ขอโทษ

ถ้าจะพูดเพียงสมัยปัจจุบัน ดูเหมือนจะมีในประเทศจีนประเทศเดียวที่ราชทูตถูกทำร้ายสาหัส ในการวิวาทของจีนกับญี่ปุ่นครั้งนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐) อังกฤษมิได้เข้ากับฝ่ายไหน แต่ราชทูตอังกฤษกลับเคราะห์ร้ายถูกอาวุธปางตายดังข่าวที่ทราบกันอยู่แล้ว

ก่อนคราวนี้ไม่เคยได้ยินว่า มีราชทูตถูกทำร้ายร่างกายในประเทศไหน นอกจากประเทศจีน ในประเทศจีนเมื่อเกือบ ๔๐ ปีมาแล้ว ราชทูตเยอรมันประจำอยู่ที่กรุงปะกิ่งได้ถูกทำร้ายถึงสิ้นชีวิต เวลาที่ถูกทำร้ายเป็นเวลาศึกในกรุงนั้น

ประเทศจีนสมัยนั้น นางฮองไทเฮาองค์ชราเป็นจอมบงการในนามพระเจ้าแผ่นดินเยาว์ ซึ่งนางทรงตั้งขึ้น มีสมาคมอั้งยี่หมู่หนึ่ง เรียกชื่อภาษาจีนซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Righteous Harmony Fists” แต่มักเรียกกันย่อๆ ว่า “พวกมวย” (Boxers) สมาคมพวกมวยก่อการกำเริบขึ้น ฝรั่งมักเรียกเหตุการคราวนั้นว่าขบถพวกมวย แต่ปรากฏภายหลังว่า นางฮองไทเฮาก็ทรงรู้เห็นด้วย เพราะมีมุ่งหมายจะกำจัดฝรั่งออกไปจากประเทศ ซึ่งตรงพระประสงค์ของนางฮองไทเฮา

ในครั้งนั้น รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องส่งทหารไปช่วยกันรักษาสถานทูตในปะกิ่ง สถานทูตถูกล้อมและถูกตีอยู่นาน จนกองทัพต่างประเทศ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย เยอรมัน อเมริกัน แลญี่ปุ่น ยกไปช่วย จึงแก้สถานทูตได้ กองทัพต่างประเทศได้เข้ารักษาปะกิ่งไว้ นางฮองไทเฮายกราชสำนักหนีไปอยู่ที่อื่น

ในตอนแรก ๆ ที่เกิดเหตุนั้น ราชทูตเยอรมันถูกฆ่าตายกลางถนน เมื่อกำลังจะไปเจรจาที่กระทรวงต่างประเทศของจีน

ครั้นเสร็จการรบกันแล้ว ประเทศต่าง ๆ ก็ทำหนังสือสัญญากับจีนใหม่ ข้อสัญญาคราวนั้นก็กวดขันเต็มที่ แต่ยังไม่เท่าที่จีนนึกว่าจะต้องเสีย เพราะดินแดนจีนยังอยู่ตามเดิมทั้งนั้น

ในเรื่องที่ฆ่าราชทูตเยอรมันตาย จีนให้สัญญาว่าจะทำอนุสรณ์เป็นที่ระลึกถึงราชทูตประดิษฐานไว้ ณ ที่ซึ่งราชทูตตาย แลจะส่งเจ้าชายในพระราชวงศ์เป็นหัวหน้าคณะทูตไปขอพระราชทานอภัยต่อพระเจ้าแผ่นดินเยอรมัน ณ กรุงเบอร์ลิน

จีนได้ส่งเจ้าชายชุนอ๋องไปเบอร์ลิน ครั้นถึงกำหนดวันนัดเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินเยอรมัน ก็มีรถหลวงไปรับชุนอ๋อง ณ ที่พัก เวลาที่รถขับเข้าประตูพระราชวังไป ทหารยามก็ยืนเฉย กองเกียรติยศรับแขกเมืองก็ไม่มี รถขับเข้าไปเงียบ ๆ เทียบที่บันไดแล้ว ก็มีเจ้าพนักงานกรมวังพาชุนอ๋องเข้าไปนั่งคอยในห้องพักช้านาน พระเจ้าแผ่นดินเยอรมันจึงเสด็จในท้องพระโรง และโปรดให้เบิกชุนอ๋องเข้าเฝ้า พระเจ้าแผ่นดินมิได้เสด็จลุกขึ้นจากพระเก้าอี้ประทับ ชุนอ๋องเข้าไปหน้าพระเก้าอี้คุกเข่าถวายบังคมอย่างจีน ขอพระราชทานอภัยโทษ

ครั้นเสร็จพิธีขอโทษแล้ว ชุนอ๋องถวายบังคมลากลับ พอลงจากบันไดพระที่นั่ง ก็เห็นทหารกองเกียรติยศมาตั้งคอยอยู่พร้อม กองทหารเป่าแตรถวายคำนับชุนอ๋อง แลทำวันทยาวุธ ทหารยามที่ประตูก็ทำวันทยาวุธเช่นกัน คนอื่น ๆ ในบริเวณราชสำนักซึ่งทำเฉยเมื่อชุนอ๋องแรกไปถึง ครั้นขากลับก็แสดงกิริยาเคารพทั่วกันหมด ทั้งนี้เป็นการทำให้เห็นว่า จีนได้แสดงอาบัติบริสุทธิ์แล้ว

ก่อนขบถพวกมวยในเมืองจีนสองสามปี ได้มีสงครามระหว่างสเปญกับอเมริกา ทัพเรือของอเมริกาประจำมหาสมุทรแปซิฟิคได้มาตีเกาะฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นเมืองขึ้นสเปญอยู่ก่อน

ในตอนก่อนสงครามจีนกับสเปญ เยอรมันได้บำรุงทัพเรืออยู่ในทะเลจีนด้วย เมื่อสเปญกับอเมริกาเกิดระหองระแหง จนในที่สุดเห็นได้ว่า คงจะทำสงครามกันแน่แล้ว สงครามยังไม่ทันลงมือ เยอรมันก็ได้ส่งเรือรบใหญ่เพิ่มมาในตะวันออกหลายลำ ปรินซ์เฮนรี่ เจ้าชายราชอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินเยอรมันเป็นผู้บัญชาการเรือรบกองนั้น คำสั่งที่ปรินซ์เฮนรี่ได้รับมาจากพระเชษฐาธิราช ก็คือว่า ให้เที่ยวเยี่ยมเยือนในตะวันออกเพื่อจะได้ “แสดงธง” เยอรมัน แต่นักเขียนที่ไม่ชอบเยอรมันเขียนไว้ว่า ทรงใช้ศัพท์ว่าให้เที่ยวแสดง “กำหมัดสวมเกราะ”

เรือรบเยอรมันกองนั้นแวะไปเยี่ยมเกาะฮ่องกง พอดีกับที่นายพลเรือดิวเวย์ แม่ทัพเรืออเมริกันในตะวันออกนำทัพเรือไปแวะอยู่ที่นั่น ปรินซ์เฮนรี่ประทานเลี้ยงในเรือรบ ซึ่งเป็นเรือธงของพระองค์ ทรงเชิญทหารเรือของประเทศต่าง ๆ ที่มีเรือรบอยู่ในอ่าวฮ่องกงเวลานั้น พวกทหารเรือของประเทศต่าง ๆ ก็ไปรับประทานเลี้ยงตามที่ทรงเชิญ ครั้นเสร็จการกินอาหารแล้ว ปรินซ์เฮนรี่ก็ทรงชวนให้พร้อมกันดื่มให้พรประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีผู้แทนอยู่ในที่นั้น

การดื่มให้พรประเทศต่าง ๆ ในคราวเลี้ยงคราวเดียวกัน มีประเพณีว่าต้องเรียงลำดับตามตัวอักษรที่เป็นชื่อประเทศในภาษาฝรั่งเศส ทั้งนี้ก็เพื่อจะกันไม่ให้เกี่ยงหน้าเกี่ยงหลังว่าใครเป็นประเทศใหญ่กว่ากันต้องขึ้นก่อน

ในคืนนั้น ปรินซ์เฮนรี่ทรงทำผิดลำดับตามประเพณีไป ทรงยกเยอรมัน (Allemagne) ขึ้นต้นซึ่งถูกตามลำดับอักษร ต่อเยอรมัน ทรงยกอังกฤษ (Angleterre) อันที่จริงควรจะทรงใช้ว่า Grand Bretagne แต่ก็ไม่เป็นไร นับว่าใช้ได้ ต่ออังกฤษทรงยกสเปญ (Espagne) ซึ่งถูกลำดับเหมือนกัน ต่อสเปญควรจะทรงยกสหปาลีรัฐอเมริกา (États Unis) แต่ทรงข้ามไปเสีย ไปทรงยกฝรั่งเศส (France) ขึ้นทีเดียว

การที่ทรงข้ามไปเสียเช่นนี้ แม่ทัพเรืออเมริกันถือว่าทรงหมิ่นประเทศ จึงให้สัญญาแก่นายทหารอเมริกันที่อยู่ในที่นั้น แล้วพร้อมกันลุกออกจากห้องไปหมด การเป็นดังนี้ ก็เกิดเป็นเรื่องตื่นเต้นกันขึ้น เห็นกันโดยมากว่า ปรินซ์เฮนรี่ทำผิดมารยาททหารเรือ ครั้นพูดกันเช่นนี้ในคืนนั้น ก็ทำให้เกิดกังวลพระทัยของปรินซ์เฮนรี่ วันรุ่งขึ้นจึงทรงใช้ให้นายทหารเสนาธิการไปขอโทษแม่ทัพอเมริกัน แม่ทัพอเมริกันตอบว่า ขอโทษเช่นนั้นให้อภัยไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นการหมิ่นบุคคล เป็นการหมิ่นประเทศ ผู้ดูหมิ่นคือปรินซ์เฮนรี่ แลได้ทรงหมิ่นอย่างเปิดเผย เพราะฉะนั้นการขอโทษก็จะต้องทรงขอโทษเอง จะทรงใช้ให้คนอื่นขอโทษแทนพระองค์ไม่ได้

เมื่อนายทหารเสนาธิการกลับไปทูลปรินซ์เฮนรี่เช่นนั้น ปรินซ์เฮนรี่ก็เสด็จไปขอโทษแม่ทัพเรืออเมริกัน ทรงชี้แจงว่าลืมลำดับชื่อสหปาลีรัฐอเมริกาในภาษาฝรั่งเศส ไปมัวทรงนึกในภาษาเยอรมัน การขอโทษครั้งนั้นเรียกกันว่าเป็น Formal apology

ผู้เขียนเข้าใจว่า เมื่อปรินซ์เฮนรี่เสด็จไปขอโทษคราวนั้นทรงแต่งเต็มยศ แต่ข้อนี้จำไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนานมาแล้ว

เมื่อเรือรบเยอรมันออกจากฮ่องกงมาแล้ว ได้เลยมาเยี่ยมสยาม ปรินซ์เฮนรี่เป็นแขกเมือง ซึ่งเรารับรองอย่างสูง

แต่มาเกิดมีเรื่องคล้ายกันในกรุงเทพ ฯ นายพลเรือผู้ใหญ่ของเราพลาดพลั้งทำให้ปรินซ์เฮนรี่ขัดพระทัยมากมาย พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็กริ้ว โปรดเกล้าฯ ให้นายพลเรือแต่งเต็มยศ ไปขอโทษปรินซ์เฮนรี่ที่วังสราญรมย์

ผู้เขียนทราบว่าแต่งเต็มยศไปขอโทษปรินซ์เฮนรี่แต่แรก แต่ต่อมาอีกเกือบ ๑๐ ปี จึงทราบว่า ปรินซ์เฮนรี่ต้องไปขอโทษแม่ทัพเรืออเมริกันที่ฮ่องกง ก่อนมากรุงเทพ ฯ ในคราวนั้น

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ