ธนาธิปัตย์ยังไม่ตาย

วันนี้เราจะเริ่มด้วยการอธิบายศัพท์ที่เราตั้งขึ้นใหม่ ศัพท์นั้นคือ “ธนาธิปัตย์” ซึ่งเราใช้เป็นคำแปลศัพท์อังกฤษว่า แคปิตัลซม์ Capitalism คือวิธีการซึ่งอำนาจทรัพย์ของเศรษฐีแผ่คลุมไปในกิจการต่าง ๆ อเมริกาเป็นตัวอย่างประเทศธนาธิปัตย์ คือ การจัดให้เกิดทรัพย์ ย่อมอาศัยธนบดี คือเศรษฐีบุคคล หรือบริษัทเศรษฐี รัซเซียเป็นตัวอย่างประเทศที่ตรงกันข้าม มีความมุ่งหมายจะกวาดธนาธิปัตย์ให้หมดไป นัยหนึ่งไม่ให้มีอำนาจเศรษฐีบังคับได้

ข้อความที่เรานำมากล่าวต่อไปนี้ ได้จากนักเขียนอเมริกันคนหนึ่งชื่อ เอ็ช. เอ็ล, เม็งเค็น แต่ก่อนเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชื่อ “อเมริกัน เมอคูรี” คำกล่าวของเขาเป็นคำของผู้ยินดีในธนาธิปัตย์ อาจมีทั้งถูกแลผิด ที่จะเชื่อว่าอะไรผิดอะไรถูกนั้น เป็นธุระของเราเอง แต่การฟังผู้อื่นชี้แจง ก็ย่อมเป็นเครื่องประกอบปัญญา

นายเม็งเค็นกล่าวว่า อเมริกันพวก “แดง” (คอมมูนิซม์) ยืนยันว่า ธนาธิปัตย์เต็มไปด้วยโรค ไม่ช้าก็จะเข้าโลง พวกนั้นต้องการให้คนอื่น ๆ เชื่อว่าข้อที่คน ๆ ใด ใช้คนอื่น ๆ ทำงาน ให้เกิดทรัพย์พอกพูลแก่ตนนั้น ไม่ช้าก็จะหมดไป เพราะไม่มีใครจะทนได้ แลบาปใหญ่ที่เรียกว่ากำไรนั้นจะต้องศูนย์ไปในไม่ช้า

นายเม็งเค็นว่า ตามที่ว่านี้ฟังก็ครึกครื้น แต่ก็ไม่จริงอยู่นั่นเอง ธนาธิปัตย์ในโลกนี้ยังไม่ตาย ที่แท้ยิ่งยึดรากแน่นหนาไปกว่าเวลาไหน ๆ ใน ๑๐๐ ปีที่แล้วมานี้ ยิ่งในรัซเซีย ธนาธิปัตย์ยิ่งตั้งแน่นกว่าที่อื่น ๆ

ก็อันใดเล่าที่คอมมูนิซม์เกรี้ยวโกรธ ในรัซเซีย ก่อนที่คอมมูนิซม์ได้โอกาสจะดำเนินการให้เต็มที่ในประเทศนั้น สิ่งที่โกรธนักก็คือว่า ตามวิธีธนาธิปัตย์นั้น เครื่องมือทำสินค้าเป็นของเศรษฐีธนบดีหมด ในสมัยโบราณ เมื่อโลกยังทำสินค้าทีละน้อย ผู้ทำก็มีเครื่องมือของตัวเอง เป็นต้นว่าช่างเหล็กก็มีเตาหลอมเหล็กแลมีทั่งแลค้อนของตนเอง ทำสินค้าได้ก็เป็นของตัวเอง ไม่ต้องทำงานเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น หรือฟังบังคับจากใคร แต่ครั้นเครื่องมือกลายเป็นเครื่องจักรใหญ่ ๆ พวกทำสินค้าจะใช้เครื่องมือง่าย ๆ ราคาถูก ๆ อย่างแต่ก่อนก็สู้เขาไม่ได้ จะซื้อเครื่องมืออย่างใหม่ ๆ ก็ไม่มีทุน พวกมีทุนจึงต้องเป็นผู้ซื้อเครื่องมือให้ผู้อื่นทำ เช่นลงทุนตั้งแสนสร้างโรงสีขึ้น แล้วจ้างคนเป็นอันมากมาช่วยสี ข้าวขายเป็นประโยชน์แก่เจ้าของทุน พวกที่ตำข้าวทีละครกก็ทำไปไม่ได้ ธนาธิปัตย์ นัยหนึ่งวิธีการซึ่งอำนาจทรัพย์ของธนบดี (เศรษฐี) ปกคลุมไปในกิจการนั้น ได้กำเนิดด้วยประการนี้

แต่ธนบดีไม่ใช่จะไม่มีทางเสียหายเลยก็หามิได้ ธนบดีก็ต้องแข่งขันกับธนบดีด้วยกัน แลธนบดี ซึ่งลงทุนสร้างเครื่องมือลงไปนั้น อาจขาดทุนเพราะเครื่องมือใหม่เกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ เครื่องมือใหม่คงจะทำได้ดีกว่า แลโสหุ้ยถูกกว่าเครื่องเก่า ก็เป็นอันว่าเครื่องมือเก่าต้องแพ้กันไปในตัว เหตุดังนี้ ผู้ที่ลงทุนไปแล้วคงจะรีบกอบโกยเอากำไรให้มาก ในเวลาที่กำไรยังดีอยู่ เพื่อสะสมให้ได้ทรัพย์ไว้ ทำนองน้ำขึ้นก็ตักไว้ให้เต็มโอ่ง

วิธีที่กล่าวนี้ อาจมีทางไม่ดีบ้างก็ได้ ข้อนี้ไม่มีใครเถียง แต่เจ้าของทุนที่ใจคอไม่มีกรุณานั้น อาจข่มขี่ลูกจ้างได้มาก ๆ แต่ในโลกสมัยนี้ ก็มีกฎหมายช่วยคนงานอยู่เป็นอันมากแล้ว แต่ถ้าจะเทียบกับสมัยโบราณ คนงานสมัยนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๘) ก็มีความสุขขึ้นกว่าแต่ก่อน เป็นต้นว่าที่อยู่ก็ดีขึ้น ลูกก็ได้เล่าเรียน แลเมื่อเจ็บก็มีโรงพยาบาลให้อยู่ ส่วนความสดวกต่าง ๆ นั้น คนสมัยนี้ดีกว่าคนแต่ก่อนทุกลู่ทุกทาง การที่มีรถไฟ มีโรงงานใหญ่ ๆ มีการทำไร่นาใหญ่ ๆ มีโรงพิมพ์ใหญ่ ๆ มีรถยนต์ราคาถูก เสื้อผ้าราคาถูก มีไฟฟ้าใช้ มีเครื่องเพลินดู เพลินฟังต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าไม่ใช่ผลของธนาธิปัตย์ก็คือผลของอะไร แม้ในรัซเซียก็ยังเป็นเช่นนั้น ความก้าวหน้าที่กล่าวมานี้ เป็นไปเพราะธนบดีทั้งนั้น

พวกโบลเชวิ๊ค (คอมมูนิซต์แบบรัซเซีย) เมื่อเข้ายึดอำนาจในประเทศรัสเซียได้แล้ว ก็ได้กล่าวคำมั่นสัญญาว่า จะกวาดธนาธิปัตย์ให้หมดไปจากประเทศ แลจะให้ผู้ทำสินค้ากลับเป็นเจ้าของเครื่องมือตั้งแต่ก่อน แต่ในเวลานี้ (คำของนายเม็งเค็น) คนงานในรัซเซียเป็นทาสของธนาธิปัตย์ชนิดซึ่งไม่มีประเทศไหนจะยอมเลย ธนาธิปัตยแบบรัซเซียเป็นเจ้าของเครื่องมือทั้งหมด แลเป็นเจ้าของเรือนที่คนงานอยู่ เป็นเจ้าของอาหารแลเสื้อผ้าที่ต้องใช้ แลเป็นเจ้าของโรงเรียนที่คนงานต้องส่งลูกไปเรียน ธนาธิปัตย์จะให้คนทำงานอะไรก็ต้องทำ จะให้ค่าจ้างเท่าไรก็ต้องรับ ถ้าไม่ยอมรับก็เป็นทาสหนักขึ้น ถ้าแต่ก่อนเป็นทางตามความจริง บัดนี้จะต้องเป็นทาสตามกฎหมายอีกชั้นหนึ่ง เพราะผู้บงการธนาธิปัตย์อาจบังคับให้ทำงาน โดยไม่ให้ค่าจ้างเลยก็ได้

ทรัพย์ที่เกิดเพราะคนงานทำขึ้นนั้น เมื่อคนงานได้รับแบ่งส่วนไปพอกินพออยู่อย่างแร้นแค้นแล้ว ก็รวมเป็นกองกลางซึ่งอยู่ในมือพวกการเมืองทั้งหมด พวกคนงานจะได้มีเสียงสักนิดเดียวก็หามิได้ นั่นเป็นธนาธิปัตย์แบบรัซเซีย

ในอเมริกา พวกการเมืองคอยใส่ใจดูพวกธนบดี ไม่ให้ข่มขู่คนงานมากนัก แลพวกธนบดีก็คอยใส่ใจดูพวกการเมืองไม่ให้โกง เป็นการที่ต่างฝ่ายต่างระวังกันอยู่ ถ้าไม่มีถ่วงกันอยู่ก็จะเกิดทุกข์ในบ้านเมือง (อเมริกา) เป็นแน่ ในรัซเซียเวลานี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๗๘) พลเมืองไม่มีทรัพย์ แลไม่มีอิศระ ถูกห้ามไม่ให้มีอะไร ไม่ให้ว่ากระไร แลไม่ให้คิดอะไร ที่พวกมีอำนาจไม่ต้องการฟัง

นั้นเป็นผลของโบลชีวิซม์ทุกแห่งแลทุกสมัย จะเรียกชื่อเป็นภาษารัซเซียหรือภาษาอะไรก็เหมือนกันทั้งนั้น

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ