- คำนำของผู้จัดพิมพ์
- ๑. สภากาชาด
- ๒ นิราศ
- ๓. โคบุตร
- ๔. ไวต์ชาวสยาม
- ๕. ผสมผสาน
- ๖. พม่าประเทศราช
- ๗. ผสมผสาน (๒)
- ๘. สำคัญอะไรที่ชื่อ
- ๙. ทุนสำรองพิกัด
- ๑๐. ผสมผสาน (๓)
- ๑๑. ประชาธิปัตย์แลความลับ
- ๑๒. เมื่อเจียงไคเช็คถูกจับ
- ๑๓. ขอโทษ
- ๑๔. เซี่ยงไฮ้
- ๑๕. อ๊อกซฟอด
- ๑๖. ดินเนอร์ใหญ่
- ๑๗. สามก๊ก
- ๑๘. หมู่ประเทศ “ออสโล”
- ๑๙. เซี่ยงไฮ้
- ๒๐. โรตารี่ในประเทศเยอรมัน
- ๒๑. ผสมผสาน (๔)
- ๒๒. รัฐคติ
- ๒๓. ล่าผัว
- ๒๔. โลกนี้ครึ่งหนึ่ง
- ๒๕. สก๊อตแลนด์กับอิงแลนด์
- ๒๖. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
- ๒๗. ขัติยมานะ
- ๒๘. เมื่อวันประกาศมหาสงคราม
- ๒๙. ปเกียรณกะ
- ๓๐. ในอินเดีย
- ๓๑. ในเมืองอังกฤษ
- ๓๒. คำราม
- ๓๓. ศัพท์รอยัลลิซต์
- ๓๔. อารยะชน อานารยะชน
- ๓๕. หนังสือพิมพ์
- ๓๖. กล่องดวงใจ
- ๓๗. ธนาธิปัตย์ยังไม่ตาย
- ๓๘. ฉากละคร
- ๓๙. ราชพิธีอังกฤษ
- ๔๐. ผสมผสาน (๕)
- ๔๑. นึกเมื่อฟังเทศน์
- ๔๒. บรรดาศักดิ์อังกฤษ
- ๔๓. กาพย์เห่เรือ
- ๔๔. โอวาทสำหรับชายหนุ่ม
- ๔๕. ราชาธิราชประเทศเม็กซิโก
- ๔๖. มุกดาดำ
- ๔๗. ประปา
- ๔๘. อุตสาหกรรมในกระท่อม
- ๔๙. ปนคำพูด
- ๕๐. วังแก้ว
- ๕๑. แซะประธาน
- ๕๒. ครึ่งสตางค์
- ๕๓. ฝักซ้ายฝ่ายขวา
- ๕๔. ประชาธิปัตย์สองแห่ง
- ๕๕. ยิวแลอาหรับ
- ๕๖. เฮ็บราย
- ๕๗. ประเทศอิราค
- ๕๘. พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ
- ๕๙. รัฐแฟรงก์
- ๖๐. ศัพท์
- ๖๑. …ิสม์
- ๖๒. ท่านเสือ
- ๖๓. ส่องกระจก
- ๖๔. พระสังตปาปา
- ๖๕. นานาภาษิต
- ๖๖. สำนวนหนังสือ
- ๖๗. อาศา
- ๖๘. คณะสงฆ์
พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ
ในสภาสามัญแห่งปาลิเม็นต์อังกฤษ เมื่อบ่ายวันพฤหัศ (๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙) นายบอลด์วิน อัครเสนาบดีได้แถลงเรื่องพระเจ้าเอ็ดเวิดที่ ๘ ทรงลาออกจากราชสมบัติ นายบอลด์วินพูดประมาณชั่วโมงหนึ่ง เป็นแต่เพียงเล่าเรื่องที่เป็นมาในตอนหลัง เฉพาะที่นายบอลด์วินได้ติดต่อกับพระองค์พระราชา หาได้แสดงความเห็นชอบ หรือเห็นผิดประการใดไม่
นายบอลด์วินขึ้นต้นว่า พระราชากับตัวเขาเป็นมิตรกันอย่างดีในส่วนบุคคล ถึงแม้ว่าการคราวนี้ จะเป็นเรื่องยากที่จะรักษาความเป็นมิตรระหว่างบุคคลไว้ได้ ก็มิได้เสียไมตรีไปเลย พระราชาทรงแสดงอัธยาศัยอย่างดีที่สุด แลถึงแม้แต่นี้ต่อไป ไมตรีส่วนบุคคลก็จะยืนยงไปจนถึงมรณะจากกันไป
นายบอลด์วินเล่าเรื่องที่จะเกิดเหตุในคราวนี้ว่าหนังสือพิมพ์ในอเมริกาแลคานาดาเป็นต้น ได้ลงพิมพ์ข่าวที่เกี่ยวแก่พระองค์พระราชา อีกทั้งการหย่าร้างรายหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องเตือนให้เกิดเหตุเร็วเข้า ข่าวที่กล่าวกันต่าง ๆ นานานั้นย่อมจะปรากฏไปในประเทศต่าง ๆ ในราชอาณาจักรอังกฤษ แล จะป้องกันมิให้ไปถึงประเทศอังกฤษเองได้นั้น มิอาจป้องกันได้ ตำแหน่งพระราชาอังกฤษเป็นโซ่ซึ่งผูกประเทศต่างๆ ในเครือจักรพรรดิราชย์ให้รวมกันอยู่ได้ นอกจากพระราชาแล้ว ไม่มีอย่างอื่นเลย เพราะฉนั้นการป้องกันนินทาว่าร้ายแก่พระราชาจึงเป็นของสำคัญนัก เหตุที่เกิดนี้ย่อมจะนำซึ่งความนินทาว่าร้าย แลผู้ที่จะนำเรื่องนี้ขึ้นทูลตักเตือนได้ก็มีคนเดียว คืออัครเสนาบดีของพระองค์ การที่นายบอดดวินจะเข้าเฝ้าครั้งนี้ มิได้แจ้งให้ผู้ใดแม้แต่เพื่อนเสนาบดีด้วยกันทราบจนคนเดียว ถือเป็นกิจระหว่างพระองค์พระเจ้าแผ่นดินกับตัวอัครเสนาบดีโดยเฉพาะ ความประสงค์ที่นำขึ้นกราบทูลก็เพื่อจะให้ทรงพระราชดำริให้ถ่องแท้ แลชั่งน้ำพระทัยให้ดีก่อน จึงตกลงในพระราชหฤทัยว่าจะทรงปฏิบัติอย่างไรต่อไป
พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงถือโทษการที่นายบอลด์วินขอเฝ้าแลเพ็จทูลเช่นนั้นเลย ที่แท้การเข้าเฝ้าครั้งนั้นเป็นครั้งแรก ที่เข้าเฝ้าโดยคำขอร้องของเขาเอง แต่ก่อน ๆ เขาได้เคยเข้าเฝ้า เพราะรับสั่งให้หาเสมอ ในคราวนี้เขาเห็นเป็นเรื่องซึ่งจะนิ่งไว้มิได้ จึงโทรศัพท์ถึงราชเลขานุการ ในเวลาที่พระราชาเสด็จไปไล่เนื้อให้กราบทูลว่า อัครเสนาบดีขอเฝ้าเพราะมีราชการด่วน พระราชาได้เสด็จกลับเข้าไปในลอนดอนเพื่อให้เฝ้า (เราคงจะจำกันได้ว่า ก่อนจะออกยิงเนื้อครั้งนั้น พระราชาเสด็จขึ้นรถหายไป มีรับสั่งไว้ให้พวกที่รับเชิญไปเป็นแขกออกไปกันเอง ไม่มีใครทราบว่า เวลานั้นพระราชาเสด็จขึ้นรถไปไหน)
ฝ่ายพระเจ้าเอ็ดเวิด เมื่อนายบอลด์วินกราบทูลดังนั้นแล้ว ก็ตรัสถึงเรื่องการแต่งงานชนิดที่เรียกว่ามอร์แกแนติค (คือเจ้านายแต่งงานกับผู้มิได้อยู่ในราชสกุล แลคู่แต่งงานมิได้รับยกย่องขึ้นเสมอศักดิ์) นายบอลด์วินได้ทูลชี้แจง ดังที่เราทราบกันอยู่แล้ว
มาบัดนี้ (วันพฤหัศ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙) พระเจ้าเอ็ดเวิดได้ลงพระบรมนามาภิไธยในหนังสือสำคัญสละราชสมบัติแล้ว แต่มีพระราชหัตถเลขาเป็นคำชี้แจงกำกับถึงนายบอลด์วินด้วย ตอนนี้นายบอลด์วินได้อ่านพระราชหัตถเลขาทั้ง ๒ ฉบับให้ปาลิเม็นต์ฟัง แลแจ้งว่าได้บอกไปยังรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในจักรพรรดิราชย์อังกฤษแล้ว ลายพระราชหัตถ์ซึ่งพระราชทานไปถึงนายบอลด์วินนั้น พระราชอนุชาทั้ง ๓ พระองค์ลงพระนามกำกับด้วย แลพระเจ้าเอ็ดเวิดทรงกล่าวในตอนท้ายว่า จะทรงเวนราชสมบัติแก่พระราชอนุชาองค์ใหญ่ คือ ดฺยุ๊ก ออฟ ยอร์ค ซึ่งทรงแน่พระทัยว่า คนทั้งหลายคงจะจงรักภักดีต่อไป
ในที่สุดนายบอลด์วินได้เสนอร่างกฎหมายเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดิน ทำนองคล้ายกับพระเจ้าแผ่นดินสวรรค์คต แปลกแต่ว่าเมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิดเสด็จออกไปแล้ว ก็เป็นอันสละสิทธิที่จะรับตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินต่อไป ถ้ามีพระโอรสธิดาต่อไปภายหน้าก็ไม่มีสิทธิเหมือนกัน ร่างกฎหมายนี้ปาลิเม็นต์ได้รับรองหลักการในทันที แลจะได้ประชุมให้ผ่านการปรึกษาครั้งที่ ๒ ที่ ๓ ตามระเบียบในวันที่เขียนนี้ (วันศุกร์ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙) เมื่อกฎหมายรายนี้ออกในวันเสาร์ ก็เป็นอันว่าสถาปนาพระเจ้าแผ่นดินใหม่ในวันนั้น
ส่วนในประเทศอื่น ๆ ในจักรพรรดิราชย์ ก็ทำพิธีออกกฎหมายเช่นเดียวกัน แลคงจะออกวันนี้ (เสาร์ที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙) ทั้งนั้น เว้นแต่ประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งเมื่อวานนี้ (วันพฤหัศที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙) ยังหาได้ประชุมปาลิเม็นต์ไม่
ข้อความที่กล่าวข้างบนนี้ คงจะมีอยู่ในโทรเลข ซึ่งเรานำมาแปลในหน้าอื่นแล้ว แต่ใจความในโทรเลขคงจะย่อ เพราะคำแถลงในปาลิเม็นต์นั้น แม้เพียงนายบอลด์วินพูดคนเดียวก็ประมาณชั่วโมงเสียแล้ว ยังนายแอตต์ลี นายวินสตัน เชอร์ชิล นายพันเอกวู้ดเวิดซ์ แลสมาชิกคอมมูนิสต์คนหนึ่ง พูดอีกเล่า
คำที่นายบอลด์วินกล่าวในตอนท้ายมีคำหนึ่งว่า ขอให้สมาชิกปาลิเม็นต์คนใดพูดอะไรที่จะเสียใจภายหลัง จงพร้อมใจกันสงบเสงี่ยมถ้อยคำให้ทั่วกันเถิด แต่มีสมาชิกคอมมูนิสต์คนหนึ่งพูดว่า เรื่องคราวนี้ไม่ใช่เรื่องระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับปาลิเม็นต์ เป็นเรื่องดฺยุ๊ก ๒ องค์ “ชก” กัน เพื่อจะแย่งตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดิน คำพูดเช่นนี้ เข้าใจว่าคงจะไม่มีใครฟังเอาเป็นอารมณ์ เพราะปาลิเม็นต์ได้รับร่างกฎหมายทันที แลคนอื่นที่พูดก็พูดอย่างเรียบร้อยทั้งนั้น สมาชิกคอมมูนิสต์ที่พูดเกะกะนั้นไม่ได้ยินชื่อ แต่เราได้สอบดูรายชื่อสมาชิกปาลิเม็นต์อังกฤษแยกตามชมรม ได้ความว่า คอมมูนิสต์ในปาลิเมนต์อังกฤษมีคนเดียว ชื่อ W. Gallacher เป็นผู้แทน West Fife (Scotland)
ในสภาขุนนางได้มีผู้แถลงตามที่นายบอลด์วินได้กล่าวอีกทางหนึ่ง