ฝักซ้ายฝ่ายขวา

ในลอนดอนมีสโมสรเรียกว่า “เป็นคลับ” (P.E.N. Club) เป็นสโมสรของนักเขียนซึ่งนิยมกันว่าเป็นชั้นสูง นักเขียนคนไหนไม่อยู่ในชั้นสูง ก็เข้าเป็นสมาชิกในสโมสรนั้นไม่ได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้สโมสรได้มีการเลี้ยงเป็นเกียรติแก่นาย เอช. ยี. เวลส์ นายกคนเก่า ซึ่งบัดนี้มีอาย ๗๐ ปี ผู้ไปกินเลี้ยงคืนนั้นมีนักเขียนชั้นเยี่ยม ทั้งในแผนกวิทยาศาสตร์แลอักษรศาสตร์รวม ๕๐๐ คนด้วยกัน

นาย เอช. ยี. เว็ลส์ ได้กล่าวตอบคำอำนวยพรเป็นความในตอนหนึ่งว่า เกลียดความมีอายุ ๗๐ ปี เปรียบตนเองเหมือนเด็กที่ไม่อยากจะต้องทิ้งไปจากของเล่น อายุของมนุษย์ยาวไม่ถึงครึ่งที่ต้องการ ก็ถึงขัยเสียแล้ว การเล่นของเขาบางอย่างก็เกือบจะแล้ว แต่บางอย่างรู้สึกว่าเพิ่งจะขึ้นต้นเท่านั้นเอง

ในตอนหนึ่งเขากล่าวว่า คนเรานี้มีน้อยนักที่จะไม่ถูกเรียกว่า ซ้าย หรือ ขวา เขาอยากห้ามใช้คำสองคำนั้นเสียให้ขาด เพราะว่าในเรื่องสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์นั้น ไม่มีซ้ายหรือขวาเลย เป็นต้นว่า ในวิทยาศาสตร์จะมีวิทยาศาสตร์ซ้ายก็หาไม่ วิทยาศาสตร์เดินก้าวไปข้างหน้าไป แต่ไม่เลี้ยวไปข้างขวาหรือข้างซ้าย ไปตรง ๆ เสมอ ๆ

ผู้เขียนอ่านคำที่เขากล่าวฉนี้ ก็นึกไปถึงคติของประชุมชนที่แยกกันอยู่ในประเทศต่าง ๆ คนเราเคยนิยมแบ่งแยกกันตามท้องที่อันเป็นประเทศที่อยู่บ้าง ตามชาติเกิดบ้าง หรือคนในสองประชุมชนเข้าหมู่มีไมตรีแก่กัน เพราะไมตรีของหัวหน้าแห่งประชุมชนก็ได้ แต่มาเดี๋ยวนี้ความแยกพวกกระเดียดจะไปเป็นฝักซ้ายฝ่ายขวามากขึ้นทุกที แม้ชนซึ่งอยู่คนละประเทศ เช่นในรัซเซีย ฝรั่งเศส อิตาลี แลสเปญ ถ้าใครอยู่ฝ่ายไหน ก็เข้ากับคนในประเทศอื่นที่อยู่ฝ่ายเดียวกัน แลเป็นปฏิปักษ์ต่อชาวประเทศเดียวกับตนเองที่อยู่คนละฝ่าย คติของคนในโลกเดินไปในทางนี้มากในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙)

ปัญหาฝักซ้ายฝ่ายขวาทำนองที่กล่าวนี้ มีผู้เขียนยืดยาวตามความเห็นของเขา ในหนังสือพิมพ์อเมริกันชื่อ New York Times Magazine ซึ่งผู้เขียนในที่นี้เพิ่งจะพบในหนังสือซึ่งมาถึงเมื่อเที่ยวเมล์นี้เอง เขากล่าวว่า ในวันนี้ ใคร ๆ ก็ย่อมเห็นได้ว่าเป็นเวลาสำคัญในพงศาวดารของโลก ในกรุงปารีสก็ดี กรุงวอชิงตันก็ดี ในท้องที่ป่าเถื่อนในอาฟริกาก็ดี บนเขาในเอเซียซึ่งสูงพ้นระดับแห่งส่วนใหญ่ของโลกก็ดี หรือหมู่บ้านในสเปญ ซึ่งยังเป็นเหมือนเมื่อ ๒๐๐ ปีมาแล้ว ในประเทศอื่น ๆ ก็ดี ปัญหาซ้ายแลขวาเป็นเหมือนแหมาทอดติดหมด เปรียบได้ว่า ประชาหลายชาติหลายสมัยมาพบกันที่ถนนสองแพร่งในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙)

สเปญ เป็นเวทีซึ่งเปิดฉากให้เห็นรูปการแจ่มแจ้งกว่าที่คนโดยมากเคยเห็น สเปญเป็นประเทศซึ่งเพิ่งจะก้าวเข้าสู่โลกแผนใหม่ ไม่เคยได้ทดลองประชาธิปัตย์ ดังที่ ฝรั่งเศส อังกฤษ ฮอลันดา แลสแกนดิเนเวียเป็นต้นได้เคยทำมานานแล้ว อยู่ ๆ ก็ถลันเข้าทดลองวิธีประชาธิปัตย์ ในเวลาที่รัฐคติแยกเป็นฝักซ้ายฝ่ายขวาอย่างรุนแรงไปในหลายประเทศ พวกที่ฝักฝ่ายทางโน้นทางนี้ จึงเอาใจช่วยชาวเสปญ ซึ่งที่แท้ก็เป็นชนต่างชาติอยู่ต่างประเทศ แต่หากนิยมไปข้างเดียวกับตน จนการแตกแยกในสเปญกลายเป็นฝ่ายคอมมูนิสต์แลฟาสซิสม์ แลทำให้เรื่องราวในสเปญกลายเป็นปัญหากระทบกระเทือนไปทั่วโลก

ฟาสซิสม์เป็นระบอบใหม่ ซึ่งมีอาการแข็งแรงอยู่มาก คอมมูนิสต์เป็นของเก่ากว่า พวกคอมมูนิสต์ได้เข้าแทรกแซงในประเทศหลายประเทศ แม้ประเทศที่ห้ามก็ลอบกระจายลัทธิไปได้ แต่มีฝรั่งเศสกับสเปญสองประเทศเท่านั้นที่ชมรมคอมมูนิสต์เข้าร่วมกับชมรมฝ่ายซ้ายอื่น ๆ ตั้งเป็นคณะรัฐ บาลขึ้นได้ วิธีการที่เข้าร่วมกับโซเชียลลิสม์อื่น ๆ นี้ เป็นวิธีใหม่ของคอมมูนิสต์ในรัซเซีย ถ้าจะแปลก็คือว่า คอมมูนิสม์เดี๋ยวนี้หมายความว่า วิธีการซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อฟาสซิสม์ (แอนตี้ฟาสซิสม์) หาใช่การกระจายลัทธิของคอมมูนิสต์เองโดยเฉพาะไม่

การเป็นเช่นนี้ ปัญหาในสเปญจึงเป็นปัญหาระหว่างประเทศ มิใช่ปัญหาเฉพาะประเทศเดียว ประเทศฟาสซิสม์หลายประเทศเข้าร่วมความคิดกันเป็นครั้งแรกในคราวนี้ แลสภากลางของคอมมูนิสต์ก็มีเงาเข้ามาง้ำอยู่

ฟาสซิสม์แต่ก่อนยกคติเทศชน (เนชั่นนัลลิสม์) เป็นหลักที่ตั้ง ซินญอร์มุซโซลินีเคยดำเนินการเพื่อความเป็นใหญ่ของอิตาลีอย่างเดียว แฮร์ฮิตเล่อร์ก็ดำเนินการเพื่อความเป็นใหญ่ของเยอรมันเช่นกัน ดิคเตเตอร์ทั้งสองกระเดียดจะเป็นคู่แข่ง ยิ่งกว่าที่จะสนับสนุนซึ่งกันแลกัน เป็นต้นว่า อิตาลีเคยขวางทางเยอรมันในเรื่องออซเตรีย แลเมื่ออิตาลีทำสงครามอบิซซีเนีย เยอรมันก็ตั้งตนเป็นกลางอย่างมิได้แสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อประการใดเลย

แต่ในสเปญ ประเทศทั้งสองแสดงอาการอย่างเป็นประเทศฟาสซิสม์ด้วยกัน ดูเป็นการเข้าคู่อย่างฮึกหาญนัก

ในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) จะว่าอิตาลีกับรัซเซียเป็นเทศชนสองหมู่นี้ก็น้อยไป ต้องว่าเป็นสำนักของลัทธิการเมืองสองลัทธิมากกว่า ถ้ารัฐบาลประเทศไหนจะแสดงความเอาใจใส่ช่วยฝ่ายไหนในสเปญเวลานี้ ก็ไม่หมายความว่าช่วยฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายขบถ กลายเป็นเข้าข้างคอมมูนิสต์หรือฟาสซิสต์ แล้วเลยเป็นเข้าข้างมหาประเทศที่หนุนหลังลัทธิทั้งสองนั้น

ส่วนสเปญนั้น เมื่อได้อาบเลือดเช่นนี้แล้ว ก็เห็นจะเป็นประชาธิปัตย์ไปไม่ได้ คงจะต้องใช้วิธีบงการสิทธิ์ขาดแบบไหนแบบหนึ่ง จึงจะปราบปรามยุคเข็ญให้สงบได้ เมื่อการเป็นเช่นนี้ก็คือว่า ฝรั่งเศสจะเป็นประเทศใหญ่อยู่ประเทศเดียวในยุโรป (นอกจากอังกฤษซึ่งอยู่เกาะ) ที่ยังใช้รัฐบาลระบอบประชาธิปัตย์อยู่ ชาวฝรั่งเศสบางพวกกลัวว่า เมื่อสเปญเป็นไปแล้ว นานเข้าฝรั่งเศสก็จะเป็นไปบ้าง รัฐบาลของเมอซิเออร์ บลุม ได้พยายามจะให้ประเทศทั้งหลายเป็นกลางในสเปญ ทั้งนี้เพื่อจะมิให้เกิดเป็นภัยแก่ประเทศฝรั่งเศส ถ้าฝรั่งเศสมีเยอรมันซึ่งเป็นฟาสซิสม์อยู่ต่ออาณาเขตด้านหนึ่ง แลสเปญฟาสซิสม์แลอิตาลีฟาสซิสม์อยู่อีกด้านหนึ่ง ฝรั่งเศสก็จะอยู่ไม่เป็นสุข ส่วนอิตาลีนั้นเล่าจะปล่อยให้ประเทศในเมดิเตอเรเนียน คือสเปญเป็นคอมมูนิสต์ไป อิตาลีก็จะอยู่ไม่เป็นสุขเหมือนกัน แลกรุงโรมรู้สึกว่า ถ้าสเปญเป็นโซเวียต ไม่ช้าฝรั่งเศสก็จะเป็นโซเวียตไปด้วย

ตามที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนในหนังสือพิมพ์อเมริกันหมายความว่า ความสำคัญในเรื่องที่เกิดในสเปญครั้งนี้ (สงครามกลางเมือง) มิได้อยู่ในประเทศสเปญ ความสำคัญแท้จริงอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส

ไม่ฝักฝ่าย

๏ สมัยนี้น้ำหนักฝักแลฝ่าย ขวาและซ้ายถ่วงกันสนั่นก้อง
พวกที่อยู่หว่างกลางวางทำนอง ว่าไม่ข้องแวะด้วยไม่ช่วยใคร
ทั้งสุดซ้ายสุดขวาอาละวาด ป่าวประกาศโครมครามตามวิสัย
พวกอยู่กลางยื่นหัตถ์ผลักปัดไว้ ไม่ยอมไปสุดแง่อันแน่ชัด
ซ้ายหรือขวาก็ตามห้ามให้ห่าง จะอยู่กลางเรียกว่าประชาธิปัตย์
เหมือนเบื่อบ้านเต็มทีหนีเข้าวัด จะเลาะลัดเดินทางกลาง ๆ เอย ฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ