พม่าประเทศราช

ประเทศพม่าได้แยกจากอินเดียเมื่อต้นปีนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐) ขึ้นสู่ฐานะประเทศราช ไม่เป็นมณฑลหนึ่งของอินเดียดังแต่ก่อน

ประเทศพม่ามีเนื้อที่ ๒๓๔,๐๐๐ ไมล์ตารางเหลี่ยม พลเมือง ๑๔,๗๐๐,๐๐๐ คน ตามสำมะโนครัว ค.ศ. ๑๙๓๑ ถ้าจะพูดตามขนาดแห่งที่ดิน ประเทศพม่าก็ใหญ่ประมาณเท่าประเทศฝรั่งเศส แต่มีพลเมืองประมาณ ๑ ใน ๓ ของฝรั่งเศสเท่านั้น ประเทศพม่าเหมือนสยามหลายประการ เป็นต้นว่ามีพลเมืองเป็นพวกอยู่เถื่อนอยู่ดอยไม่น้อย เขาว่ามีประมาณ ๒,๕๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งอยู่ในท้องที่ประมาณ ๔๕ เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ส่วนชนพม่านั้น แม้จะต่างกับเราชาวสยามโดยเผ่าพันธุ์ ก็คล้ายกันหลายประการ เป็นต้นว่าไม่มีการแตกแยกเป็นอริกันในหมู่ชนที่ต่างวรรณะ (คาสต์) แลมีคนรู้หนังสือทั้งชายแลหญิง คิดตามส่วนพลเมือง สูงกว่าอินเดียเป็นอันมาก ส่วนรัฐบาลนั้น ชนทั่ว ๆ ไปเห็นเป็นของน่าเบื่อ แต่ก็ “ช่างมัน”

พลเมืองของพม่า คล้ายกับพลเมืองของสยามอีกอย่างหนึ่ง คือยังไม่มีเอ๊กซปีเรียนส์ในทางโปลิติกส์

ชนชาวประเทศพม่า ซึ่งมิได้มีชาติเป็นพม่า มักจะอยู่ตามท้องที่ใกล้ปลายเขต หรือตามท้องที่สูง ทราบจากฝรั่งว่า มีคนประมาณ ๗๐ จำพวก มีความเจริญเป็นคั่นต่างกัน เป็นต้นว่าพวกนาคะและพวกกวา ได้ตัดหัวคนมาเซ่นผีอยู่ จนรัฐบาลห้าม พวกจินและกจินเป็นชาวเขา รูปร่างมักจะเตี้ยล่ำแข็งแรง ได้รับราชการทหารอยู่มาก พวกกเรนส์ก็เหมือนกัน และพวกไทยใหญ่ ก็มีในกองทหารชายแดนและตำรวจทหารด้วย แขกมาจากอินเดียมีในเมืองพม่า ประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน จีนมีไม่สู้มากนัก

ถ้าจะพูดว่า ประเทศพม่าเป็นประเทศเพาะปลูก ซึ่งปลูกอะไรได้บ้าง หรือมีอะไรในป่าบ้าง หรือมีทรัพย์ใต้ดินอย่างไรบ้าง ก็แทบจะเหมือนกับพูดถึงสยาม

ที่ดินในพม่าในค.ศ. ๑๙๐๐ ใช้เป็นที่นา ๗ ล้านเอเคอร์เศษ (เอเคอร์หนึ่งประมาณ ๒ ไร่ครึ่ง) แต่มาใน ค.ศ. ๑๙๓๐ ที่นาในเมืองพม่ามีถึง ๑๙ ล้านเอเคอร์ แต่ถึงกระนั้นก็เพียง ๒๗ เปอร์เซ็นต์ แห่งที่ดินซึ่งจะเพาะปลูกได้เท่านั้นเอง

ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของประเทศพม่าเป็นป่า มีไม้ใหญ่หลายชนิด คือไม้สักเป็นต้น บ่อน้ำมันของพม่าเป็นที่ ๒ ในเขตแดนอังกฤษ (ตรินิแดดเป็นที่ ๑) นอกจากนี้ ถ้าจะจาระไนทรัพย์ใต้ดินของพม่า ก็ฟังเหมือนจาระไนทรัพย์ใต้ดินของสยามที่รู้ว่ามี แต่หากทั้งสยามทั้งพม่ายังหาได้ทำจริงทำจังลงไปไม่

คมนาคมของพม่าถ้าเทียบกับเมืองฝรั่งก็ล้าหลังอยู่มาก แต่ถ้าเทียบกับสยาม ก็จำต้องกล่าวว่า พม่าดีกว่า เพราะเขารักษาทางน้ำไว้ดี และแม่น้ำเอราวดีของเขา เรือกำปั่นขนาดใหญ่หลายร้อยตัน เดินได้ไกลเกือบตลอดปี แม่น้ำเจ้าพระยาของเรา กำปั่นขนาดเล็ก เดินพ้นกรุงเก่าไปไม่ได้กี่มากน้อยในฤดูแล้ง ส่วนรถไฟนั้น พม่ามีรถไฟเดินทางแคบ (๑ มิเตอร์) ประมาณ ๒,๐๐๐ ไมล์ มีถนนประมาณ ๒,๐๐๐ ไมล์เหมือนกัน

ในบัดนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐) เมื่อพม่าเป็นประเทศราชแยกออกไปจากอินเดียแล้ว พม่าก็ยังจะต้องติดต่อกับอินเดียไปตามเดิมในทางค้าขาย อย่างน้อยก็ต้องเป็นไปชั่วคราวในระหว่างที่ยังตั้งตัวไม่ได้ ในเวลานี้ มีแขกอินเดียอยู่ในประเทศพม่าประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน แต่มักจะรวมกันอยู่ในท้องที่ใกล้ทะเล หรือในเมืองใหญ่ ๆ ที่เป็นแหล่งกลาง เมื่อผู้เขียนไปเห็นเมืองย่างกุ้งคราวแรก ได้เห็นแขกอินเดียเหมือนเห็นจีนที่สำเพ็งในกรุงเทพ ฯ ชรอยจะเป็นด้วยได้ผ่านไปตามถนนที่เป็นท้องที่หากินของแขก ฝรั่งเขาว่า ในเมืองที่มีโรงงานใหญ่ ๆ พลเมืองเป็นแขกเกือบ ๆ ครึ่ง ในเมืองอื่น ๆ มีแขกประมาณ ๑ ใน ๕ ของพลเมือง

สินค้าขาออกของพม่าเวลานี้ ส่งไปขายในอินเดียประมาณ ๑ ใน ๓ ส่งไปประเทศอื่น ๆ ที่เป็นเขตของอังกฤษด้วยกันอีกประมาณ ๑ ใน ๓ ส่งไปประเทศนอกอาณาเขตอังกฤษประมาณ ๑ ใน ๕

ข้าวที่ทำนาในพม่าประมาณ ๒ ใน ๓ ชายไปอินเดีย ไม้สักประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ และน้ำมันทั้งหมดก็ไปอินเดีย

หน้าเกี่ยวข้าวทุก ๆ ปี มีคนงานมาจากอินเดีย ๓๐๐,๐๐๐ คน มาช่วยเกี่ยวข้าวในพม่า ผู้เขียนเข้าใจว่า เมื่อเกี่ยวเสร็จแล้ว ก็คงจะกลับไปอินเดียเป็นส่วนมาก

สินค้าขาเข้าของพม่า มาจากอินเดียประมาณครึ่งหนึ่ง มาจากประเทศนอกอาณาเขตอังกฤษประมาณ ๑ ใน ๕

ความสมบูรณ์ของพม่าต่อไปข้างหน้า สำคัญอยู่ที่จัดแก้ปัญหาที่เกิดในการแยกจากอินเดียในเวลานี้ และการแก้ปัญหานี้ ที่สำคัญอยู่ที่พม่า จะต้องฝึกซ้อมช่วยตัวเองมากขึ้น ในปีต้นนี้ พม่าจะได้ภาษีศุลกากร ภาษีภายใน ภาษีเกลือ และภาษีเงินได้เป็นจำนวนเงิน ๑,๓๔๐,๐๐๐ ปอนด์ตามงบประมาณ เงินค่าภาษีเหล่านี้ แต่ก่อนอินเดียเก็บเอาไปหมด ส่วนทางรายจ่ายนั้นก็มีรายจ่ายบางอย่างซึ่งอินเดียเคยออกให้ แต่บัดนี้พม่าจะต้องออกเอง คือ ค่าทหารเป็นต้น ซึ่งประมาณว่า จะเท่า ๆ กันกับเงินค่าภาษีที่ได้มาใหม่

ส่วนการเงินนั้น พม่าจะใช้วิธีเบี้ยตราอย่างอินเดียไปก่อน แต่แบงก์ในอินเดีย (Indian Reserve Bank) จะมีสาขาไปตั้งจัดการให้แก่พม่า ในประเทศพม่าเอง

ส่วนการค้าขายกับอินเดียนั้น ได้ตกลงกันว่าจะให้เป็นไปตามเดิมอีก ๓ ปี คือไม่ต้องเสียภาษีกันทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งนี้ เพราะอินเดียซื้อสินค้าจากพม่ามากกว่าผู้ซื้ออื่น ๆ ถ้าเกิดเก็บภาษีกันขึ้น ก็กลัวพม่าจะตั้งตัวไม่ทัน ส่วนสินค้าขาเข้าจากประเทศอื่น ๆ นั้น พม่าจะใช้พิกัดภาษีอย่างเดียวกับอินเดียก่อน อนึ่ง พม่าจะไม่ออกกฎหมายห้ามหรือกีดกันชาวอินเดียมิให้เข้าไปในประเทศพม่าอีกอย่างน้อย ๓ ปี และรัฐธรรมนูญใหม่ของพม่าบัญญัติไว้ว่า ถ้าจะมีร่างกฎหมายเสนอต่อสภาในเรื่องชนต่างด้าวเข้าเมือง เกาวนาก็จะต้องให้อนุมัติให้เสนอเสียก่อน ร่างนั้นจึงจะเสนอสภาได้

รัฐสภาของพม่าจะมี ๒ สภา เป็นสภาผู้แทนและสภาผู้เฒ่า

ชมรมการเมืองของพม่าเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐) มี ๗ ชมรม เป็นชมรมซึ่งยึดตัวบุคคลผู้เป็นหัวหน้ายิ่งกว่ายึดคติการเมืองอันได้วางลงไว้แจ่มแจ้งแล้ว ชมรมทั้ง ๗ นี้ ในการเลือกตั้งคราวที่แล้วมา ไม่มีชมรมไหนได้โหวตพอที่จะข่มชมรมอื่น ๆ ได้ แต่ชมรมรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอูบาเปเป็นหัวหน้า ได้สมาชิกเข้าสภา ๔๓ คน ซึ่งเป็นอย่างมาก ชมรมนอกจากนั้น มีชมรมอิสระ ได้สมาชิก ๓๓ คน แขกอินเดียได้สมาชิก ๑๓ คน ฝรั่งได้สมาชิก ๙ คน รัฐบาลที่ตั้งขึ้นเป็นรัฐบาลรวมชมรม คือ เชิญผู้รับตำแหน่งเสนาบดีจากชมรมต่าง ๆ

กาลต่อไป การปกครองพม่าประเทศราช ก็คงจะได้พบความยากทางโน้นทางนี้ เหมือนที่ประเทศอื่น ๆ ได้เคยรับมา แต่ก็ไม่มีเหตุอะไรที่ควรเห็นว่าจะทำไม่ได้ดีต่อไปในภายหน้า เว้นแต่ถ้าหุนหันพลันแล่นเกินไปก็ทำให้เสียทางไปได้

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ