ประชาธิปัตย์สองแห่ง

นักเขียนแลนักพงศาวดารคนหนึ่งชื่อ เยมส์ ตรัสโลว์ แอดัมส์ เขียนในหนังสือพิมพ์อเมริกัน ว่าด้วยวิธีการบ้านเมืองของเขา คือสหปาลีรัฐอเมริกา เทียบความเป็นไปบางอย่างในประเทศนั้น กับความเป็นไปชนิดเดียวกันในประเทศอังกฤษ ผู้เขียนในที่นี้ อ่านแล้วเห็นว่ามีความบางข้อที่พึงฟัง จึงเก็บมาเล่าโดยสังเขป

เขาว่าเปรสิเด็นต์อเมริกัน ผู้มาจากชมรมเดโมแครตซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงมากสองท่าน ก็คือเปรสเด็นต์เยฟเฟอร์สันแลเปรสิเด็นต์วิลสัน ท่านทั้งสองนั้นแม้อยู่ในชมรมเดียวกันก็มีความเห็นแปลกกันในข้อสำคัญ เป็นความเห็นตรงกันข้าม เปรสิเด็นต์วิลสันดูเหมือนมีความเห็นว่า ถ้ามีระบอบปกครองที่ดีจริง ๆ แล้ว จะนำเอาไปใช้ปกครองชนในประเทศไหนก็ได้ แลเมื่อนำเอาไปใช้แล้ว ก็ใช้สำเร็จได้จริง ๆ ส่วนเปรสิเด็นต์เยฟเฟอร์สันนั้นกล่าวร่ำไปว่า รัฐบาลแบบไหน ๆ ถ้าไม่เหมาะกับฝูงชนตามระดับปัญญาแลธรรมะแล้วก็ใช้ไม่ได้

หลักข้อหลังนี้แม้เป็นหลักที่กล่าวมานานแล้ว ก็ยังไม่หมดประโยชน์ ความเหมาะนั้นแหละสำคัญ เหมาะแก่คนแลเวลา หรือเหมาะแก่ความรู้แลความประพฤติของคนในเวลานั้น ๆ

ประเทศอังกฤษได้เป็นมาแล้วเสมอกับผู้นำประเทศอื่นๆ ในทางปกครอง แต่ในร้อยปีที่ ๑๘ อเมริกาได้หลุดจากเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เพราะอังกฤษได้ใช้วิธีพิมพ์คำสั่งแลบัญชาการเป็นรูปเดียวกันทุกเมืองขึ้น แลบัญชาจากลอนดอนทั้งนั้น หาได้คำนึงถึงวิธีการอันเหมาะแก่ท้องที่หรือชุมชนไม่ แต่เมื่อเสียอเมริกาไปแล้ว อังกฤษก็เปลี่ยนเป็นใช้ความคิดทำนองเปรสิเด็นต์เยฟเฟอร์สัน คือถือเอาความเหมาะแก่คนแลท้องที่เป็นสำคัญ

ในประเทศอังกฤษ ข้าพเจ้า (แอดัมส์) ได้ยินว่า กฎหมายที่จะคลุมไปถึงความอยู่กินหรือความเป็นไปของพลเมืองทุก ๆ วันนั้น ต้องผ่านการพิจารณาสองตอน ถึงแม้หลักการที่ร่างกฎหมายขึ้นนั้น จะรับรองว่าดีแล้วก็ตาม แต่ปาลิเม็นต์ต้องตั้งกรรมการให้ตรวจพิจารณาว่า ประชามติจะเห็นชอบเป็นส่วนมาก จนถึงว่า เมื่อออกเป็นกฎหมายไปแล้วจะบังคับใช้ได้โดยสดวกหรือไม่ หรือว่าประชามติยังไม่ เห็นด้วยมากจนถึงว่า ถ้าออกกฎหมายไปก็จะเกิดการหลีกเลี่ยงแลติดสินบลตลอดไปจนถึงตำรวจ เป็นเหตุให้ราษฎรไม่นับถือกฎหมายสมที่เป็นกฎหมาย ถ้ากรรมการของปาลิเม็นต์แสดงความเห็นไม่ได้ในเรื่องร่างกฎหมายใด ก็มักจะส่งให้ตำรวจรายงานจากสำนักสก๊อตแลนด์ยาร์ด ที่ทำเช่นนี้ เพราะว่าเมื่อถึงที่สุดเข้าจริง อำนาจที่บังคับใช้กฎหมายได้แน่นอนนั้น คือประชามติ หาใช่ความบังคับของเจ้าพนักงานไม่

ในที่นี้จะนำตัวอย่างมาแสดงอย่างหนึ่ง นายแอดัมส์กล่าวว่า เมื่อคนพิศวงกันบ่อย ๆ ว่า เหตุใดในอเมริกาจึงอยู่ล้าหลังบางประเทศ คืออังกฤษเป็นต้น ในเรื่องออกกฎหมายสังสรรค์ เช่นเรื่องอินชัวรันซ์แลบำนาญผู้ปลดชราเป็นต้น เหตุใดอเมริกากับบางคนถ้าอยู่ในเมืองอังกฤษก็คงจะมีความเห็นรับรองการออกกฎหมายเช่นนั้นเต็มที่ แต่ในประเทศของตนเองกลับท้อถอย ไม่กล้าที่จะรับรองลงไป นายแอดัมส์กล่าวว่า เป็นความเชื่อของเขาว่า คนอังกฤษไว้ใจว่า กฎหมายชนิดนั้นในบ้านเมืองของอังกฤษ เมื่อออกมาแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะปฏิบัติโดยสุจริตเป็นกิจลักษณะ ที่กล่าวเช่นนี้เขาไม่ได้หมายความว่า ในประเทศอังกฤษไม่มีทุจริตเลย เขากล่าวเพียงว่า ถ้ากล่าวทั่วไป อังกฤษมีฉากด้านหลังของโปลิติคดีมาหลายชั่วคนแล้ว ซึ่งอเมริกายังไม่ดีเสมอ

วิธีราชการของอังกฤษได้ชักจูงให้คนมีปัญญาแลนิสัยดีเข้ารับราชการมาหลายชั่วคน ในอเมริกายังสู้ไม่ได้ อนึ่ง สมาชิกปาลิเม็นต์อังกฤษไม่จำเป็นจะต้องรับเลือกจากตำบลใดโดยเฉพาะที่เป็นภูมิลำเนาของตน อาจไปรับเลือกจากตำบลไหน ๆ ก็ได้ เพราะฉนั้น จึงมีอิสระ ไม่ต้องอยู่ในถ้อยในคำของผู้เลือกกี่มากน้อย ส่วนราชการพลเรือนของอังกฤษนั้น ในชั้นสูง ๆ มีคนซึ่งได้รับฝึกหัดมาเป็นอันดีในทางวิชา แลทั้งได้มีความชำนาญการปกครองมาด้วย ข้าราชการเหล่านี้ ปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยมิต้องกังวลถึงการเมืองหรือชมรมการเมืองเลย จึงตั้งหน้ามุ่งแต่งานประจำตำแหน่งเท่านั้น ในอเมริกาถ้ารัฐบาลเปลี่ยนชมรมการเมือง ชมรมใหม่ก็เข้า เก่ากออก เลยผลัดเปลี่ยนกันทั่ว ๆ ไปในราชการพลเรือน ซึ่งไม่ค่อยจะเป็นไปในประเทศอังกฤษ การเปลี่ยนข้าราชการพลเรือนกันร่ำไปตามหมู่ตามคณะของพวกมีอำนาจวาศนานั้น ไม่ดีแก่ราชการของประเทศ

รัฐบาลกลางของอังกฤษไม่ค่อยจะมีคนกลุ่มใหญ่ ๆ คอยช่วยกันรีดให้จ่ายเงินออกจากคลัง ยกตัวอย่างเช่นว่า อังกฤษได้เลี้ยงทหารมหาสงคราม (โลกครั้งที่ ๑) ทดแทนคุณพอควร คือให้บำนาญไม่น้อย แต่ตั้งแต่สิ้นสงครามมาจนบัดนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) พวกที่ได้บำนาญตายไปบ้าง แม่หม้ายมีผัวใหม่ไปบ้าง ลูกผู้ตายที่รัฐบาลต้องเลี้ยงจนถึงกำหนดอายุที่จะปลดจากทะเบียนผู้ได้รับความเลี้ยงดูบ้าง เหล่านี้ทำให้บำนาญอังกฤษลดลงไป ได้ยินว่าประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์

ส่วนในอเมริกานั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐบาลต้องกู้เงินมาจ่ายให้แก่ทหารมหาสงคราม ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว ในคราวมหาสงคราม (โลกครั้งที่ ๑) ผู้ที่ต้องอาวุธบาดเจ็บทุกชนิดรวมกันประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ คนเท่านั้นเอง แต่ทหารมหาสงครามของอเมริกาได้เรียกร้องจะเอาเงิน แลในที่สุดได้รับเงินไปแล้วถึง ๑๕,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ เหรียญ แลในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) ยังเกิดจะเรียกร้องให้ตั้งเบี้ยบำนาญแบบใหม่กันอีก ซึ่งจะเป็นเงินเท่าไรเหลือที่จะคณนาได้ ทางที่จะจ่ายบำนาญนั้น ได้คิดขยายให้ยืดแลให้ใหญ่ออกไปจนยากที่จะคิดอย่างไรจึงจะอ้างถอยหลังไปโทษเอามหาสงคราม หรือบาดเจ็บในมหาสงครามได้ นายแอดัมส์กล่าวว่า การเป็นเช่นนี้ ชาวอเมริกาจึงระวังไม่ค่อยกล้าที่จะออกกฎหมายใหม่ ๆ ในเรื่องสังสรรค์ เพราะเกรงจะเป็นทางให้รายจ่ายขยายตัวออกไปจนเหลือจะคำณวนได้

ส่วนสมาชิกปาลิเม็นต์นั้น ในอเมริกาสมาชิกต้องมาจากท้องที่ซึ่งตั้งเคหะฐานของตน ไม่ใช่มาแต่ไหนก็ได้อย่างในประเทศอังกฤษ ที่เป็นเช่นนั้นก็มิใช่ว่าบังคับไว้ในรัฐธรรมนูญอเมริกา ที่จริงเป็นด้วยวิธีของชมรมการเมืองในอเมริกา ทำให้สมาชิกต้องเป็นเสมอแสตมป์ตรายางของท้องที่ โดยมากมิใช่เป็นผู้แทนของแคว้น หรือของเทศชน กลายเป็นผู้รับคำสั่งจากคนหมู่หนึ่ง ซึ่งมีเสียงมากในท้องที่ของตน ถ้าไม่ฟังก็เกรงจะไม่ได้รับเลือกคราวหน้า ความกลัวจะไม่ได้รับเลือกคราวหน้านี้แหละ ทำให้ความคิดแคบไปหมด

ส่วนราชการพลเรือนนั้น ในอเมริกายังไม่เหมือนในอังกฤษ ในระหว่างที่มิสเตอร์ฮูเวอร์เป็นเปรสิเด็นต์ แลระหว่างที่มิสเตอร์โรซเว็ลต์เป็นต่อมา ได้จัดการให้มีคนสามารถอย่างสูงเข้ารับตำแหน่งในราชการพลเรือน แต่จะหาคนในราชการเองเลื่อนจากชั้นต่ำขึ้นไปชั้นสูง ก็หาไม่ได้ ต้องหาคนภายนอกเข้ารับตำแหน่งสูง คนภายนอกอาจมีความรู้ดีสำหรับงานตำแหน่งนั้น ๆ โดยเฉพาะ แต่ไม่เคยฝึกหัดในการปกครองเลย จะผสมความรู้ทางวิชากับความชำนาญการปกครองให้เข้ากันกลมเกลียวก็ไม่ค่อยจะได้ คำที่เขากล่าวนี้ เราผู้เริ่มสอนเดินทางประชาธิปัตย์มิพึงลืมเลย

นายแอดัมส์กล่าวว่า ชาวอเมริกันจะต้องก้าวไปข้างหน้า แต่ถ้าจะก่อสร้างสิ่งใด ก็ต้องใช้เครื่องก่อสร้างซึ่งมีอยู่ จะใช้ความฝันแทนอิฐปูนไม่ได้

ในตอนท้ายเขากล่าวเปรียบอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าจะตัดเสื้อก็ต้องตัดด้วยผ้าที่หาได้เหมาะ มิฉนั้นก็ไม่มีเสื้อใส่ หรือมิฉนั้นเสื้อก็บ้าเต็มที

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ