เมื่อวันประกาศมหาสงคราม

เมื่อวันครบรอบ ๒๓ ปี นับแต่วันที่รัฐบาลอังกฤษประกาศสงครามกับประเทศเยอรมัน ได้มีเอ็ม ปี. อังกฤษคนหนึ่ง ชื่อแฮโรลด์ นิโคลซัน เล่าถึงงานอันหนึ่งที่เขาได้ทำในหน้าที่ที่เป็นเจ้าพนักงานผู้น้อย อยู่ในกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ งานนั้นคืองานของผู้ถือหนังสือประกาศสงครามไปส่งต่อราชทูตเยอรมันในลอนดอน เมื่อเวลา ๒๓ นาฬิกา ๒๐ นาที วันที่ ๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔

เขาเริ่มเล่าถึงเวลาก่อนนั้นประมาณ ๗ วัน เขาลาพักราชการไปอยู่บ้านนอก ในบ้านซึ่งเจ้าของบ้านเชิญแขกไปอยู่หลายคน คนหนึ่งเป็นข้าราชการทูตของประเทศสวีเด็น เป็นผู้ใหญ่รู้แลเข้าใจทางการต่างประเทศมาก แต่พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยชัด เช้าวันหนึ่ง ได้ข่าวไปว่า รัชทายาทของประเทศออสเตรียถูกทำร้ายถึงสิ้นพระชนมที่เมืองสาระเยโว พวกหนุ่มสาวได้อ่านข่าว ก็นึกว่าเจ้าชายออสเตรียถูกฆ่าอยู่ในประเทศออสเตรีย ก็คงจะเป็นเรื่องยุ่งในประเทศนั้น ซึ่งไม่เกี่ยวไปถึงประเทศอื่น ๆ แต่ท่านผู้ใหญ่ชาวสวีเด็นไม่เห็นอย่างนั้น ท่านทำหน้ายาวแล้วว่า ประเทศเยอรมันคงจะถือโอกาสโดดเข้าใส่เป็นแน่ ท่านผู้นั้นออกสำเนียงตัว G แลตัว J ไม่ได้ พูดว่า “Yermany is certain to yump in” พวกหนุ่มสาวนึกขันสำเนียงที่พูดยิ่งกว่าเห็นความสำคัญของข่าว

ครั้นกลับไปลอนดอนก็ได้ความว่า กระทรวงการต่างประเทศต้องทำงานกันทั้งกลางวันกลางคืน ข้าราชการที่ลาหยุด ถ้าไม่ได้ไปเที่ยวนอกประเทศ ก็ถูกเรียกกลับไประดมทำงานหมด เขาว่าตัวเขาเองถูกโอนไปอยู่แผนกการตวันออกในตอนปลายเดือนกรกฎาคม แต่แผนกนั้นถูกรวมเข้าไปกับแผนกตวันตก จัดใหม่เรียกว่า แผนกสงครามของกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าหน้าที่ทำงานหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศที่เกี่ยวกับสงคราม

ก่อนนั้นประมาณ ๓ ปี เมื่อดูท่วงทีเหมือนจะเกิดสงครามกับเยอรมัน แต่ไม่ได้เกิด กรรมการป้องกันราชอาณาจักรของอังกฤษพิเคราะห์เห็นว่า การระดมพลของทัพบกทัพเรือนั้น ถึงแม้ทั้งสองกระทรวงจะได้เตรียมกำลังไว้อย่างเลอียดที่สุด จนถึงจะใช้เมื่อไร ก็หยิบออกจากตู้มาใช้ได้ทันทีก็จริง แต่การตระเตรียม ซึ่งต่างกระทรวงก็ต่างเตรียม ทำไปโดยที่มิได้รู้เห็นถึงกันนั้น ถึงเวลาเอาเข้าจริง ก็มักมีปอยยุ่ง จึงจำจะต้องเตรียมการติดต่อให้ดี แลถ้ามีอะไรมาจร ก็จะได้จัดทันที ให้เข้าเกลียวกันได้ ทั้งกระทรวงทหารบก และกระทรวงทหารเรือทีเดียว

กรรมการป้องกันราชอาณาจักร ปรึกษากับกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตกลงกันว่า ให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าหน้าที่ที่จะรวมปลายเชือกเข้าไปไว้ทั้งหมด เมื่อถึงเวลาเอาเข้าจริงก็ให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้บอกกล่าวไปให้ทั่วถึงทุกกระทรวงทบวงการที่มีหน้าที่จะต้องทำอะไรบ้าง แลต้องบอกถึงเมืองขึ้นแลข้าราชการ หรือใคร ๆ ทั่วโลกที่จะต้องรับคำสั่ง หรือคำบอกกล่าวจากรัฐบาลอังกฤษ

เขาว่าการปฏิบัติตามวิธีที่ตกลงกันนี้ จะอธิบายเลอียดก็ยืดยาวนัก เขาจึงกล่าวแต่เพียงว่า การตระเตรียมทุกอย่างได้แยกไว้เป็นหนังสือสองแผนก สำหรับจะเลือกใช้แล้วแต่เหตุการ หนังสือแผนกหนึ่งสำหรับใช้ในเมื่ออังกฤษเป็นผู้ประกาศสงครามกับประเทศอื่น อีกแผนกหนึ่งสำหรับใช้เมื่อประเทศอื่นประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษ หนังสือที่เตรียมแยกไว้เช่นนี้ คือร่างเอกสาร ร่างโทรเลข แลร่างคำบอกกล่าวต่าง ๆ ซึ่งจะหยิบออกใช้ได้ทันทีทั้งนั้น แผนกซึ่งถ้าอังกฤษเป็นผู้ประกาศสงคราม ก็จะต้องใช้นั้น จัดใส่ไว้ในตู้เรียกว่าตู้เอ. บรรดาร่างหนังสือทั้งหลายที่จะต้องใช้ในเมื่อประเทศอื่นประกาศสงครามกับอังกฤษ เก็บอยู่ในตู้บี. ในตู้ทั้งสองตู้นี้ จัดแยกชั้นแลลิ้นชัก มีลำดับอักษรแลตัวเลขอย่างเลอียดที่สุด จะหยิบใช้เมื่อไรก็ไม่ต้องค้นหา หยิบได้ทันทีทั้งนั้น

วันที่ ๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ เป็นวันซึ่งอังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมัน เมื่อ ๑๔ นาฬิกาวันนั้น เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ ได้มีโทรเลขส่งไปถึงราชทูตในกรุงเบอรลินว่า ให้แจ้งคำขาดแก่รัฐบาลเยอรมันว่า ถ้ารัฐบาลเยอรมันไม่เคารพความเป็นกลางของประเทศเบ็ลเยียม แลแจ้งให้รัฐบาลอังกฤษทราบก่อนเวลาเที่ยงคืน (๒๔ นาฬิกา) ว่ารับสัญญาจะเคารพ รัฐบาลอังกฤษก็จะกระทำทุกอย่าง เพื่อรักษาความเป็นกลางของเบ็ลเยียม ตามคำมั่นสัญญาซึ่งเยอรมันแลอังกฤษได้ลงนามไว้ด้วยกัน คำขาดที่อังกฤษกล่าวแก่เยอรมันนี้ พูดสั้น ๆ ก็คือว่า อังกฤษให้เวลาเพียง ๒๔ นาฬิกา วันที่ ๔ ให้เยอรมันรับรองว่า จะไม่ยกทัพผ่านแดนเบ็ลเยียมเข้าตีฝรั่งเศส ถ้าเยอรมันไม่รับรองก่อนเวลานั้น อังกฤษกจะประกาศสงครามกับเยอรมัน

คำขาดที่อังกฤษให้ไปนั้น คาดกันว่าเยอรมันคงไม่ยอม แต่เยอรมันจะตอบไม่ยอมก่อนเที่ยงคืน หรือไม่ตอบเสียทีเดียวนั้นรู้ไม่ได้ อนึ่ง ควรจะกล่าวในที่นี้ว่า เวลาในเบอรลินกับเวลาในลอนดอนผิดกันชั่วโมงหนึ่ง เวลา ๒๔ นาฬิกาในเบอรลิน ตรงกับ ๒๓ นาฬิกาในลอนดอน จึงเตรียมกันในกระทรวงต่างประเทศว่า พอถึงเวลา ๒๓ นาฬิกา ก็จะเอาหนังสือจากตู้เอ. ปล่อยกระจายไปในโลก กระทรวงต่างประเทศคืนนั้น ไม่เคยมีคืนไหนเหมือน ในห้องทำงานตามระเบียงเปิดไฟฟ้าสว่างไปหมด ประตูห้องก็เปิดไว้ทุกประตู เพื่อจะวิ่งไปมาได้เร็ว ทั้งนี้เพราะว่าโทรเลขแลเอกสารหลายพันฉบับซึ่งเตรียมไว้ในตู้พร้อมแล้วนั้น ต้องคอยให้รู้แน่ว่าอย่างไรเสียก่อน จึงจะทำให้เสร็จไปได้

โทรเลขเหล่านั้นสลักหลังถึงใคร ใครเป็นผู้เซ็นแลคำสั่งว่ากระไร ก็พิมพ์ไว้เสร็จ ยังมีที่ว่างอยู่แห่งเดียว ที่ว่างนั้นว่างไว้สำหรับชื่อประเทศที่อังกฤษจะประกาศสงคราม การเขียนชื่อประเทศลงในโทรเลขหลายพันฉบับนั้น ก็กินเวลานาน จึงได้เตรียมตรายางไว้เป็นอันมาก ตรายางนั้นเป็นชื่อประเทศทุกประเทศในโลก

งานที่ทำคืนนั้น ก็คือเอาตรายางคำว่า “ประเทศเยอรมัน” พิมพ์ลงตรงที่ว่างในโทรเลขหลายพันฉบับ แลก็ได้ลงมือทำกันตั้งแต่เย็นไปจน ๒๑ นาฬิกากึ่งก็ร่วมหัวงาน ครั้นเวลา ๒๑ นาฬิกา ๔๐ นาฑี มีเลขานุการคนหนึ่งวิ่งกระหืดกระหอบไปจากบ้านอัครเสนาบดีเข้าไปในห้องซึ่งกำลังทำงานกันอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ แล้วร้องตะโกนว่า “หยุด หยุด คราวนี้ตู้เอ. ไม่ใช่ตู้บี. กระทรวงทหารเรือจับโทรเลขได้ว่า เยอรมันประกาศสงครามเอาเรา ไม่ใช่เราประกาศเอาเยอรมัน”

พวกที่ทำงานอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศได้ยินดังนั้นก็ถอนใจใหญ่ เอาโทรเลขตู้เอ. ที่ทำไว้เกือบเสร็จแล้วโยนทิ้งไว้กับพื้นห้อง แล้วเอาโทรเลขแลหนังสืออื่นจากตู้บี. ออกมาตีตรายางกันใหม่

เมื่อวานนี้ได้เล่ามาเพียงว่า ในวันที่อังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมัน ข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ได้ระดมกันเตรียมเอกสารแลโทรเลขหลายพันฉบับ จนเวลา ๒๑ นาฬิกา ๔๐ นาฑี ใกล้เวลาที่จะต้องใช้หนังสือเหล่านั้น คือ ๒๓ นาฬิกาแล้ว ก็ทราบมาจากสำนักอัครเสนาบดีว่า เอกสารแลโทรเลขทั้งหลายที่เตรียมไว้จากตู้เอ.นั้น ต้องเปลี่ยนเป็นเตรียมใหม่จากตู้บี. จึงต้องเริ่มตีตรายางกันใหม่ในเวลาจวนเจียน

ผู้เล่าเรื่องนี้คือ เฮโรลด์ นิโคลซัน ผู้เป็นพนักงานอ่อนอายุที่สุดอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศเวลานั้น

ผู้เล่ากล่าวว่า บรรดางานที่เตรียมกันมาเป็นเวลานานในตอนที่จะเกิดสงครามนั้น งานชิ้นสำคัญที่สุด ก็คือการประกาศสงคราม วิธีประกาศสงครามในครั้งนั้น พูดสั้น ๆ ถ้าประเทศเยอรมันนิ่งเสียไม่ตอบคำขาดของอังกฤษ ภายในเวลาเที่ยงคืนในเบอรลิน คือ ๒๓ นาฬิกาในลอนดอน ก็จะมีจดหมายจากเสนาบดีการต่างประเทศอังกฤษ ไปถึงราชทูตเยอรมันในลอนดอน เขียนเป็นภาษาราชการทูต แต่มีใจความว่า รัฐบาลของท่านมิได้ตอบคำขาดของเรา เราจึงจะประกาศสงครามกับท่านคืนนี้ ข้าพเจ้าจึงส่งหนังสือเดินทางมายังท่านพร้อมกับจดหมายนี้ เพื่อให้ท่านออกจากประเทศนี้ไปเสีย

แต่ถ้าประเทศเยอรมันประกาศสงครามก่อน จดหมายของเสนาบดีการต่างประเทศก็มีความว่า ประเทศเยอรมันได้ประกาศสงครามกับเราแล้ว ข้าพเจ้าจึงส่งหนังสือเดินทางของท่านมาพร้อมกับจดหมายนี้

วิธีเขียนจดหมายสองทางที่กล่าวมานี้ ดูในปัจจุบันอาจเห็นเป็นข้อไม่สำคัญก็เป็นได้ เพราะสงครามซึ่งเริ่มรบกันแล้วจึงประกาศก็มี รบกันจนล้มตายไปเป็นกองแล้วยังไม่ประกาศก็มี แต่ในสมัยนั้นดูเป็นข้อสำคัญมาก เพราะทุกประเทศถือเคล็ดที่จะไม่เป็นผู้ประกาศสงครามก่อน เหตุฉนี้ ข้อที่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษต้องใช้ตู้บี. แทนตู้เอ. จึงเป็นข้อที่ค่อนจะชอบใจ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศจึงได้รับหน้าที่ถือจดหมายจากตู้บี. ถึงราชทูตเยอรมันในลอนดอน ไปยื่นต่อตัวราชทูตเอง ท่านปลัดกระทรวงถือจดหมายนี้เดินไปสถานทูตซึ่งอยู่ใกล้ไม่ต้องใช้รถ ส่งหนังสือถึงมือราชทูต แล้วกลับถึงกระทรวงการต่างประเทศเวลา ๒๒ นาฬิกา ๑๕ นาฑี

ครั้นเวลา ๒๒ นาฬิกา ๓๕ นาฑี มีโทรเลขด่วนมาจากราชทูตอังกฤษในเบอรลินว่า หัวหน้ารัฐบาลเยอรมันได้พูดโทรศัพท์ถึงราชทูตว่า รัฐบาลเยอรมันจะไม่ตอบคำขาดของรัฐบาลอังกฤษ หัวหน้ารัฐบาลเยอรมันจึงมีความเสียใจยิ่งนัก ที่ภาวะแห่งสงครามจะมาถึงตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนไป

กระทรวงการต่างประเทศได้ทราบโทรเลขฉบับหลังนี้ก็กาหล ให้เลขานุการคนหนึ่งวิ่งไปกระทรวงทหารเรือถามว่า ข่าวรายก่อนที่ว่าเยอรมันประกาศสงครามก่อนนั้นได้มาอย่างไร ไม่ช้าเลขานุการกลับไปรายงานว่า ข่าวรายก่อนได้มาเพราะดักรู้โทรเลขเยอรมันฉบับหนึ่ง มีบอกไปถึงเรือเยอรมันทั่วโลกว่า “สงครามกับอังกฤษประกาศแล้ว เรือเยอรมันที่อยู่กลางทเลจงหนีเข้าอ่าวที่ใกล้ที่สุด” (หมายความว่าอ่าวเยอรมันหรืออ่าวของประเทศที่เป็นกลาง)

เมื่อเจ้าพนักงานกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษทราบดังนี้ก็ถอนใจใหญ่หลายทอด แล้วช่วยกันไปเรียกเอาโทรเลขตู้บี. คืนจากอ๊อฟฟิศโทรเลข ซึ่งเป็นอ๊อฟฟิศโทรเลขพิเศษอยู่ในตึกหลังเดียวกัน แล้วจัดโทรเลขตู้เอ. ไปเปลี่ยนให้ส่งแทน

การเปลี่ยนใช้ตู้เอ. แทนตู้บี. นี้ ในส่วนโทรเลขที่อยู่ในมือเจ้าพนักงานของรัฐบาลเดียวกัน ถึงจะต้องกระหืดกระหอบก็ทำได้สะดวก แต่ในเรื่องที่จะเปลี่ยนจดหมายที่ส่งไปถึงราชทูตเยอรมันแล้วนั้น เป็นปัญหาคนละอย่าง ถ้าจะดูตามรูปการ อังกฤษก็ได้ประกาศสงครามผิด เพราะอ้างว่าเยอรมันประกาศก่อน จึงประกาศบ้าง การเป็นเช่นนี้ ก็จะต้องนำจดหมายจากตู้เอ. ไปเปลี่ยนจดหมายจากตู้บี. ที่ส่งถึงมือราชทูตแล้ว แลจะต้องรีบเปลี่ยนโดยเร็ว แต่จะทำอย่างไรจึงจะดี

ข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวง ได้ปรึกษากันในห้องปลัดกระทรวง อีกครู่หนึ่งข้าพเจ้า (แฮโรลด์ นิโคลซัน) ถูกเรียกเข้าไปในห้องนั้น ครั้นข้าพเจ้าไปถึงก็ได้รับคำสั่งว่า “ท่านเป็นเด็กที่สุดในพวกเจ้าพนักงานกระทรวงนี้ ท่านต้องเป็นผู้ไปขอคืนเอาจดหมายฉบับนั้นมาจากราชทูตเยอรมัน”

ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งดังนั้นแล้ว ก็ถือซองจดหมายฉบับใหม่ เปิดประตูหลังอ๊อฟฟิศออก เดินข้ามลานซ้อมของกองทหารม้ารักษาพระองค์ แล้วตรงไปสั่นระฆังเรียกให้เปิดประตูข้างสถานทูตเยอรมัน ข้าพเจ้ามีความหนักใจยิ่งนัก เพราะเป็นงานทูตชิ้นแรก ที่ข้าพเจ้าได้รับมอบให้ทำ แต่เป็นชิ้นยากซึ่งปฏิบัติท่าไรจึงจะสำเร็จก็รู้ไม่ได้

ตามถนนในลอนดอนเวลานั้น มีคนมากขึ้นทุกที เพราะรู้ข่าวที่สงครามจะต้องเกิดเป็นแน่ คนในถนนเดินไหลกันไปประชุมเป็นหมู่ใหญ่อยู่หน้าพระราชวัง แต่พวกที่เห็นข้าพเจ้าไปสั่นระฆังประตูสถานทูตเยอรมันหยุดดูก็มี

ข้าพเจ้าสั่นระฆังแล้วก็สั่นอีก ดูสถานทูตเหมือนปิดมืดไม่มีคนอยู่ แต่ข้าพเจ้าก็สั่นระฆังร่ำไปอยู่ช้านาน ในที่สุดได้ยินเสียงฝีเท้าคนเดินข้างใน แล้วมีบ่าวหนุ่มคนหนึ่งแง้มประตูดูข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเอาเท้าสอดเข้าไปทันที ไม่ให้ปิดประตูได้แล้วว่า “ฉันจะต้องพบตัวท่านราชทูตทันที”

“ท่านราชทูตขึ้นนอนแล้ว ท่านสั่งไว้ว่าใครกวนท่านไม่ได้เป็นอันขาด”

“ถึงอย่างนั้นก็ต้องพบท่านให้จนได้ เพราะมีราชการด่วนมาจากเสนาบดีการต่างประเทศ”

“ทานราชทูตกล่าวเมื่อก่อนไปนอนว่า จดหมายที่ท่านรับแล้ว เป็นจดหมายฉบับสุดท้าย ที่ท่านจะได้รับจากเสนาบดีการต่างประเทศ”

ตอนนี้ข้าพเจ้าดีใจที่ได้เอาเท้าสอดขัดประตูไว้ มิฉนั้นคงถูกปิดประตูใส่หน้าเป็นแน่ ข้าพเจ้านึกในใจว่า เห็นจะต้องใช้กิริยาวาจาอย่างสง่าผ่าเผยขู่บ่าวหนุ่มคนนั้น ข้าพเจ้าจึงว่า “ นี่แน่เจ้า เจ้าเป็นเด็กหนุ่ม เจ้าไม่รู้จักความสำคัญหรือไม่สำคัญในราชการบ้านเมืองเลย เจ้าจงไปปลุกหัวหน้าบ่าวขึ้นทันทีเถิด เรื่องนี้เป็นราชการสำคัญที่สุด”

บ่าวหนุ่มกัดริมฝีปากนิ่งไม่รู้จะว่ากระไร แต่ประเดี๋ยวก็เปิดประตูให้ข้าพเจ้าเข้าไป แล้วบอกห้วน ๆ ว่า “คอยอยู่ที่นี่”

บ่าวหนุ่มเดินหายเข้าไปในเรือน อีกครู่หนึ่งได้ยินเสียงคนเดินออกมาสองคน คือหัวหน้าบ่าวกับบ่าวหนุ่ม

ข้าพเจ้าบอกชื่อข้าพเจ้าแก่หัวหน้าบ่าวแล้ว บอกว่าเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศใช้ไปหาราชทูต ข้าพเจ้าแถมว่า “เป็นเรื่องสงคราม แลฉันจะอยู่ที่นี่ จนพบท่านราชทูตให้จนได้”

หัวหน้าบ่าวอ้ำอึ้งอยู่ครู่หนึ่งจึงตอบว่า “เชิญท่านคอยอยู่ที่นี่ก่อนขอรับ” (หัวหน้าบ่าวใช้กิริยาวาจาสุภาพกว่าบ่าวหนุ่ม) “ผมจะขึ้นไปปลุกท่านราชทูต”

ข้าพเจ้าคอยอยู่ประมาณกัลปหนึ่ง หัวหน้าบ่าวจึงกลับมาเชิญข้าพเจ้าขึ้นไปข้างบนจนถึงประตูห้องนอนท่านราชทูต หัวหน้าบ่าวเคาะประตู มีเสียงในห้องว่าให้เข้าไปเถิด

ข้าพเจ้าก้าวเข้าไปในห้องเท้าเหยียบพรมหนา ในห้องมีฉากกั้นอยู่ใกล้ประตู หลังฉากมีเตียงนอนทองเหลือง ข้างเตียงนอนมีโต๊ะเล็กตัวหนึ่ง มีโคมโป๊ะสีชมภูวางอยู่บนโต๊ะนั้น ท่านราชทูตอยู่ในที่นอน กะพริบตาดูข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าว่า “ผมเสียใจนักที่ต้องเข้ามารบกวนใต้เท้า แต่เอกสารที่ใต้เท้าได้รับเมื่อชั่วโมงก่อน เป็นเอกสารซึ่งส่งมาผิด ผมได้รับคำสั่งให้มาขอคืน แลให้ส่งฉบับนี้ให้ใต้เท้าแทน”

ท่านราชทูตตอบว่า “ตามใจซี อยู่บนโต๊ะนั่นแน่ะ หยิบเอาเองเถิด”

ข้าพเจ้าเดินไปที่โต๊ะข้างหน้าต่าง เห็นซองหนังสือเหมือนกับที่ข้าพเจ้าถืออยู่ในมือ ข้าพเจ้าจึงหยิบเอามาทันที สังเกตว่าซองนั้นยังเปิดไม่ตลอด บางทีจะเป็นด้วยท่านราชทูตเปิดซองได้ครึ่งเดียวก็เห็นหนังสือเดินทาง ซึ่งในสมัยนั้นใช้กระดาษเหมือนกระดาษธนบัตรใบละ ๕ ปอนด์ ซึ่งผิดกับ กระดาษหนังสือธรรมดา ท่านราชทูตเห็นกระดาษก็รู้ว่าหนังสือเดินทาง เลยไม่เอาออกอ่านในทันที เพราะท่านเป็นผู้ใฝ่ฝันจะให้ประเทศของท่านกับประเทศอังกฤษมีไมตรีสนิทแก่กัน แลท่านมีใจไปในทางที่จะจัดไม่ให้สงครามเกิด เพราะฉะนั้น พอท่านเห็นกระดาษหนังสือเดินทาง ท่านก็รู้ว่าความหวังของท่านสลายไปหมดแล้ว ท่านจึงโยนหนังสือนั้นลงบนโต๊ะ ไม่อ่านในคืนนั้น แล้วเข้านอนเลย

ข้าพเจ้าวางซองใหม่ไว้บนโต๊ะ หยิบซองเก่าใส่กระเป่า แล้วหยิบปากกาจิ้มหมึกถือไปที่เตียงนอนท่านราชทูต บอกว่า “ขอประทานอภัย โปรดให้ใบรับผมถือไปด้วย”

ข้าพเจ้าส่งใบรับกับปากกาให้ท่านราชทูตบนเตียงท่านก็เซ็นชื่อให้ ขณะนั้นมีเสียงราษฎรตามถนนร้องเพลงสรรเสริญบารมีอังกฤษ ได้ยินไปถึงห้องนอนท่านราชทูต ท่านราชทูตเอื้อมมือไปปิดไฟที่ข้างเตียงนอนเสีย ดูราวกับว่าท่านจะปิดเพลงสรรเสริญบารมีเสียได้ด้วยสวิตชโคมข้างเตียง แต่ท่านก็กลับเปิดไฟขึ้นอีก แล้วบอกแก่ข้าพเจ้าว่า “ท่านจงแสดงความเคารพของฉันต่อบิดาของท่านด้วย” สำเนียงที่ท่านราชทูตพูดนั้น เป็นสำเนียงเศร้ายิ่งนัก

ท่านราชทูตเยอรมันผู้นั้น เป็นคนรักประเทศของท่านที่สุด แต่ท่านก็รักประเทศอังกฤษด้วย แลท่านมีเพื่อนอังกฤษซึ่งท่านนับถือแลนับถือท่านมาก ต่อจากวันประกาศสงครามมาอีก ๑๐ ปี ข้าพเจ้าได้ไปรับราชการอยู่ในสถานทูตอังกฤษ กรุงเบอรลิน คราวหนึ่งข้าพเจ้าไปเป็นแขกของท่านอยู่ที่บ้านของท่านที่บ้านนอก บ่ายวันหนึ่งข้าพเจ้านั่งรถไปก่อนท่าน นึกถึงคืนที่ไปปลุกท่านที่สถานทูตลอนดอน อยากถามท่านว่า ท่านได้อ่านจดหมายฉบับแรกหรือไม่ทันได้อ่าน แต่ไม่กล้าถาม จึงเป็นอันไม่รู้ว่า ท่านทราบหรือเปล่าว่าหนังสือที่ข้าพเจ้าบอกท่านว่าผิดนั้น ผิดอย่างไร

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ