คณะสงฆ์

ในปีสองปีนี้ มีเรื่องใหญ่ ๆ ในคณะสงฆ์ ซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน เป็นเครื่องทำให้เกิดสลดใจแก่พุทธศาสนิกชนในประเทศนี้ยิ่งนัก

ศาสนาของพระพุทธเจ้า เป็นของตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ แต่ในขณะที่ตกอยู่ในน้ำ หรือในกองไฟนั้น จะปรากฏรุ่งโรจน์ เป็นที่ชื่นบานของผู้เลื่อมใสไม่ได้ เมื่อน้ำลดหรือไฟดับไปแล้ว ศาสนาของพระบรมศาสดา ก็คงจะช่วงโชติอยู่ดังเก่า เหมือนทองธรรมชาติ ซึ่งไม่มีมลทินในเนื้อของโลหะเอง แต่ถ้าไปถูกหมกอยู่ในสิ่งที่จะทำให้ฟ่าเกิดแก่ภายนอกแห่งแท่งทองไซร้ บุคคลอาจไม่เห็นความผุดผ่อง เพราะฟ่ามาคลุมอยู่ก็เป็นได้

ในสมัยที่หนังสือยังไม่มี พระสงฆ์ผู้สืบศาสนามีเครื่องแบกหนักกว่าเดี๋ยวนี้ เพราะต้องจำพระธรรมวินัยไว้ให้ขึ้นใจ สำหรับบอกเล่าให้ผู้อื่นรู้ และสาธยายกันต่อ ๆ ไป นานๆ เข้าก็ต้องทำสังคายนา คือสอบความจำกันตั้งแต่ต้นจนปลาย มิให้ศาสนาร่อยหรอไปเพราะความลืมได้

ในสมัยนี้พระสงฆ์มีหนังสือเป็นเครื่องช่วยความจำ ถึงจะลืมบ้างก็อ่านสอบได้ ไม่ต้องเป็นห่วงกลัวได้หน้าลืมหลัง ดังในสมัยโบราณ

แต่แม้จะมีหนังสือเป็นตำรา หนังสือของชนพวกโน้นแลชนพวกนี้ ก็แตกต่างกัน หรือแม้หนังสือจะเหมือนกัน ก็อาจเข้าใจความหมายแผกเพี้ยนกันไปได้ จึงเกิดมีพุทธศาสนาแบบมหายาน แลหีนยาน ซึ่งยังแยกกันเป็น “วงศ์” แลเป็นนิกายออกไปอีกเล่า

ที่ว่าในสมัยนี้ หนังสือพุทธศาสนามีอยู่บริบูรณ์ หรือเกือบจะบริบูรณ์นั้น ไม่ได้หมายความว่า ในปัจจุบันพระสงฆ์ไม่จำเป็นแก่การสืบศาสนา หรือในการนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาแสดงให้ทราบซึ้งเป็นที่เลื่อมใสกันไปกว้างขวาง ที่แท้พระสงฆ์ก็ยังสำคัญ แลเป็นส่วนหนึ่งแห่งรัตนไตรย์อยู่อย่างแต่ก่อน เพราะถึงหนังสือจะมีอยู่พร้อมมูล ก็มีน้อยคนในประชุมชนที่จะอ่านเข้าใจตลอดได้ ผู้เขียนได้เรียนเลข ภาษา ภูมิศาสตร์ พงศาวดาร เศรษฐกิจ แลอื่น ๆ ตามหลักสูตรแห่งชั้นศึกษา จะเรียนได้มากหรือน้อยนั้นส่วนหนึ่ง ข้อที่จะนำมาอ้างคือว่า วิชานั้น ๆ ล้วนมีหนังสือเป็นตำราบริบูรณ์ทุกอย่าง แต่ลำพังอ่านตำราก็ไม่พอ ต้องเรียนกับครูทุกประเภทวิชา เพื่อฟังคำอธิบายประกอบในส่วนที่เราเข้าใจเองไม่ได้

ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นของสุขุม ถ้าไม่มีผู้รู้แตกฉานช่วยชี้แจงสั่งสอน คนธรรมดาสามัญก็ไม่สามารถจะเข้าใจได้ พระสงฆ์เป็นผู้พลีตนต่อการศึกษาศาสนา เพื่อจะได้แผ่ความรู้แก่ผู้อื่น ซึ่งไม่มีโอกาสหรือปัญญาที่จะอ่านรู้ได้เอง หรือไม่เลื่อมใส จนกว่าจะมีผู้สั่งสอนชักจูงให้เลื่อมใส ท่านจึงเป็นผู้จำเป็นแก่ศาสนาในสมัยนี้ เหมือนดังในสมัยโบราณ

เพราะเหตุที่กล่าวย่อ ๆ ดังข้างบนนี้ ความอุตลุดในคณะสงฆ์ของเราในปีสองปีนี้ (ทรงเรื่องนี้เมื่อ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑) จึงเป็นเครื่องโทมนัสของพุทธศาสนิกชนเป็นอันมาก คณะสงค์ของเรามีแยกอยู่เป็น ๒ นิกาย แต่ไม่ใช่เพิ่งแยกเมื่อวานนี้ ได้มี ๒ นิกายมาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๓ ประมาณ ๙๐ ปีมาแล้ว ปัญหาที่เกิดฉุกลหุกกันขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ จนถึงในสภาผู้แทนราษฎรนั้น เวลานี้ก็เงียบไป แต่เหตุที่ทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้น จะสุดสิ้นไปแล้วหรือจะเป็นแต่เพียงระงับอยู่ ก็ทราบไม่ได้

เมื่อแรกตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชวิตกว่า พระสงฆ์แยกกันเป็นหมู่เป็นคณะก็จะเกิดร้าวฉานกันขึ้น ผู้เขียนได้ฟังเจ้านายผู้ใหญ่ทรงเล่าว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าประชวรใกล้สวรรคคต สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏซึ่งทรงสมณะเพศ สถิตอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้เสด็จเข้าเฝ้าเยี่ยมประชวรถึงในที่ (“เฝ้าในที่” แปลว่าไปหาพระเจ้าแผ่นดินในห้องนอน “เข้าที่” แปลว่าพระเจ้าแผ่นดินนอน) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าตรัสแสดงพระราชวิตกถึงการแยกพระสงฆ์เป็น ๒ นิกาย ปรากฏแก่สมเด็จเจ้าฟ้าสมณะว่า ยิ่งประชวรหนัก ก็ยิ่งทรงกังวลมากขึ้น คราวหน้าสมเด็จเจ้าฟ้าสมณะเสด็จไปเฝ้าเยี่ยม จึงทรงจีวรห่มดองอย่างมหานิกาย ไม่ทรงห่มแหวกอย่างธรรมยุติก์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าทอดพระเนตรเห็น ก็ทรงยก ๒ พระหัตถ์พนมขึ้นเหนือพระเศียรว่าสาธุ ต่อนั้นมาอีกไม่นานก็สวรรคต

การที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวิตกว่า พระสงฆ์แยกกันเป็นหมู่เป็นคณะ จะเกิดร้าวฉานกันขึ้นนั้น ก็เป็นด้วยทรงเห็นไกลไปในอนาคต แต่เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินแล้ว ก็เกิดสงสัยกันไปว่า พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ คงจะทรงรังเกียจพระสงฆ์คณะมหานิกาย ซึ่งเป็นคณะเดิม มิใช่นิกายซึ่งได้ทรงประดิษฐานขึ้นใหม่ การเป็นดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสวยราชสมบัติแล้ว ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตว่า “พระสงฆ์พวกใดคณะใดจะถือลัทธิใดก็จงถือไปตามใจแห่งตน มิได้มีข้อห้ามปราม ส่วนพระสงฆ์คณะมหานิกาย พระองค์ก็ทรงยกย่องให้ตั้งอยู่ในตำแหน่งฐานันดรศักดิ์ตามสมควรแก่ศีลคุณ สุตคุณ ส่วนพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย ก็ทรงยกย่องเป็นพระราชาคณะตำแหน่งเก่าบ้าง ตำแหน่งใหม่บ้าง ตามสมควร พระสงฆ์ทั้ง ๒ นิกาย ก็ได้ประพฤติพรหมจรรย์โดยความผาสุกสบาย ปราศจากความหวาดหวั่น” (เทศนาพระราชประวัติ)

การที่พระเจ้าแผ่นดินทรงยกย่องพระสงฆ์ทั้ง ๒ นิกายฉนี้ ทำให้พระสงฆ์แลชนทั้งหลายสิ้นสงสัยว่า ทรงเห็นแก่คณะโน้นยิ่งกว่าคณะนี้ แม้พระสงฆ์ที่พระองค์แลพระเจ้าแผ่นดินต่อ ๆ มาทรงตั้งแต่งไว้ในตำแหน่งพระสังฆราช จะเป็นพระสงฆ์ในคณะธรรมยุติก์ทุกองค์ คือ สมเด็จกรมพระยาปวเรศ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณ ตลอดจนถึงกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ก็เผอิญเป็นภิกษุผู้เด่นเยี่ยมในเวลานั้น ทุกองค์ไม่เคยได้ยินว่ามีใครคิดคัดค้านว่าพระภิกษุ ๔ องค์นั้นไม่เป็นผู้เหมาะที่สุดแก่ตำแหน่ง ส่วนทรงอุปสมบทของเจ้านายตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมานั้นเล่า แม้โดยมากทรงอุปสมบทในคณะธรรมยุติก์ก็จริง แต่เจ้านายที่ทรงผนวชในคณะมหานิกาย โดยพระบรมราชานุมัติก็มีหลายพระองค์ แลวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็เป็นที่ซึ่งพระราชทานให้อุปสมบทได้ทั้ง ๒ นิกาย หาได้มีขีดขั้นเป็นคณะโน้นคณะนี้ เหมือนที่เข้าใจผิดกันในเร็ว ๆ นี้ เมื่อหม่อมเจ้าพระองค์หนึ่ง ไปรับอุปสมบทที่วัดประยูรวงศาวาสไม่

ตามที่ผู้เขียนได้ยินได้ฟังมา พระสงฆ์ผู้ใหญ่ทั้ง ๒ นิกาย ท่านนับถือกัน หากจะทำสังฆกรรมด้วยกันไม่ได้ เพราะต่างนิกาย ก็หาใช่ว่า ไม่มีความนับถือส่วนตัวกันไม่ พระภิกษุผู้น้อยที่ต่างนิกายกัน อาจถือเขาถือเรากันบ้าง แต่นั่นมิใช่คติของพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งเราควรต้องถือว่าเป็นหลักที่ยึดเหนี่ยวของคณะสงฆ์ ในการที่เกิดอุตลุดกันขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ได้ยินออกนามพระภิกษุอยู่บ้าง จนถึงพระราชาคณะชั้นหนุ่มก็มี แต่ไม่ได้ยินนามพระราชาคณะผู้ใหญ่สักองค์เดียว

ในที่นี้ไม่ได้พูดถึงความผิดความถูกของความเห็นฝ่ายไหน เป็นแต่เพียงกล่าวว่าได้มีเรื่อง ซึ่งไม่เคยมีมาแต่ก่อน ทำให้เกิดสลดแก่พุทธศาสนิกชนส่วนมาก ซึ่งเมื่อคณะสงฆ์มีเรื่องไม่เรียบร้อยก็ไม่สบายใจ

มาบัดนี้ มีเรื่องเกิดขึ้นในพระอารามใหญ่ ๆ อีก เป็นข่าวที่มีในหนังสือพิมพ์บ้าง ผู้เขียนไม่เคยเห็นในหนังสือพิมพ์บ้าง

ในพระอารามใหญ่ ซึ่งพระลูกวัดเกิดขัดกับเจ้าอาวาสขึ้น เจ้าอาวาสไม่สามารถจัดให้เรียบร้อย แลในที่สุดไม่ยอมรับกฐินจนกว่าจะมีผู้ช่วยจัดให้สำเร็จไปได้นั้น เป็นเรื่องน่าเสียใจนัก ในที่นี้ไม่ได้พูดถึงความถูกความผิดของใคร แต่ควรกล่าวได้ว่า จดหมายลงวันที่ ๔ ตุลาคม (พ.ศ. ๒๔๘๑) ซึ่งพระลูกวัดรูปหนึ่งมีไปถึงอธิบดีตำรวจแลส่งสำเนาไปถึงผู้สำเร็จราชการ นายกรัฐมนตรี แถรัฐมนตรีว่าการกลาโหมนั้น เป็นหนังสือยกอธิกรณ์ขึ้นกล่าวหาอย่างซึ่งถ้าเจ้าอาวาสแลพระสงฆ์อื่น ๆ ที่ถูกอธิกรณ์เป็นผู้ไม่ผิด ผู้กล่าวอธิกรณ์ก็ต้องเป็นผู้ผิดเอามาก ๆ เราไม่รู้ว่าความผิดความถูกอยู่ที่ไหน แลไม่หาญจะเดาได้ว่าในที่สุดจะเป็นอย่างไร แต่ถ้ารู้เรื่องกันกว้างขวาง เพื่อจะได้ช่วยกันเศร้าให้มาก ๆ ก็เป็นการดีแก่ศาสนา

ผู้เขียนได้ยินมาอีกเรื่องหนึ่งว่า พระอารามอีกแห่งหนึ่ง เกิดมีการทำนองคล้ายกับที่ฝรั่งเรียกว่า ซิต-เดาน์-สไตรค์ อันเป็นวิธีคิดแบบขึ้นใหม่ ในประเทศฝรั่งเศสเมื่อเร็ว ๆ นี้ วิธีใหม่ของฝรั่งเศส ซึ่งจำไปใช้ในประเทศอื่น คืออเมริกาเป็นต้นนั้น คือ กรรมกรไม่ยอมทำงานกับเจ้าของอุตสาหกรรม แต่เมื่อไม่ยอมทำงานแล้วก็ชวนกันเข้าสิงอยู่ในโรงงาน เจ้าของจะหาคนพวกอื่นไปทำงานแทนก็ไม่ได้

ในพระอารามหนึ่งผู้เขียนได้ยินข่าวว่า พระสงฆ์เกิดแตกแยกกันขึ้นเป็น ๒ พวก รังเกียจไม่ลงอุโบสถทำสังฆกรรมด้วยกัน พวกหนึ่งจึงเข้า “ซิต-เดาน์” ในอุโบสถ ทำสังฆกรรมเฉพาะพวกกันเอง เจ้าอาวาสไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องไปอาศัยทำสังฆกรรมในวัดอื่น

เรื่องนี้ได้ยินจากคำเล่าเป็นตุเป็นตะ เหตุเดิมจะเป็นอย่างไร แลใจความที่เล่าจะถูกต้องเพียงไหนไม่ทราบ ที่นำมาเล่าก็เพราะว่า การที่เลื่องลือกันไปถึงเหตุการที่เกิดในคณะสงฆ์ซับซ้อนกันหลายเรื่องเช่นนี้ ทำให้เกิดความเสื่อม ซึ่งถ้าไม่คืนดีโดยเร็ว ก็จะเป็นเครื่องมัวหมองแก่พุทธศาสนา ในประเทศนี้

สยามเป็นประเทศเดียวที่มีพระเจ้าแผ่นดินเป็นพุทธศาสนูปถัมภก ในประเทศใกล้เคียงที่ถือพุทธศาสนา พุทธศาสนาอยู่ไปเอง โดยที่ผู้ปกครองประเทศหาใช่ชนในพุทธศาสนาไม่

ในประเทศที่ยกย่องพุทธศาสนาไว้ในรัฐธรรมนูญ แลหัวหน้าประเทศเป็นศาสนูปถัมภก ย่อมเป็นหน้าที่ของชนทั้งหลายที่จะช่วยกันบำรุงพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง ถ้ามีเหตุการในคณะสงฆ์ที่จะชักให้เสื่อม ก็จำต้องรีบปัดเป่า มิให้หม่นหมองไปได้

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ