ทุนสำรองพิกัด

ผู้อ่านของเราย่อมจะได้ทราบข่าวซึ่งเราให้เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า รัฐบาลอังกฤษได้ตกลงจะเพิ่ม “ทุน” สำหรับค้ำจุนปอนด์ให้ยืนมั่นอยู่ในพิกัดแลกเปลี่ยน มิให้ขึ้น ๆ ลง ๆ มากจนเป็นเหตุจ้าละหวั่นในการค้าขาย ทุนนั้นมีอยู่แล้ว ๒๕๐ ล้านปอนด์ บัดนี้ขึ้นไปอีก ๓๐๐ ล้านปอนด์ รวมเป็น ๕๕๐ ล้านปอนด์

เสนาบดีอังกฤษได้กล่าวในปาลิเม็นต์ว่า ทุนรายนี้ได้มอบให้กรรมการเป็นผู้จัดตั้งแต่ต้นมา งานของกรรมการเป็นงานลับ ซึ่งไม่เคยนำออกเปิดเผยให้ใครทราบ ในภายหน้าจะแพร่งพรายให้ทราบกันบ้างพอควร แต่ถึงกระนั้นก็คอยเมื่อ ๖ เดือนล่วงไปแล้วจึงจะแพร่งพราย

“ทุน” ที่กล่าวนี้เรียกภาษาอังกฤษว่า “Exchange Equalisation Fund” แปลว่าเงินก้อนซึ่งแยกไว้สำหรับคอยถ่วงข้างโน้นข้างนี้ มิให้พิกัดแลกปอนด์ขึ้นหรือลงผาดโผนนัก ในที่นี้เราจะเรียกเงินรายนี้สั้น ๆ ว่า “ทุนสำรองพิกัด”

เสนาบดีคลังอังกฤษ ได้กล่าวในปาลิเม็นต์ว่า การจัดทุนสำรองพิกัดนี้เป็นงานลับ จึงไม่ค่อยจะมีใครทราบว่าจัดอย่างไรบ้าง เราผู้อยู่ในประเทศนี้ จะรู้ยิ่งไปกว่าที่เขารู้กันในประเทศของเขาเองก็ย่อมจะไม่ได้ แต่เมื่อได้รู้ข้อความบางอย่างที่ปรากฏออกมา ก็อาจสันนิษฐานต่อได้บ้าง ที่เขียนในที่นี้เป็นใจความที่ได้อ่านมาบ้างสันนิษฐานบ้าง เพื่อจะให้ติดต่อกันตลอด อนึ่ง ผู้เขียนขอกล่าวว่า ข้อความที่เขียนนี้ว่าด้วยวิธีการจัดใช้ทุนชนิดนั้นในประเทศฝรั่ง ไม่ใช่ในสยาม ในสยามเคยมีทุนซึ่งรัฐบาลแบ่งแยกไว้ เรียกว่า “ทุนสำรองมาตราทองคำ” เป็นทุนสำหรับรักษาราคาบาทมิให้ขึ้นลงผาดโผนนัก ในเวลานี้เราไม่เรียกว่ามาตราทองคำ แต่การใช้ทุนเพื่อรักษาราคาบาทก็ทำนองเดียวกัน

ในประเทศฝรั่งแต่ก่อน รัฐบาลมิได้เกี่ยวข้องกับพิกัดแลกเงินในตลาด แต่ใน ๒-๓ ปีที่แล้วมานี้ เปลี่ยนใช้วิธีใหม่ เพราะทุนที่ตั้งขึ้นนี้ แม้เจ้าพนักงานของรัฐบาล หรือกรรมการที่รัฐบาลตั้ง จะทำงานติดต่อกับแบงก์กลาง (หรือที่มักเรียกกันว่า แบงก์ชาติ) ก็จริง แต่ความมุ่งหมายสำคัญก็คือ จะคอยถ่วงพิกัดไว้ มิให้ขึ้นลงผาดโผนเกินที่รัฐบาลเห็นควรไปได้

ทุนชนิดที่กล่าวนี้ เป็นเครื่องใช้ในประศาสโนบาย เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงไม่แสดงวิธีการเปิดเผย บุคคลหรือกรรมการผู้จัดทุนอาจมีเงินอยู่ในมือมากที่สุด และอาจเป็นผู้ชำนาญการอย่างที่สุด แต่ถึงกระนั้น ถ้าไม่ใช้ความลับช่วยด้วย ก็จะบังคับพิกัดให้มั่นคงจริงไม่ได้ เหตุฉะนี้ ทุนชนิดนี้จะได้ตั้งในประเทศไหนก็ตาม คงจะมีระเบียบล้อมวงกงกำมิให้รู้กันไปว่า ทาอะไรบ้าง แลทำเพื่ออะไร บุคคลหรือกรรมการผู้จัดทุนนี้ มีอำนาจจ่ายแลรับเงินมากมายก็จริง แต่ผู้อยู่ในตำแหน่ง เช่น เสนาบดีคลังอังกฤษ และเกาวะนาแห่งแบงก์กลางของฝรั่งเศสเป็นต้น ไว้ใจว่าต้องยอมให้ทำเป็นการลับ จึงไม่ค่อยมีใครรู้ว่า การจัดทุนนั้น ๆ จัดกันอย่างไรบ้าง นอกจากจะสอดรู้พอเผิน ๆ เท่านั้น

ประเทศอังกฤษ

ในประเทศอังกฤษ ได้ตั้งทุนรักษาพิกัดขึ้น เมื่อเดือนมิถุนายน ๑๙๓๒ เป็นจำนวนเงิน ๑๕๐ ล้านปอนด์ ใช้หนังสือสำคัญที่เรียกบิลคลัง (Treasury bills) คือ ใบกู้หรือหนังสือแทนเงินซึ่งคลังเป็นผู้ออกหาใช่ธนบัตรซึ่งแบงก์กลางเป็นผู้ออกไม่ (ในประเทศอังกฤษแบงก์กลางเป็นผู้รับอนุญาตให้ออกธนบัตรให้ใช้กันในประเทศ ธนบัตรที่ใช้กันในบ้านเมืองเป็นธนบัตรแบงก์ ไม่ใช่ธนบัตรคลัง) อนึ่ง มีเงินของรัฐบาลตกอยู่ในบัญชีช้านานแล้ว เป็นจำนวน ๒๕ ล้านปอนด์ เงินรายนี้ก็ยกไปเข้าบัญชีทุนสำรองพิกัดด้วย

ต่อมาอีกประมาณปีหนึ่ง รัฐบาลได้เพิ่มทุนสำรองพิกัดขึ้นอีก แล้วมากขึ้นอีกเมื่อเร็ว ๆ นี้ วิธีใช้ทุนนี้เป็นอย่างไร รัฐบาลอังกฤษไม่เคยชี้แจงเลย แต่เมื่อนานเข้าก็พอทราบได้ว่า วิธีที่ทำก็คล้ายกับที่เราเคยใช้ในสยาม คือว่า ถ้าพ่อค้าต่างประเทศต้องการปอนด์มาก จนพิกัดแลกเปลี่ยนปอนด์กับเงินต่างประเทศจะขึ้นไปสูงนัก กรรมการก็เอาปอนด์ที่มีอยู่ในบัญชีทุนสำรองพิกัดออกขายไปต่างประเทศ รับเงินต่างประเทศ หรือทองคำไปเข้าบัญชีไว้แทน บิลคลังหรือปอนด์ในบัญชีนั้นก็ลดลง ทองคำหรือเงินต่างประเทศก็เพิ่มขึ้น

ในเวลานี้ ถ้าจะสังเกตตามหนังสือสัญญาซึ่งอเมริกัน ฝรั่งเศส และอังกฤษทำกันไว้ เรียกว่าสัญญาสามฝ่ายไซร้ เงินต่างประเทศที่ได้มานั้น มักจะใช้ซื้อทองคำทันที เพราะฉะนั้น เมื่อปอนด์ในบัญชีทุนสำรองพิกัดน้อยลงไป สิ่งที่ได้มาถ่วงบัญชีก็คือทองคำ ไม่ใช่เงินต่างประเทศ (นี้เป็นสันนิษฐาน)

ถ้าราคาแลกเปลี่ยนปอนด์มีท่วงทีจะตกต่ำลงไป กรรมการผู้จัดทุนสำรองพิกัดก็กว้านซื้อปอนด์ในตลาด ทองคำในบัญชีก็ลดลงไปพอถ่วงกัน ปอนด์ที่ซื้อใหม่นี้ ควรสันนิษฐานว่า จะไม่เอามากองไว้เปล่า ๆ เพราะฉะนั้น คงจะเอากลับซื้อบิลคลังเข้าไว้อีก

วิธีดำเนินการทุนสำรองพิกัดที่กล่าวนี้ บางทีก็ทำให้มีทองคำมากเกินไป แลกรรมการผู้จัดการทุนคงจะขายทองคำให้แก่แบงก์ออฟอิงแลนด์ แล้วรับปอนด์ไปจากแบงก์ตามราคาทองคำที่ขายให้ ทองคำที่แบงก์ซื้อนั้นลงในบัญชีรายสัปดาหะของแบงก์ว่า ซื้อตามราคาที่กำหนดในกฎหมาย คือ ๘๕ ชิลลิงต่อออนซ์ทองคำค่าบริสุทธิ์ จึงควรสันนิษฐานว่า บัญชีทุนสำรองพิกัดคงจะรับเงินจากแบงก์เท่าราคาที่ลงในบัญชี คือ ๘๕ ชิลลิงต่อออนซ์ แต่เมื่อกรรมการทุนสำรองพิกัดซื้อทองคำนั้น มักจะต้องซื้อแพงกว่าราคาที่ขายให้แบงก์ เพราะไม่มีกฎหมายบังคับราคาที่แบงก์ขาย แบงก์จึงขายตามราคาตลาด ดังนี้ กรรมการต้องซื้อแพงจนถึงออนซ์บริสุทธิ์ละ ๑๔๐ ชิลลิงก็มี การขายโดยราคาประจำ แต่ซื้อโดยราคาซึ่งมักจะสูงเช่นนี้ ก็ทำให้ขาดทุน จำนวนเงินที่ขาดทุนนี้ เข้าใจว่าคงจะลง “บัญชีแขวน” ไว้ (Suspense account) ต่อเมื่อปาลิเม็นต์ออกกฎหมายตีราคาทองคำในแบงก์ออฟอิงแลนด์ใหม่ จึงจะปลดจาก “แขวน” ได้ดอกกระมัง วิธีที่ขายทองให้แก่แบงก์นี้ เป็นเครื่องขยับขยายจำนวนปอนด์ในทุนสำรองพิกัดได้

วิธีจัดทุนสำรองในประเทศสหปาลีรัฐอเมริกา คานาดา เช็คโกสโลวัค ฝรั่งเศส ฮอลันดา สวิตเซอร์แลนด์ เป็นวิธีซึ่งผิดแผกกับวิธีในประเทศอังกฤษบ้าง แต่ใจความเรื่องนี้ดูเป็นเรื่อง “แห้ง” นัก ในวันนี้จึงจะขอเขียนพอหอมปากหอมคอเพียงนี้

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ