- คำนำของผู้จัดพิมพ์
- ๑. สภากาชาด
- ๒ นิราศ
- ๓. โคบุตร
- ๔. ไวต์ชาวสยาม
- ๕. ผสมผสาน
- ๖. พม่าประเทศราช
- ๗. ผสมผสาน (๒)
- ๘. สำคัญอะไรที่ชื่อ
- ๙. ทุนสำรองพิกัด
- ๑๐. ผสมผสาน (๓)
- ๑๑. ประชาธิปัตย์แลความลับ
- ๑๒. เมื่อเจียงไคเช็คถูกจับ
- ๑๓. ขอโทษ
- ๑๔. เซี่ยงไฮ้
- ๑๕. อ๊อกซฟอด
- ๑๖. ดินเนอร์ใหญ่
- ๑๗. สามก๊ก
- ๑๘. หมู่ประเทศ “ออสโล”
- ๑๙. เซี่ยงไฮ้
- ๒๐. โรตารี่ในประเทศเยอรมัน
- ๒๑. ผสมผสาน (๔)
- ๒๒. รัฐคติ
- ๒๓. ล่าผัว
- ๒๔. โลกนี้ครึ่งหนึ่ง
- ๒๕. สก๊อตแลนด์กับอิงแลนด์
- ๒๖. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
- ๒๗. ขัติยมานะ
- ๒๘. เมื่อวันประกาศมหาสงคราม
- ๒๙. ปเกียรณกะ
- ๓๐. ในอินเดีย
- ๓๑. ในเมืองอังกฤษ
- ๓๒. คำราม
- ๓๓. ศัพท์รอยัลลิซต์
- ๓๔. อารยะชน อานารยะชน
- ๓๕. หนังสือพิมพ์
- ๓๖. กล่องดวงใจ
- ๓๗. ธนาธิปัตย์ยังไม่ตาย
- ๓๘. ฉากละคร
- ๓๙. ราชพิธีอังกฤษ
- ๔๐. ผสมผสาน (๕)
- ๔๑. นึกเมื่อฟังเทศน์
- ๔๒. บรรดาศักดิ์อังกฤษ
- ๔๓. กาพย์เห่เรือ
- ๔๔. โอวาทสำหรับชายหนุ่ม
- ๔๕. ราชาธิราชประเทศเม็กซิโก
- ๔๖. มุกดาดำ
- ๔๗. ประปา
- ๔๘. อุตสาหกรรมในกระท่อม
- ๔๙. ปนคำพูด
- ๕๐. วังแก้ว
- ๕๑. แซะประธาน
- ๕๒. ครึ่งสตางค์
- ๕๓. ฝักซ้ายฝ่ายขวา
- ๕๔. ประชาธิปัตย์สองแห่ง
- ๕๕. ยิวแลอาหรับ
- ๕๖. เฮ็บราย
- ๕๗. ประเทศอิราค
- ๕๘. พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ
- ๕๙. รัฐแฟรงก์
- ๖๐. ศัพท์
- ๖๑. …ิสม์
- ๖๒. ท่านเสือ
- ๖๓. ส่องกระจก
- ๖๔. พระสังตปาปา
- ๖๕. นานาภาษิต
- ๖๖. สำนวนหนังสือ
- ๖๗. อาศา
- ๖๘. คณะสงฆ์
ปนคำพูด
หนังสือพิมพ์ “ไตมส์” ลอนดอนพิมพ์จดหมายของผู้เขียนส่งไปจากสิงคโปร์ว่าด้วยภาษาที่พูดกันในเมืองนั้นเป็นใจความว่า ถ้ารัฐบาลต้องการจะแจ้งให้พลเมืองทราบว่า จะแจกหน้ากากสำหรับป้องกันไอพิษให้ทั่วตัวคน ก็จะต้องพิมพ์ประกาศโฆษณาเป็นหนังสือประมาณ ๑๒ ภาษา แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีพลเมืองอีกประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งจะต้องบอกด้วยปาก เพราะไม่รู้หนังสือภาษาของตนหรือภาษาไหนทั้งนั้น
สำมะโนครัวที่ทำกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ (ทรงเรื่องนี้ เมื่อ ๒๔ ธ.ค. พ.ศ. ๒๔๗๙) ให้ตัวเลขว่า พลเมืองสิงคโปร์มี ๔๙๐,๑๕๕ คน เรือน ๆ หนึ่งมีคนอยู่คิดถัวเรือนละ ๑๔ คน พลเมืองมีคนแทบจะทุกชาติทุกภาษา ทั้งที่เป็นชาวตวันออกแลตวันตก ถ้าจะนับจำแนกจำนวนดังนี้ จีน ๓๔๗,๑๑๗ คน แขกอินเดีย ๔๗,๔๐๒ คน แขกมลายู ๔๕,๐๗๗ คน ฝรั่ง ๘,๓๓๘ คน ฝรั่งครึ่งชาติ ๗,๑๕๑ คน ญี่ปุ่น ๓,๖๙๕ คน อื่น ๆ ๔,๓๗๕ คน
บรรดาประเทศทั้งหลายในโลก ประเทศที่มีคนมากที่สุด คือประเทศจีนประเทศหนึ่ง ประเทศอินเดียประเทศหนึ่ง ชนชาวประเทศทั้ง ๒ นี้อยู่ปนกันในแหลมมลายู อย่างที่ไม่ปนกันในประเทศอื่น คืออยู่ปะปนกันใต้บังคับแลกฎหมายเดียวกัน จำนวนแขกอินเดียกับจีนในที่นั้นไม่เสมอกัน เพราะจีนมาอยู่ก็อยู่เลย แต่แขกอินเดียมาชั่วคราว ไป ๆ มา ๆ อยู่เสมอ
จีนมาจากภาคใต้ของจีนเป็นจำนวนนับพันทั้งชายแลหญิง ตั้งใจจะมาตั้งภูมิลำเนาหากินอยู่ตลอดชีวิต มีลูกหลานเป็นเทือกเถาต่อไป
แขกอินเดียก็มาทีละมาก ๆ แต่มารับจ้างเป็นคนงานตามสวนยางเป็นต้น หรือมิฉนั้นก็เห็นช่องที่จะหากินได้ดีชั่วคราว ครั้นหมดสัญญา หรือเมื่อโชคดีก็กลับไปอินเดีย เก็บทรัพย์ได้เท่าใดก็สงวนไว้เอาไปใช้ในบ้านเมืองของตน เขาว่าจีนในที่นั้นไม่ไปเลยสิงคโปร์ทางตวันตก แขกอินเดียไม่ไปเลยสิงคโปร์ทางตวันออก
ในสิงคโปร์เอง ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางราชการ คนที่ไม่ใช่ฝรั่งรู้หนังสืออังกฤษประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ จะใช้ภาษามลายูมากนักก็ไม่ได้ ภาษามลายูเดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) มี “คำยืม” จากภาษาอาหรับ โปรตุเกศ แลอังกฤษมาก ต้องพูดปนคำภาษาต่าง ๆ จนผู้เขียนในสิงคโปร์เห็นขัน แต่ผู้เขียนแผนกบรรณาธิการของหนังสือ “ไตมส์” กล่าวว่าภาษาที่พูดกันในยุโรปก็เช่นกัน ภาษาอังกฤษ “ยืม” คำจากฝรั่งเศสมากกว่ามาก แลภาษาฝรั่งเศสก็ “ยืม” จากอังกฤษไม่น้อยเหมือนกัน
เราในกรุงเทพเมื่อได้อ่านที่เขาเขียนใน “ไตมส์” แล้ว ก็นึกถึงภาษาไทยของเราที่ต้อง “ยืม” คำในภาษาอื่น ๆ มาใช้เป็นอันมาก การเอาคำในภาษาอื่นมาใช้เพื่อจะเบ่งความหมายของเราให้ชัดแจ้งขึ้นนั้น มิใช่ของที่พึงติเตียน ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้นบ้างก็จะยังโง่อยู่มาก เป็นต้นว่า ถ้าไม่เอาคำในภาษาอินเดียมาใช้ เราก็คงจะยังไม่เคยได้ยินพุทธศาสนา ถ้าไม่ใช้คำจีน มลายู เขมร ฝรั่ง ฯลฯ ก็จะไม่มีความรู้หลายอย่างที่เรารู้แล้วในเวลานี้ การพูดจากันในปัจจุบัน ถ้าไม่ “ติดศัพท์” ต่างประเทศเลย ก็ดูเหมือนจะนั่งนิ่งเสียสบายกว่า
ผู้เขียนย้อนตรวจดูในวรรคหลังที่เขียนมาแล้ว นอกจากคำที่เป็นชื่อหนังสือพิมพ์ ยังได้พบคำต่างประเทศคือ “เทพ” “ภาษา” “พุทธศาสนา “ปัจจุบัน” “ศัพท์ “ประเทศ” เป็นต้น ผู้อ่านโดยมากคงไม่ได้นึกว่า หนังสือที่เขียนข้างบนนี้ ใช้คำต่างประเทศมากกว่าที่ใช้กันเป็นธรรมดา ที่จริงดูเหมือนจะใช้น้อยเสียอีก