ศัพท์

ธาตุ

คำว่า “ธาตุ” พูดทางไวยากรณ์แปลว่า รากหรือมูลอันเป็นที่มาแห่งศัพท์ เช่น คำว่า “พจน์” มาจาก วจ เป็นธาตุของพจน์ หรือถ้าจะพูดกลับกันก็ว่า พจน์ มาจากวจธาตุ

คำที่เป็นธาตุมักจะเป็นคำกริยา คำที่เป็นนามศัพท์ คุณศัพท์ ฯลฯ มาจากคำกิริยาโดยมาก กล่าวให้เห็นตัวอย่างเช่น “ มนุษย์” มาจาก มนุธาตุ มนุ แปลว่ารู้ “นายก” มาจากนิธาตุ นิแปลว่านำไป “อาวุธ” มาจากยุธธาตุ ยุธแปลว่าต่อสู้กัน

คำที่เป็นธาตุแต่ละคำ อาจงอกเป็นคำอื่น ๆ ได้หลายคำ เปรียบเหมือนรากซึ่งงอกเป็นต้นไม้มีกิ่งก้านออกไปฉนั้น ถ้ายกตัวอย่างนิธาตุก็มีคำเช่น นายก นย วินัย เวไนย เนตร เป็นต้น เหล่านี้มาจากนิธาตุ ซึ่งแปลว่านำไปทั้งนั้น ยังมีคำอื่น ๆ ซึ่งมาจากธาตุนิเหมือนกัน แต่แปลว่า บรรลุ เช่นคำว่า เนติ นัยนา เป็นตัวอย่าง

ที่ชี้แจงมาข้างบนนี้ เพื่อจะให้ผู้อ่านที่ไม่สันทัดทางไวยากรณ์ เข้าใจความหมายแห่งค่าว่า ธาตุ อันเป็นคำซึ่งจะใช้ต่อไปในที่นี้

สังคม

คำว่า สังคม มาจาก คมุธาตุ (หรือ คมธาตุ) คมุ แปลว่าไป สังคมซึ่งแปลว่าไปด้วยกัน แต่มักใช้หมายความว่าประชุมกัน ร่วมกัน ติดต่อกัน รบกันเป็นต้น มีตัวอย่างเหมือนเช่นแม่น้ำคงคาแลยมุนาไหลไปรวมกัน ก็เรียกที่ตรงนั้นว่า สังคมแห่งแม่น้ำทั้งสอง หรือดาวพระเคราะห์เดินไปร่วมกันตามจักรราศี ก็เรียกสังคมแห่งดาวเป็นต้น

มนตรี

คำว่า “มนตรี” แปลว่าผู้มีมนต์ มนต์มาจาก มนฺตธาตุ ซึ่งแปลว่า พูดที่ต้องสงวน นัยหนึ่ง ปรึกษาพูดความลับ พูดกระซิบ ดังนี้ มนตรี จึงแปลว่าผู้กระซิบ หรือที่ปรึกษา

ในอินเดียบางประเทศ เรียกมินิสเตอร์ของพระเจ้าแผ่นดินว่า มนตรี ซึ่งถ้าแปลก็ว่าผู้ถวายคำปรึกษา ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงเห็นชอบ ก็โปรดให้ปฏิบัติตามคำปรึกษาที่ถวายนั้น การที่ใช้คำว่ามนตรีก็เป็นเพราะพระเจ้าแผ่นดินมีความสิทธิ์ขาดอยู่ในพระองค์ มนตรีเป็นผู้รับใช้ แลเป็นผู้มีหน้าที่ถวายความเห็น ผู้ที่จะบันดาลให้เป็นไปได้ก็มีแต่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว

ในประเทศเรานี้ ในรัชกาลที่ ๕-๖ ได้มีการประชุมเสนาบดีสัปดาหะละครั้งหรือตามกำหนดที่โปรดเกล้าให้นัด

ในรัชกาลที่ ๕ พระเจ้าแผ่นดินประทับเป็นประธานเสมอ เว้นแต่เมื่อเสด็จไม่อยู่ แลโปรดให้ผู้อื่นเป็นประธาน ในรัชกาลที่ ๖ ก็เช่นนั้น การประชุมเสนาบดีในสมัยนั้น เมื่อโปรดเกล้าให้นำเรื่องใดออกปรึกษา พวกเสนาบดีมีอะไรจะกราบบังคมทูลรายงาน หรือจะถวายความเห็นว่ากระไรก็ได้ แต่ความตกลงไม่ได้อยู่ที่ความเห็นหรือคะแนนมติของพวกเสนาบดี ที่แท้ถ้าจะพูดตามความรู้เห็นของผู้เขียนเอง ก็ไม่เคยมีการลงคะแนนมติเลย เมื่อพระองค์ผู้เป็นประธานทรงทราบรายงาน แลความเห็นของเสนาบดีแล้วก็ทรงสั่ง แต่จะทรงสั่งในเวลานั้นหรือภายหลังก็ตามย่อมมีลายพระราชหัตถ์ หรือหนังสือราชเลขาธิการสั่งเป็นหลักฐานภายหลังทุกครั้ง

วิธีประชุมเสนาบดีเพื่อถวายความเห็น แลรับพระบรมราชโองการเช่นนี้ หลักหน้าที่ของเสนาบดี ก็คือถวายคำปรึกษา การปฏิบัติราชการ ยอมปฏิบัติตามพระราชโองการ ไม่ใช่ตามมติของที่ประชุมเสนาบดีในสมัยนั้น จึงมีหน้าที่เป็นมนตรี คือถวายคำปรึกษาแลรับใช้ แต่มิได้เรียกชื่อตำแหน่งเช่นนั้น เพราะเหตุที่จะได้กล่าวภายหลัง ตามความเข้าใจของผู้เขียน

มินิสเตอร์

คำนี้เป็นคำอังกฤษมาจากธาตุลตินว่า มินุส (ไมนัส) แปลว่า น้อยกว่า ในภาษาอังกฤษมินิสเตอร์แปลว่าผู้รับใช้ มีความหมายอยู่เป็น ๒ จำพวก คือผู้รับใช้พระเจ้าแผ่นดิน เป็นหัวหน้าราชการกระทรวง หรือรับใช้พระเจ้าแผ่นดิน เชิญพระราชโองการไปเจรจาในประเทศอื่น คือเป็นราชทูตจำพวกหนึ่ง เป็นผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้า คือนักบวชผู้สั่งสอน แลกระทำพิธีตามศาสนาจำพวกหนึ่ง

คำว่า มินิสเตอร์ ที่แปลว่า ผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้า หรือพระเจ้าแผ่นดินนี้ ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน

เสนาบดี

คำนี้แปลว่าหัวหน้าแห่งเสนาคือกองทัพ เสนามาจาก สิธาตุ แปลว่า ผูก

ในสยามแต่ก่อน ข้าราชการที่เป็นหัวหน้ากระทรวง ล้วนเป็นแม่ทัพทั้งนั้น เจ้าพระยาธรมาธิบดี (กระทรวงวัง) เจ้าพระยาพลเทพ (กระทรวงนา) ซึ่งดูหน้าที่ในปัจจุบัน หน้าที่พลเรือนแท้ ๆ แต่ก่อนก็เคยเป็นแม่ทัพออกสงครามทั้ง ๒ ตำแหน่ง ดังนี้การเรียกหัวหน้ากระทรวง ว่าเสนาบดีคือแม่ทัพ จึงเป็นประเพณีมาช้านาน ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อมิได้ใช้เจ้ากระทรวงเป็นแม่ทัพดังแต่ก่อนแล้ว ก็ยังทรงเรียกเจ้ากระทรวง ว่าเสนาบดีอยู่ตามประเพณีเดิม

ที่กล่าวนี้กล่าวตามประเพณีแต่ก่อน แต่ประเพณีย่อมเปลี่ยนไปตามแต่จะเหมาะแก่กาละ แม้จะพูดเพียงที่ผู้เขียนทราบไซร้ ในรัชกาลที่ ๕ ก็ได้เปลี่ยนประเพณีไปหลายอย่าง ถ้าอ่านในหนังสือ “พระราชพิธี ๑๒ เดือน” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ ก็จะพบบางแห่งที่ทรงเขียนไว้ว่า ประเพณีได้เปลี่ยนไป

สุขภาพ

คำมคธว่า สุขํ มาจาก สุขธาตุ แปลว่าทำให้สบาย ทำให้สำราญ คำว่า ภาพ มาจากภูธาตุ แปลว่ามี เป็น เกิด

สุขภาพแปลว่าเป็นสุข ความเป็นสุขนี้ หมายความว่า ไม่เจ็บด้วย แต่หมายถึงความสบายอย่างอื่นด้วย เช่น ที่ใช้กันว่าไม่สุขใจ ย่อมหมายถึงความกังวลอื่น ๆ นอกจากไข้เจ็บ

ถ้าจะยกตัวอย่างในสมัยนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) พวกยิวที่อยู่ในประเทศเยอรมัน ปรากฏตามข่าวว่า ไม่มีความสุข แต่ไม่ได้เกี่ยวเรื่องเจ็บไข้ หากเป็นด้วยเรื่องการเมือง

ราช

คำว่า ราช เป็นคำมคธแลสํสกฤต ใช้ทั่วไปในอินเดีย ในบรรดาภาษาที่มาจากสํสกฤต คือ หินที บราฐี บังกลี เป็นต้น

คำราชนี้มักกล่าวกันว่ามาจากรัญชธาตุ ซึ่งเป็นคำกิริยา แปลว่า กำหนัด ยินดี

แต่บางครูกว่าศัพท์นี้มาจาก ราชธาตุ ซึ่งแปลว่า รุ่งเรือง ส่องสว่าง

ในหนังสือรุ่นเก่าครั้งพุทธกาล ราชา เป็นตำแหน่งเรียกพระเจ้าแผ่นดินจริง ๆ ด้วย เป็นตำแหน่งเรียกพ่อเมือง ซึ่งไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินด้วย

ตำแหน่งพ่อเมืองหรือราชาของริปับลิกเล็ก ๆ ใน อินเดียโบราณนั้น เป็นตำแหน่งซึ่งราษฎรเลือกตั้งบุคคลให้เป็น แต่จะเลือกอย่างไร แลเลือกให้อยู่ในตำแหน่งนานเท่าใด ในสมัยนี้ไม่มีใครทราบ

พ่อเมืองที่เรียกราชาในครั้งโน้น เมื่อได้รับเลือกแล้ว ก็มีหน้าที่เป็นประธานเวลาประชุม หรือถ้าไม่มีประชุม ก็เป็นหัวหน้าบัญชาการบ้านเมือง ถ้าจะเทียบก็คือ หัวหน้าริปับลิก ในสมัยนี้ เปรสิเดนต์โรซเว็ลต์ ถ้าจะเรียกชื่อตำแหน่งตามหนังสือรุ่นเก่าครั้งพุทธกาล ก็ต้องเรียกว่า ราชาแห่ง ส.ป.ส. อเมริกา

อนึ่ง ควรจะกล่าวอ้างอีกข้อหนึ่งว่า สกุลพระเจ้าแผ่นดินกรุงสาวัตถี เป็นสกุลซึ่งเดิมเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่สกุลเจ้า หากวาศนาได้ส่งให้ถึงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ชาวสาวัตถีที่ไม่ได้อยู่ในวงษ์เจ้าแผ่นดิน แต่เป็นวงษ์ผู้ดีเก่า (กุลบุตร) ก็ใช้คำเรียกว่า ราชาโน แปลว่า ราชาทั้งหลาย อย่างเดียวกับที่ใช้เรียกหัวหน้าแลกุลบุตรของริปับลิกเล็ก ๆ ในสมัยนั้นฉนั้น

ดังนี้ ศัพท์ “ราช” จึงมิได้แปลว่าเจ้าแผ่นดินหรือเจ้าเท่านั้น

ในสมัยปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๔๘๑) คำราชาเป็นคำเรียกพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ เรียกเจ้าก็ได้ แลเป็นชื่อบรรดาศักดิ์ขุนนางซึ่งรัฐบาลตั้งคนธรรมดาให้เป็นด้วย ผู้เขียนได้เคยพบคนในอินเดียหลายคน ซึ่งมิได้มีสกุลเป็นเจ้า แลมิได้ทำราชการ แต่ได้เป็นราชา เพราะรัฐบาลตั้ง เพื่อจะยกย่องว่าเป็นผู้ใหญ่อยู่ในท้องที่ การตั้งให้คนธรรมดาเป็นขุนนาง บรรดาศักดิ์เรียกว่าราชานี้ รัฐบาลอังกฤษไม่ได้เป็นผู้ริเริ่ม เป็นประเพณีซึ่งมีมาเติม ก่อนอินเดียตกไปแก่อังกฤษ ในสมัยนี้ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินมาก ๆ เรียกกันว่าราชาก็มีบ่อย แลไม่ได้เกี่ยวข้องกับเจ้าแผ่นดินหรือเจ้าเลย

อนึ่ง ในอินเดียมีคำซึ่งใช้กันเพี้ยนออกไปตามท้องที่ว่า รัย แล รอย เป็นต้น ซึ่งเป็นคำเดียวกับราชทั้งนั้น ศัพท์ที่เพี้ยนออกไปเช่นนี้ ก็ใช้เป็นชื่อบรรดาศักดิ์ขุนนางเหมือนกัน ในบางมณฑลใช้รัยเป็นบรรดาศักดิ์ต่ำทำนองขุน ใช้รัยพหาทุร (ภาษาหินที) เป็นบรรดาศักดิ์สูงขึ้นไปอีกคั่นหนึ่ง ทำนองหลวง แล้วใช้ราชาเป็นบรรดาศักดิ์ขุนนางสูงสุดเช่นพระหรือพระยา แต่ใช้เฉพาะที่เป็นแขกเท่านั้น ถ้าแขกที่เป็นขุนนางตำแหน่งราชาแล้วได้เลื่อนยศขึ้นไปอีก ก็เห็นจะเป็นเซอร์ดอกกระมัง

ส่วนคำว่า “ราชฺย” (รชฺชํ หรือ ราชิยํ) นั้น มักใช้แปลว่า อำนาจอาธิปัตย์ แต่แปลว่า ความเป็นเจ้าแผ่นดินก็ได้ เพราะในสมัยก่อน พระเจ้าแผ่นดินย่อมมีอำนาจอาธิปัตย์ (ฝรั่งเรียก Sovereignty) อนึ่ง คำว่าราชย์นี้ แปลว่ารัฐบาลก็ได้ แปลว่าประเทศบ้านเมืองก็ได้ แปลว่าระบอบปกครองก็ได้ เหมือนดังที่ชมรมการเมืองในอินเดียใช้ศัพท์ว่า สฺวราช หรือ สฺวราชฺย แปลว่าระบอบปกครอง ซึ่งอำนาจอาธิปัตย์อยู่ในราษฎร หรือชาวอินเดียเอง

ทั้งหมดที่นำมากล่าวนี้ แสดงว่า คำว่าราชจะได้แปลว่า เจ้าแผ่นดินหรือเจ้าเท่านั้นหามิได้ ประเทศ ส.ป.ส. อเมริกา ซึ่งเป็นริปับลิก ก็เป็นราชฺย ประเทศเยอรมัน ก็เป็นราชฺย แต่หัวหน้าประเทศไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์เจ้าแผ่นดิน จะป่วยการกล่าวไปใยถึงคนใหญ่คนโต แม้ตาชาวนาเศรษฐีในอินเดีย ซึ่งผู้เขียนได้เคยพบ แกก็มีบรรดาศักดิ์เป็นราชา โดยที่มิได้เป็นเจ้า หรือมีตำแหน่งเป็นเจ้าบ้านพานเมืองอะไรเลย

ผู้อ่านคงจะเคยสังเกตว่า หนังสือพิมพ์นี้ (ประมวญวัน) ใช้คำว่า ราชทูตอเมริกัน หรือราชการฝรั่งเศสเสมอๆ ทั้ง ๆ ที่ประเทศทั้ง ๒ นั้น เป็นริปับลิก ไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน ที่ใช้ดังนี้ก็เพราะคำว่า ราช มิได้หมายความแต่เพียงว่าเจ้าเท่านั้น

คุณ

คำว่า “คุณ” นี้เป็นคำมคธซึ่งจะมาแต่ธาตุใดก็รู้ยาก แต่ในโยชนาอภิธมฺมตฺถวิภาวินี กล่าวว่า คุโณ มาจาก คุณธาตุ ซึ่งแปลว่าเรียก

ถ้าจะแปลศัพท์ว่า “คุณ” เป็นไทย ก็มักแปลทับศัพท์ลงไปว่าคุณ แต่นอกจากนั้นยังแปลโดยอธิบายว่า ความดี ความงาม ความชอบ ข้อปฏิบัติที่ดีงาม ชั้น ซ้อนกัน อานิสงส์ กอง หมวด รอง ไม่ใช่หัวหน้า น้อย สายธนู

ไทยเราใช้คำว่าคุณแต่เฉพาะที่หมายความว่า ความดีความงาม ที่แปลว่าชั้น ซ้อนกัน หรือแปลว่าสายธนูเป็นต้น นั้น เราไม่ใช้เลย

อนึ่ง ถ้าคนมีอุปการแก่กัน เรามักใช้ว่ามีบุญคุณ หรือเคยทำบุญทำคุณแก่กัน ซึ่งขยายคำแปลออกไปอีกทางหนึ่ง

อนึ่ง เราเรียกชื่อคนว่าคุณนั่นคุณนี่ เป็นคำยกย่องว่าเป็นคนชั้นสูงหรือผู้ดี แต่เมื่อใช้กันทั่วไป ก็เลยไม่เป็นคำยกย่อง เพราะใช้สามัญเสียแล้ว

คำว่า “เจ้าคุณ” แต่ก่อนเป็นคำสำหรับเรียกพระยาพานทองขึ้นไปจนเจ้าพระยา แลเป็นคำเรียกพระราชาคณะด้วย

ที่เคยใช้คำว่า เจ้าคุณ เรียกเฉพาะพระยาพานทองขึ้นไปนั้น มาในตอนหลัง แม้พระยาที่มิได้รับพระราชทานพานทอง ก็มักเรียกเจ้าคุณกันทั่วไป แต่ที่เรียกพระยาว่าเจ้าคุณนี้ เป็นคำที่คนอื่นเรียก ผู้เป็นพระยาไม่ใช้คำนั้นเรียกตัวเอง

พระจุลจอมเกล้า ฯ ไม่ค่อยจะทรงเรียกขุนนางว่าเจ้าคุณ ดูเหมือนจะทรงเรียกอยู่แต่สมเด็จเจ้าพระยาเท่านั้น แต่มีเจ้าคุณทหารอีกคนหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนไม่รู้แน่ เข้าใจว่าทรงเรียกคุณสุรวงษ์ เจ้าพระยานอกนั้น ถ้าเป็นรุ่นผู้ใหญ่ ก็มักทรงเรียกท่าน เช่น ท่านกรมท่า ท่านภาส ถ้าอ่อนอายุลงมา ก็มักทรงเรียกชื่อลอย ๆ เช่น สุรศักดิ์ เทเวศร์ แต่บางทีก็ทรงใช้คำเจ้าพระยานำชื่อด้วย

คำว่าเจ้าคุณมักเข้าใจกันว่าเป็นคำยกยอ ว่าเป็นเจ้าโดยคุณงามความดี ซึ่งแยกจากความเป็นเจ้าโดยกำเนิด

ถ้าจะพูดตามที่ไทยใช้กันมาแต่ดั้งเดิมแท้ ๆ คำว่าเจ้าคุณนี้เห็นจะเป็นคำไทยสองคำ ไม่ใช่คำไทยคำหนึ่ง คำมคธคำหนึ่ง ผสมกันเป็นน้ำฝนปนน้ำท่า ไทยแต่ก่อนชะรอยจะเรียกผู้เป็นหัวหน้าคนที่ควบคุมกันเป็นหมู่เป็นกองใหญ่ ๆ ว่า “เจ้ากุน” ภาษาไทยเก่าไม่มีตัว ค. คำที่เราว่าคนไทยอื่นจึงว่า กน แต่มักออกเสียงว่า “กุน” เหมือนดังมีสระอุอยู่ด้วย ถึงแม้บางภาษาเขียนเป็นตัวหนังสือว่า กน ก็อ่านออกเสียงว่า กุน แต่บางทีก็เขียนมีสระอุหรือสระอูพร้อม ดังเห็นได้ในภาษาไทยหลายภาษาที่ยังมีอยู่นอกสยามในเวลานี้ คืออาหมเป็นต้น

อนึ่ง ควรจะอธิบายว่า คำว่า คน นั้น ไทยแต่ก่อนใช้สำหรับเรียกคนที่เป็นชั้นสูงหน่อย คนชั้นต่ำใช้ว่า เลก

ภาษาอื่น ๆ ที่ใช้คำเรียกคนชั้นสูงกับชั้นต่ำผิดกันเช่นนี้ คงจะมีหลายภาษา แต่ในเวลาที่เขียนนี้ ผู้เขียนนึกได้แต่ภาษาลติน ซึ่งมีคำว่า Vir แล Homo ผิดกันอยู่ คำลตินคำแรกที่อ้างนี้ มักหมายความว่ากล้า จึงอาจมีที่มาดั้งเดิมเดียวกันกับคำสํสกฤตว่า วีร ก็เป็นได้ เพราะสองภาษานั้นมาจากกอเดียวกัน

ที่กล่าวข้างบนนี้ว่าเจ้าคุณคือเจ้าคน เพราะคำว่าคนในภาษาไทยดั้งเดิมออกเสียงมีสระอุนี้ เป็นความเห็นของผู้เขียนคนเดียว ไม่มีหลักจะอ้างได้ จากคำที่ผู้รู้ท่านกล่าวไว้แต่ก่อน

โทษ

คำนี้เป็นคำบาลีมาจาก ทุสธาตุ แปลว่าประทุษร้าย ไม่พอใจ ไม่ชอบ ฉุนเฉียว โกรธ ความผิด เกลียด

คาบาลีว่า โทโส ในส่วนที่แปลว่า ประทุษร้าย ความผิด ฯลฯ นั้น ภาษาสํสกฤตเขียนว่าโทษ แลโทโสที่แปลว่าโกรธแลเกลียดนั้น ภาษาสํสกฤตเป็นเทฺวษ

คำไทยที่ใช้ว่านักโทษนั้น ก็ได้ความตามศัพท์ แต่ที่ใช้ว่าลงโทษนั้น ถ้าใช้ว่าลงทัณฑ์จะเหมาะกว่า

ที่กล่าวเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า ควรเปลี่ยน เป็นแต่เมื่อพูดถึงศัพท์ก็กล่าวชี้ไว้เท่านั้นเอง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ