๒๙ ก็เป็นตกลงว่าคืนไมตรีแก่กัน แลเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ปีนั้น ได้เซ็นหนังสือสัญญาเรียกว่าหนังสือสัญญาลเตรัน ซร. มุซโซลินีเป็นผู้ลงนามแทนพระเจ้าแผ่นดินแลประเทศอิตาลี

หนังสือสัญญาฉบับนั้นระบุความว่า ศาสนานิกายคาโรลิกซ์เป็นศาสนาเดียวของรัฐอิตาลี แลอิตาลีรับรองว่า กรุงวติกันเป็นรัฐอิสระ อนึ่ง อิตาลีรับรองว่า พระศาสนราชาธิบดีเป็นที่สักการะ อันผู้ใดจะเลมิดมิได้ เสมอกับตำแหน่งพระราชาธิบดีแห่งประเทศอิตาลีเอง ส่วนพระศาสนราชาธิบดีนั้น ได้แสดงแจ่มแจ้งในหนังสือสัญญาว่า รับรองว่าอิตาลีเป็นรัฐ แลทั้งรับรองพระราชวงษ์ด้วย นอกจากนี้ หนังสือสัญญาลเตรันยังมีข้อความอื่น ๆ อีกหลายข้อ ซึ่งยาวเกินที่จะนำมากล่าวในที่นี้

หนังสือสัญญาฉบับที่กล่าวนี้ เป็นผลแห่งงานชิ้นสำคัญที่สุดในหนึ่งในพงศาวดาร แลได้มีความเรียบร้อยมาหลายปี แต่มาในตอนหลังนี้ ลัทธิการเมืองแบบใหม่ ๆ เกิดไม่ลงรอยกับศาสนาขึ้น ลัทธิคอมมูนิสต์ในรัซเซีย ได้เริ่มต้นรังควานศาสนาก่อน แลในตอนนั้น ศาสนาก็ได้เข้าใจว่า ลัทธิฟาสซิสม์จะเป็นผู้อุดหนุนมิให้คอมมูนิสต์รังแกได้ แต่มาในตอนหลัง ลัทธิการเมืองเกิดค้านกันขึ้นกับลัทธิศาสนา ดังที่เราย่อมได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ ๆ แล้ว แต่พระศาสนราชาธิบดีก็มิได้ละเว้นพยายามที่จะรักษาศาสนาไว้ จึงเป็นที่สรรเสริญของชนเป็นอันมากทั่ว ๆ ไป

การเลือกพระศาสนราชาธิบดี มักจะเลือกในเร็ววันจากวันพิราลัย แต่ก็ต้องกำหนดเวลาให้พอแก่ที่คาดินัลซึ่งอยู่ ในประเทศอื่น ๆ จะมีเวลาเดินทางไปพร้อมกันที่กรุงวติกันได้ ในเวลานี้ (กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑) คาดินัลมีอยู่ในประเทศอังกฤษองค์หนึ่ง ซึ่งป่านนี้คงจะออกเดินทางไปกรุงวติกันแล้ว แลมีในอเมริกา ๓ องค์ ซึ่งกำลังจะออกเดินทางอยู่ ได้ยินว่ากำหนดวันที่ ๑ เดือนหน้า (มีนาคม ๒๔๘๑) เป็นวันเริ่มประชุมสภาคาดินัล ซึ่งเทียบเสมอกับสภาองคมนตรี ของพระราชาธิบดีในประเทศอื่น ๆ

ในระหว่างวันที่ประชุมกัน เพื่อจะเลือกพระศาสนราชาธิบดีองค์ใหม่นั้น คาดินัลองค์หนึ่ง ๆ ก็มีห้องซึ่งจัดให้พักอยู่ในวังวติกัน ต้องอยู่ในห้องตลอดเวลา เว้นแต่เวลาไปโบถ จะไปไหนไม่ได้ หรือติดต่อกับใครก็ไม่ได้ ในเวลาที่ท่านคาดินัลทั้งหลายถูกกักอยู่นั้น พวกชีเป็นผู้ทำอาหารให้กิน

เมื่อถึงกำหนดวันลงคะแนน คาดินัลไปนั่งพร้อมกันในโบถ ครั้นได้สัญญาจากหัวหน้าสภา คาดินัลต่างองค์ก็เขียนโหวตของตนด้วยลายมือ ซึ่งแกล้งไม่ให้เหมือนที่เขียนตามปรกติเพื่อจะให้เป็นคะแนนลับจริง ๆ ในโหวตเหล่านั้น เมื่อนับแลบันทึกคะแนนไว้เสร็จแล้ว ก็เผาในเตาซึ่งเตรียมไว้พร้อม ครั้นควันออกจากปล่องไฟ ก็เป็นสัญญาให้คนภายนอกทราบว่าได้ลงคะแนนกันเสร็จแล้ว

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ