- คำนำของผู้จัดพิมพ์
- ๑. สภากาชาด
- ๒ นิราศ
- ๓. โคบุตร
- ๔. ไวต์ชาวสยาม
- ๕. ผสมผสาน
- ๖. พม่าประเทศราช
- ๗. ผสมผสาน (๒)
- ๘. สำคัญอะไรที่ชื่อ
- ๙. ทุนสำรองพิกัด
- ๑๐. ผสมผสาน (๓)
- ๑๑. ประชาธิปัตย์แลความลับ
- ๑๒. เมื่อเจียงไคเช็คถูกจับ
- ๑๓. ขอโทษ
- ๑๔. เซี่ยงไฮ้
- ๑๕. อ๊อกซฟอด
- ๑๖. ดินเนอร์ใหญ่
- ๑๗. สามก๊ก
- ๑๘. หมู่ประเทศ “ออสโล”
- ๑๙. เซี่ยงไฮ้
- ๒๐. โรตารี่ในประเทศเยอรมัน
- ๒๑. ผสมผสาน (๔)
- ๒๒. รัฐคติ
- ๒๓. ล่าผัว
- ๒๔. โลกนี้ครึ่งหนึ่ง
- ๒๕. สก๊อตแลนด์กับอิงแลนด์
- ๒๖. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
- ๒๗. ขัติยมานะ
- ๒๘. เมื่อวันประกาศมหาสงคราม
- ๒๙. ปเกียรณกะ
- ๓๐. ในอินเดีย
- ๓๑. ในเมืองอังกฤษ
- ๓๒. คำราม
- ๓๓. ศัพท์รอยัลลิซต์
- ๓๔. อารยะชน อานารยะชน
- ๓๕. หนังสือพิมพ์
- ๓๖. กล่องดวงใจ
- ๓๗. ธนาธิปัตย์ยังไม่ตาย
- ๓๘. ฉากละคร
- ๓๙. ราชพิธีอังกฤษ
- ๔๐. ผสมผสาน (๕)
- ๔๑. นึกเมื่อฟังเทศน์
- ๔๒. บรรดาศักดิ์อังกฤษ
- ๔๓. กาพย์เห่เรือ
- ๔๔. โอวาทสำหรับชายหนุ่ม
- ๔๕. ราชาธิราชประเทศเม็กซิโก
- ๔๖. มุกดาดำ
- ๔๗. ประปา
- ๔๘. อุตสาหกรรมในกระท่อม
- ๔๙. ปนคำพูด
- ๕๐. วังแก้ว
- ๕๑. แซะประธาน
- ๕๒. ครึ่งสตางค์
- ๕๓. ฝักซ้ายฝ่ายขวา
- ๕๔. ประชาธิปัตย์สองแห่ง
- ๕๕. ยิวแลอาหรับ
- ๕๖. เฮ็บราย
- ๕๗. ประเทศอิราค
- ๕๘. พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ
- ๕๙. รัฐแฟรงก์
- ๖๐. ศัพท์
- ๖๑. …ิสม์
- ๖๒. ท่านเสือ
- ๖๓. ส่องกระจก
- ๖๔. พระสังตปาปา
- ๖๕. นานาภาษิต
- ๖๖. สำนวนหนังสือ
- ๖๗. อาศา
- ๖๘. คณะสงฆ์
สำนวนหนังสือ
ผู้เขียนได้รับหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าปีนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) พลิกดูเรื่องแรกเป็นพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่นักเรียน ซึ่งประชุมกันเฝ้าที่หน้าพลับพลาท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ร.ศ. ๑๑๖ เข้าใจว่าเป็นโอกาสที่พระราชทานให้นักเรียนเฝ้าในคราวที่เสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งแรก ผู้เขียนไม่ได้อยู่ในกรุงเทพในเวลานั้น เพราะตามเสด็จพระราชดำเนินไปยุโรป แต่ไม่ได้ตามเสด็จกลับ จึงไม่ได้ฟังพระราชดำรัสที่ท้องสนามหลวงแลไม่เคยได้อ่านเลย คงจะเป็นด้วยพระราชดำรัสท่อนสั้นนี้ซ่อนอยู่ในหนังสืออื่น ๆ ซึ่งมีมากมายในการเสด็จพระราชดำเนินยุโรป แลเสด็จกลับในปีนั้น (พ.ศ. ๒๔๔๐)
ครั้นมาพบพระราชดำรัสในหนังสือมหาวิทยาลัยคราวนี้ ผู้เขียนก็ได้อ่านเป็นเรื่องแรก อ่านแล้วเข้าใจแจ่มแจ้งเหมือนดังเดินไปในที่เตียนราบไม่ต้องบุกหญ้ารก ไม่สดุดขอนไม้ที่นอนขวางทาง ไม่ต้องปีนข้ามรั้ว ไม่ต้องโจนข้ามคู ไม่ต้องอัดลมหายใจเพื่อจะเบ่งปัญญาให้รู้ความหมายของหนังสือ ไม่ต้องเดินทางคดเคี้ยวเป็นงูเลื้อย อันมากด้วยความตะกุกตะกักต่าง ๆ จึงทำให้นึกว่า พระราชนิพนธ์ท่อนสั้นนี้ ทรงแต่งด้วยถ้อยคำธรรมดาผูกประโยคเกลี้ยง ๆ ไม่มีศัพท์แสงอะไร นอกจากที่ใช้กันตามปรกติ ทรงใช้สำนวนอย่างที่พูดกันอยู่เสมอๆ ไม่ทรงประดิษฐ์ประดอยแต่ละประโยคให้เป็นประโยคทรงเครื่อง เปรียบเหมือนแต่งตัวธรรมดาเดินไปตามสบาย ไม่ใช่นุ่งหางหงส์ คาดเจียรบาด สวมชฎา เดินท่ายี่เกออกฉาก เมื่อจะตรัสว่ากระไรก็ตรัสออกมาตรง ๆ ตามภาษาธรรมดา เราก็เข้าใจทันที ความเข้าใจของเราไม่ต้องเวียนอ้อมถ้อยคำที่ไม่จำเป็นจะนำมาใช้ แต่หากใช้เพื่อให้เป็นภาษาทรงเครื่องเท่านั้นเอง
ผู้เขียนไม่ทราบแน่ว่า หนังสือพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีอยู่เป็นอันมากนั้น ในสมัยนี้เห็นกันว่าเป็นโวหารดีหรือไม่ ถ้าเห็นกันว่าหนังสือเช่นพระราชดำรัสที่พูดถึงนี้ไม่ใช่โวหารดี ก็จำจะต้องกล่าวว่า ความนิยมเดี๋ยวนี้กับแต่ก่อนเปลี่ยนไปมาก จะเห็นว่าเปลี่ยนไปในทางที่หรือในทางเลว ก็เห็นจะแล้วแต่รุ่นของคนดอกกระมัง
พระราชดำรัสขึ้นต้นว่า “เรามีความสบายใจที่ได้เห็นพวกเจ้าทั้งปวงพร้อมกันเฉพาะหน้าเราเวลานี้ แลขอบใจที่เจ้าทั้งหลายได้แสดงความพอใจต่อเรา เราขอขอบใจในถ้อยคำที่ได้แสดงความปรารถนาอันดีต่อเราทั้ง ๒”
(“ทั้ง ๒” หมายความว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถประทับอยู่บนพลับพลาขณะนั้นด้วย ในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่เสด็จอยู่นั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงว่าราชการแทนพระองค์ จึงเสด็จออกด้วยกันในงานรับเสด็จกลับ)
คำเกลี้ยง ๆ ที่เริ่มพระราชดำรัสข้างบนนี้ ถ้าจะเปลี่ยนไปว่า “ก่อนอื่นเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสภาพเท่าที่เจ้าทั้งหลายทำการมา” – – ก็จะกินเวลาเป็นอันมาก ผู้อ่านที่ใส่ใจเทียบสำนวนหนังสือรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่จงคิดเทียบเอาเองเถิด
ถ้าจะเทียบสำนวนหนังสือไทยถอยหลังจากเวลาพระราชดำรัสไปอีก ๔๐ ปี อ่านพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นที่พิมพ์ในราชกิจจานุเบกษารัชกาลที่ ๔ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าจะทรงว่ากระไร ก็ทรงเขียนลงไปอย่างแจ่มแจ้งจนเหลือที่ผู้ใดจะไม่เข้าใจได้ บางทีทรงชี้แจงความข้อเดียวกันซ้ำถึง ๒ ซ้ำติด ๆ กันไป แลถึง ๓ ซ้ำก็มี ทรงเปลี่ยนวิธีชี้แจงคำรบ ๒ แลคำรบ ๓ ให้แยกทางกันออกไป เพื่อจะไม่ปล่อยช่องเข้าใจผิดหรือไม่เข้าใจไว้เลย ถ้าท่านอ่านหนังสือราชการในรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ ท่านจะเห็นว่า ผู้แต่งมุ่งจะให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายให้จนได้ ถ้าหากต้องใช้ถ้อยคำมากก็ใช้ เพื่อจะให้เข้าใจ ไม่ใช่ใช้เพื่อจะใช้เท่านั้น
ในสมัยที่เข้าใจความคิดใหม่ ๆ กันยาก เพราะไม่เคยเห็นกันมาแต่ก่อนนั้น จะพูดหรือเขียนอะไรให้เข้าใจกันทั่วไปก็ต้องพูดยาว เป็นต้นว่า หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในรัชกาลที่ ๔ เขียนว่าจะรับลงประกาศขายของเท่านั้น ก็ต้องพูดอธิบายเลอียด เพราะไม่มีใครเคยประกาศขายของในหนังสือพิมพ์กันเลย ถ้าจะพูดแต่คำสองคำ ผู้อ่านก็ไม่เข้าใจได้
ข้อที่ผู้เขียนนึกเมื่ออ่านพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วนั้น ก็คือว่าสำนวนเกลี้ยง ๆ เช่นในพระราชดำรัสนี้ เพราะเหตุที่อ่านแลฟังเข้าใจทันที จึงเคยเรียกกันว่าสำนวนดี แต่ในปัจจุบัน พวกที่เขียนสำนวนคนละอย่าง คงจะเห็นตรงกันข้ามกับคนรุ่นก่อน
ตั้งแต่วันในพระราชดำรัสมาถึงเดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) ก็เพียง ๔๐ ปี ตั้งแต่วันสวรรคตก็เพียง ๒๘ ปี สังเกตในวันถวายบังคมพระบรมรูป ก็ดูมีผู้นับถือพระเกียรติคุณมาก แลมีผู้จำพระองค์แลรัชกาลของพระองค์ได้ก็ยังมีไม่น้อย สำนวนหนังสือไทยเช่นที่ทรงพระราชนิพนธ์นี้ คงจะยังเป็นที่ชอบใจกันอยู่บ้าง อย่างน้อยก็ในพวกคนรุ่นเก่า