อุตสาหกรรมในกระท่อม

ประเทศญี่ปุ่นมีเครื่องจักรอุตสาหกรรม ซึ่งได้จัดขึ้นรวดเร็วน่าพิศวงเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) เครื่องจักรเหล่านั้นทำสินค้าขายตัดราคาประเทศไหนก็ได้ เมืองใหญ่ที่ทำงานอุสาหกรรมของญี่ปุ่นมีหกเมือง โรงงานในหกเมืองนั้นทำสินค้าตั้งแต่ทอผ้าไปจนเครื่องไฟฟ้าตั้งแต่ของใหญ่ไปจนของเล็กที่สุด ข้อสำคัญของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ก็คือทำได้เป็นกำไรงาม จนถึงขายเบียร์ไปยังประเทศเยอรมัน แลขายธงอเมริกันไปยังอเมริกา (นี้เป็นคำซึ่งหนังสือพิมพ์อเมริกันกล่าว)

การสร้างสินค้าของญี่ปุ่นนั้น ถ้าเทียบกับอเมริกาหรืออังกฤษ สินค้าญี่ปุ่นก็มีปริมาณเป็นกลางๆเท่านั้นเอง การค้าขายของญี่ปุ่น เป็นการค้าขายสิ่งของให้ประเทศอื่นใช้ ญี่ปุ่นไม่ค่อยจะมีสินค้าดิบในพื้นเมืองของตนเอง จึงต้องซื้อสินค้าดิบจากต่างประเทศ แล้วนำสินค้าสำเร็จรูปส่งไปขาย อาชีพสำคัญของประเทศคือการค้าขายกับประเทศอื่น แต่การค้าขายกับประเทศอื่นนั้น ถ้าจะเทียบกับอังกฤษหรืออเมริกา การค้าขายของญี่ปุ่นก็พอกลาง ๆ เท่านั้นเอง เป็นต้นว่าเมื่อปีกลายนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๘) ญี่ปุ่นค้าขายกับต่างประเทศเป็นราคาประมาณ ๑ ใน ๔ แห่งสินค้าซึ่งอังกฤษค้าขายกับประเทศอื่น ๆ แลประมาณ ๑ ใน ๓ แห่งราคาสินค้าซึ่งอเมริกาค้าขายกับต่างประเทศ ถ้าจะเทียบสินค้าแห่งโลกเมื่อปีกลายนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๘) สินค้าญี่ปุ่นก็เพียง ๓.๗ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ลักษณะสำคัญแห่งการค้าขายของญี่ปุ่น ก็คือลักษณะคล้ายผูกขาด คือเจ้าของทุนกองใหญ่ ๆ เป็นผู้ผูกขาด เจ้าของทุนที่เป็นเศรษฐีมักจะรวมกันเป็นหมู่ๆ การค้าขายแลอุตสาหกรรมของประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์อยู่ในมือเจ้าของทุน ๑๕ หมู่ ใน ๑๕ หมู่นั้น มี ๘ หมู่ซึ่งปกคลุมประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ใน ๘ หมู่มี ๓ หมู่ ซึ่งปกคลุม ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ใน ๓ หมู่มีหมู่หนึ่งซึ่งปกคลุมเกือบ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ แห่งการค้าขายของประเทศ หมู่หลังนี้คือมิตซุย

เจ้าของทุนหมู่ใหญ่ ๆ ที่กล่าวนี้ ในหมู่หนึ่ง ๆ มักเป็นคนในสกุลเดียวกัน เป็นสกุลซึ่งออกนำหน้า แลทำตัวอย่างให้แก่ผู้อื่น ๆ ตั้งแต่ประเทศญี่ปุ่นเริ่มจะใช้แบบอย่างต่างประเทศ เมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๘

ประเทศญี่ปุ่นไม่มีน้ำมัน ไม่มีถ่านแลแร่อย่างอื่น แต่มีทรัพย์หลายอย่าง ซึ่งใช้เป็นเครื่องแลกของที่ไม่มีได้ ไหมดิบอย่างหนึ่งเป็นของที่ญี่ปุ่นมีมาก แต่อุตสาหกรรมที่ใช้ไหมนับเป็นที่สองในการทำสินค้าส่งไปต่างประเทศ ส่วนสินค้าใหญ่ที่สุดคือผ้านั้น ญี่ปุ่นต้องซื้อผ้ายต่างประเทศแทบทั้งหมด แต่มีกำมะถัน แร่เงิน สารหนู การะบูร ซ่าระแหน่ น้ำมันปลา น้ำมันถั่วมาก

ญี่ปุ่นเป็นประเทศมากไปด้วยเขา แลมีน้ำไหลลงจากเขา ซึ่งทำไฟฟ้าได้กว่าสี่ล้านแรงม้า ถ้าจะพูดในทางนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่สี่ในโลก คือมีอเมริกา คานาดา แลอิตาลีเท่านั้น ที่มีน้ำทำแรงไฟฟ้าได้มากกว่าญี่ปุ่น

แต่การที่ญี่ปุ่นมีสินค้าดิบไม่พอนั้น มีอย่างอื่นเป็นเครื่องถ่วงน้ำหนักให้ได้เปรียบอยู่บ้าง เครื่องถ่วนนั้นคือแรงคนซึ่งราคาถูกมาก สินค้าญี่ปุ่นเกือบ ๖๕ เปอร์เซ็นต์ทำใน “โรงงาน” ซึ่งมีคนงานไม่เกิน ๕ คน โรงงานเล็ก ๆ เหล่านี้เป็นเหตุอันหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นทำอุตสาหกรรมได้สำเร็จ โรงงานเล็ก ๆ เหล่านี้มักเรียกว่า “อุตสาหกรรมในกระท่อม” (Cottage Industries) ซึ่งมีมากในอินเดียประเทศหนึ่ง [ในเมืองไทยนี้น่าอุดหนุนนัก ขึ้นต้นก็ไม่สู้ยาก]

ถ้าใครไปเที่ยวดูให้ทั่วไปในเมืองอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ก็คงจะได้เห็นวิธีทำสินค้าสองอย่าง คือโรงงานใหญ่ๆ ซึ่งทำสินค้าแต่ละอย่างอย่างละมาก ๆ รวมประมาณ ๓๖ เปอร์เซ็นต์ของสินค้าทั้งหมด สินค้าอีก ๖๔ เปอร์เซ็นต์ทำในโรงงานซึ่งมีคนเพียง ๒-๓ คน ในโรงงานเล็ก ๆ เช่นนี้มีหลายแสนโรง คนงานในโรงหนึ่ง ๆ ก็คือครอบครัวเดียวกัน

การที่โรงงานเล็ก ๆ เป็นเครื่องค้ำจุนอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นอย่างสำคัญเช่นนี้ ก็น่าจะถามว่า เหตุใดพวกเศรษฐีเจ้าของทุน จึงไม่รวมเอาโรงงานเล็ก ๆ ไปรวมเป็นโรงงานใหญ่ ๆ เสียให้หมด ข้อนี้ตอบว่า กฎหมายโรงงานของญี่ปุ่นบังคับไม่ให้ชายอายุต่ำกว่า ๑๖ แลหญิงทั้งหมดทำงาน ระหว่าง ๒๒ นาฬิกา กับ ๔ นาฬิกา ไม่ให้ทำงานเกินวันละ ๑๑ ชั่วโมง บังคับให้มีวันหยุดเดือนละ ๒ วันดังนี้เป็นต้น กฎหมายโรงงานนี้ บังคับใช้แต่ในโรงงานที่ใช้คนตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไป โรงงานเล็ก ๆ ซึ่งมีคนต่ำกว่า ๑๐ คน กฎหมายไม่บังคับใช้ จึงมีคนงานญี่ปุ่นเกือบสามล้านครึ่ง ซึ่งจะทำงานเท่าไรก็ได้ ตามแต่จะสะดวก

อนึ่ง ในประเทศญี่ปุ่น เจ้าของอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ กับนายแบงก์ใหญ่ ๆ ก็คนพวกเดียวกัน ไม่มี “ตลาดทุน” อย่างในยุโรปแลอเมริกา ประชาชนที่จะมีเงินไปฝากแบงก์หรือซื้อหุ้นก็มีน้อย

พวกเศรษฐีเจ้าของทุนในประเทศญี่ปุ่น มีความติดต่อกับรัฐบาลเป็นอย่างดี เพราะถ้าจะพูดที่จริง ก็ช่วยกันจัดประเทศมาตั้งแต่แรก อนึ่ง ภาษีขาเข้าแลภาษีภายในก็ตั้งพิกัดไว้พอควร อะไร ๆ ทั้งหลายจึงเป็นไปด้วยดี

เมื่อวานนี้ ได้กล่าวถึงอุตสาหกรรมในกระท่อม (Cottage Industries) ตามที่ได้ยินมาว่า เป็นบ่อเกิดของสินค้ากว่าครึ่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น

ไหมเป็นสินค้าสำคัญของญี่ปุ่นมาช้านาน แลในเวลานี้ ถึงแม้ไหมเทียมจะเป็นสินค้าใหญ่กว่า ไหมจริงก็ยังทำกันมาก แลเป็นสินค้าสำคัญอยู่นั่นเอง ที่เป็นดังนี้เพราะว่าไหมเทียมเป็นสินค้าซึ่งต้องทำในโรงงานใหญ่ แต่การเลี้ยงไหมนั้น ทำกันแห่งละเล็กละน้อยตามบ้านราษฎรก็ได้ เมื่อทำได้แห่งละน้อยแล้ว มีผู้รับซื้อไปรวมกันเข้า ก็เป็นมากไปเอง

ผู้เขียนเคยได้ยินว่า ไม้ขีดไฟอีกอย่างหนึ่งเป็นของทำกันมากตามบ้านเล็กเมืองน้อยในประเทศญี่ปุ่น ราษฎรรับไม้ขีดไฟจากโรงงานเขื่อง ๆ ไปจิ้มหัวแลปิดกระดาษหีบ รับไปมากหรือน้อยตามแต่จำนวนในครอบครัว เมื่อทำเสร็จแล้วก็นำไปส่งโรงงานได้ค่าจ้างตามควร วิธีนี้ยังทำอยู่หรือไม่ผู้เขียนไม่ทราบ ทราบแต่ว่าได้เคยทำเช่นนั้น

ที่กล่าวนี้ กล่าวเพียงที่นึกได้ พอเป็นตัวอย่างการทำสินค้าย่อย ซึ่งเมื่อรวมเข้าก็กลายเป็นมากมายไปได้

การทำไหมนั้น ผู้อ่านย่อมทราบอยู่แล้วว่าหลายท้องที่ในประเทศนี้ มีการเลี้ยงตัวไหมแลทำไหมมาช้านาน คือในมณฑลโคราชเป็นต้น ในท้องที่เหล่านั้น ซึ่งอยู่ห่างจากประชุมชนออกไป ชาวบ้านนุ่งซิ่นทอด้วยเส้นไหมแท้ ถูกกว่านุ่งซิ่นทอด้วยเส้นไหมปลอม เพราะว่าเส้นไหมแท้นั้น ตัวไหมเป็นผู้ทำให้โดยไม่คิดราคา นอกจากอาหารคือใบหม่อน ซึ่งต้นหม่อนให้โดยไม่คิดราคาเหมือนกัน ส่วนการทอเป็นผ้านุ่งนั้นเล่า ก็ไม่ต้องลงทุนอะไร นอกจากแรงแลเวลา ซึ่งมีเหลือมากกว่าที่จะมีทางใช้อย่างอื่น จึงกล่าวได้ว่า ชาวบ้านพวกนั้นนุ่งแพรทอด้วยเส้นไหมแท้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินเลย ส่วนแพรทอด้วยไหมเทียมนั้น ทำในโรงงานประเทศญี่ปุ่น ต้องเสียค่าระวางลงเรือกำปั่นส่งข้ามทเลมา เสียภาษีขาเข้ากรุงเทพนี้แล้ว จึงจะส่งขึ้นรถไฟไปโคราชแลขายกระจายออกไปจากที่นั้น ทั้งนี้ย่อมพอกพูนราคาสินค้าขึ้นไป แม้แพรไหมเทียมเดี๋ยวนี้ราคาจะต่ำกว่าแต่ก่อนก็ยังต้องออกเงินซื้อ แลเงินนั้นชาวบ้านนอกในมณฑลโคราชหาได้ยากกว่าหาเส้นไหมเป็นอันมาก เหตุดังนี้ ไหมเทียมจึงยังไม่มีท่าทางจะไปแทนไหมแท้ในท้องที่เหล่านั้นได้ ต่อเมื่อใดมีคมนาคมแลการซื้อขายสะดวก จนเส้นไหมแท้ขายไปเป็นสินค้าภายนอกได้ เมื่อนั้นไหมเทียมจึงจะเข้าแทนที่ไหมแท้ เพราะชาวบ้านคงจะขายไหมแท้ได้เงินมาก ไปซื้อไหมเทียมซึ่งเสียเงินน้อย

ผู้เขียนเคยนึกว่า สินค้าไหมแท้น่ากลัวจะตาย เพราะไหมเทียมมาแย่งที่ แต่เมื่อคิดไปอีกทางหนึ่ง ก็กลับเห็นว่าจะยังไม่ตาย เพราะผู้มีทรัพย์มากยังต้องการไหมแท้อยู่นั่นเอง ยิ่งไหมแท้มีน้อยลงไป ราคาก็จะสูงขึ้นตามธรรมดาการค้าขาย

การที่จะช่วยการเลี้ยงไหมในมณฑลโคราชแลมณฑลอื่น ๆ ที่ดินฟ้าอากาศเหมาะให้จำเริญขึ้นอีกนั้น มีทางที่จะช่วยได้เป็นแน่ แลที่แท้รัฐบาลก็ได้เคยคิดแลกำหนดโครงการใหญ่โตหลายสิบปีมาแล้ว แต่การครั้งนั้นไม่สำเร็จไป เพราะเหตุซึ่งป่วยการจะนำมากล่าวในเวลานี้ (พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙) พึงกล่าวแต่ว่า การที่จัดเรื่องสินค้าไหมไม่สำเร็จนั้น หาใช่ความผิดของไหมไม่ ข้อที่ว่าควรจัดอย่างไร จึงจะทำให้การเลี้ยงไหมเป็นอุตสาหกรรมในกระท่อมอย่างแข็งแรงขึ้นได้นั้น ใช่ที่ที่หนังสือพิมพ์จะจาระไน เพราะหนังสือพิมพ์จะรู้ความเป็นไปเลอียดเหมือนเจ้าพนักงานไม่ได้

ส่วนการทำไม้ขีดไฟนั้น ผู้เขียนได้เคยเห็นเครื่องจักรเล็ก ๆ ทั้งชุดสำหรับทำไม้ขีดไฟ จะหมุนด้วยแรงคนก็ได้ เครื่องจักรเช่นนี้ราคาชุดหนึ่งไม่กี่ร้อยบาท เขาใช้สำหรับทำไม้ขีดไฟจำหน่ายในท้องที่ซึ่งอยู่ห่างบ้านเมืองใหญ่ ซึ่งมีไม้ชนิดทำไม้ขีดไฟอยู่พร้อม เมื่อทำแล้วก็จำหน่ายอยู่ในท้องที่ใกล้เคียงนั้นเอง ขายได้ถูกเพราะไม่ต้องเสียค่าขนส่ง ในประเทศเรานี้ ผู้เขียนไม่ทราบว่า ในท้องที่ซึ่งต้องขนส่งทางรถไฟ รถยนต์หรือทางเกวียนไกล ๆ ราคาไม้ขีดไฟจะกลักละเท่าไร เข้าใจว่าถึงจะอย่างไร ๆ ก็แพงกว่าซื้อปลีกกลักละ ๒ สตางค์เท่าในกรุงเทพ ในท้องที่เช่นนั้นพลเมืองนับหมื่นนับแสนก็มี ทุกคนใช้ไม้ขีดไฟทุกวัน ถ้าจะทำขายกันเองในท้องที่ ราคาคงจะถูกลงไปมาก

ความคิดเรื่องทำไม้ขีดไฟตามท้องที่นี้ ขัดข้องสำคัญอยู่ที่ภาษี เพราะน่ากลัวว่าภาษีไม้ขีดไฟจะคอยบีบคออุตสาหกรรมอันนี้มิให้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าจะคิดผ่อนผันกันบ้าง ก็จะได้กระมัง

การอุดหนุนให้การทำสินค้ากระจายกันไปตามบ้านราษฎรและชนบทเช่นนี้ ก็คงจะไม่ทำให้ทรัพย์เกิดพอกพูนแก่ประเทศมากมายกี่มากน้อย ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า จะได้ช่วยราษฎรให้มีทางทำงานแลหากินมากอย่างขึ้น

เมื่อสองสามวันได้กล่าวในหนังสือนี้ (ประมวญวัน) ถึงเรื่อง “อุตสาหกรรมในกระท่อม” ในประเทศญี่ปุ่น ต่อมาเผอิญได้รับหนังสือพิมพ์ฝรั่งออกใหม่ ย่อใจความเรื่องเดียวกับที่เขียนแล้วในหนังสือนี้ (ประมวญวัน) แต่เขากล่าวเลอียดกว่า เราจึงนำมาเล่าเติม

เขาว่าผู้ที่ไม่เคยไปประเทศญี่ปุ่น ทราบว่าอุตสาหกรรมของประเทศนั้นใหญ่โต ก็นึกว่าคงจะมีเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นเมืองตั้งอุตสาหกรรมเต็มไป เช่น เมืองแมนเชสเตอร์ (อังกฤษ) เป็นต้น ซึ่งเห็นปล่องไฟราวกับต้นไม้ในป่า แต่อันที่จริงถ้าไปดูในเมืองญี่ปุ่น จะไม่เห็นเมืองอุตสาหกรรมเช่นนั้นสักกี่แห่ง เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศซึ่งมากไปด้วยอุตสาหกรรมเล็ก ๆ ที่ทำกันตามบ้าน โรงงานใหญ่ซึ่งคนงาน ๕๐๐ คนขึ้นไป มีอยู่ประมาณเปอร์เซ็นต์เดียวเท่านั้น

สถิติพยากรณ์ในเรื่องอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่ใช้คนงานต่ำกว่า ๕ คนลงไปนั้น จะหาที่แน่จริงไม่ได้ แต่ถ้าจะพูดตามตัวเลขที่พิมพ์ในยีนีวา (International Labour Office) ก็ได้ความว่า โรงงานเล็ก ๆ เช่นนั้นในญี่ปุ่นมีคนงานรวมกันถึง ๓ ล้าน ๕ แสนคน ในประเทศญี่ปุ่นมีคนงานรวมประมาณ ๕ ล้าน ๕ แสนคน แต่ที่ทำงานในโรงงานใหญ่ ๆ จริง ๆ มีประมาณ ๕ แสนคนเท่านั้น นอกนั้นอยู่ในโรงงานเล็ก ๆ หรือถ้าเขื่องขึ้นไปหน่อย ก็ยังไม่เรียกว่าโรงงานใหญ่แท้ โครงอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอนตาไม่หลับนั้น มีทรวดทรงดังกล่าวนี้

หญิงทำงานอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่นมีมาก แม้พวกขุดถ่านหินยังเป็นหญิงประมาณถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ หญิงเหล่านั้นเป็นสาวอายุ ๑๔ หรือ ๑๕ ปี โดยมากมาจากบ้านนอก ทำงานอยู่ ๒-๓ ปีก็กลับไปบ้าน ระหว่างที่ทำงานอยู่นั้นได้เงินประมาณเดือนละ ๕ เหรียญครึ่ง ไม่ต้องเสียค่าที่อยู่ แต่ต้องเสียคาอาหาร ซึ่งเมื่อหักลบไปแล้ว ก็ยังเหลือเป็นเงินเดือนประมาณ ๓ เหรียญครึ่งต่อเดือน เงินที่ได้เดือนละเพียงเท่านี้ ถ้าเทียบกับคนงานฝรั่งก็น้อยเต็มที่ แต่เขาว่าหญิงเหล่านั้นพอใจ เพราะเมื่ออยู่บ้านนอกก็ไม่ค่อยจะได้เห็นเงินเลย ส่วนข้อบังคับของโรงงานที่ว่า เมื่อสิ้นเวลาทำงานแล้ว จะไปเที่ยวก็ต้องขออนุญาต หรือว่าต้องดับไฟนอนเวลา ๒ ทุ่มครึ่งนั้น ไม่เป็นข้อเดือดร้อนอะไร เพราะอยู่บ้านนอกก็เคยไม่ไปไหนอยู่แล้ว แลการดับไฟนอนหัวค่ำก็เป็นของธรรมดา

ส่วนคนงานผู้ชายนั้น มักจะได้ค่าจ้างมากกว่าหญิงประมาณ ๓ เท่า คนงานชายโดยมากก็มาจากบ้านนอกเหมือนกัน แต่มักจะตรงมาจากโรงเรียนทีเดียว เด็กหนุ่มพวกนั้นเจ้าของโรงงานให้เสื้อผ้าเป็นแบบเดียวกัน แลให้ได้เรียนต่อบ้างพอควร ที่พูดนี้เป็นส่วนโรงงานใหญ่ ๆ

แต่อุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ส่วนมากเป็นของทำตามบ้าน ซึ่งมีรายได้ระหว่างเดือนละ ๔ เหรียญกับ ๘ เหรียญ สมมติว่าครอบครัวหนึ่ง ผัวเมียกับลูกเด็ก ๔ คน หาเงินได้เดือนละ ๗ เหรียญครึ่ง เขาว่ารายจ่ายมีประมาณดังนี้

ค่าเช่าบ้าน ๑ เหรียญ ๗๕ เซ็นต์ต่อเดือน ค่าข้าวสารเดือนละ ๓ เหรียญ ๕๐ เซ็นต์ คนจนชั้นนั้นไม่กินเนื้อสัตว์ แต่กินปลาประมาณเดือนละ ๘๕ เซ็นต์ ผักกาดเดือนละ ๕๐ เซ็นต์ น้ำตาลไม่ต้องใช้ แต่เด็ก ๆ ซื้อขนมกินประมาณเดือนละ ๒๕ เซ็นต์ เต้าเจี้ยวประมาณเดือนละ ๒๐ เซ็นต์ และค่าอาบน้ำร้อนประมาณเดือนละ ๒๐ เซ็นต์ งบประมาณรายจ่ายที่จำแนกมาเช่นนี้ ก็จวนจะหมดรายได้อยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้คิดค่าเสื้อผ้าแลรายจ่ายอื่น ๆ เช่น สะบู่ ด้าย เข็ม เป็นต้น เห็นได้ว่า คนงานชั้นนั้น กินอยู่อย่างกระท้อมกระแท้มที่สุด ถ้าจะพูดตามรายงานของสมาคมพ่อค้าแห่งกรุงโตเกียวไซร้ สินค้าอุตสาหกรรมส่วนมากของญี่ปุ่นมาจากบ้านเรือนเช่นที่กล่าวมานี้ ค่าแรงต่ำมาก เพราะฉนั้น ญี่ปุ่นจึงขายสินค้าได้ถูกที่สุด แลสินค้าญี่ปุ่นกระจายทั่วไปแทบทุกตลาดในโลก

แต่ในโรงงานขนาดใหญ่แลขนาดเขื่องของญี่ปุ่น มีกรรมกรรวมกันประมาณล้านคน เหตุไฉนจึงไม่มี “ปัญหากรรมกร” ในประเทศนั้น ข้อนี้เขาตอบว่า กรรมกรในโรงงานหาเงินได้มากกว่าพวกที่ทำงานตามบ้านของตนเองประมาณ ๒ เท่าหรือ ๓ เท่า พวกที่ทำงานในโรงงานใหญ่หรือเขื่องจึงยินดีที่จะอยู่โรงงาน ถ้าขืนสไตร๊ค์ก็จะมีพวกอื่นเข้าแทนที่โดยเร็ว

ถ้าจะพูดถึง “อันเอ็มปลอยด์” ของญี่ปุ่น พวกนั้นถ้าเทียบกับฝรั่งก็มีจำนวนน้อยเต็มที ตัวเลขทางราชการแจ้งว่ามี ๓ แสนคนเท่านั้น แต่ที่จริงคนที่หางานทำไม่ได้มีมากกว่านั้น แต่มักจะมีเจ้าขุนมูลนายเป็นที่พึ่งพาอาศัย เพราะว่าผู้มีสกุลหรือมทรัพย์คนหนึ่ง ๆ ย่อมเป็นร่มไม้ชายคาของคนมาก ๆ ความข้อนี้ไทยเราเข้าใจได้ดี

เขาว่าประเทศญี่ปุ่น มีที่ดินจะเพาะปลูกได้เพียง ๑๕ เปอร์เซ็นต์ของท้องที่ทั่วประเทศก็จริง แต่พลเมืองที่ทำการเพาะปลูกมีประมาณครึ่งหนึ่งของพลเมืองทั้งหมด อนึ่ง ครอบครัวที่ทำนานั้น มีเนื้อที่ของตนเองน้อย ต้องเสียค่าเช่าเป็นเงินหรือเป็นข้าวเป็นอันมาก เพราะฉนั้น ถ้าพูดทั่วไป ชาวนาก็จนนักเหมือนกัน

ทั้งหมดนี้ เขากล่าวกว้างเพื่อแสดงว่า ประเทศญี่ปุ่นได้จำเริญในทางค้าขายกับต่างประเทศอย่างรวดเร็วก็จริง แต่กว่าราษฎรในประเทศจะมีความมั่งคั่งอยู่ดีกินดี สุขกายสบายใจ ก็ยังอีกนาน ถ้าฟังตามที่เขาว่านี้ พลเมืองประเทศเราสบายกว่า

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ