หมู่ประเทศ “ออสโล”

กรุงออสโลเป็นประเทศเมืองหลวงของประเทศนอรเวย์ ประเทศนอรเวย์แต่ก่อนรวมอยู่ใต้ “เสวตฉัตร์” ของพระราชาเดียวกันกับประเทศสวีเดน พระเจ้าแผ่นดินจึงทรงพระนามตำแหน่งว่า พระราชาแห่งสวีเดนแลนอรเวย์ แต่สองประเทศได้แยกจากกันใน ค.ศ. ๑๙๐๕ ประเทศนอรเวย์สถาปนาตำแหน่งพระราชาขึ้นใหม่ในปีนั้น

พระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ ๗ แห่งประเทศอังกฤษ (พระเจ้าปู่แห่งพระราชาอังกฤษเดี๋ยวนี้ ก.ค. พ.ศ. ๒๔๘๐) มีพระราชธิดาองค์สุดท้องทรงพระนามเจ้าหญิงมอด เป็นหญิงทรงโสภายิ่งนัก ในตอนปลายแผ่นดินกวีนวิคตอเรีย เมื่อพระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ ๗ ยังเป็นรัชทายาท เจ้าหญิงมอดมีพระทัยจะใคร่ทรงวิวาหะกับเจ้าชายในราชวงศ์เดนมาร์กองค์หนึ่ง ซึ่งไม่มีท่าทางจะได้เป็นเจ้าแผ่นดินของประเทศนั้น เพราะมีเจ้าชายผู้ที่คั่นอยู่ ครั้นเจ้าหญิงมอดแห่งอังกฤษใคร่จะแต่งงานกับเจ้าชายแห่งเดนมาร์กผู้มิได้อยู่ในสายรัชทายาท ก็ทัดทานกันว่า เหตุไฉนจึงจะยอมแต่งงานกับเจ้าชายผู้ไม่มีโอกาสจะได้เป็นเจ้าแผ่นดิน เจ้าหญิงมอดอยู่ในราชวงศ์บุญหนักศักดิ์ใหญ่ มีรูปทรงโสภายิ่งนัก ชอบที่จะเป็นกวีนของประเทศใดประเทศหนึ่ง เจ้าหญิงมอดทรงดื้อว่า ถ้าไม่ได้เป็นกวีนก็แล้วไป จะแต่งงานกับเจ้าชายผู้ทรงเสน่หาให้จนได้ ทั้งสององค์จึงได้ทรงวิวาหะกันในประเทศอังกฤษ ในรัชกาลกวีนวิคตอเรีย

ต่อมา ๑๑ ปี ประเทศนอรเวย์แยกจากประเทศสวีเดน ไม่มีเจ้านายในราชตระกูลของประเทศนั้นที่ราชรถจะไปเกย ราชรถนอรเวย์จึงไปเกยบันไดวังเจ้าชายเดนมาร์ก องค์ที่เป็นสามีของเจ้าหญิงอังกฤษ เจ้าหญิงอังกฤษจึงได้เป็นกวีนของประเทศนอรเวย์ด้วยประการฉะนี้ ในหมู่ราชธิดาพระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ ๗ เจ้าหญิงองค์สุดท้อง ซึ่งเดิมไม่มีโอกาสจะเป็นกวีน กลับได้เป็นกวีนพระองค์เดียว บางทีราชรถนอรเวย์จะไปเกยบันไดวังเจ้าชายราชสามี เพราะเป็นเขยของราชวงศ์อังกฤษก็เป็นได้

ประเทศเดนมาร์ก ๑ ประเทศสวีเดน ๑ ประเทศนอรเวย์ ๑ เป็นประเทศหมู่เดียวกัน มีระบอบปกครองแบบพระราชาในประชาธิปัตย์ หรือพระเจ้าแผ่นดินปกครองโดยรัฐธรรมนูญเป็นราชาธิปัตย์แบบประชาธิปัตย์ หรือจะพูดกลับกันว่า ประชาธิปัตย์แบบราชาธิปัตย์ ก็แล้วแต่จะเลือก

[เราสังเกตว่า มีผู้อ่านของเราหลายคนเข้าใจผิดว่า ประชาธิปัตย์กับราชาธิปัตย์นั้น ประดุจน้ำกับน้ำมัน เป็นของปนกันไม่ได้ แต่ถ้าจะตรึกตรองดูสักครู่เดียวก็จะเห็นว่า ประเทศสยามนี้เอง ก็เป็นราชาธิปัตย์แบบประชาธิปัตย์ ประเทศอังกฤษก็อย่างเดียวกัน ประเทศ ๓ ประเทศที่ออกชื่อมาแล้ว คือ เดนมาร์ก สวีเดน นอรเวย์ ก็เช่นเดียวกันอีก ยังประเทศฮอแลนด์แลเบ็ลเยียมอีกเล่า ถ้าจะไม่พูดสยามแลอังกฤษไซร้ ประเทศทั้ง ๕ ที่ออกชื่อมานั้น ก็เป็นประเทศหมู่ที่มีความจำเริญที่สุด แลอยู่เย็นเป็นสุขที่สุดในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐) จะพูดในทางศึกษาในทางค้าขาย หรือในทางใดก็เป็นซิวิไลเซชั่นชั้นสูงทุกทาง ประเทศเหล่านั้นกับอังกฤษฝรั่งเศสได้ชื่อในเวลานั้นว่า ประเทศประชาธิปัตย์ แต่นอกจากฝรั่งเศสก็เป็นประเทศมีพระราชาทั้งนั้น ระบอบปกครองของประเทศเหล่านั้นเป็นระบอบคล้ายกับสยาม คือราชาธิปัตย์ในจำกัด เรียกในภาษาอังกฤษว่า Limited Monarchy ในประเทศประชาธิปัตย์ที่มีพระราชาเช่นนี้ พระราชาย่อมเป็นที่เคารพนับถือของพลเมืองส่วนใหญ่ พระราชาไม่เปล่งพระสุรเสียงของพระองค์เองในวิถีการบ้านเมืองก็จริง แต่พระราชาดำริซึ่งทรงแสดงต่อเสนาบดีของพระองค์ ย่อมเป็นน้ำหนักที่ต้องรับพระราชทานไปใคร่ครวญกันให้ถ้วนถี่ ผู้ศึกษาพงศาวดาร คงจะได้ทราบแล้วเช่นที่กล่าวนี้ ]

บัดนี้ จะย้อนกลับไปกล่าวตามที่จ่าหน้าเรื่องไว้ว่า ที่เรียกว่า หมู่ประเทศออสโล (The Oslo Group) หมายความว่ากระไร

ประเทศทั้ง ๓ คือ เดนมาร์ก สวีเดน นอรเวย์ นั้น ใช้ภาษาเกือบจะเหมือนกัน พระราชาก็มีเชื้อสายติดต่อกันทั้ง ๓ พระองค์ ทั้ง ๓ ประเทศเจียมตัวว่าเป็นประเทศน้อย แต่เมื่อร่วมสามัคคีกันเป็นอันดี ก็เสมอกับเป็นประเทศใหญ่ ในคราวมหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๑) ทั้ง ๓ ประเทศได้รักษาความเป็นกลางอย่างมั่นคงที่สุด และอยู่ในท้องที่ห่างออกไป ถ้าไม่แสดงตนว่าจะเข้าเป็นฝักเป็นฝ่ายกับใครแล้ว สงครามก็ไม่ลุกลามไปถึงได้

ประเทศทั้ง ๓ เป็นฉะนี้ จึงร่วมความคิดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในสันนิบาตชาติตอนต้น ๆ จะพูดว่ากระไรหรือจะโหวตว่ากระไร ก็ทำเหมือนกัน เพราะได้ปรึกษาตกลงกันไว้ก่อนแล้ว ความยึดกันเป็นกลุ่มมั่นคงเช่นนี้ ชักให้ประเทศฟินแลนด์เข้าเกาะกลุ่มด้วย แต่ต่อมาประเทศที่อยู่ในภาคที่เรียกว่า “แผ่นดินต่ำ” คือเบ็ลเยี่ยม ฮอลันดา แลลุกเซ็มบวคประเทศจ้อยก็เข้ารวมด้วย

หมู่ประเทศเหล่านี้ถึงแม้จะได้ปรึกษาหารือกันอยู่เสมอแล้ว ก็ยังมิได้ทำอะไรลงไปเป็นปึกเป็นแผ่น ต่อเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๐ ผู้แทนประเทศเดนมาร์ก สวีเดน นอรเวย์ เบ็ลเยียม ฮอลันดา จึงได้ไปประชุมกันที่กรุงออสโล ทำหนังสือสัญญาเรื่องเก็บภาษีกันเอง ประเทศเหล่านั้นจึงได้ ชื่อว่า หมู่ประเทศออสโล หรือหมู่ประเทศซึ่งเซ็นสัญญาที่กรุงออสโลด้วยประการฉะนี้

ประเทศที่เป็นหมู่ออสโลนี้ นอกจากเบ็ลเยียมก็ไม่มีประเทศไหนที่มีหนังสือสัญญาเป็นสหายศึกกับประเทศใด หมู่ออสโลนอกจากเบ็ลเยียม จึงได้แสดงความตั้งใจแม่นยำอยู่เสมอว่า ถ้าเกิดสงครามขึ้นในยุโรป ก็จะเป็นกลางดังคราวก่อน เหตุดังนี้เมื่อใดมีการประชุมปรึกษาหารือระหว่างประเทศ หมู่ออสโลก็พูดเหมือนกันแลโหวตเหมือนกันเสมอ ในระหว่างที่เกิดเรื่องอบิซซีเนียประเทศที่เป็นหมู่ออสโลกับฟินแลนด์แลสวิตเซอร์แลนด์ ได้พูดเป็นกลาง ๆ ไม่โอนเอนไปข้างไหน จนได้ชื่อว่า เป็นองค์แห่งธรรมะในใจของสันนิบาตชาติ

เมื่อ ๒-๓ เดือนที่แล้วมานี้ (เดือนที่ท่านทรงนิพนธ์เรื่องนี้ คือ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐) พระราชาแห่งเบ็ลเยียมได้เสด็จไปประเทศอังกฤษ ครั้นเสด็จกลับไปประเทศของพระองค์ ไม่ช้าก็มีพระราชดำรัสออกมาว่า ประเทศเบ็ลเยียมจะขอถอนตัวจากหนังสือสัญญาสหายศึก ซึ่งทำไว้กับอังกฤษแลฝรั่งเศส ถ้าเกิดสงครามขึ้น เบ็ลเยียมก็จะปฏิบัติตามควรแก่เหตุการเพื่อประโยชน์แก่เบ็ลเยียมฝ่ายเดียว ข้อที่เบ็ลเยียมขอถอนตัวเช่นนี้ รัฐบาลอังกฤษแลฝรั่งเศสยอมให้ถอนได้ แต่รับเป็นพันธะไว้ว่า ถ้ามีศัตรูยกเข้าตีชาติเบ็ลเยียมสองประเทศนั้นก็จะช่วย

ในเวลานี้ (ก.ค. ๒๔๘๐) เบ็ลเยียมมีรัฐบุรุษสำคัญในหน้าที่อัครเสนาบดี ชื่อแวนเซแลนด์ เป็นผู้สำเร็จวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยของเบ็ลเยียมก่อน แล้วเข้าตาทัพไปรบในมหาสงคราม ทำความชอบได้ตราในครั้งนั้น แต่ได้ตราแล้วไม่ช้าเยอรมันก็จับไปได้ ต้องเป็นเชลยศึกอยู่ในประเทศเยอรมันจนสิ้นมหาสงคราม จึงข้ามไปเรียนวิชาเศรษฐกิจต่อในมหาวิทยาลัยปรินซตันในประเทศอเมริกา แล้วกลับไปทำงานแบงก์ แลภายหลังรับราชการในประเทศของตน

๒-๓ ปีมาแล้ว แวนเซแลนด์กับเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นนักเรียนมหาวิทยาลัยเยลในประเทศอเมริกา ได้เข้านั่งประชุมปรึกษาการแบงก์อยู่ในประเทศเบลเยี่ยม วันก่อนนั้นมหาวิทยาลัยเยลกับมหาวิทยาลัยปรินซตันเล่นฟุตบอลล์กันในอเมริกา เยลได้ ๗ โกล์ ปรินซตันไม่ได้โกล์เลย ในที่ประชุมปรึกษาการแบงก์ในเบลเยี่ยมวันนั้น ผู้เคยเป็นนักเรียนเยล หยิบกระดาษมาเขียนว่า “ฟุตบอลล์ เยล ๗ ปรินซตัน ๐” แล้วพับส่งรอบโต๊ะไปให้ ม. แวนเซแลนด์ ม. แวนเซแลนด์อ่านแล้วเขียนตอบแลพับกระดาษส่งคืนไป เปิดออกอ่านได้ความว่า “ชุดเสนาบดีเบลเยี่ยม ปรินซตัน ๒ เยล ๐”

เมื่อเดือนก่อน ม. แวนเซแลนด์ได้รับมอบจากประเทศหลายประเทศ คืออังกฤษและฝรั่งเศสเป็นต้น ให้เป็นผู้คิดว่าจะทำอย่างไร ประเทศทั้งหลายจึงจะประนีประนอมกันในการค้าขาย เป็นสิ่งอันจะช่วยกีดกั้นสงครามได้ ม. แวนเซแลนด์ชนะหัวหน้าชมรมฟาสซิสต์ของประเทศเบ็ลเยียมในการเลือกตั้งมาใหม่ ๆ ได้รับความไว้วางใจของชาวประเทศเบ็ลเยียมอย่างล้นหลาม ครั้นตั้งมั่นอยู่ในตำแหน่งอัครเสนาบดีแล้ว ก็ยอมรับภาระซึ่งประเทศอื่น ๆ มอบให้ แลออกเที่ยวทาบทามในประเทศต่าง ๆ การทาบทามนี้ จะมีผลอย่างไรยังไม่กล่าว กล่าวแต่ว่าเป็นที่พอใจ

ในอเมริกา กาลวันหนึ่ง เปรสิเด็นต์โรซเวลต์รับแขกพวกหนังสือพิมพ์ตามเคย นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งถามท่านเปรสิเด็นต์ถึงข่าวที่ ม. แวนเซแลนด์จะข้ามไปอเมริกา ท่านเปรสิเด็นต์ทำไก๋อย่างประเสริฐ จนถึงว่านางสาวลิเลียน กิ๊ช ดาวหนัง ก็ทำไม่ได้ดีกว่า ท่านเปรสิเด็นต์ตอบว่า “ตามที่ข้าพเจ้าทราบ ม. แวนเซแลนด์มาประเทศนี้เพื่อจะรับปริญญาของมหาวิทยาลัยปรินซตันเท่านั้นเอง แต่ถ้า ม. แวนเซแลนด์เลยมาที่นี่ ข้าพเจ้าก็จะยินดีรับรอง”

ที่ท่านเปรสิเด็นต์พูดเช่นนี้ พวกหนังสือพิมพ์หาว่าท่านพูดปกปิด แต่เรื่องชนิดนี้ จะไม่ให้ท่านปกปิดก่อนอย่างไรได้ การที่ ม. แวนเซแลนด์ไปอเมริกาครั้งนั้น ไม่มีใครคิดว่าจะถึงแก่ถือร่างหนังสือสัญญาไปเสนอขอความเห็นของเปรสิเด็นต์โรซเวลต์ เข้าใจกันว่า เป็นเรื่องที่จะไปปรึกษาลู่ทางในอเมริกาเท่านั้น

ต่อมาอีกหน่อย มีผู้รอบรู้ราชการทูตของประเทศอเมริกาคนหนึ่งกล่าวแก่หนังสือพิมพ์ว่า “ม. แวนเซแลนด์มาครั้งนี้ ก็เพื่อจะรับปริญญาจากสำนักศึกษาของตนเป็นเรื่องศึกษา ถูกแล้วศึกษาเท่านั้นเอง”

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ