โคบุตร

/*21*/ผู้เขียนได้หยิบหนังสือโคบุตรขึ้นพลิก ๆ ดูในเวลาว่าง เลยเป็นเหตุให้นำมาเขียนในที่นี้ ใคร ๆ ก็ทราบว่า เรื่องโคบุตรนี้สุนทรภู่เป็นผู้แต่ง แลใคร ๆ ก็ทราบว่า สุนทรภู่เป็นนักกลอนชุดเยี่ยมของเรา ชำนาญกลอน ๘ โดยเฉพาะ แม้กลอน ๖ ของสุนทรภู่จะดีเหมือนกัน ก็หาได้แต่งไว้มากเท่ากลอน ๘ ไม่ ส่วนกาพย์กลอนชนิดอื่น ๆ นั้นปรากฏว่าสุนทรภู่แต่งโคลงไม่ดี ฉันท์ไม่เห็นแต่งทิ้งไว้เลย นอกจาก “คำเทียบ” เรื่องพระไชยสุริยา ซึ่งพระยาศรีสุนทร (น้อย) นำไปใช้ในหนังสือมูลบท คำเทียบเหล่านั้น แต่งเป็นกาพย์ยานี ๑๑ เช่น “สะธุสะจะขอไหว้ พระศรีไตร/*22*/สะระณา” และสุรางคณาง ๒๘ เช่น “ขึ้นใหม่ในกน ก กาว่าปน ระคนกันไป” กับฉบัง ๑๖ เช่น “ขึ้นกงจงจำสำคัญ ทั้งกงปนกัน รำพันมิ่งไม้ในดง” เป็นต้น

แต่ ยานี ฉบังและสุรางคณาง มิใช่ฉันท์แท้ ฉันท์แท้ไม่เห็นสุนทรภู่แต่งไว้เลย จึงควรเข้าใจว่าไม่ถนัดแต่ง ที่แท้กวีโดยมากมักจะถนัดแต่งเป็นอย่าง ๆ ตามตัวบุคคล ใครถนัดอย่างไรก็ชอบแต่งอย่างนั้น ผู้ชำนาญกาพย์กลอนอาจแต่งเป็นทุกอย่าง แต่อย่างไรไม่ชอบก็แต่งไม่ดี และไม่แต่งไว้มากจนเหลือมาให้คนรุ่นหลังอ่าน การแต่งอะไรที่ไม่ชอบนั้น ใครจะแต่งให้ดีเห็นจะไม่ได้

พูดเฉพาะสุนทรภู่ เราควรจะเห็นว่า แกแต่งฉันท์ชนิดที่เป็นฉันท์จริง ๆ ไม่ได้เป็นที่พอใจแก เพราะถ้าพิจารณาดูกลอนของแกก็เห็นได้ว่าเป็นคนใจเร็ว แต่งกลอนออกมาโดยแทบจะไม่ยั้งคิด ถ้าแต่งฉันท์ซึ่งต้องตะกุกตะกักด้วยคำครุลหุ ก็คงจะไม่ทันใจ จนแทบจะหายใจไม่ออก อนึ่ง ฉันท์นั้น แม้จะแต่งให้ถูกต้องตามคณะจริง ๆ แต่ไม่เคร่งในเรื่องสัมผัสในนัก ก็ง่ายกว่าที่เคร่งทั้งเรื่องครุลหุด้วย ทั้งสัมผัส/*23*/ด้วย สุนทรภู่เป็นคนชอบสัมผัสใน ถ้าแต่งฉันท์ก็คงจะเพ่งเอาสัมผัสในให้ได้เสมอ ๆ ก็ยิ่งจะทำให้ตะกุกตะกักหนักขึ้น เราจึงนึกว่า อัธยาศัยของแกไม่ชอบแต่งฉันท์เป็นแน่

ข้อที่สุนทรภู่เป็นคนใจเร็ว และแต่งกลอนแทบจะไหลพุ่งออกไปราวกับน้ำพุนั้น ทำให้กลอนของแกมีตำหนิบ่อย ๆ ถ้าแกแต่งช้าหน่อย ตำหนิเหล่านั้นคงจะไม่มี หรือถ้ามี ก็เป็นเพราะไม่ถือกันว่าเป็นตำหนิในสมัยนั้น แต่ในสมัยนี้ ถ้าใครทำเช่นนั้นก็จะถูกติ อนึ่ง ความไพเราะแห่งกลอนของสุนทรภู่ ทำให้เราเพลินจนแม้จะมีตำหนิเราก็ไม่สังเกต ต่อเมื่ออ่านช้า ๆ หรือเมื่อใครชี้ให้ดู เราจึงจะเห็นตำหนินั้น ๆ

เราจะลองเอากลอนในโคบุตร มาบันทึกติแลชมลองดูสักหน่อย แลจะบันทึกอย่างอื่นด้วย ข้อตินั้นจะติตามความเห็นของคนสมัยนี้ ถึงแม้คำที่เป็นคำตำหนิเวลานี้ แต่ไม่เป็นคำตำหนิในสมัยสุนทรภู่ ก็จะติด้วย การติอย่างหลังนี้ ไม่เป็นตำหนิแก่สุนทรภู่เลย เราจะชี้สำหรับให้ผู้หัดรุ่นใหม่สังเกตเท่านั้น

/*24*/“จะร่ำปางนางสวรรค์เสวยสุข”

[“ร่ำ” ในที่นี้แปลว่ารำพัน “ปาง” แปลว่าครั้ง กลอนวรรคนี้เป็นลักษณะของสุนทรภู่แท้ ไพเราะมาก]

อยู่ปรางมุขพิมานสโมสร”

[มุข” ต้องอ่านออกเสียง ขะ จึงจะไพเราะ วรรคนี้ไม่มีสัมผัสในเลย (นอกจาก ม ซึ่งเป็นสัมผัสอักษรไม่ใช่สัมผัสสระ) แต่ถึงกระนั้นก็ไพเราะนัก เพราะจังหวะคำสั้นคำยาวดี คำว่าปรางแปลว่ากระไรไม่รู้ รู้แต่ว่าเป็นชื่อเรียกพระสถูปอย่างหนึ่ง ส่วนที่เรียกว่า “ปรางราสาท” นั้น หมายความว่า เรือนมียอดเหมือนพระปราง “มุข” แปลว่า หน้า และเป็นชื่อเรียกตำหนักหรือพระที่นั่ง หรือเรือนที่ยื่นออกไปจากหลังใหญ่ด้วย มุขพิมานอาจแปลว่า หัวหน้าในพวกวิมานก็ได้ หรือจะว่าวิมานมีมุขก็ได้ แต่เมื่อสุนทรภู่แต่งกลอนวรรคนี้ แกมุ่งจะรับสัมผัสกับ “ศุข” เท่านั้น]

เผยพระแกลแลดูแผ่นดินดอน

เห็นไกสรคลอดลูกในหิมวา”

/*25*/[“ไกรสร” แปลว่าพู่ คำเดิมคือเกสรแลไกศร เกสรสีห แลไกรศรสิงห์ แปลว่าสิงโตชนิดที่มีขนยาวเป็นพู่ที่หน้าแลคอ (คือไลออน) ไทยเราตัดสีหหรือสิงหเสีย เหลือแต่ไกศรคือพู่ แต่ก็หมายความว่าไลออนนั่นเอง “หิมวา” เป็นศัพท์เหลวไหล ใช้ไม่ได้ หิมะแปลว่าหนาวว่าสโนว์ หนังสือเก่า ๆ ใช้หิมวาแปลว่าป่า ทำนองที่ใช้หิมวานต์ รูปศัพท์ไม่ถูก แต่เขาไม่ถือกันในสมัยสุนทรภู่ สมัยนี้ (.. ๒๔๘๐) เราไม่ใช้กันเช่นนั้น]

ผลกรรมนำจิตให้พิสวาศดิ์”

[พิสวาศ คำเดียวกับวิสสาสะ แต่ไทยเราใช้เลือนไปแปลว่ารัก เราไม่ใช้พิศวาสในความว่าวิสสาสะเลย ที่ว่านี้ไม่ใช่ติ เป็นการบอกไว้เผื่อผู้อ่านบางคนจะยังไม่รู้เท่านั้นเอง]

นุชนาฎจะใคร่มีโอรสา”

[“นา” แปลว่าผู้ระบำหรือละคร แต่ก่อนใช้คำนี้แปลว่านาง กระเดียดจะเป็นคำยกย่อง แต่ในสมัยนี้ ถ้าเรียกผู้ไม่ใช่ละครว่านาฎเห็นจะไม่ถูกใจ “โอรสา” คำนี้บางคนถือว่าเป็นอาเก้อ แต่ในสมัยก่อนไม่ถือ อันที่จริงในสมัยนี้/*26*/ก็ต้องใช้อาเก้อกันบ่อย ๆ จะตัดเสียทีเดียวก็ไม่ได้ แต่ถ้าใช้เกินไปก็ไม่ดี]

เห็นสุริโยทัยเธอไคลคลา”

[วรรคนี้น่าจะนึกว่าห้วนไปนิด อาจพิมพ์ตกไปคำหนึ่ง บางทีสุนทรภู่จะเขียนไว้ว่า “เห็นพระสุริโยทัยเธอไคลคลา” เพราะถ้าเติมพระเข้าอีกคำหนึ่ง ก็ดูถูกลักษณะสุนทรภู่มากกว่า ฉบับที่เราอ่านนี้ อาจจะตกไปก็เป็นได้ “สุริโยทัย” แปลว่าตะวันแรกขึ้น ตะวันเวลาอื่นไม่ใช่สุริโยทัย]

กัลยานึกไปในใจปอง”

[วรรคนี้อ่อนไปหน่อย]

แม้นสามีมิได้เหมือนพระอาทิตย์

ไม่ขอคิดสมสู่เป็นคู่สอง”

[สองวรรคนี้ สุนทรภู่แท้ อ่านสบายหูดีนัก]

คราวนี้เราเขียนเพียงเท่านี้ที

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ