- คำนำของผู้จัดพิมพ์
- ๑. สภากาชาด
- ๒ นิราศ
- ๓. โคบุตร
- ๔. ไวต์ชาวสยาม
- ๕. ผสมผสาน
- ๖. พม่าประเทศราช
- ๗. ผสมผสาน (๒)
- ๘. สำคัญอะไรที่ชื่อ
- ๙. ทุนสำรองพิกัด
- ๑๐. ผสมผสาน (๓)
- ๑๑. ประชาธิปัตย์แลความลับ
- ๑๒. เมื่อเจียงไคเช็คถูกจับ
- ๑๓. ขอโทษ
- ๑๔. เซี่ยงไฮ้
- ๑๕. อ๊อกซฟอด
- ๑๖. ดินเนอร์ใหญ่
- ๑๗. สามก๊ก
- ๑๘. หมู่ประเทศ “ออสโล”
- ๑๙. เซี่ยงไฮ้
- ๒๐. โรตารี่ในประเทศเยอรมัน
- ๒๑. ผสมผสาน (๔)
- ๒๒. รัฐคติ
- ๒๓. ล่าผัว
- ๒๔. โลกนี้ครึ่งหนึ่ง
- ๒๕. สก๊อตแลนด์กับอิงแลนด์
- ๒๖. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
- ๒๗. ขัติยมานะ
- ๒๘. เมื่อวันประกาศมหาสงคราม
- ๒๙. ปเกียรณกะ
- ๓๐. ในอินเดีย
- ๓๑. ในเมืองอังกฤษ
- ๓๒. คำราม
- ๓๓. ศัพท์รอยัลลิซต์
- ๓๔. อารยะชน อานารยะชน
- ๓๕. หนังสือพิมพ์
- ๓๖. กล่องดวงใจ
- ๓๗. ธนาธิปัตย์ยังไม่ตาย
- ๓๘. ฉากละคร
- ๓๙. ราชพิธีอังกฤษ
- ๔๐. ผสมผสาน (๕)
- ๔๑. นึกเมื่อฟังเทศน์
- ๔๒. บรรดาศักดิ์อังกฤษ
- ๔๓. กาพย์เห่เรือ
- ๔๔. โอวาทสำหรับชายหนุ่ม
- ๔๕. ราชาธิราชประเทศเม็กซิโก
- ๔๖. มุกดาดำ
- ๔๗. ประปา
- ๔๘. อุตสาหกรรมในกระท่อม
- ๔๙. ปนคำพูด
- ๕๐. วังแก้ว
- ๕๑. แซะประธาน
- ๕๒. ครึ่งสตางค์
- ๕๓. ฝักซ้ายฝ่ายขวา
- ๕๔. ประชาธิปัตย์สองแห่ง
- ๕๕. ยิวแลอาหรับ
- ๕๖. เฮ็บราย
- ๕๗. ประเทศอิราค
- ๕๘. พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ
- ๕๙. รัฐแฟรงก์
- ๖๐. ศัพท์
- ๖๑. …ิสม์
- ๖๒. ท่านเสือ
- ๖๓. ส่องกระจก
- ๖๔. พระสังตปาปา
- ๖๕. นานาภาษิต
- ๖๖. สำนวนหนังสือ
- ๖๗. อาศา
- ๖๘. คณะสงฆ์
สก๊อตแลนด์กับอิงแลนด์
เวลานี้ (ก.ย. พ.ศ. ๒๔๘๐) เป็นสมัยที่ประเทศหลายประเทศแข่งขันกันสร้างเรือรบ แต่ทุกประเทศพยายามจะให้เลิกการแข่ง
ในสมัยกว่า ๔๐๐ ปีไปแล้ว สก๊อตแลนด์ยังเป็นประเทศหนึ่งที่มีพระเจ้าแผ่นดินปกครอง อิงแลนด์เป็นประเทศหนึ่งมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองเหมือนกัน ในสมัยปัจจุบันคนโดยมากไม่ค่อยรู้ว่า สก๊อตแลนด์เคยมีอำนาจมากทางทเลเพราะมีกองทัพเรือขนาดใหญ่ แลคู่แข่งในทางทัพเรือของสก๊อตแลนด์ ก็คืออิงแลนด์ (อังกฤษ) สองประเทศนั้นมีดินแดนทางบกติดต่อกัน เพราะอยู่ในเกาะเดียวกัน ในรัชกาลพระเจ้าเยมส์ที่ ๔ แห่งสก๊อตแลนด์ ทัพเรือของประเทศนั้นอยู่ในสมัยที่มีกำลังมากที่สุด เพราะชาวสก๊อตแลนด์เห็นประโยชน์ที่จะแผ่อำนาจไปในทางทเล
ส่วนทางพระเจ้าแผ่นดินอิงแลนด์ (อังกฤษ) ในเวลาพร้อมกัน คือพระเจ้าเฮนรีที่ ๘ พระราชาอิงแลนด์กับพระราชาสก๊อตแลนด์ทรงแข่งอำนาจกัน ทั้งสองประเทศก็แข่งกันสร้างเรือรบ
ใน ค.ศ. ๑๕๑๓ ทัพเรือสก๊อตแลนด์มีเรือรบขนาดใหญ่ ๑๖ ลำ ขนาดรอง ๑๐ ลำ พระราชาสก๊อตแลนด์มีพระราชโองการสั่งทัพเรือให้แล่นออกทเลไปสมทบกับทัพเรือของพระราชาฝรั่งเศส ตีทัพเรือของพระราชาอิงแลนด์ (อังกฤษ)
แต่ทัพเรือสก๊อตแลนด์ที่ออกทเลไป จะสมทบทัพเรือฝรั่งเศสครั้งนั้น ได้ไปแวะปล้นตามฝั่งไอร์แลนด์เสียก่อน กว่าจะเลยไปถึงฝั่งฝรั่งเศสก็ช้าไป เพราะระหว่างนั้นสก๊อตแลนด์กับอิงแลนด์ได้รบกันทางบก เรียกตามภาษาพงศาวดารว่า ศึกฟฺลอดเด็น (Flodden) พระเจ้าเยมส์ที่ ๔ ทรงคุมทัพออกรบเสียทีสิ้นพระชนม์ในครั้งนั้น
ต่อนั้นมาอีก ๒๙๒ ปี เมื่อสก๊อตแลนด์กับอิงแลนด์ได้รวมเป็นประเทศ มีพระราชาองค์เดียวกันปกครองแล้ว กองทัพเรือก็รวมเข้าด้วยกัน ชาวประเทศสก๊อตแลนด์ก็เข้าเป็นทหารเรือร่วมราชการกับชาวประเทศอังกฤษ ครั้นใน ค.ศ. ๑๘๐๕ เมื่อเน็ลสันแม่ทัพเรืออังกฤษชนะทัพเรือของ นะโปเลียนเป็นครั้งใหญ่ คือครั้งที่ทำให้นะโปเลียนสิ้นหวังที่จะตีเกาะอังกฤษได้นั้น ในเรือของเน็ลสันแม่ทัพ มีชาวสก๊อตแลนด์เป็นนายทหารแลพลทหารอยู่เป็นอันมาก พลทหารชาวสก๊อตแลนด์คนหนึ่ง ถูกปืนยิงมาจากเรือข้าศึกนอนจวนจะตายอยู่บนดาดฟ้า เพื่อนชาวสก๊อตแลนด์ด้วยกันคนหนึ่งเข้าไปประคอง คนเจ็บกลับมีสติขึ้น จึงถามว่า เมื่อก่อนจะเริ่มรบ ท่านแม่ทัพได้กล่าวแก่กองทัพว่ากระไร
เพื่อนตอบว่า ท่านแม่ทัพชักธงสัญญากล่าวแก่กองทัพว่า อิงแลนด์ตั้งใจให้ทุกคนทำหน้าที่ของตน
คนเจ็บบ่นว่า “ท่านไม่เอ่ยถึงสก๊อตแลนด์เลยเทียวหรือ ?”
เพื่อนตอบว่า “ท่านแม่ทัพรู้แล้วว่า ชาวสก๊อตแลนด์ทุกคนทำหน้าที่โดยไม่ต้องเตือน”