นิราศ

หนังสือที่เรียกว่า “นิราศ” เป็นหนังสือชนิดไรพอรู้ได้ แต่ศัพท์ว่านิราศแปลว่าอะไรแน่ไม่รู้ หรือ ถ้านึกว่ารู้ก็รู้เดา ๆ

ที่ว่ารู้นี้คือผู้เขียนไม่รู้ ไม่รู้คำว่า นิราศ ซึ่งเป็นชื่อหนังสือชนิดหนึ่งนั้น แปลว่ากระไร

ถ้าท่านลองถามผู้รู้ภาษาบาลีหรือสํสกฤตว่า นิราศ มาจากคำไหน แปลว่าอะไร เขามักจะตอบว่า นิราศ มาจากนิร แลอาศา แปลว่าไม่มีอาศา หรือไม่มีหวัง คำแปลเช่นนี้ผู้เขียนไม่วางใจว่าถูก เพราะศัพท์แปลว่าไม่มีหวัง หรือไม่มีอาศา ไม่เห็นน่าจะใช้เป็นชื่อหนังสือพรรณนาความร้างเมียได้ด้วยประการใดเลย

ถ้าจะพูดตามศาสนาของเรา อาศาหรือความหวังเป็นเครื่องร้อน เป็นของไม่ดี ไม่มีอาศาก็คือตัดเครื่องร้อนได้ ซึ่งย่อมเป็นความสุข คาถาในภาษาสํสกฤตมีว่า อาศา หิปรมํ ทุกขํ โนราศฺยํ ปรมํ สุขํ แปลว่า ความหวังเป็นทุกข์ยิ่ง ปราศความหวังเป็นสุขยิ่ง

ในภาษาบาลีมีตัวอย่างในวิธูรชาดกว่า นิราสนฺติ ปุตฺตทาราทีหิ นิราสจิตฺตํ ความว่า นิราศจิต คือจิตที่พรากลูกเมียได้ โดยไม่มีเดือดร้อนกังวล หมายความว่า ตัดขาดได้ในเวลากำหนด ไม่ใช่คร่ำครวญในคราวพรากอย่างหนังสือนิราศของเรา เป็นการตรงกันข้ามอยู่ฉะนี้

ก็เมื่อนิราศมีความว่าถ้าตัดความร้อนได้ย่อมเป็นทางดีในทางศาสนา แต่เราเอามาใช้เป็นชื่อหนังสือที่คร่ำครวญถึงเมีย อันเต็มไปด้วยความร้อนไซร้ ก็ดูไม่เข้ากันเลย เหตุฉะนี้ จึงไม่น่าเชื่อว่า คำว่านิราศ ซึ่งเป็นชื่อหนังสือชนิดหนึ่งของเรานั้น จะมาจากคำที่แปลว่าไม่มีอาศา หรือถ้าจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ของตรงกันข้ามไม่ควรเชื่อว่ามาจากกัน สีดำจะมาจากสีขาวไม่ได้

ที่กล่าวนี้น่าจะเอาเป็นยุติได้ว่า หนังสือนิราศไม่ได้แปลว่า หนังสือไม่มีความหวัง (ไม่มีอาศ) แต่ยังมีพยานประกอบอีกข้อหนึ่งซึ่งจะนำมากล่าว ถ้าว่าที่กล่าวนี้ไม่ถูก กวีไทยรุ่นเก่าก็ผิดหมด รวมทั้งสมเด็จพระปรมานุชิตด้วย

๏ ใช่ชิงชังแม่แล้ว จึงจร
ขัดพระเดชอดิศร ห่อนได้
จำเรียมนิราศสมร เสมอชีพ
เชอญแม่ดับเทวศไห้ อยู่ถ้าคืนสม ฯ
๏ คิดโฉมนงโพธผู้ เพ็ญศรี
เคยร่วมรมย์ฤดี ดับร้อน
ถนอมนุชแนบนาภี ภูลเสน่ห์
นึกนิรารศข้อน อกไห้โหยถวิล
๏ ปวงแสนเสาวลักษณ์ล้วน เคียมเคย
คิดเมื่อยามเรียมเสววย แวดล้อม
ปางร้างนิราเสบอย บอมเทวศ
เสบอยบ่ยลเยาวห้อม อยู่ให้เห็นโฉม ฯ
๏ เคยตระโบมบัวมาศแก้ว กับกร
เกี้ยวตระกองบังอร อุ่นเนื้อ
ปางร้างนิราสมร มาเทวศ
ถวิลบ่วายรสเกื้อ กอดเกี้ยวก่ายเขนย

โคลงสี่บทข้างบนนี้ เป็นโคลงซึ่งใคร ๆ ก็คงจำได้ว่ามาจากเตลงพ่าย สมเด็จพระปรมานุชิตทรงใช้ นิรา ไม่มี ศ สกด ทำให้เห็นว่า ไม่มีระแวงไปถึงอาศาเลย ถ้านิราศ แปลว่าไม่มีอาศาไซร้ ถ้าตัดตัว ศ เสีย อาศาก็หลุดไป สมเด็จพระปรมานุชิตท่านเป็นนักปราชญ์ ท่านคงไม่ใช้เช่นนั้น

แต่โคลงบางบทในเตลงพ่าย ความอย่างเดียวกัน ทรงใช้ว่านิราศก็มี คือ

๏ จำใจจำจากเจ้า จำจร
จำนิราศแรมสมร แม่ร้าง
เพราะเพื่อจักไปรอน อรินราช แลแม่
จำทุกข์จำเทวศร้าง สวาดิว้าหวั่นถวิล ฯ

ในโคลงบทนี้ ทรงใช้นิราศ ไม่ใช่นิรา แต่ถ้าจะทรงใช้นิราแทนในที่นั้นก็ไม่เสียความ จึงชวนให้คิดว่า เหตุไรจึงทรงใช้นิราบ้างนิราศบ้าง จะเข้าใจความข้อนี้ ต้องขัดเกลาหูของเราให้เป็นหูกวีคล้ายพระกรรณของท่าน แล้วลองท่องดูดัง ๆ ว่า

๏ จำใจจำจากเจ้า จำจร
จำนิราศแรมสมร แม่ร้าง
๏ จำใจจำจากเจ้า จำจร
จำนิราแรมสมร แม่ร้าง

คงจะเห็นว่าในที่ตรงนั้นนิราศแน่นกว่านิรา ไพเราะกว่ากันเป็นกอง ถ้าเปลี่ยนถึงจะไม่เสียความ ก็เสียไพเราะลงไปหน่อยหนึ่ง ส่วนในที่ซึ่งใช้นิรานั้น บางแห่งลองไปเปลี่ยนนิราเป็นนิราศเข้าจะเป็นอย่างไรบ้าง

ยามร้างนิราเสบอย บอมเทวศ
ยามร้างนิราศเสบอย บอมเทวศ

ฉะนี้ คงจะเห็นกันว่า สำเนียงนิราศ แข็งเกินไป ทำให้หย่อนความไพเราะลงไปในที่นั้นหน่อยหนึ่ง

ในนิราศนรินทร์มีโคลงบทหนึ่งว่า

๏ วัดหงษ์เหมราชร้าง รังถวายนามนา
เรียมนิราเรือนสาย สวาดิสร้อย
หงษ์ทรงสี่ภักตร์ผาย พรหมโลก แลฤๅ
จะสั่งสารนุชคล้อย คลาศท้าวไป่ทัน ฯ

พึงสังเกตว่าในโคลงบทนี้ นรินทร์อิน ใช้นิรา ในที่ซึ่งสมเด็จพระปรมานุชิตทรงใช้นิราศ ถ้านรินทร์อินจะเปลี่ยนเป็นนิราศก็ไม่เสียไพเราะในที่นั้น เพราะ “เรียม” เป็น คำครุ ตัว ร ตั้งแน่นอยู่ข้างหน้าแล้ว

อนึ่ง ควรสังเกตว่า ในที่ซึ่งใช้ว่านิรานั้น ต้องว่านิราอะไร คือ มีนามศัพท์มาข้างหลัง เช่น นิราสมร นิราเรือน เป็นต้น ส่วนคำนิราศนั้น ใช้เป็นนามศัพท์ก็ได้ ใช้อย่างที่ใช้นิราก็ได้ นี้เป็นความสังเกตตามที่กวีแต่ก่อนใช้กันมา

ตามที่กล่าวนี้ ชวนให้นึกว่า นิราก็ดี นิราศก็ดี ไป ๆ มา ๆ มันจะมาจาก “นิร” คำเดียวก็เป็นได้ ถ้าถามว่า นิร ทำไมเติมสระอา แลมีตัว ศ สกด ก็จะต้องตอบว่า การเติมสระอาเป็นของไม่ประหลาดของไทย เช่น กมล ใช้ว่า กมลา ก็มีมาก ส่วนการใช้ตัว ศ สกดนั้น เป็นของใช้มากในหนังสือรุ่นเก่า เช่น กมลาศ เป็นต้น คำว่า กมลาศ ที่ใช้เช่นนี้แปลว่า ดอกบัว ไม่ใช่กมลาศน์ ซึ่งแปลว่ามีดอกบัวเป็นอาศนะ คือพระพรหม เห็นได้ในโคลงเคลงพ่ายที่ว่า

๏ แม้นดวงกมลาศได้ มาดล
โดยสถานแถวสถล ที่นี้

กมลาศในที่นั้น คือเมียพระมหาอุปราชา ไม่ใช่พระพรหม

ยังมีอีกข้อหนึ่งซึ่งผู้เขียนจำเป็นจะต้องกล่าว คือที่มาแห่งคำว่า นิราศ ซึ่งไทยเราใช้เป็นชื่อหนังสือชนิดหนึ่งในวรรณคดีนั้น ผู้เขียนเป็นแต่เพียงมีความเห็นเลา ๆ มิได้กล่าวบ่งออกมาว่าเป็นศัพท์มาจากไหนแน่ และไม่ยืนยันว่าเป็นคำมาจากสํสกฤต แต่ถ้าท่านเปิดดูในดิกชันนารีของมอเนีย วิลเลียมซ์ ก็ตาม หรือของอัปเตก็ตาม ท่านจะพบคำว่า “นิราศ” แปลว่าปราศจากหวัง แต่ “นิราส” แปลว่าถูกขับ ถูกบังคับให้ออก หรือถูกบังคับให้ไป ถ้ารำลึกว่า ผู้แต่งนิราศมักกล่าวว่า ที่จากเมียไปก็เพราะถูกบังคับ ถ้าไม่เช่นนั้นก็ไม่ไป ดังตัวอย่าง

“จำใจจากแม่เปลื้อง ปลิดอก อรเอย”

นิราศนรินทร์

“ถ้าแม้นผิดมิใช่กิจนรินทร์ราช ไม่คลาคลาสคลายชิดพิศมัย

นิราศลอนดอน

“ใช่ชิงชังแม่แล้ว จึงจร
ขัดพระเดชอดิศร ห่อนได้

เตลงพ่าย

ฉะนี้ ก็อาจนึกต่อไปได้อีกทางหนึ่ง ว่านิราศ (หรือนิราส) เป็นหนังสือแต่งในคราวที่ถูกบังคับให้จากไป จะเป็นราชการบังคับ หรือกิจการอื่นบังคับก็ใช้ได้ ที่กล่าวนี้จะถูกผิดอย่างไรไม่รู้ แต่เมื่อทราบว่า มีทางที่อาจเป็นได้เช่นนี้ ก็นำมากล่าวไว้ ว่ายังมีอีกทางหนึ่ง

ศัพท์ว่า “นิราศ” จะเป็นศัพท์มาจากไหนก็ตาม แต่ถ้าจะอธิบายว่า หนังสือนิราศเป็นหนังสือชนิดไร ก็อาจอธิบายได้ตามคำของสุนทรภู่ ซึ่งเริ่มนิราศอิเหนาว่า

“นิราศร้างห่างเหเสนหา

ปางอิเหนาเศร้าสุดถึงบุษบา

พระพายพาพัดน้องเที่ยวล่องลอย”

คำว่า “ร้างห่างเหเสนหา” นั่นแหละเป็นคำอธิบายชนิดแห่งหนังสือซึ่งเรียกว่านิราศ กล่าวอีกอย่างหนึ่ง นิราศเป็นหนังสือซึ่งแต่งเมื่อร้างไปจากความรัก คือเมีย ถ้าไม่มีความคร่ำครวญถึงเมียที่รัก ก็ไม่นิราศ แลถ้าจะว่า ถ้าเมียไม่รักก็ไม่ใช่นิราศก็จะได้ดอกกระมัง

หนังสือนิราศจับเอาความเศร้าเพราะร้างรักเป็น “แก่น” ของเรื่อง ถ้ากล่าวละเอียดไปในทางอื่น ก็ต้องเรียกว่าเป็น “กระพี้”

นิราศบางเรื่อง กระพี้สำคัญกว่าแก่น เช่น นิราศลอนดอน เป็นต้น แต่แก่นต้องมี ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นนิราศ เราอ่านนิราศลอนดอน เราสนุกเพลิดเพลินในเรื่องที่หม่อมราโชทัยเล่าว่า ไปไหนได้เห็นอะไรบ้าง เป็นต้น ถ้าไม่เพลิดเพลินในข้อที่หม่อมราโชทัยรำพันถึงเมียว่ากระไร เว้นแต่จะเผอิญเป็นกลอนดีในตอนนั้น ๆ ดังนี้ นิราศลอนดอนจึงสำคัญที่กระพี้ แก่นสำคัญน้อยที่สุด

ที่กล่าวว่า นิราศเป็นหนังสือซึ่งแต่งคร่ำครวญในเมื่อร้างไปจากความรัก คือเมีย ความร้างรักจึงเป็นแก่นของเรื่อง นอกนั้นเป็นกระพี้นั้น ที่กล่าวนี้กล่าวตามลักษณะแห่งนิราศโดยมาก แต่ถ้าผู้เขียนจะแต่งโคลงซึ่งต่างว่าไพเราะดำเนินเรื่องอยู่บ้าน ร่ำไรว่าร้างจากเมืองลำพูน เพราะไม่เคยไป แลคร่ำครวญถึงสาวชื่ออะไร ที่ลือกันว่าสวยนัก แต่ผู้เขียนไม่เคยเห็น แล้วเรียกหนังสือนั้นว่า นิราศลำพูน ก็เห็นจะได้

นิราศลำพูนที่สมมติขึ้นเช่นนี้ สมมติว่าแต่งเป็นโคลงไพเราะ และสมมติต่อไปว่า ท่านชอบอ่านโคลงไพเราะ ท่านอ่านโคลงแล้วนำเอาไปโจทย์กับเพื่อนของท่านที่ชอบโคลงไพเราะด้วยกัน ท่านคงจะเรียกชื่อหนังสือว่า นิราศลำพูน ตามที่ผู้เขียนตั้งชื่อ ถ้าเพื่อนของท่านทักท้วง ว่าไม่ได้ไปไหนสักหน่อย เหตุไฉนจะเรียกว่านิราศ ท่านก็คงจะตอบว่า ก็เมื่อผู้แต่งตั้งชื่ออย่างนั้น ถ้าไม่เรียกตามเจ้าของจะให้เรียกว่ากระไร

นิราศเหลว ๆ เช่นนั้น ได้เคยแต่งกันจริง ๆ ผู้เขียนเองก็เคยแต่ง แลได้แต่งเมื่อไม่ได้ไปไหน ยังไม่มีเมีย แลยังไม่ได้คิดว่าจะมี

อนึ่ง เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ พระมหาอุปราชแผ่นดินขุนหลวงบรมโกษฐ์ ได้ทรงแต่งนิราศในคราวที่เจ้าจอมหม่อมห้ามตามเสด็จแวดล้อมพร้อมหน้า ลงท้ายจึงทรงเขียนไว้ว่า

“จบเสร็จคร่ำครวญกาพย์ บทพิลาปถึงสาวศรี
แต่งตามประเวณี ใช่เมียรักจักจากจริง”

ฉะนี้เป็นต้น

แต่ถ้าจะพูดตามทางที่เขาแต่งนิราศกัน นางเอกก็ไม่ใช่คน เป็นเพียงความคิดเท่านั้น การกล่าวถึงในนิราศเป็นการเชิดความงามอันเกิดในความนึก ความงามนั้นเป็นคุณนาม ถึงจะมีในตัวมนุษย์บ้างก็ไม่ใช่มนุษย์ เพราะฉะนั้น การที่กล่าวความงามของนางเอก (คือเมีย) เปรียบกับสิ่งอื่น ๆ ที่ได้เห็นหรือผ่านไปในเวลาเดินทางนั้น ก็เป็นการกล่าวตามเคย หรือเพื่อจะให้ไพเราะ ไม่ได้ตั้งใจจะให้ใครเชื่อว่าจริง ยิ่งตัวผู้เป็นเมียเอง (ถ้ามี) ถ้าไปบอกแกว่า ผิวแกเย้ยมลิให้ได้อาย แกก็คงจะหัวเราะว่าพูดบ้า ๆ ไม่เชื่อเป็นอันขาด ถ้าผู้แต่งนิราศเขียนอย่างนิราศพระยาตรังว่า

“เกาะส้มกลม่วงน้อง นางฝาน”

เมียอาจถามว่า เหตุไฉนเกาะส้มซึ่งอยู่กลางทะเล จึงจะเหมือนมะม่วงที่แกปอก แต่คงจะไม่ถาม เพราะแกรู้ว่านิราศเป็นของสมมติ แม้ผู้แต่งนิราศจะกล่าวว่า เป็นห่วงกลัวเมียจะมีชู้ แกก็ไม่โกรธว่าดูถูก เพราะไม่ถือว่าพูดถึงแกจริง ๆ

ดังนี้แหละ นางเอกในนิราศจึงไม่จำเป็นจะต้องมีตัวมีตน เป็นเพียงความคิด หรือเครื่องนึกขึ้นสำหรับช่วยให้แต่งไพเราะเท่านั้น ตามความจริง เมียอาจเป็นยายแก่คร่ำเครอะ หรือสาวขี้ริ้ว ซึ่งเมื่อนึกถึงจริง ๆ ก็ไม่เป็นเครื่องจูงปัญญาให้โคลงกลอนไพเราะผุดขึ้นได้ สุนทรภู่เห็นจะเคยเป็นเจ้าชู้มาก เมียประจำตัวของแกชื่อยายจัน แต่ในเวลาที่แกแต่งกลอนนิราศ แกเห็นจะไม่ได้นึกถึงหญิงคนไหนเลย นึกถึงแต่ชุมนุมความงาม ซึ่งสมมติว่ามีในตัวนางเอกเท่านั้น ผู้แต่งกลอนสังวาศบางคนอาจต้องนึกถึงหญิงมีตัวมีตนจริง ๆ จึงจะแต่งได้ไพเราะก็เป็นได้ หญิงที่นึกถึงนั้น อาจจะเขียนคิ้ว และทาริมฝีปาก แต่นั่นไม่เป็นข้อกีดกันมิให้ชมว่าคิ้วโก่งเหมือนคันศร และริมฝีปากแดงเหมือนทับทิม ที่สรรเสริญดังนั้น ก็สรรเสริญทั้ง ๆ ที่รู้ว่าดินสอเขียนคิ้วและลิปสติ๊คราคาอันหนึ่งไม่กี่สิบสตางค์เลย นักกลอนที่แต่งกลอนสังวาศชนิดอื่น ๆ อาจนึกถึงหญิงมีตัวตนจริง ๆ บ้างก็เป็นได้ แต่พวกที่แต่งนิราศนั้น พิเคราะห์ตามทำนองโคลงกลอนที่กล่าว ก็น่าเชื่อว่านึกถึงชุมนุมความงาม ซึ่งไม่มีตัวมีตนโดยมาก

อนึ่ง ในเตลงพ่ายตอนตั้งแต่ “พระผาดผายสู่ห้อง หาอนุชนวลน้อง หนุ่มหน้าพระสนม” ไปนั้น ก็นิราศเรานี่เอง สมเด็จพระปรมานุชิต ทรงแต่งเตลงพ่ายตอนนั้น เป็นนิราศพระมหาอุปราชาในเวลา ๑๙๘ ปี ก่อนสมเด็จพระปรมานุชิตประสูติ ท่านไม่อาจทรงทราบได้ว่า พระมหาอุปราชามีชายาหลวงชายาน้อย หรือนักสนมกรมในกี่มากน้อย ทรงนึกแต่เพียงว่าคงจะมี แต่จะมีนามแลตำแหน่งอย่างไรไม่ปรากฏในหนังสือไทย ไม่ทรงทราบว่าเรียกอย่างไรจึงจะถูก จึงทรงแต่งว่า “สาวสนมสนองนาถไถ้ ทูลสาร” ถ้าพระมหาอุปราชามีอัครชายา หรือที่เรียกกันว่าเมียหลวง ถ้าไปเรียกแกว่า “สาวสนม” แกก็คงโกรธถึงไม่มองหน้า ในเตลงพ่ายต่อ ๆ ไป บางแห่งสมเด็จพระปรมานุชิตทรงเรียกนางเอกว่า “อ่อนไท้” เป็นคำกลาง ๆ ก็เป็นอันว่าใช้ได้ ข้อที่ไม่มีใครทราบว่า พระมหาอุปราชามีเมียมากหรือน้อย หรือไม่มีเลยนั้น ไม่เป็นเหตุกีดกั้นการแต่งนิราศพระมหาอุปราชา ซึ่งเป็นโคลงนิราศไพเราะที่สุดที่ผู้เขียนรู้จัก ใครจะสอนผู้เขียนให้เห็นโคลงนิราศอะไรดีกว่าเตลงพ่ายก็เห็นจะสอนไม่ได้

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ