ในเมืองอังกฤษ

ในประเทศอังกฤษ มีประเพณีเก่าติดค้างมาแต่สมัยโบราณหลายอย่าง ซึ่งเขาสงวนไว้ เพราะรื่นรมย์ในขนบธรรมเนียมที่นับถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในคัลเชอร์ของเขา การละทิ้งขนบธรรมเนียมแลประเพณีที่ไม่ควรทิ้ง หรือไม่จำเป็นต้องทิ้งนั้น เขาถือกันว่า ยิ่งกว่าน่าเสียดาย

คำอังกฤษว่า “คัลเชอร์” นั้น แปลตรงตามศัพท์ว่า กสิกรรม เพราะศัพท์คัลเชอร์มาจากคำละตินแปลว่า ไถ แลกสิก็แปลว่าไถเหมือนกัน ที่ว่านี้เป็นเรื่องความหมายเดิมของคำ ไม่ใช่ความหมายที่ใช้หลายอย่างในเวลานี้

คำไทยว่า “เจริญ” เป็นคำชอบกล ตามธรรมดาเจริญแปลว่างอกงาม แต่เจริญเกศาไพล่ไปแปลว่าตัดผม เจริญงาช้างแปลว่าตัดงาช้าง เอายาหม้อไปเจริญแปลว่าเอาไปเททิ้ง ล้วนแต่ตรงกันข้ามกับงอกงามทั้งนั้น ยังเจริญรอยแปลว่าตามรอยอีกเล่า

คำมคธว่าวัฒนะ แปลเป็นไทยว่าเจริญ แลเราเคยได้ยินผู้กล่าวว่าในภาษามคธ วัฒนผม ก็แปลว่าตัดผมเหมือนกัน

เรานึกถึงคำเหล่านี้ เพราะอ่านคำชี้แจงศัพท์ ป.ส. ศาสตรี เขียนลงในหนังสือ “วัฒนธรรม” ที่ออกใหม่

บัดนี้จะย้อนไปกล่าวถึงประเพณีในเมืองอังกฤษว่า มีประเพณีอย่างหนึ่งที่ยังใช้อยู่จนเดี๋ยวนี้ แต่ดูท่าทางจะต้องเลิก เพราะขัดกับวิธีประชาธิปัตย์เกินไป มิหนำซ้ำแพงไม่เข้าเรื่อง แลผู้ปฏิบัติตามก็ไม่มีใครชอบ ประเพณีนั้นคือ ประเพณีที่ว่า ถ้าขุนนางชั้นหลอดต้องคดีอาญาอย่างแรง ที่กฎหมายอังกฤษเรียกเฟโลนีไซร้ ผู้ชำระตัดสินจะต้องเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์เสมอจำเลย (หรือสูงกว่า)

มีขุนนางหนุ่มคนหนึ่งชื่อหลอดเดอคฺลิฟฟอด ขับรถไปชนกับรถอื่น จนคนตายไปคนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ฟ้องในศาลว่าฆ่าคนตาย (ไม่เจตนา) ไม่ใช่ฟ้องเพียงว่าเลินเล่อในเวลาขับรถ ถ้าฟ้องเพียงว่าเลินเล่อ ก็ต้องชำระในศาลธรรมดา แต่ที่ฟ้องว่าฆ่าคนตายนั้น เป็นคดีอาญาร้ายแรง จำเลยจึงร้องว่า ขอให้ตุลาการผู้ชำระมีบรรดาศักดิ์เสมอจำเลย นัยหนึ่งว่าให้ชำระในสภาขุนนาง ซึ่งเป็นการใหญ่ คำที่จำเลยร้องนี้จะไม่ยอมก็ไม่ได้ เพราะร้องเอาสิทธิตามประเพณีที่ยังไม่ได้เลิก จึงตกลงจะต้องชำระคดีในสภาขุนนาง แต่การชำระคดีขุนนางในสภาขุนนางนั้น ได้มีประมาณ ๓๕ ปีมาแล้ว ต่อนั้นมาก็ไม่เคยมีอีก จึงมีน้อยคนที่จำได้ว่า มีพิธีอย่างไรแน่ ตรวจดูในรายงานแลบันทึกในคราวนั้น ก็ได้ความไม่เลอียด ก่อนวันชำระ จึงมีขุนนางผู้หนึ่งเสนอญัตติในสภาว่า ในการชำระหลอดเดอคฺลิฟฟอดนั้น ขุนนางผู้ไปนั่งประชุมไม่ต้องสวมหมวก (หมวกคือคอกต์แฮต) ผู้เสนอกล่าวปริยายว่า เมื่อมีการชำระคดีเช่นนี้ ใน ค.ศ. ๑๙๐๑ ผู้เสนอได้เข้าประชุมด้วย จำได้ว่ามิได้สวมหมวก เมื่อผู้เสนอตรวจดูบันทึกรายงานครั้งนั้น ก็ดูเหมือนจะถูกตามที่จำได้

ท่านหลอดชานเซ็ลเลอร์ผู้เป็นหัวหน้าศาลฎีกากล่าวว่า เสียใจที่มีผู้เสนอญัตตินี้ขึ้น การเสนอนั้นก็ถูกตามระเบียบทุกประการ แต่เกรงจะทำให้คนคนอง ที่ไม่นับถือสง่าผ่าเผยของสภาขุนนาง มีโอกาศกล่าวว่า ในขณะที่คนหมู่อื่น ๆ ปรึกษากันด้วยเรื่องสำคัญ ๆ ในโลก สภาขุนนางปรึกษากันว่า พรุ่งนี้จะสวมหมวกหรือไม่

ท่านหลอดผู้เป็นประธานการประชุมกล่าวว่า การชำระคดีในศาลขุนนางแบบนี้ อาจไม่สมสมัยเสียแล้ว แต่เมื่อยังไม่เลิกก็ควรลงมติกันว่า จะตัดระเบียบเก่าเสียส่วนหนึ่งหรือไม่

ในที่สุดสภาลงมติว่า จะนั่งสวมหมวกคอกต์แฮตตามประเพณีเดิม

รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งเป็นวันชำระคดี ห้องที่ชำระนั้นเป็นห้องยาวเพดานสูง ปลายหนึ่งตั้งพระราชอาศน์ (ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้เสด็จประทับ) ที่ชั้นลดจากพระราชอาศน์ ตั้งที่นั่งหรือบัลลังก์ของท่านขุนนางผู้เป็นประธานตุลาการ ซึ่งมีขุนนางกฎหมายอื่นเป็นกรรมการช่วยชำระด้วย ขุนนางอื่นๆ ที่มิใช่ขุนนางกฎหมายทุกคนสวมเสื้อครุยแดงแลหมวกคอกต์แฮต มีที่นั่งยาวยกเป็นชั้นๆ สองข้าง ขุนนางเหล่านั้นทุกคนมีสิทธิจะตัดสินได้ ทั้งปัญหากฎหมายแลปัญหาข้อเท็จจริง แต่ในเรื่องปัญหากฎหมายนั้น ที่แท้พวกขุนนางที่เป็นกรรมการตุลาการให้คำแนะนำพวกขุนนางอื่นตัดสินแต่ข้อเท็จจริงเท่านั้น

ครั้นได้เวลา ท่านพวกขุนนางสวมเสื้อครุยแดงแลหมวกคอกต์แฮต ก็เดินเป็นแถวกันเข้าไปนั่งตามที่ ผู้มีบรรดาศักดิ์สูงนั่งขวาพระราชอาศน์ พวกบรรดาศักดิ์ต่ำลงมานั่งข้างซ้าย พอพวกขุนนางเหล่านั้นนั่งที่แล้ว ท่านขุนนางผู้เป็นประธานก็เดินเข้าไป มีผู้นำคือ ผู้เชิญถุง ๑ ผู้เชิญคทา ๑ คทาดำ ๑ ซายันต์-แอต-อามส์ ๑ สองคนหลังนี้มียศชั้นนาย ครั้นประธานขึ้นนั่งที่แล้ว ซายันต์-แอต-อามส์ก็ขานขึ้นว่า “โอเยส์ โอเยส์ โอเยส์” เป็นสัญญาให้คนทั้งหลายนิ่งฟัง แล้วประธานกล่าวว่า “บัดนี้จะอ่านพระราชโองการ (ตั้งศาลนี้)” พวกขุนนางทั้งหลายก็ถอดหมวกขึ้นยืนพร้อมกัน แลยืนฟังจนจบพระราชโองการ ต่อนี้คทาดำถือไม้ขาวอันหนึ่งเดินเข้าไปยื่นให้ประธาน (คทาดำเป็นชื่อเจ้าพนักงานผู้หนึ่ง) ประธานรับไม้ขาวไปถือเป็นสัญญาว่าถือไว้ซึ่งพระราชโองการ ถือไว้ครู่หนึ่งแล้วก็ส่งคืนให้คทาดำรับไปถือไว้อีก

ประธานสั่งให้อ่านฟ้อง ซายันต์-แอต-อามส์ ก็ขานชื่อจำเลยขึ้น จำเลยแต่งตัวธรรมดา เดินเข้าไปยืนในที่จัดไว้คำนับประธานแลคำนับพวกขุนนางที่นั่งอยู่ ๒ ข้าง เสมียนของศาลถามจำเลยว่า “ท่านจะขอให้ใครเป็นผู้ชำระ"

จำเลยตอบว่า “พระผู้เป็นเจ้าแลผู้มีบรรดาศักดิ์เสมอกับข้าพเจ้า”

ต่อนี้ก็ชำระความกันเหมือนในศาลอื่น ๆ แลในที่สุดยกฟ้องของโจทย์ เมื่อยกฟ้องแล้วก็ทำพิธีชิ้นสุดท้ายอีกชิ้นหนึ่ง คทาดำถือไม้ขาวไปยื่นให้ประธานอีกครั้งหนึ่ง ประธานรับไม้ไปถือไว้ กล่าวว่า “ศาลพระราชโองการ เสร็จสิ้นไปแล้ว” แล้วก็หักไม้ขาวเป็น ๒ ท่อน คืน ให้คทาดำ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ