ปเกียรณกะ

คำอังกฤษว่า “ดีโมคระซี” เป็นคำยากที่จะคุ้นปากของคนที่ไม่รู้ภาษานั้น ถ้าจะพูดเน้นสำเนียงให้ถูกตามพยางค์ก็ยิ่งยาก และจะเขียนเป็นหนังสือไทยให้ออกเสียงถูกแท้ ก็ไม่ได้ทีเดียว เหตุดังนี้ควรจะมีคำที่ไทยใช้คุ้นปากมาเรียกแทน แลเราใช้ว่า ประชาธิปัตย์ เราชอบใช้ว่า “ปัตย์” ไม่ชอบว่า ปตัย เพราะตัว ต กับตัว ย เป็นอักษรควบ (ตฺย) เหมือนคำสํสกฤตว่า สตฺย เราอ่านว่า สัตย์ ไม่อ่านว่า สตัย อาทิตฺย เราอ่านว่า อาทิตย์ ไม่อ่านว่า อาทิไตย ฉนั้น เราชี้แจงข้อนี้ เพื่อจะให้ผู้อ่านของเราทราบว่า ที่เราชอบเขียนว่าประชาธิปัตย์นี้คำเดียวกับที่มักเขียนกันว่าประชาธิปตัยนั้นเอง คำว่าราชาธิปตฺยอีกคำหนึ่ง เราก็ชอบเขียนว่า ราชาธิปัตย์ เช่นกัน

ปีนี้ (ค.ศ. ๑๙๓๖) เป็นปีที่ดูเหมือนประชาธิปัตย์มีท่าทางว่าจะฟื้นตัวขึ้นบ้างในโลก ผู้อ่านของเราย่อมจะทราบแล้วว่า ตั้งแต่สิ้นมหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๑) แล้วมา ประชาธิปัตย์ก็จมลงไปแล้วกว่าครึ่ง ลักษณะการปกครองบ้านเมืองแบบบงการโดยอาญาสิทธิ์ ลอยเด่นขึ้นมาในประเทศใหญ่ ๆ หลายประเทศ พูดสั้น ๆ ก็คือว่าเกิดดิกเตเตอร์ทั่วไปรอบ ๆ ประเทศใหญ่ซึ่งดิกเตเตอร์ตั้งมั่นลงแล้ว นั้น ก็ยังไม่มีร่องรอยว่าจะเปลี่ยนไปสู่แบบประชาธิปัตย์ในปีนี้หรือปีไหนเมื่อไร แต่ประเทศที่เล็ก หรือที่ระบอบอาญาสิทธิ์เป็นแต่เพียงมีมาเป็นเงา ๆ ยังไม่ได้ฝังรากลงแน่นนั้น มีท่วงทีว่า ประชาธิปัตย์มีโอกาสจะผุดขึ้นบ้าง

ในตอนครึ่งปี ค.ศ. ๑๙๓๖ มีหลายประเทศที่กำหนดจะมีการเลือกผู้แทนราษฎรกันใหม่ เป็นการเลือกชนิดซึ่งพลเมืองมีโอกาสจะแสดงความประสงค์ในทางการบ้านเมืองแทบทุกราย ประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีเงาระบอบอาญาสิทธิ์มาราง ๆ นั้น มีกฎหมายบังคับว่า จะต้องเลือกภายในเดือนพฤษภาคม และการเลือกในประเทศฝรั่งเศสนี้ ชาวประเทศอังกฤษย่อมจะใส่ใจคอยฟังเสมอ เพราะวิธีปาลิเม็นต์แลปัญหาสำคัญ ๆ ของฝรั่งเศส ก็คล้ายกับของอังกฤษอยู่หลายทาง ส่วนประเทศอื่น ๆ นั้นได้กำหนดแล้ว ว่าจะมีการเลือกในประเทศกรีก ประเทศอียิปต์ แลประเทศสเปน ซึ่งอาจหันไปทางประชาธิปัตย์มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ในประเทศกรีกและอียิปต์นั้น ผู้มีอำนาจในประเทศ ให้คำมั่นสัญญาว่า จะให้โอกาสให้ราษฎรเลือกตามอำเภอใจ ว่าจะเลือกระบอบอาญาสิทธิ์ เปลี่ยนมาใช้วิธีปาลิเม็นต์ ซึ่งสมาชิกผู้แทนราษฎร เป็นผู้แทนราษฎรจริง ๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าเล่นกลให้เป็นแต่ชื่อ ส่วนประเทศสเปนนั้น ปาลิเม็นต์ได้ถูกพวกโซเชียลิสต์กีดกันมานาน แลรัฐบาลได้เดินแบบอาญาสิทธิ์จริง ๆ ด้วยวิธีใช้อัยการศึก และระวังหนังสือพิมพ์ บัดนี้กำหนดกันว่า จะเลือกปาลิเม็นต์ใหม่ ให้โอกาสแก่ชมรมการเมือง ทั้งขวาและซ้าย ในประเทศกรีก พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเสด็จคืนไปครองราชสมบัติใหม่ ได้ทรงกล่าวแล้วว่า จะทรงจัดให้เลือกกันตรงไปตรงมา มิใช่เล่นกลอย่างที่จวนจะเป็นประเพณีในประเทศแถบนั้น ส่วนประเทศอียิปต์ อัครเสนาบดีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลมากว่าปี โดยไม่ใช้รัฐธรรมนูญหรือปาลิเม็นต์นั้น ก็ได้ยอมแล้วว่า จะให้มีการเลือกอย่างบริสุทธิ์ ในเดือนพฤษภาคมหน้า (พ.ศ. ๒๔๗๙)

ตามที่เป็นฤดูดกเช่นนี้ ถ้าเผล็ดดอกออกผลมาจริง ๆ ก็จะเป็นทางถ่วงน้ำหนักระบอบอาญาสิทธิ์ได้บ้าง

ประเทศเวเนซูลาคือประเทศหนึ่งในอเมริกาใต้ เป็นประเทศซึ่งเรียกตนว่า ปกครองอย่างประชาธิปัตย์แบบรีปับลิก แต่อันที่จริง ได้ใช้ระบอบอาญาสิทธิ์ มีเปรสิเด็นต์เป็นผู้บงการประเทศโดยอำนาจสิทธิขาดมาช้านาน นายพลโคเมซ์ได้เป็นดิกเตเตอร์มาถึง ๒๕ ปี เพิ่งจะตายเมื่อเดือนก่อนนี้เอง (เดือนที่ทรงนิพนธ์เรื่องนี้ ม.ค. พ.ศ. ๒๔๗๘) ท่านผู้นั้นกำอำนาจไว้แน่นแลนานหาผู้เสมอยาก แลที่ทำ ดังนั้นได้ ก็ด้วยเหตุ ๓ อย่าง คือ

(๑) เพราะโคเมซ์ใช้วิธีรุนแรง ในการปราบผู้ขัดคอ จะขัดโดยกิริยา หรือวาจาก็ไม่ได้ทั้งนั้น คุกของเวเนซูลาได้ชื่อว่าร้ายที่สุดในโลก

(๒) เพราะในประเทศนั้น ไม่เคยมีประชาธิปัตย์จริงจัง ชนชาวประเทศไม่รู้ขนบธรรมเนียมแลประเพณีของระบอบนั้น แม้เพียงระเบียบการของปาลิเม็นต์ ก็ไม่ค่อยจะมีใครรู้แน่กันนัก

(๓) โคเมซ์เป็นคนมีโชคดีที่เป็นเปรสิเด็นต์ได้หน่อย ก็มีผู้พบบ่อน้ำมันในประเทศ เป็นเหตุให้เกิดหมูนพูนเขา ครั้นเกิดมหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๑) ก็ได้ประโยชน์จากน้ำมันมาก ต่อมาบริษัทน้ำมันใหญ่ ๆ ในอเมริกาเกิดขัดใจกันขึ้นกับรัฐบาลประเทศเม๊กซิโก (ซึ่งมีน้ำมันมาก) สินค้าน้ำมันออกจากเม๊กซิโกน้อยลง เวเนซูลาก็ได้เข้าแทนที่ จนไม่ช้าได้เป็นประเทศที่สาม ที่มีสินค้าน้ำมันมากที่สุดในโลก โคเมซ์เป็นคนไม่พิถีพิถัน ในเรื่องที่ชาวต่างประเทศจะเข้าไปตั้งทำน้ำมัน สักแต่ว่าตกลงราคากันแล้วเป็นใช้ได้ เหตุดังนั้นการงานจึงเดินเรื่อยมา ไม่มีติดขัด แต่กล่าวกันว่า ถ้าหัวหน้าประเทศมีลักษณะเป็นรัฐบุรุษให้มากสักหน่อย เวเนซูลาก็จะรุ่งเรืองมาก แต่ถ้าเป็นรัฐบุรุษไม่เหี้ยมโหด ไม่อาจปราบพวกเกะกะได้ ก็คงจะยุ่งเหยิงกันไม่หยุดเหมือนกัน ผู้ที่จะเป็นเปรสิเด็นต์ คือดิกเตเตอร์ต่อโคเมซ์ไปนี้ อาจเป็นผู้ฉลาดในราชการมากกว่า แต่ไม่เหี้ยมโหดกว่าโคเมซ์ ถ้าเช่นนั้นการปกครองราษฎร ซึ่งมีนิสัยคอยจะสเทือนอยู่เสมอ ก็อาจไม่สงบได้ตั้งแต่ก่อน

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ